ThaiPublica > เกาะกระแส > “ลานีญา-มนุษย์” ตัวแปร “ภัยพิบัติ” ทุบสถิติความถี่-รุนแรง

“ลานีญา-มนุษย์” ตัวแปร “ภัยพิบัติ” ทุบสถิติความถี่-รุนแรง

27 ตุลาคม 2011


วารีพิโรธกำลังโจมตีกรุงเทพฯ และปริมณฑล
วารีพิโรธกำลังโจมตีกรุงเทพฯ และปริมณฑล
(ที่มาภาพ: AP-http://media.sacbee.com/static/weblogs/photos/images/2011/oct11/thailand_flooding_sm)

วิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปีที่กำลังโจมตีกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังเข้าถล่มหลายจังหวัดทางตอนเหนือและภาคกลางที่เป็นเส้นทางผ่านของน้ำ ได้สร้างความเสียหายมหาศาลต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก ทั้งยังทิ้งรอยแผลฉกรรจ์ให้กับเศรษฐกิจไทยคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท

หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมภัยพิบัติครั้งนี้ถึงได้รุนแรงและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างขนาดนี้ ในขณะที่ไทยก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาตลอด

คำตอบอาจอยู่ที่ “มนุษย์” ที่มีส่วนผลักให้ “ธรรมชาติ” เอาคืนหนักมือมากกว่าที่ผ่านๆ มา

นอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด มาตรการแก้ปัญหาที่ไร้ประสิทธิภาพ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากน้ำมือของมนุษย์กลับมีส่วนทำให้ภัยธรรมชาติมีแนวโน้มจะเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

“แบรนดอน มิลเลอร์” นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสของสำนักข่าว “ซีเอ็นเอ็น” อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับวารีพิโรธครั้งนี้ว่า ที่จริงแล้วฤดูพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone season) ในแถบแปซิฟิกตะวันตกอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ได้รุนแรงมากหรือน้อยกว่าปีก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ ภูมิภาคนี้เผชิญกับพายุหลายระลอกในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ไม่ว่าจะเป็นพายุไห่ถาง เนสาต นาลแก

แต่สิ่งที่ส่งผลต่ออานุภาพของพายุเหล่านี้น่าจะมาจากความดันอากาศสูงในแถบแปซิฟิกมากกว่าเป็นผลจากลมมรสุม ทำให้พายุเคลื่อนตัวได้ไกลมากขึ้น เข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขยายขอบเขตของร่องมรสุมจนทำให้เกิดฝนตกมากกว่าปริมาณโดยเฉลี่ยในหลายประเทศ ทั้งไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยในส่วนของไทย พื้นที่ส่วนใหญ่ปีนี้มีฝนตกมากกว่าอัตราเฉลี่ย 15-25%

สำหรับเหตุผลว่าทำไมฤดูมรสุมจึงทำให้เกิดสภาพอากาศในปีนี้รุนแรงมากกว่าปกติ อย่างเช่นพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 58% คำอธิบายคือลมมรสุมบางประเภทมีความรุนแรงมากกว่าประเภทอื่นๆ ซึ่งมีเหตุผลหลากหลาย ปริมาณน้ำฝนในช่วงมรสุมเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนกันยายนเพราะระบบอากาศในเขตร้อนที่มีปฏิสัมพันธ์กับร่องมรสุม

น่าสนใจว่า ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนกว่านั้นที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะอาจเป็นไปได้ที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพอากาศในระบบใหญ่และสภาพอากาศที่แปรปรวน อาทิ ปรากฏการณ์เอลนิโญ หรือลานิญา โดยเฉพาะลานีญาที่มักทำให้ปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอุณหภูมิพื้นผิวทะเลที่สูงหรือต่ำกว่าปกติก็อาจก่อให้เกิดความผันผวนของปริมาณฝนในช่วงมรสุมได้

เฮอร์ริเคนแคทรินาพัดถล่มสหรัฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับหายนภัยบ่อยครัั้งและรุนแรงมากขึ้น
เฮอร์ริเคนแคทรินาพัดถล่มสหรัฐ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เผชิญกับหายนภัยบ่อยครัั้งและรุนแรงมากขึ้น
(ที่มาภาพ: http://mediamythalert.files.wordpress.com/2011/05/new-orleans-flooding.jpg)

อย่างไรก็ตาม ลมมรสุมอาจมีกำลังแรงในบางพื้นที่ แต่อ่อนกำลังในบางพื้นที่ อย่างกรณีของไทยที่ร่องมรสุมมีกำลังแรงในบริเวณภาคกลาง ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ กลับมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

อีกคำถามสำคัญ คือ มรสุมฤดูร้อนในเอเชียจะเปลี่ยนไปสร้างหายนะที่รุนแรงยิ่งขึ้น หรือยังดำเนินไปตามวัฏจักรตามปกติ “มิลเลอร์” เชื่อว่ามรสุมในภูมิภาคนี้จะยังดำเนินไปตามวงจร แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย ผลที่เกิดขึ้นอาจยิ่งเลวร้ายลงหากประชากรและเขตเมืองขยายตัวไปตามแม่น้ำสายหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบที่รวดเร็วและหนักหนาสาหัสมากขึ้นจากเหตุน้ำท่วมในช่วงมรสุม

ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศ สำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐ (NOAA) ระบุสอดคล้องกันว่า “ลานีญา” ที่ทำให้เกิดภาวะสภาพอากาศแบบสุดขั้วทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กลับมาเกิดในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งจะค่อยๆ รุนแรงขึ้น และกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวของสหรัฐด้วย

โดยปรากฏการณ์ลานีญาในฤดูหนาวจะทำให้อากาศแห้งกว่าปกติในบริเวณภาคใต้ของสหรัฐ และสภาพอากาศเปียกชื้นกว่าปกติในแถบแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ

“ไมค์ ฮาลเพิร์ต” รองผู้อำนวยการของศูนย์พยากรณ์อากาศ อธิบายว่านี่หมายถึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยแล้งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรัฐเท็กซัส โอกลาโฮมา และนิวเม็กซิโก ลานีญายังทำให้เกิดภัยหนาวในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือและพื้นที่ราบทางตอนเหนือ ขณะที่อากาศจะอุ่นมากขึ้นในรัฐทางใต้

NOAA ได้นับรวมการกลับมาของลานีญาไว้ในการคาดการณ์ฤดูเฮอร์ริเคนประจำปีนี้ ซึ่งนับเป็นฤดูเฮอร์ริเคนที่เปี่ยมพลัง มีจำนวนไซโคลนหรือพายุหมุนเขตร้อนประมาณ 14-19 ลูก นอกจากนี้ ลานิญาที่รุนแรงในระหว่างปี 2553-2554 ก่อให้เกิดพายุหิมะครั้งใหญ่ น้ำท่วมและภัยแล้ง เช่นเดียวกับภาวะอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาทิ ฝนตกหนักในออสเตรเลีย ภาวะแล้งหนักในแอฟริกาตะวันออก

ลานีญาเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผิวน้ำของมหาสมุทรและสภาวะอากาศ ซึ่งในระหว่างเกิดลานีญาอากาศจะเย็นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในมหาสมุทรแปซิฟิกที่จะส่งผลต่อรูปแบบของสภาพอากาศในโลก ปกติแล้วลานีญาจะเกิดทุกๆ 3-5 ปี และเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดภาวะอากาศสุดขั้วในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

ข้อมูลจากสำนักงานจัดการภัยพิบัติฉุกเฉินของสหรัฐ (FEMA) ระบุว่าจนถึงขณะนี้สหรัฐประกาศภัยพิบัติอย่างเป็นทางการแล้ว 89 กรณี ทั้งที่ยังเหลือเวลาอีกราว 2 เดือนกว่าจะหมดปี ทำให้ปี 2554 จ่อขึ้นแท่นปีแห่งหายนภัยมากครั้งที่สุดของสหรัฐ เทียบกับปีที่แล้วที่มีหายนภัย 81 ครั้ง

จำนวนหายนภัยทางธรรมชาติอย่างเป็นทางการของสหรัฐ
จำนวนหายนภัยทางธรรมชาติอย่างเป็นทางการของสหรัฐ

เหตุผลที่ทำให้ปีนี้ทุบสถิติจำนวนครั้งของภัยพิบัติก็เพราะสภาพอากาศที่เลวร้ายในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยหนาวในโอกลาโฮมา ทอร์นาโดหลายต่อหลายลูกในอะลาบามา น้ำท่วมหนักในแถบตะวันตกตอนกลาง ความแห้งแล้งที่ก่อให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในเท็กซัส และเฮอร์ริเคนไอรีนที่สร้างความสูญเสียกว่า 7-10 พันล้านดอลลาร์

น่าสังเกตว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2539-2553 เกิดหายนภัยธรรมชาติโดยเฉลี่ยประมาณ 58 ครั้งต่อปี มีเพียง 3 ปีที่มีการประกาศภัยพิบัติ 75 ครั้งหรือมากกว่า ได้แก่ ปี 2539, 2551 และ 2553 จำนวนภัยธรรมชาติเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางยุค 1990 และหนักหนามากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ 2554 จะเป็นปีที่มีจำนวนครั้งของหายนภัยจากสภาพอากาศมากที่สุด แต่ยังเป็นปีที่ชาวอเมริกันเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรงมากสุดด้วย

ทว่าสภาวะอากาศเลวร้ายก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้หายนภัยทวีความรุนแรง หากแต่ผู้คนจำนวนมากพากันอาศัยอยู่ใกล้แนวชายฝั่งมากกว่าในอดีต จึงทำให้ความสูญเสียมากขึ้น ขณะที่ภาวะโลกร้อนก็มีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

ปรากฏการณ์ลานีญายังส่งผลต่อจำนวนภัยธรรมชาติที่เกี่ยวโยงกับสภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทั้งการเกิดพายุในแถบออสเตรเลียมากกว่าปกติในฤดูไซโคลนที่อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน และก่อให้เกิดน้ำท่วมหนัก โดยรวมแล้วทางตอนเหนือของแดนจิงโจ้อาจถูกกระหน่ำจากไซโคลนกว่า 12 ลูก

หายนภัยจากธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและพายุไซโคลนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของออสซี่ราว 0.75% ในช่วงปี 2553-2554 พัดถล่มรายได้ของประเทศไปราว 1.75 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปี 2553-2554 และ 2554-2555

“ปีเตอร์ ฮ็อปป์” หนึ่งในคณะจัดทำรายงาน Geo Risks Research ของบริษัทนายหน้าประกันภัยต่อ “มิวนิก รี” ระบุว่า ถึงแม้แนวโน้มความเสียหายจากแผ่นดินไหว สึนามิ และการปะทุของภูเขาไฟจะยังค่อนข้างคงที่ แต่กระนั้นความเสียหายจากสภาพอากาศที่รุนแรงกลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่เหตุการณ์ทางธรรมชาติบางอย่าง อาทิ ลานีญา เอลนีโญ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพอากาศเลวร้าย อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ธรรมชาติแปรปรวน อย่างกรณีของน้ำท่วมที่ขึ้นแท่นเป็นภัยพิบัติราคาแพงที่สุดของออสเตรเลียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะอุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้น หมายความว่าจะมีไอน้ำระเหยมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเกิดฝนตกหนัก

นับจากนี้ไปความรุนแรงของสภาพอากาศจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลก ดังที่ “เจฟฟ์ มาสเตอร์ส” ผู้อำนวยการด้านอุตุนิยมวิทยาของเวเธอร์ อันเดอร์กราวนด์ กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นมีพลังมากที่จะเป็นพายุกำลังแรง ภัยพิบัติแบบที่เกิดในปี 2554 อาจจะกลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นในสหรัฐในทศวรรษที่จะมาถึง

ข้อมูลจากสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐว่า ปีนี้เป็นปีที่มีต้นทุนภัยธรรมชาติราคาแพง ทั้งความสูญเสียในแง่พื้นที่เพาะปลูก ชีวิตและทรัพย์สิน

เมื่อพิจารณาต้นทุนหายนภัยจากสภาพอากาศเลวร้ายนับจากยุค 1980 ถึงปีนี้ มีภัยธรรมชาติราว 10 ครั้งที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1 พันล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น เทียบกับหายนภัยครั้งใหญ่ที่ทำสถิติมากสุด 9 ครั้งในปี 2551 นอกจากนี้ หายนภัยในปีนี้ยังทุบสถิติเรื่องความเสียหายราคาแพง เพราะมีความเสียหายกว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้จะนับภัยพิบัติครั้งใหญ่เพียง 9 ครั้งก่อนที่เฮอร์ริเคนไอรีนจะพัดถล่มเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกในเดือนสิงหาคม

เฮอร์ริเคนไอรีนทำลายล้างสหรัฐในปีนี้
เฮอร์ริเคนไอรีนทำลายล้างสหรัฐในปีนี้
(ที่มาภาพ: http://www.twotsi.com/pdata/XAPP-1316114791-irene-lon-island.jpg)

“เจอร์รี มีห์ล” จากศูนย์วิจัยสภาพอากาศแห่งสหรัฐ ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยสามารถทำให้สภาพอากาศเลวร้าย จากรายงานหลายชิ้นพบตรงกันว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นมีความเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1 องศาในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และมีส่วนทำให้เกิดสภาพอากาศเลวร้ายในระยะหลังๆ มานี้

จากรายงานความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและและภาวะอากาศสุดขั้วพบว่า ในช่วงปี 1950 จำนวนวันที่ร้อนที่สุดและวันที่หนาวเย็นที่สุดในสหรัฐมีพอๆ กัน แต่พอถึงยุค 2000 วันที่ร้อนจัดกลับเพิ่มมากเป็น 2 เท่า ครั้นเมื่อถึงปี 2011 จำนวนวันที่อากาศร้อนสุดๆ ก็เพิ่มเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับวันที่อากาศเย็นจัด และคาดว่าเมื่อถึงช่วงท้ายของศตวรรษนี้จะทวีจำนวนเป็น 50 เท่า

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามภาวะโลกร้อนจะมีส่วนทำให้น้ำราว 4% ระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ปริมาณหิมะและฝนในสหรัฐเพิ่มขึ้น 7% ตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณฝนในพื้นที่ฝนตกหนักที่สุด 1% เพิ่มขึ้นถึง 20% ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมมากขึ้น

นอกจากนี้ การละลายของหิมะ และการเพิ่มขึ้นของน้ำฝนมากกว่าหิมะ ส่งผลให้วงจรน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ด้าน “โดนัลด์ วอบเบิลส์” นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ มองว่า ทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นในระบบสภาพอากาศได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในระบบสภาวะอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และถึงแม้จะไม่สามารถประเมินได้ว่ามีสัดส่วนมากน้อยแค่ไหนที่สภาพอากาศสุดขั้วเกี่ยวพันกับภาวะโลกร้อน จนทำให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อโลกในปัจจุบัน

สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลักๆ เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และย่อมส่งผลต่อสภาพอากาศในทุกวันนี้