ThaiPublica > คนในข่าว > กรมควบคุมมลพิษหวั่นขยะล้นกทม.หลังน้ำลด เจอแน่ 3 ล้านตัน ชี้พื้นที่น้ำเน่าจากนครสวรรค์-กรุงเทพฯ

กรมควบคุมมลพิษหวั่นขยะล้นกทม.หลังน้ำลด เจอแน่ 3 ล้านตัน ชี้พื้นที่น้ำเน่าจากนครสวรรค์-กรุงเทพฯ

18 พฤศจิกายน 2011


นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ปัญหาอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง 1.5 % เหลือเติบโต 2.6 % จากเดิมคาดขยายตัว 4.1% เนื่องจากน้ำท่วมกระจายวงกว้างกระทบพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ทำให้มูลค่าความเสียหายต่อรายได้ของประเทศหายไป 140,000 ล้านบาท หรือลดลง 1.1 %

ขณะเดียวกันยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วประเทศกินพื้นที่เป็นวงกว้าง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เปิดเผยข้อมูลผลกระทบล่าสุดจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่า ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมไปจนถึงวันที่ 17 พ.ย. 2554 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เป็นพื้นที่่ประสบภัยทั้งหมด 64 จังหวัด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 567 ราย สูญหาย 2 ราย โดยขณะนี้ยังมีพื้นที่่ประสบอุทกภัยอยู่ 20 จังหวัด และพื้นที่ที่น้ำลดแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู 44 จังหวัด

แต่สิ่งที่ยากต่อการประเมินเป็นมูลค่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย คาดว่าข้างหน้าหลังจากน้ำเริ่มลดแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมการให้พร้อมเป็นแผนการรับมือในอนาคตคืออะไรและหลังจากน้ำลดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น

ไทยพับลิก้า : ภาวะน้ำท่วมในหลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ถ้าไม่นับรวมพื้นที่กรุงเทพฯ ไล่ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาเรื่อยๆ จากการประเมินภาพถ่ายดาวเทียมเราพบว่ามีพื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วมขังประมาณ 2 ล้านกว่าไร่ เป็นน้ำเน่าเสียที่อยู่ในภาคเกษตรประมาณ 4 แสนกว่าไร่ ที่ต้องรีบบำบัดก่อนที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนพื้นที่ชุมชนมีน้ำเน่าเสียอยู่ 86,000 ไร่ ที่เราประเมินเบื้องต้นใน 14 จังหวัด พบว่ามีปริมาณไม่ต่ำกว่า 138 ล้านลูกบาศก์เมตร เปรียบเทียบเท่ากับเขื่อนขนาดย่อมๆเขื่อนหนึ่ง

ตอนนี้แนวโน้มคุณภาพของแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ที่ผ่านอุทกภัยมาแล้วเริ่มดีขึ้น หลายแห่งเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่นครสวรรค์จนถึงปทุมทานี แต่หลายจุดในกรุงเทพฯยังน่าเป็นห่วง เรียกได้ว่าทุกจุดเลยก็ได้ กรุงเทพฯมีพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางกิโลเมตร มี 40 % ของพื้นที่ถูกน้ำท่วม จากที่ไปตรวจวัดในพื้นที่ต่างๆพบว่าเกิน 50 % ของพื้นที่ น้ำมีคุณภาพเสื่อมโทรมมาก มีค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตรเกือบทุกเขต (ค่ามาตรฐานคือ 2 มิลลิกรัมต่อลิตร)

และในภาวะน้ำท่วมสิ่งที่เรากังวลคือโรคระบาด เนื่องจากน้ำเน่าน้ำเสียเป็นแหล่งพาหะของโรค ทั้งตาแดง ท้องเสีย ฉี่หนู การที่บ้านคุณมีน้ำเสียอยู่จึงเป็นเรื่องอันตราย ต้องรีบบำบัดแก้ไข

ในขณะเดียวกันเรายังมีเรื่องขยะที่เราไม่สามารถจัดการได้ 100 % เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ทำให้เข้าไปเก็บขยะไม่ได้ คิดเป็น 48 % พื้นที่ของกรุงเทพฯที่ถูกน้ำท่วม ทำให้ปริมาณขยะในแต่ละวันถูกนำไปไว้ที่บ่อขยะในกรุงเทพฯ ลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง จากเดิมวันละ 8,000 ตัน เหลือประมาณวันละ 4,000 ตัน ที่เหลือก็ไปอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ แต่ 4,000 ตัน ที่ว่า มันก็มีส่วนที่สามารถบริหารจัดการได้ เมื่อนำไปคัดแยกหรือรีไซเคิลแล้วก็น่าจะเหลือขยะลดลงประมาณ 3,000 เกือบๆ 4,000 ตัน ในบ่อขยะ

หลังจากที่เกิดอุทกภัยแล้วเกือบทั่วประเทศมีบ่อขยะขนาดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 12 บ่อ อยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้รับความเสียหายต้องถูกฟื้นฟูโดยเร่งด่วน โดย 12 บ่อนี้ไม่รวมบ่อขยะ 3 แห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งหมดมีปริมาณขยะที่สะสมไว้เกือบล้านตัน

โดยพื้นที่ในการจัดการขยะของกรุงเทพฯ มีอยู่ 3 จุดหลักๆคือ อ่อนนุช หนองแขมและสายไหม เป็นจุดรวมขยะ ที่เก็บขยะมาได้ก็มารวมไว้ที่นี่ เพื่อเอามาแยก มารีไซเคิล แล้วเอาไปฝังกลบที่อำเภอพนมสารคามจังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ตอนนี้ปัญหาก็คือเส้นทางที่จะเอาไปฝังกลบโดนน้ำท่วม กำแพงแสนเราไปไม่ถึง เพราะถนนสายเพชรเกษมมีปัญหา ตอนนี้ขยะในกรุงเทพฯ จึงมุ่งไปที่เดียวคือ อำเภอพนมสารคามจังหวัดฉะเชิงเทรา

ไทยพับลิก้า : ผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ชุมชน หน่วยงานต่างๆและประชาชนควรมีวิธีรับมืออย่างไร

น้ำเสียในภาคการเกษตรคือ น้ำที่ไปท่วมขังในพื้นที่เกษตรแล้วเน่าเหม็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เกษตรกรต้องไม่สูบน้ำเหล่านั้นทิ้งออกมาภายนอก เพราะมวลน้ำเน่าเสียเหล่านั้นมีมหาศาล การทำแบบนี้เหมือเป็นการไปซ้ำเติมให้น้ำยิ่งเน่าเสีย

ในส่วนของการดูแลเรื่องขยะ อย่าทิ้งขยะลงไปในน้ำ เพราะขยะที่ทิ้งไปจะเป็นมลภาวะอย่างรุนแรง ประเด็นคือต้องมีการแยกขยะเน่าเสีย พวกเศษอาหารทั้งหลายออก ใส่ถุงแล้วราดด้วยจุลินทรีย์ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายและดับกลิ่น และอย่าทิ้งลงไปในน้ำ ต้องมัดแขวนห้อยไว้ให้พ้นน้ำหรือพ้นระดับน้ำ การที่เก็บไว้อย่างดีก็จะไม่เป็นแหล่งอาหารของหนู หนูไม่มีอาหารกิน ก็ไม่แพร่พันธุ์ ขยายพันธุ์ ฉี่หนูก็ลดลง สุดท้ายก็คือสำนักงานเขตต้องประชาสัมพันธ์วันเข้าเก็บขยะให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้ทางกรุงเทพฯก็มีมาตรการในการเพิ่มคนจัดเก็บ และมีการประชาสัมพันธ์ มีการเอาเรือเข้าไปจัดเก็บเป็นเวลา เอาคอนเทนเนอร์ไปเก็บรวบรวมขยะไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็น

ปัญหาขยะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าประชาชนที่ได้รับผลกระทบหนึ่งล้านคน ต้องรับอาหารบริจาคเป็นกล่องโฟมวันละ 2 กล่อง รวมแล้วคิดเป็นวันละ 2 ล้านกล่องโดยประมาณ เราก็คาดว่า 50 % จะถูกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือวันละ 1 ล้านกล่องจะไปไหน กรมควบคุมมลพิษจึงมีโครงการรณรงค์ให้ช่วยกันดูแลขยะโฟม ไม่ใช่เราไม่สนใจขยะแบบอื่น ขยะอย่างอื่นเราก็ดูแล แต่เพราะขยะเหล่านั้นมีมูลค่า เช่น ขวดน้ำ พลาสติก เก็บขายได้ แต่โฟมไม่มีค่า ไม่มีราคา ไม่มีใครเก็บโฟมขาย โฟมจึงเป็นปัญหาที่ทุกคนทอดทิ้ง กรมควบคุมมลพิษจึงได้รณรงค์ให้กำจัดขยะโฟม โดยให้มีการแลกโฟม 20 ใบกับใข่ไก่ 1 ฟอง เป็นการสร้างมูลค่าทำให้โฟมถูกจัดการไปได้มากขึ้น

นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ไทยพับลิก้า : แล้วในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆหลังจากถูกน้ำท่วมแล้ว มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในส่วนของสารเคมีที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมจะมีระบบที่เป็นมาตรฐาน เพราะมีกรมโรงงานอุตสาหกรรมดูแลอยู่ ในช่วงก่อนเกิดเหตุ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆมีมาตรการดูแลให้เคลื่อนย้ายสารอันตรายที่ใช้อยู่ในขั้นตอนการผลิต ไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและในช่วงที่เกิดอุทกภัยเราก็มีชุดตรวจสอบคุณภาพน้ำในนิคมอุตสาหกรรมเข้าไปตรวจสอบตลอด

ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่อยู่ในนิคมฯในช่วงที่น้ำท่วมก็พบว่าคุณภาพน้ำเริ่มเสื่อมโทรม แต่ยังมีค่าที่ไม่เกินมาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรมที่กำหนดจึงไม่น่าห่วง เรื่องการรั่วไหลของสารเคมีก็พบว่าน้ำในนิคมอุตสาหกรรมไม่เจอสารเคมีอันตรายหรือโลหะหนัก จะมีก็แต่น้ำมันหรือสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ลอยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม แต่ก็ไม่เป็นอันตรายเพราะสารพวกนี้เมื่ออยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือไหลออกมานอกพื้นที่จะไปเจอน้ำที่มีปริมาณมหาศาลทำให้สารมันละลายหรือเจือจางลงไป ส่วนพวกสารเคมีระเหยง่ายเมื่อโดนแดดหรือโดนอะไรก็จะระเหยไป ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อพื้นที่โดยรอบ

ไทยพับลิก้า : นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งน้ำเริ่มลดแล้ว ขั้นตอนการฟื้นฟูที่ว่านี้ มีอะไรต้องระวังบ้าง

ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมเราต้องยอมรับว่านี่คืออุบัติภัยเป็นภาวะไม่ปกติ การที่ใช้มาตรการปกติไปควบคุมกำกับเขามันก็คงจะตอบโจทย์ไม่ได้ เพราะในเรื่องของการบำบัดน้ำเสีย เรื่องการจัดการของเสียอันตราย ตอนนั้นทุกคนฉุกละหุกหนีตายกันไปเราก็ต้องเข้าใจ แต่หลังจากน้ำลดแล้วก็เป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการตามมาตรฐานและกฎหมาย กฎหมายจะไม่ยินยอมให้มีการทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ

ซึ่งตอนกอบกู้มีข้อปฏิบัติที่สำคัญคือ เมื่อน้ำลดต่ำกว่าคันดินแล้ว การที่คุณจะสูบอะไรออกมา ภายใต้กฎหมายจะมีการระบุว่าน้ำที่ออกมาภายนอกเขตอุตสาหกรรมถือว่าเป็นน้ำทิ้งที่ต้องได้รับการบำบัด กฎหมายไม่เปิดช่องให้ปล่อยของเสียออกมา ดังนั้นถ้าคุณจะฟื้นฟูหรือจะทำอะไรก็ตาม น้ำที่สูบออกมาจะต้องผ่านมาตรฐาน ซึ่งจะมีการเก็บตัวอย่างไปทำการวิเคราะห์ ส่วนน้ำที่เหนือคันดินอาจจะตรวจสอบไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าเป็นน้ำจากข้างนอกหรือข้างใน แต่ถ้าต่ำกว่าคันดินเราจะถือว่าเป็นน้ำจากข้างในนิคมที่ต้องตรวจสอบ หากตรวจเจออะไรที่ผิดปกตินิคมฯพวกนั้นก็ต้องรับผิดชอบ ต้องบำบัดน้ำเสียให้ได้ก่อนจะปล่อยสู่แหล่งน้ำภายนอก

ภายใต้การฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง และสวนอุตสาหกรรมเราได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมได้ข้อยุติว่า เราจะตั้งคณะกรรมการร่วมในการตรวจสอบน้ำ ตรวจสอบทุกมวลน้ำที่สูบออกมาจากอุตสาหกรรมในทุกจุด เพื่อให้สังคมสบายใจ

ไทยพับลิก้า : เพื่อให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ คือการเร่งผันน้ำที่ท่วมขังมหาศาลลงสู่ทะเล จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างไรบ้าง

ทะเลจะได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากน้ำที่ลงทะเลมีจำนวนมหาศาล ถ้ามองย้อนกลับไปว่า 60 วัน น้ำลงไปวันละ 300 – 400 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมแล้วประมาณ 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตรจะลงไปทะเล ทะเลเป็นน้ำเค็ม น้ำตรงนี้ลงไปมันเป็นน้ำจืด ปลาก็น๊อค ผลกระทบตอนนี้กรมประมงกำลังประเมินความเสียหายอยู่ การป้องกันหรือแก้ไขอาจทำได้ยาก เพราะน้ำมีปริมาณมหาศาล ต้องรอให้ทะเลปรับสภาพกลับคืนภาวะปกติตามธรรมชาติที่มีการหมุนเวียนของกระแสน้ำ

ไทยพับลิก้า : หลังจากน้ำลดลงแล้ว จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นตามมาอีก

ขยะที่เกิดจากอุทกภัยหลังน้ำลดแล้วมีจำนวนมหาศาล ทุกจังหวัดต้องมีการจัดการรองรับ มีการขนส่ง รวบรวมและเอาไปจัดการทำลายหรือฝังกลบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เราประเมินว่าหลังน้ำลดในกรุงเทพฯจะมีขยะเกิดขึ้นต่อคนต่อหัวประมาณ 500 กิโลกรัม เป็นพวกข้าวของที่ได้รับความเสียหาย ข้าวของที่ขนย้ายไม่ทันหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่ใช้การไม่ได้เป็นขยะ เป็นสิ่งของต่างๆที่เราจะทำความสะอาดหรือทิ้งหลังน้ำลดแล้ว โดยกรุงเทพฯมีคนที่ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ก็จะมีขยะไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตันแน่ๆหลังน้ำลดแล้ว เราจะเอาขยะพวกนี้ไปไว้ที่ไหน ก็ต้องมีการเตรียมการหาจุดฝังกลบให้สามารถรองรับปริมาณขยะพวกนี้ได้

ไทยพับลิก้า : จะมีการถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ป้องกันปัญหาอุทกภัยในอนาคตได้อย่างไร

ประเทศไทยต้องมีแผนฉุกเฉินรองรับทุกสถานการณ์โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเรามีแผนฉุกเฉินที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2551 มีการดูเรื่องน้ำเสียตั้งแต่ระหว่างเกิดอุทกภัยไปจนถึงหลังเกิดอุทกภัย บ่อบำบัดน้ำเสียจะดูแลอย่างไรไม่ให้เสียหาย แต่เราไม่ได้เอาแผนไปซักซ้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย ในเรื่องการจัดการขยะเมื่อเกิดอุทกภัย เมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นมาจริงๆก็มีปัญหา เตรียมการรับมือไม่ทัน เป็นบทเรียนที่เราต้องกลับมาทบทวนแผนฉุกเฉินในการรับมือเรื่องขยะ และน้ำเน่าเสียว่าต้องทำให้ดำเนินการได้จริงหากมีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ข้อมูลสิ่งแวดล้อม ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2554

โดยศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาปัญหามลพิษในพื้นที่ประสบอุทกภัย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1.คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ พื้นที่น้ำท่วมขัง และน้ำทะเลชายฝั่ง

1.1 มีการเพิ่มการตรวจวัดเพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ลพบุรี ป่าสัก แม่น้ำน้อย และคลองสาขา เนื่องจากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี น้ำเริ่มลดและจะสูบน้ำลงแม่น้ำและคลองสาขา นอกจากนี้ ได้ขยายการตรวจวัดคุณภาพน้ำไปยังลุ่มน้ำบางปะกง ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง นครนายก ปราจีนบุรี เนื่องจากมีข่าวปรากฎในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับสถานการณ์ปลาในกระชังตายจํานวนมากในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จากการตรวจวัดทั้งหมด 98 จุด ร้อยละ 54 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 26 อยู่ในเกณฑ์ เสื่อมโทรม ร้อยละ 8 อยู่ในเกณฑ์พอใช้ และร้อยละ 12 อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ คุณภาพน้ำในพื้นที่ช่วงบนดีขึ้นแต่พื้นที่ตอนล่างในจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และฝั่งตะวันออก รวมถึงคลองสาขาทั้งหมด คุณภาพน้ำยังเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก ส่วนคุณภาพน้ำดิบในคลองประปาเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

1.2 แหล่งน้ำท่วมขังตรวจวัดทั้งหมด 111 จุด ร้อยละ 14 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 28 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 23 อยู่ในเกณฑ์พอใช้ และร้อยละ 35 อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ผลการตรวจวัดที่มีค่าออกซิเจนละลายสูงในบางพื้นที่เนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ระดับน้ำไม่ลึก แสงแดดส่องถึง มีการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย เป็นลักษณะน้ำไหล เป็นต้น

คุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน
คุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน
คุณภาพน้ำพื้นที่น้ำท่วมขัง
คุณภาพน้ำพื้นที่น้ำท่วมขัง

1.3 คุณภาพน้ำทะเลในพื้นที่อ่าวไทยตอนในตั้งแต่ชายฝั่งทะเลจังหวัดชลบุรี ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำเพชรบุรี ไปจนถึงปากแม่น้ำปราณบุรี พบว่าคุณภาพน้ำทะเลจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ยังเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ยกเว้นบริเวณปากแม่น้ำอ่าวไทยตอนบนมีค่าความเค็มอยู่ในช่วง 0.3–22.3 psu โดยปากแม่น้ำแม่กลองมีค่าความเค็มสูงสุด ปริมาณออกซิเจนละลายต่ํากว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล (กําหนดให้มีค่าไม่ต่ํากว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร) ค่ากรด-ด่างอยู่ในช่วง 6.6–7.0 ต่ํากว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล (กําหนดอยู่ในช่วง 7.0–8.5) ผลการตรวจวัดโลหะหนัก แคดเมียม ทองแดง เหล็ก แมงกานีส ตะกั่ว และ สังกะสี เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ยกเว้นปากแม่น้ำเจ้าพระยาและบางปะกง พบเหล็กเกินมาตรฐาน มีค่า 0.31-0.56 มก./ล. (กําหนดให้ไม่เกิน 0.3 มก./ล. ) ปากแม่น้ำท่าจีน บางปะกง และหาดชะอํา พบแมงกานีสเกินมาตรฐาน มีค่า 0.19-0.32 มก./ล. (กําหนดให้ไม่เกิน 0.1 มก./ล.) ยังไม่พบเหตุการณ์สัตว์น้ำตายเหมือนบริเวณ จ. เพชรบุรี และ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม จากการประเมินคาดว่าคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอาจเสื่อมโทรมลงอีกในช่วงเดือนธันวาคมเนื่องจากมวลน้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานานหรือมวลน้ำเสียกําลังไหลลงตามแม่น้ำสู่ทะเล ซึ่งกรมฯ จะติดตามคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องและเฝ้าระวังพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น แหล่งเพาะเลี้ยงชายฝั่ง แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล

คุณภาพน้ำทะเลในพื้นที่อ่าวไทย
คุณภาพน้ำทะเลในพื้นที่อ่าวไทย

2. การสนับสนุนจุลินทรีย์แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเน่าเสีย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษสนับสนุนจุลินทรีย์น้ำ 2,032 ลิตร และจุลินทรีย์ผง 399 กิโลกรัม ให้กับหน่วยงาน เทศบาล อบต. และประชาชนทั่วไปที่ต้องการนําไปโปรยในพื้นที่น้ำท่วมขังเน่าเสียเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่เบื้องต้นด้วยตนเอง และจนถึง ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 กรมควบคุมมลพิษแจกจ่ายจุลินทรีย์น้ำไปแล้ว 31,930 ลิตร จุลินทรีย์ก้อน 42,000 ก้อน จุลินทรีย์ผง 1,222 กิโลกรัม กรมทรัพยากรน้ำแจกจุลินทรีย์ก้อนไปแล้ว 782,903 ก้อน และจุลินทรีย์น้ำ 1,086 ลิตร ปัจจุบันยังมีปริมาณสํารองกระจายตามเครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อความสะดวกต่อประชาชน

3. การจัดการขยะมูลฝอยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเน่าเสียบริเวณบ่อฝังกลบขยะมูลฝอย

3.1 ขยะมูลฝอยในชุมชนพื้นที่น้ำท่วมขัง มีการหารือกับกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาเพิ่มจํานวนเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บขยะ รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนแยกขยะ (ขยะสด ขยะรีไซเคิล ขยะอันตรายชุมชน) โดยขยะสดให้มีการราด EM เพื่อลดกลิ่นและช่วยในการย่อยสลายและขอความร่วมมือไม่ทิ้งลงในแหล่งน้ำ ให้แขวนไว้ ที่สูงหรือบริเวณรั้วเพื่อไม่ให้เป็นอาหารของหนู ซึ่งเป็นพาหนะของโรคฉี่หนูและประชาสัมพันธ์วันเวลาในการเข้าจัดเก็บให้ประชาชนทราบ และจะประสานในการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์มาวางเป็นจุดรวมขยะเพื่อป้องกันการกระจัดกระจายและปนเปื้อน

3.2 ตรวจสอบสถานที่กําจัดขยะมูลฝอยใน 19 จังหวัด จํานวน 38 แห่ง ได้รับความเสียหายแล้ว 15 แห่ง อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง 23 แห่ง สําหรับพื้นที่ที่น้ำท่วมขังบริเวณบ่อฝังกลบขยะได้ร่วมกับกองทัพบกแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนโดยใช้จุลินทรีย์บําบัดน้ำเน่าเสียจากบ่อฝังกลบขยะ ตัวอย่างเช่น – บ่อขยะของเทศบาลนครพิษณุโลก คุณภาพน้ำก่อนใช้มีกลิ่นเหม็นและสีดํา ค่าออกซิเจนละลาย 0.6 มก./ล. ภายหลังการใช้ น้ำใสมีสีเหลืองอ่อน ๆ ไม่มีกลิ่นเหม็น ค่าออกซิเจนละลาย 3.2 มก./ล. – บ่อขยะของเทศบาลตําบลโรงช้าง จ.พระนครศรีอยุธยา คุณภาพน้ำ ก่อนใช้ ค่าออกซิเจนละลาย 3.5 มก./ล. ภายหลังการใช้ ค่าออกซิเจนละลาย 4.5 มก./ล. สําหรับบ่อขยะของเทศบาลเมือง ลพบุรี อยู่ระหว่างการประสานข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข

4. สรุปผลการจัดการรับเรื่องร้องเรียน

4.1 ศูนย์ปฎิบัติการฯ กรมควบคุมมลพิษ มีเจ้าหน้าที่รับเรื่อง ประสานงานและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่แจ้งข้อมูลมายังสายด่วน 1111 กด 5 และสายด่วน 1650 ทุกวัน สรุปได้ดังนี้

ผลการจัดการรับเรื่องร้องเรียน
ผลการจัดการรับเรื่องร้องเรียน

4.2 ให้คําปรึกษาด้านการจัดการสารเคมี ได้แก่ เคลื่อนย้ายสารเคมี/ถังสารเคมี จัดเก็บให้ปลอดภัย การป้องกันการรับสัมผัสสารเคมีของประชาชน เช่น สีทาบ้านลอยน้ำ เขตหลักสี่ น้ำมันรั่วไหลจากหม้อไอน้ำของโรงแรมและมีกลิ่นซัลเฟอร์ และตรวจสอบและแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันปนเปื้อนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ชุมชนน้ำท่วมขัง ได้แก่ นิคมฯ นวนคร หมู่บ้านเมืองเอก จ.ปทุมธานี บริเวณถนนรามอินทรา เขตคันนายาวและแขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน ถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตบางแค

5. การเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารเคมีและสภาพการเน่าเสียของน้ำในนิคมอุตสาหกรรม

5.1 ตรวจสอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมทั้ง 6 แห่ง อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมแฟคเตอรี่แลนด์ และนิคมอุตสหกรรมนวนคร จากการตรวจวัดในสัปดาห์ที่ 4 คุณภาพน้ำภายในนิคมฯ อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงเสื่อมโทรม ตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ปริมาณเล็กน้อยในบริเวณที่พบคราบน้ำมันปนเปื้อน ตรวจพบแอมโมเนียปริมาณเล็กน้อยในบริเวณที่มีการเน่าเสียและมีค่าออกซิเจนละลายน้อยกว่า 1 มก./ล. ตรวจไม่พบโลหะหนักและไซยาไนด์

5.2 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากนิคมฯ กําหนดแล้วเสร็จภายใน 10-15 วัน มีการใช้จุลินทรีย์บําบัดน้ำเสียไปแล้ว 30,000 ลิตร จากการพบคราบน้ำมันที่บริเวณจุดสูบน้ำที่ 2 กรมฯ ดําเนินการขจัดคราบน้ำมันด้วยสารชีวบําบัดภัณฑ์ (Oil Spill Control) ทั้งนี้ จากการประเมินปริมาณน้ำท่วมขังในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง ที่อาจจําเป็นต้องได้รับการบําบัดกําจัดมีประมาณ 71.4 ล้านลูกบาศก์เมตร

6. คุณภาพน้ำในแม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน ตามตารางข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงตอนบน จังหวัดนครสวรรค์อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนช่วงล่าง อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก เช่นเดียวกับแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำบางปะกง

7. สถานการณ์ผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่มีข่าวทางสื่อหนังสื่อพิมพ์มีการร้องเรียนของนางสงบ ผลพืช อยู่บ้านเลขที่ 44/1 หมู่ที่ 7 ตําบลบ้านสร้าง อําเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ว่าน้ำเน่าเสียส่งผลให้ปลาในกระชังและปลาในแม่น้ำปราจีนบุรีลอยตายจํานวนมาก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 กรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปได้ดังนี้

7.1 คุณภาพน้ำบริเวณเลี้ยงปลาในกระชังของนางสงบฯ เสื่อมโทรมจนมีค่าออกซิเจนละลาย เพียง 0.5 มก./ล. อาจมีสาเหตุดังนี้

1) การเกิดอุทกภัยทําให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีบริเวณเหนือพื้นที่เลี้ยงปลาในกระชังเสื่อมโทรมลง วัดค่าออกซิเจนละลายได้เพียง 1.3 มก./ล. จากปกติมีค่าประมาณ 4 มก./ล.

2) การระบายน้ำจากประตูระบายน้ำคลองสารภี ซึ่งมีค่าออกซิเจนละลาย 1.2 มก./ล. มีส่วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีบริเวณใต้ปากคลองสารภีลงมา

3) น้ำในพื้นที่ท่วมขังบริเวณอําเภอบ้านสร้างไหลลงแม่น้ำปราจีน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำบริเวณเพาะเลี้ยงปลาในกระชังด้วย

7.2 สํานักงานชลประทานจังหวัดได้ดําเนินการตามมาตรการเปิด – ปิดประตูระบายน้ำคลองสารภีที่ได้เคยร่วมกันกับชาวบ้าน หน่วยงานในพื้นที่ และกรมควบคุมมลพิษจัดทําขึ้นในช่วงปี 2549-2550 แต่ไม่ครบถ้วนและไม่ได้แจ้งประสานกรมควบคุมมลพิษเพื่อตรวจสอบ และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติชั่วคราวตามที่เคยปฏิบัติมาทุกปี

7.3 ลักษณะอาการของปลาที่ลอยหัวทั้งที่พบในกระชังเลี้ยงปลาและในแม่น้ำเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากสภาพน้ำมีออกซิเจนละลายในน้ำไม่เพียงพอ ไม่ได้เกิดจากสารพิษอื่น

7.4 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2554 คุณภาพน้ำบริเวณเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ตําบลบ้านสร้าง อําเภอบ้านสร้าง มีคุณภาพน้ำดีขึ้น วัดค่าออกซิเจนละลายได้ 1.3 มก./ล. (ช่วงที่เกิดปัญหาค่าออกซิเจนละลาย 0.5 มก./ล.) และไม่พบปลาในกระชังตายอีก และ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ค่าออกซิเจนละลายเพิ่มขึ้นเป็น 2.0 มก./ล. และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สํานักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ได้เก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ค่าความสกปรกในรูปบีโอดี และโลหะหนัก คาดว่าจะได้ผลภายใน 1-2 สัปดาห์