ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเล็งแก้ราคากลาง สางฮั้วประมูล e-bidding – มติ ครม. ฟังความเห็นส่วนราชการ เพิ่มงบปี’61 อีก 4.7 หมื่นล้าน

นายกฯเล็งแก้ราคากลาง สางฮั้วประมูล e-bidding – มติ ครม. ฟังความเห็นส่วนราชการ เพิ่มงบปี’61 อีก 4.7 หมื่นล้าน

9 พฤษภาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

เล็งแก้ราคากลาง – ขึ้นบัญชีบริษัททิ้งงานแล้วกว่า 800 ราย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีข้อร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการฮั้วประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐผ่านระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอยู่ ซึ่งการแก้ไขไม่ได้ทำเฉพาะเรื่อง e-bidding แต่จะแก้ไปถึงเรื่องราคากลางด้วย โดยต้องปรับให้มีความเหมาะสม เนื่องจากเมื่อมีการกวดขันมากขึ้นก็สามารถช่วยให้ประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น

“เรื่องการฮั้วประมูลต้องขอความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ วันนี้ผมได้สั่งการไปว่ากระทรวงการคลังต้องไปร่วมมือกับองค์กรต่อต้านทุจริตภาคประชาชน ที่ขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนบริษัทไว้ประมาณ 800 บริษัท ส่วนภาครัฐก็มีการขึ้นทะเบียนบริษัทที่ทิ้งงาน ไม่มีความสามารถต่างๆ ไว้หมดแล้ว หากบริษัทเหล่านั้นเสนอเข้ามาจะประมูลไม่ได้ ถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียงก็ตาม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยังไม่ซื้อรถเกราะ – มท. สอบจัดซื้อโซลาร์เซลล์ 3 จว.ใต้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีกระแสข่าวการพิจารณาอนุมัติซื้อรถเกราะล้อยาง VN-1 จากจีน 34 คัน วงเงิน 2,000 ล้านบาทว่า ไม่มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในวันนี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการจัดซื้อทั้งหมดต้องเป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ

“หากจะซื้อตามแผนพัฒนากองทัพก็ให้ว่ามา แต่ขณะนี้ยังไม่มี และการซื้อต้องมีการพิจารณาเยอะแยะไปหมด ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่รับผิดชอบด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามกรณีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์กว่า 14,000 จุด ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท แต่พบว่ามีหลายจุดที่ไม่สามารถใช้งานได้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกองทัพภาคที่ 4 ไปตรวจสอบเรื่องนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร การดำเนินโครงการนี้เป็นอย่างไร และส่วนที่ชำรุดนั้นเกิดจากอะไร พร้อมย้ำว่าการดำเนินงานทุกอย่างมีการทำสัญญา มีคณะกรรมการ และมีการตรวจสอบ

ยินดีโสมขาวไม่ว่าได้ใครเป็น ปธน. – เตรียมแจงสหรัฐฯ ปมละเมิดลิขสิทธิ์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมุมมองของไทยต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ว่า ตนยินดีกับทุกท่านไม่ว่าใครได้รับเลือกขึ้นมา เนื่องจากประเทศไทยมีการคบค้าสมาคมกันอยู่แล้ว คิดว่าในส่วนของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศก็พยายามแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว ซึ่งไทยก็มีส่วนร่วมในพันธกรณีกับสหประชาชาติอยู่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีนักธุรกิจฮ่องกงกว่า 60 บริษัท สนใจที่จะลงทุนในเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ขณะนี้ฮ่องกงอยู่ในช่วงการเปลี่ยนคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกง ไทยจะต้องเตรียมตั้งรับให้ดี เนื่องจากเขาจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย ต้องอาศัยจังหวะนี้เป็นโอกาส

สำหรับกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ตนกำลังเตรียมคำชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ว่าเราได้ทำทุกอย่างตามกติกา มีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้วจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ตอนนี้เรากำลังเร่งรัดการจดทะเบียนลิขสิทธิ์

ฝาก ปชช. ฟังแถลงผลงาน 3 ปีอย่างรอบด้าน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแถลงสรุปผลการบริหารงาน ครบ 3 ปี คสช. และรัฐบาลว่า เรื่องดังกล่าวเป็นธรรมเนียมที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งตนพยายามให้มีการเสนอผลงาน ความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยฝากให้ประชาชนรับฟังอย่างรอบด้าน เนื่องจากที่ผ่านมาทุกคนเลือกรับฟังแต่สิ่งที่อยากรู้ ฟังเฉพาะเรื่องตนเอง ทำให้เสมือนรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้หมดทุกภาคส่วน ยืนยันรัฐบาลไม่ปล่อยปะละเลยทุกเรื่องและให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการบริหารราชการที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจเป็นกลุ่มงาน กลุ่มแรกเป็นในภาพกว้างระดับนโยบาย คือ กลุ่มนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี กลุ่มที่สอง โฆษกประจำ 6 กลุ่มงานที่มีรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลอยู่ กลุ่มที่สาม คือ รัฐมนตรีและโฆษกประจำกระทรวง ซึ่งการชี้แจงการทำงานของรัฐบาลมีเอกสารข่าวทุกสัปดาห์ให้กับสื่อมวลชน และเพื่อเป็นการบันทึกการทำงานของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม เป็นข้อมูลแก่รัฐบาลต่อไป

ไม่อยากให้ไฟใต้ออกสู่เวทีโลก

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่มมาราปาตานีออกแถลงการณ์สนับสนุนให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัย (เซฟตี้โซน) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ไม่ต้องการให้เรื่องการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นไปสู่เวทีนานาชาติ ขณะนี้เป็นเรื่องของการพูดคุย ซึ่งที่ผ่านมาได้คลี่คลายสถานการณ์ไปมาก ด้านองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ที่มีคณะทำงานมาตรวจดูการทำงานในพื้นที่ภาคใต้ของไทยก็พอใจการทำงาน ทั้งนี้ ได้ขอให้และผู้นำศาสนาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

ชี้กรณี “เนติวิทย์” ถูกคุกคาม อยากให้สังคมเคารพกัน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกคุกคามในมหาวิทยาลัย ว่า “เรื่องนี้ผมอยากให้เป็นเรื่องที่เคารพซึ่งกันและกัน ถือว่าสังคมต้องดูแลซึ่งกันและกัน ผมไม่กล่าวอ้างว่ามันผิดหรือถูกอย่างไร เพราะอะไรที่เหมาะที่ควรทุกคนก็ย่อมรู้ดี ต้องดูที่เจตนาวันนี้ถึงแม้ว่าโลกเราจะเป็นโลกเสรี แต่อย่าลืมว่าต้องดูความมีอัตลักษณ์ของไทยไว้ด้วย หรือว่าทุกคนไม่รักความเป็นไทย แต่เชื่อว่าทุกคนรักประเทศ”

มติ ครม.มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ขยายเวลาใช้เงิน อปท. สนับสนุนท้องถิ่น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติในหลักการให้ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกผันและเบิกจ่ายตามมาตรการการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้จนถึง 30 มิถุนายน 2560 และให้คงหลักการให้ อปท. ใช้จ่ายจากเงินสะสมเป็นลำดับแรกก่อนตามหลักการที่ ครม. เคยมีมติก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ครม. เคยมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสังคมภายในท้องถิ่น จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและ อปท. หรือ Matching Fund และมาตรการพัฒนาคุณชีวิตของประชาชนผ่านการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ อปท. นำเงินสะสมมาใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแลติดตามโครงการ

โดยมาตรการ Matching Fund มีกลุ่มเป้าหมายคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีกรอบวงเงิน 19,795 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายสมทบในลักษณะเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ตามประเภทและขนาดของ อปท. โดยจัดสรรจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และเงินสะสมของ อปท. ในสัดส่วน 1:1 คิดเป็นฝ่ายละ 9,897 ล้านบาท แต่การดำเนินการที่ผ่านมาสามารถดำเนินการเห็นชอบไปได้ 1,071 ล้านบาท 2,712 โครงการเท่านั้น เนื่องจากติดปัญหากรอบระยะเวลาที่ไม่เพียงพอและการต้องใช้จ่ายเงินของ อปท. เป็นลำดับแรก ทำให้บาง อปท. ไม่สามารถดำเนินการได้

เว้นภาษี 3 ปีส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ฯ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบหลักการของกรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ได้แก่ 1)  กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยี 2)  กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3)  กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ  หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 5) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ให้เป็นการพัฒนางานวิจัย

โดยให้กระทรวงการคลังและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับรองค่าใช้จ่าย เช่น รายการค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อการวิจัย  ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อให้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมใช้เป็นหลักเกณฑ์กลางในการพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ว่าจ้างทำวิจัยและกลุ่มผู้ว่าจ้างทำการวิจัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้จัดตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมขึ้นมาร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และนักวิจัย เพื่อขึ้นทะเบียนนักวิจัย โดยมีหน่วยงานรัฐ เอกชน เป็นผู้กำหนดหัวข้อวิจัยและพัฒนา เพื่อว่าจ้างมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานรัฐในการวิจัย และสุดท้ายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ดำเนินการคัดเลือกและจัดสรรนักวิจัยเข้าไปร่วมดำเนินการในแต่ละอุตสหากรรม ทั้งนี้ อนุโลมให้จ้างนักวิจัยที่เป็นชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเข้าร่วมได้ ขณะที่แหล่งเงินทุนจะได้รับการสนับสนุนจากจากภาคเอกชน ส่วนภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้น เห็นควรให้ผู้ร่วมว่าจ้างและผู้วิจัยพิจารณาร่วมกันตามความเหมาะสมต่อไป

ขณะเดียวกัน ครม. ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกันตามโครงการสานพลังประชารัฐ และได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุด  3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชี  สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแต่ละรายดังกล่าวที่จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องไม่เกินกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในปัจจุบันตามพระราชกฤษฎีกาออกตามในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559

ในรายละเอียดการหักรายจ่ายเท่าที่ 3 มีข้อกำหนดว่าเมื่อรวมกับยอดรายจ่ายในขั้นที่ 2 จะต้องไม่เกินอัตราส่วนรายได้ที่กำหนดเป็นขั้นบันได้ ดังนี้ 1) รายได้ 50 ล้านบาทแรก หักรายจ่ายได้ 60%, รายได้ส่วน 50-200 ล้านบาท หักได้ 9% ของรายได้ และมากกว่า 200 ล้านบาท หักได้ 6% ของรายได้ ตัวอย่างเช่น หากมีรายได้ 600 ล้านบาทและมีรายจ่าย 40 ล้านบาท จะมียอดการหักรายจ่ายของเท่าที่ 2 และเท่าที่ 3 ไม่เกิน 67.5 ล้านบาท (ตามเกณฑ์รายได้ขั้นบันได) และแบ่งเป็นการหักรายจ่ายในเท่าที่ 2 จำนวน 40 ล้านบาท และเท่าที่ 3 เพียง 27.5 ล้านบาทเทน

ขยายเวลารถเมล์ฟรี รถไฟฟรี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2560 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางต่อไป เนื่องจากเดิมกระทรวงคมนาคมมีแผนงานที่จะออกบัตรให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยเพื่อให้สวัสดิการรถเมล์และรถไฟฟรี โดยจะใช้ฐานข้อมูลจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2559 ซึ่งตามแผนงานดังกล่าวจะสามารถออกบัตรสวัสดิการได้ในเดือนพฤษภาคม 2560 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ซึ่งกระทรวงการคลังมีกลไกการดำเนินการที่จะออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยอาศัยฐานข้อมูลของปี 2560 ให้ผู้มีสิทธิเพื่อนำไปใช้รับสวัสดิการตามที่ภาครัฐกำหนดต่อไป

กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อไม่ให้เป็นการดำเนินการซ้ำซ้อน กระทรวงคมนาคมจึงจะขอใช้บัตรสวัสดิการดังกล่าวด้วย ซึ่งตามแผนงานที่กำหนดได้คาดว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะออกได้ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 และคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2560 จึงต้องขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางออกไปอีก 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2560 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ก่อนจะต่ออายุเรื่อยมาจนถึงครั้งปัจจุบันเป็นครั้งที่ 23

จัด 5 หมื่นล้าน ตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยจัดสรรงบประมาณในปี 2561 วงเงิน 50,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายและเป็นกลไกช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยจะนำไปประกอบกับข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยของรัฐ เพื่อให้รัฐบาลสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเฉพาะเจาะจงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ในปีงบประมาณต่อๆ ไป กระทรวงการคลังจะจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะออกมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารและแหล่งเงินทุนต่างๆ ต่อไป

“กองทุนนี้มีขึ้นเพราะจะได้มีความคล่องตัว ไม่ล่าช้าและสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณบางส่วนมารองรับประเด็นเหล่านี้แน่นอน ต่างจากการใช้งบประมาณปกติที่อาจจะล่าช้าหรือสามารถเบิกจ่ายได้ โดยเบื้องต้นจะเป็นการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ แล้วต่อไปจะมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมได้ แต่ยังต้องรอการลงทะเบียนสวัสดิการต่างๆ ของปีนี้ให้แล้วเสร็จก่อน” นายณัฐพรกล่าว

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวได้จัดสรรงบประมาณเพียง 46,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปกติที่หน่วยงานของรัฐอาจจะไม่ได้งบประมาณเต็มจำนวนที่ขอมา เนื่องจากข้อจำกัดของรายได้และงบประมาณของประเทศ

ฟังความเห็นส่วนราชการ เพิ่มงบปี’61 อีก 4.7 หมื่นล้าน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 77 วรรค 2 เมื่อวันที่ 26 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2560 และเห็นชอบตามข้อสรุปของการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวให้ปรับลดงบประมาณ วงเงิน 4,985.5 ล้านบาท และปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณ 4,784.8 ล้านบาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากกรอบวงเงินเดิมอีก 47,110 ล้านบาท

อนึ่ง เดิม ครม. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 เห็นชอบอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.3% ของจีดีพี ลดลงจากปีก่อนหน้า 23,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.8% โดยสำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2561 จะเติบโตได้ 3.3-4.3% ดีขึ้นจากปี 2560 ที่คาดการณ์ไว้ 3-4% และจะจัดเก็บรายได้ได้ 2.45 ล้านล้านบาท และต้องกู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 จะแบ่งเป็นงบประจำ 74% ของงบประมาณรวม เพิ่มจาก 73.8% ในปีก่อนหน้า, งบลงทุน 23% เพิ่มจาก 22.5%, ชดเชยต้นเงินกู้ 3% เพิ่มขึ้นจาก 2.8% (ในปีงบประมาณ 2560 มีการชดเชยเงินคงคลัง 0.9% ของงบประมาณรวม ขณะที่ปีงบประมาณ 2561 ไม่มี)

ไฟเขียว 781 ล้าน อุดหนุนครูเอกชน

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา ในส่วนของเงินสมทบเงินเดือนครู วงเงิน 781.9 ล้าน เนื่องจากที่ผ่านมาอัตราเงินอุดหนุนในส่วนเงินสมทบเงินเดือนครูไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน คือมีการปรับเพิ่มในอัตราที่น้อยมาก และโรงเรียนก็ขาดแคลนงบประมาณสำหรับจ่ายเงินเดือนให้สอดคล้องตามสมรรถนะของครู”

อนึ่ง ข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการได้ขออุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับโรงเรียนเอกชน 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1) การขอปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเป็นเงินเดือนครู 2) การขอปรับเพิ่มอัตาเงินสมทบเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษานักเรียนโรงเรียนการกุศล 3) ขออุดหนุนเพิ่มเติมเป็นค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน และ 4) ขออุดหนุนเพิ่มเติมให้นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก รวมวงเงิน 4,170 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุม ครม. เห็นชอบเฉพาะข้อ 1) เนื่องจากเห็นว่ากรณี 3)-4) มีงบประมาณส่วนอื่นๆ ที่สามารถช่วยเหลือได้อยู่แล้ว

เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์คุ้มครองผู้บริโภค

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งมีแผนงานที่สอดรับกับแผนปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีเป้าหมายคุ้มครองผู้บริโภคทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน และยั่งยืน

โดยจะเป็นการพัฒนาใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ระบบกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค 2) ระบบฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภค 2) องค์ความรู้และการสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ 4) เสริมการบูรณาการการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภคเชื่อมโยงเป็นข้อมูลเดียว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำในที่ประชุมให้แต่ละกระทรวงนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปเป็นแผนแม่บทในการออกระเบียบ กติกา หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละกระทรวง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

“ประวิตร” โชว์ผลงานทวงคืนผืนป่า 3.4 แสนไร่

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รายงานความคืบหน้าการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ปัจจุบันสามารถทวงคืนผืนป่าได้ทั้งหมด 349,000 ไร่ ฟื้นฟูพื้นที่ป่ามากกว่า 210,000 ไร่ รวมทั้งพยายามให้มีการนำเทคโนโลยีประยุกต์มาใช้แก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พัฒนาแอปพลิเคชันสมาร์ทเนชั่นนอลพาร์ค 4.0 ที่จะสามารถให้บริการได้ในปี 2560 เป็นเครื่องมือช่วยเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกประชาชน

นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน โดยศูนย์ดังกล่าวจะดำเนินการในพื้นที่ล่อแหลม ที่อาจมีนายทุน มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง เพื่อลดกลุ่มอิทธิพลหรือเครือข่ายการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ให้หมดลง ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับว่าหากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนต้องมีมาตรการเยียวยาให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

โยก “พชร” นั่งอธิบดีกรมธนารักษ์

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโอนข้าราชการระดับสูงตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และ โอนนายพชร อนันตศิลป์ รองปลัดกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป