ปมสาวไส้ที่เกิดขึ้นในกระทรวงการคลังช่วงนี้ค่อนข้างร้อนระอุ หลังจากที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ถูกเด้งพ้นจากตำแหน่ง ข่าวเชิงลบก็หลั่งไหลกันออกมาดั่งสายน้ำ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควตาหวย 4 หมื่นเล่ม ล่องหนไร้ร่องรอย เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงธนาคารเฉพาะกิจ กรณีการปล่อยสินเชื่อของนายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กับนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รวมทั้งการเปิดรายงานลับแบงก์ชาติกรณีการตรวจสอบเอสเอ็มอีแบงก์ และคดีค่าโง่กรมธนารักษ์ เป็นต้น
แต่พอเปลี่ยนตัวมาเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งขุนคลังได้ไม่นาน นายกิตติรัตน์ได้แบ่งงานให้นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าไปกำกับดูแลแบงก์รัฐ 5 แห่ง ปรากฏว่านายธีระศักดิ์พ้นข้อกล่าวหาเป็นคนแรก
ผลสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่มีนายอำนวย ปรีมนวงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ ซึ่งแต่งตั้งสมัยนายธีระชัย ระบุว่า กระบวนการอนุมัติสินเชื่อของนายธีรศักดิ์ ส่วนใหญ่จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการของธนาคาร แต่ในทางปฎิบัติอาจจะมีผิดระเบียบเพียงเล็กน้อย ซึ่งเชื่อมโยงไปไม่ถึงนายธีรศักดิ์ และก็ไม่ทำให้ธนาคารเสียหาย
ส่วนกรณีของนายเลอศักดิ์ ตอนนี้นายมนัส แจ่มเวหา รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานสอบ ยังไม่ได้สรุปผลสอบนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการออมสิน แต่ตอนนี้เริ่มส่อแววว่าพ้นข้อกล่าวหาเช่นกัน
เบื้องลึกของการแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปลุยสอบการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสินครั้งนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า สาเหตุน่าจะเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องที่ธนาคารออมสินดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตประธานกรรมการคณะกรรมการ ธนาคารออมสิน ซี่งในสมัยนั้นนายนิพัทธอาศัยอำนาจประธานคณะกรรมการ เซ็นอนุมัติให้ธนาคารออมสินซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (บีบีซี) ตามคำเชิญของนายวิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น (และมีลูกน้องชื่อ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล) โดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคารออมสินก่อน
หลายคนอาจจะลืมชื่อ “นิพัทธ พุกกะณะสุต” ไปแล้ว แต่ในแวดวงตลาดทุนต่างรู้ดีว่า เป็นผู้กว้างขวางและมีเครือข่ายที่มีอำนาจ ในสมัยที่นายวิจิตร สุพินิจ อดีตประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ผู้อื้อฉาว ที่ถูกพนักงานใส่ชุดดำประท้วงให้ลาออกจากเก้าอี้จนต้องทิ้งเก้าอี้ในที่สุด และมีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.
ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติของนายนิพัทธ ถือว่าเป็นข้าราชการที่เก่งที่สุดของกระทรวงการคลัง ทุกครั้งที่ประเทศไทยลดค่าเงินบาท ลอยตัวค่าเงิน พาประเทศเข้าโปรแกรมฟื้นฟูของไอเอ็มเอฟ ต้องมีชื่อนายนิพัทธเข้าไปอยู่ในทีมด้วยทุกครั้ง แต่บางครั้งนายนิพัทธก็ใช้ความเก่งจนต้องถูกให้ออกจากราชการ กลายมาเป็นกุนซือใหญ่ด้านเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทำให้นายนิพัทธรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี ทั้งทางแพ่งและอาญาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตมาได้นับสิบคดี จนคนคลังตั้งฉายา “นิพัทธ” ว่าเป็น “แมว 9 ชีวิต “ ไม่มีวันตาย ชื่อของ “นิพัทธ” จึงกลับขึ้นมาผงาดอีกครั้งเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง
ชื่อของ “นิพัทธ” ถูกเอ่ยนามบ่อยครั้งในระยะนี้เพราะถูกธนาคารออมสินฟ้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งคดีผ่านการพิจารณาของศาลมาแล้วถึง 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งตัดสินให้ “นิพัทธ” ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ธนาคารออมสิน 375 ล้านบาท พร้อมกับดอกเบี้ยอีก 7.5% ต่อปี นับจากวันที่ 9 มีนาคม 2544 ถึงปัจจุบัน คิดเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
ล่าสุด คดีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกา และถ้าหากศาลฎีกาคงยืนคำตัดสินตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ขั้นตอนต่อไป “เลอศักดิ์ จุลเทศ” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ต้องบังคับ “นิพัทธ” จ่ายค่าเสียหายตามกฏหมาย
แต่ประเด็นที่ต้องจับตาก็คือ หลังจากที่ “ธีระชัย” เข้ามารับตำแหน่งขุนคลัง กระทรวงการคลังได้ส่งนางพรรณี สถาวโรดม อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งอดีตเป็นลูกน้องเก่าของ “นิพัทธ” เข้ามานั่งเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน แทนนายวินัย วิทวัสการเวช อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่ยื่นใบลาออกไปก่อนที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง
นางพรรณีข้ามานั่งเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารออมสินได้ไม่นาน ก็แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาลุยสอบการบริหารงานของนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินหลายชุด แต่ที่ประเด็นน่าสนใจคือ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2555 ธนาคารได้แต่งตั้งนายวิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกระบวนการอนุมัติสินเชื่อของออมสิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีของคนในแวดวงการเงินการว่าทั้ง “นิพัทธ” และ “วิจิตร” มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นขนาดไหน และที่สำคัญ ในสมัยที่นายวิจิตรเป็นผู้ว่า ธปท. ได้เป็นคนออกจดหมายเชิญให้นายนิพัทธ ซึ่งในขณะนั้นนั่งเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน ให้นำเงินออมสินมาซื้อหุ้นบีบีซี ดังนั้นการแต่งตั้งนายวิจิตรเข้าไปสอบนายเลอศักดิ์ ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องวุ่นๆ ที่เกิดขึ้นในกระทรวงการคลังยังไม่จบลงแค่นี้ ยังมีเรื่องค่าโง่โครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ หมอชิต ที่กรมธนารักษ์ต้องเร่งหาเงินมาจ่ายให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) ตามคำพิพาษาของศาลปกครองสูงสุดอีก 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ได้มีมติให้หาตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษกรณีทำให้รัฐต้องเสียหาย (อ่านเพิ่ม “คลังเตรียมเช็คบิลอดีตบิ๊กธนารักษ์ทำรัฐเสียหาย กรณีมหากาพย์ที่ดินราชพัสดุหมอชิต – ของบกลางพันล้าน จ่ายค่าโง่ “บีทีเอส”)แหล่งข่าวจากระทรวงการคลังกล่าวว่า ล่าสุด นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้สรุปรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ซึ่งมีอยู่ 5 ราย โดยรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร “น”, ”อ”, ”ว”, ”พ” และ ”ย” ในจำนวนนี้มีอยู่ 2 รายปลดเกษียณไปหมดแล้ว ส่วนอีก 3 ราย ยังรับราชการอยู่เป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง
และอธิบดีกรมธนารักษ์สมัยนั้นชื่อนายนิพัทธ พุกกะณะสุต
ตามขั้นตอนต่อไป นายกิตติรัตน์ต้องนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อขออนุมัติจัดสรรงบกลาง 1,000 ล้านบาท มาชำระหนี้ค่าก่อสร้างฐานรากและดอกเบี้ยให้กับบีทีเอสตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จากนั้น กรมธนารักษ์ต้องออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจเข้ามาบริหารโครงการที่ดินราชพัสดุหมอชิต ซึ่งนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาต้องรับภาระค่าใช้จ่าย 1,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจัดงบกลางสำรองจ่ายไปก่อนด้วย หากกรมธนารักษ์หาตัวนักลงทุนรายใหม่เข้ามาบริหารโครงการที่ดินราชพัสดุ หมอชิตไม่ได้ กรมธนารักษ์ต้องดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเอากับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 รายต่อไป
สรุปแล้ว บั้นปลายชีวิต แมว 9 ชีวิตอย่าง “นิพัทธ พุกกะณะสุต” ต้องควักกระเป๋าชดใช้ความเสียหายจากการเข้าไปซื้อหุ้นบีบีซี 500 ล้านบาท และยังถูกกรมธนารักษ์ฟ้องให้จ่ายค่าโง่บีทีเอสอีก 1,000 ล้านบาท หรือไม่
หากต้องจ่ายจริงๆ ก็ถือซะว่าเงินล่วงหน้าที่เคยใช้ ถึงเวลาที่ต้องจ่ายคืนแล้วทั้งต้นทั้งดอก