ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > นายกฯ วอน อย่าโยงกรณีระเบิด สร้างความรุนแรง – จัดงบกลาง 2 พันล้าน เยียวยาน้ำท่วมภาคเกษตร – “สมคิด” เผย “แจ็ค หม่า” เตรียมช่วย SMEs ไทย บุกตลาดโลก

นายกฯ วอน อย่าโยงกรณีระเบิด สร้างความรุนแรง – จัดงบกลาง 2 พันล้าน เยียวยาน้ำท่วมภาคเกษตร – “สมคิด” เผย “แจ็ค หม่า” เตรียมช่วย SMEs ไทย บุกตลาดโลก

12 ตุลาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ ราว 13.00 น. พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า พล.อ. ประยุทธ์ อาจจะไม่มีการแถลงในวันนี้ เนื่องจากต้องเดินทางไปลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ในเวลา 5 นาทีต่อมา ก็มีการประกาศใหม่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะแถลงตามปกติ โดย พล.อ. ประยุทธ์ เริ่มต้นกล่าวว่า “ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันถวายพระพรให้พระองค์ วันนี้ก็มีหลายคณะที่ร่วมสวดมนต์ช่วยให้พระพลานามัยแข็งแรงโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องอยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว” และให้ผู้สื่อข่าวซักถามทันที

วอน อย่าโยงกรณีระเบิด สร้างความรุนแรง

จากกรณีที่ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังการก่อวินาศกรรม และการลอบวางระเบิดสถานที่เชิงสัญลักษณ์ ที่สถานที่เที่ยวสำคัญและสนามบิน 6 แห่ง พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า เขาก็เตือนเสมอมา ขอให้เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่

เมื่อถามว่าเป็นความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในหลายพื้นที่ภาคใต้เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า ยังไม่ทราบ ต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อน โดยการแจ้งเตือนนี้จะเชื่อมโยงกับวันเกิดของกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่นั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะขยายความให้กับกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง ตอนนี้ทั้งโลกมีปัญหาเหมือนกัน อย่าให้เป็นประเด็นความรุนแรงกลับมา

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการขึ้นเงินเดือนกำนันและผู้ใหญ่บ้าน พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า เป็นเรื่องของข้าราชการ ขอให้ประชาชนเข้าใจด้วย ส่วนรายละเอียดต้องทบทวนอีกครั้ง ต้องดูหลายอย่าง เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

ช่วยพื้นที่น้ำท่วม 3,000 บาทต่อครัวเรือน – สั่งตรวจสอบเหตุกระเบนตาย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบข้อซักถามกรณีเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตรา 3,000 บาทต่อครัวเรือน ว่า จำนวนเงินดังกล่าวเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นแล้ว เดิมได้ครัวเรือนละ 1,000 บาท ส่วนพื้นที่ที่ต้องเสียสละรับน้ำเป็นพิเศษยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาอัตราชดเชย เพราะหากมีใครรับน้อยหรือมากก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้น ขอให้ประชาชนเข้าใจด้วย เพราะไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด

สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะกำหนดเวลาและพื้นที่ในการเพาะปลูก พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกคนปลูกเวลาเดียวกัน เพราะจะต้องแก้ปัญหาเรื่องเครื่องจักรและน้ำ อย่าคิดแคบๆ เพราะพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่เกิดนอกเขตชลประทานทั้งสิ้น และที่ผ่านมาก็สามารถปรับตัวได้ เมื่อรัฐบาลยื่นมือเข้าช่วยก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม

สำหรับประเด็นเรื่องปลากระเบนตายเกยตื้น บริเวณแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสาคร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว ทั้งในส่วนของปลากระเบนและปลากระชังที่ลอยตายหลายพื้นที่ ที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของท้องน้ำในบริเวณนั้น รวมไปถึงปลากระเบน ก็เป็นสัตว์ที่ควรสงวนไว้อีกด้วย

มติ ครม. ที่สำคัญอื่นๆ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ขวาสุด) พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กลาง) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวาสุด) พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กลาง) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

จัดงบกลาง 2 พันล้าน ช่วยเกษตรกรประสบอุทกภัย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/2560 กรณีได้รับน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่ปศุสัตว์ เบื้องต้นมีเกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ รวม 31,559 ราย คิดเป็นพื้นที่ 18,1501 ไร่ มีสัตว์ที่รับผลกระทบ 6,414 ตัว โดยเกษตรกรจะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทต่อครัวเรือน

โดยรายงาน ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2559 หมู่บ้านที่ประสบภัยพิบัติล่าสุดอยู่ที่จำนวน 5,427 หมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 120 ครัวเรือน คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 1,953 ล้านบาท เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งยังไม่รวมกรอบวงเงินที่จะเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบในระยะต่อไปจนสิ้นสุดฤดูฝน

ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะรับเงินเยียวยาดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ อยู่ในพื้นที่ตามประกาศเขตความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2559 จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้ (กุมภาพันธ์ 2560), เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติ และทำการเกษตรในช่วงที่ผ่านมา หากทำการเกษตรหลายด้านจะได้รับเงินช่วยเหลือเพียงด้านเดียวเท่านั้น และต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพักชำระหนี้สิน และขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/2560 โดยขยายเวลาชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือนให้แก่ผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตร โดยรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยให้ในกรอบวงเงิน 306 ล้านบาท จากงบกลางฯ ด้านกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) สนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้สหกรณ์กู้เพื่อเป็นทุนให้แก่สมาชิก ระยะเวลา 1 ปี รายละประมาณ 50,000 บาท กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 100 ล้านบาท ส่วนเกษตรที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในมาตรการพักชำระหนี้ใดๆ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะได้รับการขยายเวลาชำระหนี้ให้ไม่เกิน 12 เดือน และยังกำหนดมาตรการฟื้นฟูอาชีพสนับสนุนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้เพื่อปรับตัวต่อภัยพิบัติ

ปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาล เตรียมเคลียร์บราซิล

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยเฉพาะการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการแข่งขัน มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เหมาะสมแก่ทุกฝ่าย และยังเป็นการปรับโครงสร้างต้นทุนอ้อยและน้ำตาลทรายให้ชาวไร่อ้อยได้รับรายได้ที่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

“การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะสอดรับกับข้อกำหนดของ WTO ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการอุดหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลก และช่วยลดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและบราซิล เนื่องจากบราซิลเห็นว่ากรณีที่ไทยทำไม่ถูกต้องตามกฎของ WTO ซึ่งไทยกำลังหารือกับบราซิลและทำการปรับโครงสร้างฯ ไปพร้อมๆ กัน จะทำให้การดำเนินการสอดรับมาตรการ WTO และข้อตกลง AFTA ในอาเซียนเช่นกัน โดยเรื่องนี้จะมีนัยยะต่อเกษตรกรประมาณ 3 แสนครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อย 11 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลเกือบ 2 แสนล้านบาท” นายกอบศักดิ์กล่าว

โดยแผนปรับโครงสร้างดังกล่าว ประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่

  1. การปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล ไบโอเคมี และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้อ้อยและน้ำตาลทราย ให้เกษตรกรได้ประโยชน์ครบทั้งวัฏจักรการผลิต, ยกเลิกโควตาน้ำตาลในประเทศ เพื่อให้สอดรับข้อกำหนด WTO, ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศที่สูงกว่าราคาตลาดโลกในปัจจุบัน รวมถึงยกเลิกกำหนดการนำเข้าน้ำตาลทราย ที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งใน AFTA, ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยแก่ชาวไร่อ้อย ปัจจุบันที่จ่ายให้ 160 บาทต่อตันอ้อย และจ่ายเงินชดเชยเมื่อราคาอ้อยต้นทุนสูงกว่าราคาที่จะขาย แต่จะหากลไกใหม่มาดูแล
  2. เพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะรวมทั้งเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรสมัยใหม่ เรื่องของการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบันการเก็บอ้อย 60-70% จะใช้วิธีเผาก่อนเก็บทำให้มีปัญหาอ้อยต้องเข้าหีบทันที และจะเพิ่มผลิตภาพโดยการนำของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นผลผลิตอื่น เช่น ไฟฟ้าจากกากอ้อย การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แผนแม่บท จัดทำศูนย์กลางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล (Bio Hub)
  3. กำหนดมาตรฐานน้ำตาลทราย มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้สามารถคำนวณต้นทุนและส่วนแบ่งระหว่างโรงงานและชาวไร่อ้อยได้ดีขึ้น
  4. ในประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ากองทุนอ้อยน้ำตาลและน้ำตาลทรายผิดระเบียบ WTO เนื่องจากมีเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเข้าไปพยุงราคาอ้อย ในอนาคตจะแก้ไขกฎหมายให้เงินที่เข้าไปเป็นเงินจากประชาชนเท่านั้น
  5. จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องใน 5 ภาค คือ 1. พันธุ์อ้อย 2. การบริหารจัดการอ้อยรวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร 3. เรื่องโรคและแมลงศัตรูอ้อย 4. การพัฒนาดิน น้ำ ปุ๋ย และ 5. ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมน้ำตาลมูลค่าสูงและผลิตภัณฑ์อ้อย

17 ปีเอาผิดใครไม่ได้ ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. …. ที่แก้ไขให้มีความเข้มงวดและเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองมากขึ้น

กฎหมายฉบับใหม่มีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่จากที่ทำได้แค่งานเอกสารให้สามารถสอบสวนการกระทำผิดได้ มีอำนาจเรียกบุคคลมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ ให้อำนาจเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

โดยแยกสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าออกจากการกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์มาตั้งเป็นองค์กรอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีกลไกการทำงานด้วยการกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง เนื่องจากมีภาคเอกชนเข้าร่วมสรรหาด้วย พร้อมกับตั้งเลขาธิการขึ้น 1 คน ที่มีผลงานหรือมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาไม่น้อยกว่า 10 ปี และกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด

ด้านบทลงโทษ ได้มีการเพิ่มโทษทางปกครอง (โทษปรับ) ร่วมด้วย จากที่ก่อนหน้ามีโทษอาญาสำหรับกรณีทำผิดร้ายแรง เช่น การใช้อำนาจเหนือตลาด เพียงอย่างเดียว เพื่อให้ครอบคลุมการกระทำผิดในกรณีที่ไม่มีการรายงานการรวมธุรกิจ หรือมีการประกอบธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมฝ่าฝืนคำสั่ง และช่วยให้การลงโทษเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

“กฎหมายฉบับเดิมที่ใช้มากว่า 17 ปี ยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดได้แม้แต่รายเดียว จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ และปลอดการแทรกแซงจากทางการเมืองมากขึ้น เพราะการทำงานจะเป็นอิสระ หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่มีรูปแบบคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับการและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้จะผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้บรรจุกฎหมายนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน (Fast Track)” นายณัฐพรกล่าว

ไฟเขียวแผนพัฒนา SMEs

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนพัฒนา SMEs ฉบับที่ 4 ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ ซึ่งแผนดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการส่งเสริม SMEs ประเทศไทยและใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยคาดว่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพ SMEs ทั้งหมด 2.8 ล้านราย

“แผนดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ต้องการให้ SMEs ไทยเติบโตแข่งขันได้ในระดับสากล และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยตั้งเป้าว่าในปี 64 จีดีพีจาก SMEs จะขยายเป็น 50% จากเดิมที่ 42% และมีกรอบแนวคิดส่งเสริม SMEs สองกลุ่ม คือ SMEs ที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล และพัฒนา SMEs ในระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ประเทศไทย” นายกอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ แผนพัฒนาดังกล่าวประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์รายประเด็นเรื่องของการยกระดับผลิตภาพ เรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงตลาด และเรื่องของการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการ 2. ยุทธศาสตร์เฉพาะกลุ่ม ได้แก่ การส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็น high value startup ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายธุรกิจของ SMEs และ 3. ยุทธศาสตร์ของกลไกการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริม SMEs ให้แข่งขันได้ ทั้งพัฒนา SMEs ฐานราก พัฒนาเครื่องมือส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งศูนย์ข้อมูล SMEs ของประเทศ ทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ ลดอุปสรรคต่างๆ ให้ SMEs

เพิ่ม 366 ล้าน ให้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีการทบทวนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อจูงใจให้มีการเก็บสต็อกเพิ่ม รักษาระดับราคาข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยของบประมาณเพิ่มเติมจาก 940 ล้านบาท เป็น 1,306.50 ล้านบาท (เพิ่ม 366.50 ล้านบาท) โดยใช้เงินจากงบกลางฯ และหากกรอบเป้าหมายและวงเงินได้อนุมัติเพิ่มเติมจะมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
มีการทบทวนใน 2 โครงการ ได้แก่

  1. ปรับโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 เช่น เพิ่มผู้มีสิทธิร่วมโครงการ ให้ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินกลุ่มละ 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินวิสาหกิจชุมชนละ 5 ล้านบาท ปรับการจ่ายค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายค่าเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการในวันที่เบิกรับเงินกู้ 1,000 บาท และจ่ายเพิ่มอีกตันละ 500 บาทในวันที่ไถ่ถอนข้าวเปลือก หลังจากเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 30 วัน และหากขาดทุนจากการดำเนินโครงการ รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้
  2. ปรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2559/60 เช่น มีการปรับอัตราการชดเชยดอกเบี้ยเป็นชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60-90 วัน และชดเชยดอกเบี้ยในอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 4% เพื่อเก็บสต็อกข้าวตั้งแต่วันที่ 91-180 วัน นับแต่วันที่เบิกจ่ายหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยจะจัดสรรวงเงินให้ผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่รับซื้อข้าวจากเกษตรกรนาแปลงใหญ่เต็มวงเงินกู้เป็นลำดับแรกก่อน
นายแจ๊ค หม่า ประธานกลุ่มบริษัท อาลีบาบา เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
นายแจ๊ค หม่า ประธานกลุ่มบริษัท อาลีบาบา เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“สมคิด” เผย “แจ็ค หม่า” เตรียมช่วย SMEs ไทย บุกตลาดโลก

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงที่ประชุม ถึงการที่นายแจ็ค หม่า ประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบา เข้าพบเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยสรุปเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

  • ประเด็นแรกคือ นายแจ็ค หม่า ยืนยันว่าไม่ต้องการเข้ามาครอบครองหรือฮุบเศรษฐกิจไทย แต่จะเป็นการเข้ามาเชื่อมโยงรูปแบบการค้าขายออนไลน์ของอาลีบาบาที่กระจายไปทั่วโลก กับรูปแบบการค้าขายออนไลน์ของไทยที่ยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้น การค้าขายสินค้าของไทย จากที่คนในตลาดทั่วไปจะเห็นแค่ไม่กี่คนก็จะกระจายไปทั่วโลก นั่นคือเราจะทำรูปแบบของเราให้แข็งแรงขึ้น
  • ประเด็นที่สอง นายแจ็ค หม่า ยินดีสนับสนุนการฝึกอบรมเรื่องการค้าขายในตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเขายกตัวอย่างว่า เฉพาะที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เขาฝึกอบบรมคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ด้านอินเทอร์เน็ตเพื่อสามารถค้าขายออนไลน์ได้ถึง 35,000 ราย เขาจึงเชื่อมั่นว่าถ้ามีส่วนช่วยฝึกอบบรมให้ SMEs ไทย จะสามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่บนโลกออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น
  • ประเด็นที่สาม นายแจ็ค หม่า อยู่กับการค้าขายบนโลกออนไลน์มาหลายปี ทราบดีว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะมีลูกเล่นคิดมิชอบ คิดทุจริตที่จะโกงคนอื่น เขาจึงมีประสบการณ์ในช่องโหว่เหล่านี้ และเขาพร้อมที่จะถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้ให้ประเทศไทย เพื่อให้มีมาตรการรองรับ ป้องกัน นอกจากนี้ นายแจ็ค หม่า ยินดีที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุน ส่งเสริม ให้ความร่วมมือกับไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายธุรกิจ SMEs และเชื่อโยงไปยัง CLMV และอาเซียน

“เขาบอกว่าในอดีตที่ผ่านมา เขาไม่เคยมองประเทศไทย เนื่องจากวิธีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจไม่ตรงกับใจของเขา แต่เขามองในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่มีส่วนสนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ทำ โดยเฉพาะเรื่องคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค e-payment สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์กับสิ่งนายแจ็ค หม่า คิด จึงเริ่มหันมามองไทย และจะเข้ามาฝึกอบรม SMEs ไทยให้ได้ 1 แสนราย ใน 24 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เพิ่มเงินเดือน กำนัน-ผู้ใหญ่ – ปัดตกเพิ่มค่าตอบแทนวิชาชีพ ขรก.ทหาร

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มอัตราเพดานเงินตอบแทน ตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยภาครัฐจะเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 800 ล้านบาท

จากเดิม กำนันได้รับเงินเดือน 10,000 บาท ส่วนผู้ใหญ่บ้านได้รับเงินเดือน 8,000 บาท ขณะที่แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จะได้รับเงินเดือน 5,000 บาท โดยเพิ่มเพดานขึ้นไปอีก 25 ขั้น ขั้นละ 200 บาท จากเดิมกำนันมีฐานเงินเดือนเต็มขั้น 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านมีฐานเงินเดือน 8,000 บาท ก็ขยับเป็น 13,000 บาท เป็นต้น

โดยการรับเงินเดือนไม่ได้เป็นแบบก้าวกระโดด แต่จะเป็นการขึ้นปีละ 1 ขั้น ขึ้นอยู่กับการทำงาน หากทำงานตามเกณฑ์ ไม่มีข้อผิดพลาดก็จะได้รับเพิ่มปีละ 1 ขั้น คือ 200 บาท แต่หากทำงานมีผลสัมฤทธิ์ดีเยี่ยมก็อาจได้เพิ่ม 2 ขั้น คือ 400 บาท จนกว่าจะเต็มเพดานที่ 25 ขั้น โดยผู้ที่จะได้เงินเดือนเพิ่ม 2 ขั้นนั้นจะได้รับติดต่อกันไม่เกิน 2 ปี และคำนวณแล้วจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนบุคลากร

“ไม่อยากให้ประชาชนมองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมือง หรือเป็นการสร้างฐานคะแนนเสียง ซึ่งหากพิจารณาจากความเป็นจริง รัฐบาลนี้ได้พยายามเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ มาเป็นลำดับ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวถึงข้อเสนอที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เสนอขออนุมัติเพิ่มเงินค่าตอบแทนเกี่ยวกับวิชาชีพ เช่น ศาสตราจารย์ เนื่องจากในระดับของข้าราชการทหาร ให้เอายศนำหน้าออก ซึ่งจะไม่มียศและมีการจัดลำดับลงไปถึงชั้นต่ำกว่าสัญญาบัตร หากไปเทียบกับฝั่งข้าราชการพลเรือนแล้วจะเกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ที่ประชุมจึงไม่อนุมัติและส่งกลับไปยังกฤษฎีกาเพื่อให้ร่างระเบียบข้อบังคับใหม่ และนำเสนอเข้าที่ประชุมอีกครั้ง

เพิ่มผู้ช่วย รมต. 10 ตำแหน่ง – วิจารย์ สิมาฉายา นั่งปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบให้มีการปรับลดเงินตอบแทนประจำตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี จาก 63,800 บาท เป็น 50,000 บาท ขณะเดียวกัน ได้อนุมัติให้เพิ่มผู้ช่วยรัฐมนตรีได้อีก 10 คน จากเดิมมี 30 คน เป็น 40 คน โดยต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาทต่อปี จากเดิมต้องใช้งบประมาณในกรณีดังกล่าว 23 ล้านบาท เนื่องจากนายกฯ ต้องการเร่งรัดขับเคลื่อนการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน อาจจะมอบหมายงานเป็นพิเศษจากนายกฯโดยตรง

นอกจากนี้ ครม. มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ได้แก่ 1) นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2) นายชาย นครชัย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 3) นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 4) นายมานัส ทารัตน์ใจ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา และ 5) น.ส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป