ThaiPublica > คอลัมน์ > Insider Trading กับ Corporate Governance

Insider Trading กับ Corporate Governance

19 มกราคม 2016


พิเศษ เสตเสถียร

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ตรวจสอบพบบุคคลซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) ได้ซื้อหุ้น MAKRO โดยพบการซื้อหุ้นในบัญชีบุคคลดังกล่าวหรือผู้สนับสนุนระหว่างวันที่ 10–22 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) เจรจาตกลงจะซื้อหุ้น MAKRO ที่บริษัท เอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บี.วี. (SHV) ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวน 154,429,500 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 64.35 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นเหตุให้ CPALL ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นการทั่วไป (Tender Offer) ที่ราคาเดียวกัน

ผู้บริหารดังกล่าวได้อาศัยข้อมูลภายในซึ่งบางรายล่วงรู้จากการร่วมในคณะผู้บริหารของ CPALL ที่เข้าร่วมเจรจากับผู้ขายในธุรกรรมดังกล่าว และบางรายล่วงรู้เนื่องจากการเป็นกรรมการและผู้บริหารของ CPALL ได้ทำการซื้อหุ้น MAKRO โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน

การกระทำของผู้บริหารซึ่งเป็นบุคคลวงในเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ผู้บริหารทั้งหมดยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบ คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 30 กว่าล้านบาท

คดีนี้ไม่ใช่คดีแรกของความผิดตามมาตรา 241 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือ Insider Trading มีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยโดนกันมาแล้วหลายราย แต่คดีนี้เป็นที่ฮือฮากันมากหน่อยเพราะเงินค่าปรับสูง และผู้บริหารที่โดนปรับเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง

ในต่างประเทศนั้น มีคดี Insider Trading มายาวนาน ในราวทศวรรษที่ 60 ในคดีประวัติศาสตร์ SEC vs. Texas Gulf Sulphur Company ซึ่งตัดสินในปี 1968 ศาลได้วางหลักการที่สำคัญไว้ว่า

“anyone in possession of material inside information must either disclose it to the investing public, or, if he is disabled from disclosing it in order to protect a corporate confidence, or he chooses not to do so, must abstain from trading in or recommending the securities concerned while such inside information remains undisclosed.”

คดี Insider Trading ในระยะหลังๆ นี้ที่เกี่ยวกับการควบหรือซื้อกิจการ (Merger & Acquisition) ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ เช่น

ในฮ่องกงปี 2009 อดีตกรรมการผู้จัดการของ Morgan Stanley Asia Ltd ก็ถูกศาลลงโทษจำคุก 7 ปี ฐาน Insider Trading หุ้นบริษัท CITIC Resources Holdings ในระหว่างการทำ Merger & Acquisition บริษัทในปี 2007

ในอังกฤษ ปี 2012 มีคดี Insider Trading ข้ามประเทศ เมื่อ Arnold McClellan ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของบริษัทบัญชีใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการ Merger & Acquisition ของหลายบริษัท และได้เปิดเผยข้อมูลแก่ภริยา ซึ่งทางฝ่ายภริยาก็เอาไปบอกพี่สาว Miranda Sanders ซึ่งอยู่ในอังกฤษ คราวนี้พี่สาวก็เลยร่วมกับสามี James Sanders แล้วก็บอก James Swallow อีกคนทำ Insider Trading โดยการไปซื้อหุ้นต่างๆ ระหว่างตุลาตม 2006 ถึงกุมภาพันธ์ 2008 คดีนี้ศาลอังกฤษตัดสินให้จำคุก James Sanders 5 ปี Miranda Sanders และ James Swallow คนละ 10 เดือน

ในปี 2013 ที่สหรัฐอเมริกา ก็มีคดีเกิดขึ้นอีก เป็นเรื่องการควบกิจการของบริษัท Bluegreen Corporation กับบริษัท BFC Financial Corporation ทั้งสองบริษัทได้เริ่มเจรจาที่ควบกันราวเดือนสิงหาคม 2011 โดยทั้งสองบริษัทมีผู้บริหารระดับสูงร่วมกันอยู่คนหนึ่ง ผู้บริหารคนนี้กับนาย Begelman เป็นเพื่อนกันมายาวนานเกือบ 20 ปี และทั้งคู่เป็นสมาชิกของชมรมหนึ่งใน the World Presidents’ Organization-WPO มีการพบปะกันโดยทานอาหารหรือสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและคำแนะนำในการทำธุรกิจ และในต้นเดือนพฤศจิกายน 2011 ซื่งมีการสัมมนาประจำปีของ WPO นาย Begelman ก็ได้รับข่าวจากผู้บริหารคนนั้นว่า BFC Financial Corporation มีแผนที่จะควบกับ Bluegreen Corporation นาย Begelman ก็เลยไปซื้อหุ้นของ Bluegreen Corporation และขายไปเมื่อมีการประกาศแผนการควบรวมแล้วทำกำไรไป 14,949 ดอลลาร์ ทาง SEC ก็เลยมาเอาเรื่อง และนาย Begelman ยอมรับผิดเสียค่าปรับไป

และล่าสุดเมื่อเดือนต้นปี 2015 นี้เอง SEC ก็ได้กล่าวหานาย Charles L. Hill Jr. ในคดีบริษัท Radiant Systems โดยนาย Hill ได้ซื้อหุ้นก่อนการควบรวมของบริษัท Radiant Systems จะประกาศด้วยนาย Hill ได้รู้ข้อมูลที่ยังมิได้ประกาศต่อสาธารณะจากเพื่อนซึ่งรู้มาจากผู้บริหารของ Radiant Systems นาย Hill ไม่เคยซื้อหุ้นมาก่อนเลยเป็นเวลาตลอด 4 ปีก่อนจะมาซื้อหุ้นของ Radiant Systems ก่อนประกาศข่าวเป็นเงิน 2.2 ล้านดอลลาร์ และหลังจากข่าวการควบรวมได้ประกาศแล้ว นาย Hill ก็ขายทำกำไรไปประมาณ 744,000 ดอลลาร์

โปรดสังเกตว่า ในคดี Insider Trading ในต่างประเทศในระยะหลังๆ นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่ผู้บริหารบอกข้อมูลแก่คนภายนอก และคนภายนอกนั้นไปหาประโยชน์จากข้อมูลนั้น คดีที่ผู้บริหารเป็นผู้ทำเองมีลดน้อยลง อาจจะเป็นเพราะผู้บริหารมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องเปิดเผยมากขึ้น และรู้ถึงโทษและผลร้ายที่จะเกิดขึ้นหากถูกทางการดำเนินคดี Insider Trading เป็นอย่างดี จึงทำให้คดี Insider Trading ที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้บริหารของบริษัทจึงมีจำนวนลดน้อยลง

ในประเทศไทยก็มีกฎหมายกำหนดว่าการใช้ข้อมูลวงในหาประโยชน์จากหุ้นก็เป็นความผิด โดยมีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 241 ว่า

“ในการซื้อหรือขายซึ่งหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อหรือเสนอขายหรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อหรือเสนอขายซึ่งหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนและตนได้ล่วงรู้มาในตำแหน่งหรือฐานะเช่นนั้น และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้นออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวโดยตนได้รับประโยชน์ตอบแทน

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ บุคคลตามวรรคหนึ่งให้รวมถึง

(1) กรรมการ ผู้จัดการ ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานหรือผู้สอบบัญชีของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์

(2) ผู้ถือหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่ถือหลักทรัพย์ตามมูลค่าที่ตราไว้เกินร้อยละห้าของทุนจดทะเบียน ในกรณีนี้ให้คำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ของผู้ถือหลักทรัพย์โดยนับหลักทรัพย์ของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ถือหลักทรัพย์ดังกล่าวรวมเป็นหลักทรัพย์ของผู้ถือหลักทรัพย์ด้วย

(3) เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ หรือกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือฐานะที่สามารถล่วงรู้ข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์อันได้จากการปฏิบัติหน้าที่
(4) ผู้ใดซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ และหรือการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์”

ในบ้านเรายังไม่เคยมีคดี Insider Trading ขึ้นสู่ศาลฎีกา มีแต่คดีที่ ก.ล.ต. ไปตรวจพบเจอและผู้กระทำความผิดยอมรับผิดและเสียค่าปรับ ทำให้คดีเป็นอันเลิกกันจบไปในชั้นของ ก.ล.ต. เสียก่อน แต่คดีเกือบทั้งหมดเป็นคดีที่ผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้กระทำความผิด

เรื่อง Insider Trading นี้ นอกจากจะมีตัวบทกฎหมายในการห้ามปรามและมีบทลงโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนแล้ว ก็ยังมีมาตรการที่เป็นการส่งเสริมให้บริษัทและผู้บริหารมีความประพฤติดีอีกด้วย ซึ่งมาตรการนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า Corporate Governance มีชื่อเรียกภาษาไทยในนามของ “บรรษัทภิบาล”

บรรษัทภิบาลมีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษในปี 1991 เมื่อ Sir Adrian Cadbury ได้รับมอบหมายจาก The Financial Reporting Council และ London Stock Exchange ให้ทำการศึกษาและหามาตรการป้องกันการกระทำที่ไม่ถูกต้องของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ภายหลังจากที่มีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในอังกฤษหลายคดี เช่น คดีธนาคาร The Bank of Credit and Commerce International (BCCI) คดีการทุจริตของนาย Richard Maxwell เป็นต้น รายงานของ Sir Adrian Cadbury นี้ (ซึ่งเรียกตามชื่อของท่านว่า Cadbury Report) ได้ใช้คำว่า Good Governance อย่างเป็นทางการ ภายหลังก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการอีกหลายชุด (เช่น Greenbury Committee, Hampel Committee) ทำงานในด้านนี้ต่อๆ มาและได้ก่อให้เกิด The Combined Code: Principles of Good Governance and Code of Best Practice ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้มาจนทุกวันนี้

ส่วนทางสหรัฐอเมริกา หลังจากเกิดเหตุการณ์ในบริษัทต่างๆ Enron, Tyco จนมาถึง WorldCom ก็ผลักดันให้สภาคองเกรสออกกฎหมายชื่อ Sarbanes-Oxley Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างกว้างขวางของบริษัทต่างๆ ทั้งในเรื่องการบัญชี การรายงานต่างๆ มีการกำหนดให้ผู้บริหารทั้ง CEO และ CFO ต้องลงนามในคำรับรองไปประกอบงบการเงิน ฯลฯ นับเป็นกฎหมายที่ออกมาเปลี่ยนกฎหมายบริษัทที่มีอยู่เดิมอย่างมากมาย

จะเห็นได้ว่าในสหรัฐอเมริกาบังคับแรงกว่าในอังกฤษ คือออกเป็นกฎหมาย ถ้าไม่ปฎิบัติตามต้องถูกลงโทษ อาจจะเป็นเพราะมีคดีทั้งหลายที่เกิดขึ้น แต่ในอังกฤษนั้นไม่ได้เป็นกฎหมาย เป็นแค่ข้อพึงปฏิบัติ (code of conduct) ที่ให้ถือปฏิบัติตาม ซึ่งผู้ที่ต้องบังคับตามกฎหมายหรือแนวปฏิบัติต้องเลือกเอาว่า การบังคับกฎหมายมากอาจจะเป็นอุปสรรคของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน การบังคับกฎหมายน้อย (เช่น ข้อพึงปฏิบัติ) ก็อาจจะทำให้เกิดการกระทำที่หลีกเลี่ยงกฎหมายมากขึ้น

ในบ้านเรา บรรษัทภิบาลเป็นในรูปของข้อพึงปฏิบัติแบบเดียวกับอังกฤษ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีบรรษัทภิบาลใช้อย่างในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2545 เปลี่ยนแปลงมาหลายฉบับตามกาลสมัย ฉบับล่าสุดก็เป็นฉบับปี 2555 มีชื่อเรียกว่า “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2555”

ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฯ เรื่อง “การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน” ในแนวปฏิบัติที่ดีข้อ 3 กำหนดว่า

“คณะกรรมการควรกำหนดแนวทางในการเก็บรักษาและป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเป็นลายลักษณ์อักษร และแจ้งแนวทางดังกล่าวให้ทุกคนในองค์กรถือปฏิบัติ และควรกำหนดให้กรรมการทุกคนและผู้บริหารที่มี หน้าที่รายงานการถือครองหลักทรัพย์ตามกฎหมายจัดส่งรายงานดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการเป็นประจำ รวมทั้งให้มีการเปิดเผยในรายงานประจำปี”

ในบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ก็จะนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนไปกำหนดไว้ต่างๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น “นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี” ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในเรื่อง “การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม” ข้อ (3) กำหนดว่า

“คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน (inside information) ในทางมิชอบ โดยการนำข้อมูลไปเปิดเผยกับบุคคลอื่น”

ส่วนของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีกำหนดไว้ในรายงานประจำปี ปี 2557 ในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ข้อ 5. “การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน” กล่าวไว้ว่า

“การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน บริษัทให้ความสำคัญเรื่องการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยได้กำหนดไว้ในคู่มือจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงานของบริษัท มิให้มีการนำข้อมูลจำเพาะซึ่งเป็นข้อมูลภายในของบริษัทไปใช้เพื่อการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัท หรือส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท โดยได้กำหนดเป็นนโยบายและใช้เป็นมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ (Insider Trading) ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึง กรรมการของบริษัท ผู้บริหารของบริษัท และพนักงาน ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล รวมถึงคู่สมรสและบุตรหรือบุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ดังนี้

ก. ห้ามมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 1 เดือนก่อนเผยแพร่งบการเงินออกสู่บุคคลภายนอก โดยหน่วยงานเลขานุการบริษัทจะส่งข้อความเป็นไปรษณีย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) แจ้งเตือนแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวให้งดซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทล่วงหน้าเป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนถึงเวลาห้ามซื้อขายทุกครั้ง และทุกครั้ง เมื่อมีการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องจัดทำแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ (แบบ 59-2) และแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ภายใน 3 วันทำการเพื่อให้ ก.ล.ต. เปิดเผยการถือครองหลักทรัพย์ดังกล่าวให้ประชาชนทั่วไปทราบผ่านทางเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.

ข. ห้ามมิให้มีการใช้ข้อมูลภายในที่ยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชนหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้เกี่ยวข้องในทางมิชอบซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายอื่น

ค. กำหนดให้มีการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทโดยกรรมการและผู้บริหารของบริษัท คู่สมรส และของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการและผู้บริหาร ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททุกสิ้นปี”

การที่บริษัทมีกำหนดหลักบรรษัทภิบาลไว้เช่นนี้ก็ดูเป็นหลักการที่สวยหรู แต่ตัวผู้บริหารจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง กรณีของหุ้น MAKRO นั้นล่าสุดสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเตรียมขอเข้าพบทีมบริหารของ CPALL โดยสมาคมได้ส่งหนังสือไปถึงบริษัทและคณะกรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) เพื่อขอคำชี้แจงในกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร โดยหนังสือได้ยื่นไปแล้ว แต่จะให้เวลาคณะกรรมการของ CPALL ถืงสิ้นเดือนมกราคมนี้ (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 11 มกราคม 2559)

ก็นับเป็นสภาพบังคับอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะมิฉะนั้น การมีข้อพึงปฏิบัติก็จะไม่มีประโยชน์อันใด เนื่องจากไม่มีการบังคับใช้ให้มีผล แต่กรรมการบริษัทที่การกระทำความผิดฐาน Insider Trading ที่ถูก ก.ล.ต. ลงโทษนี้ปี 2558 มี 4 คดี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558) ปี 2557 จำนวน 13 คดี ปี 2556 จำนวน 10 คดี ถ้ามีการบังคับใช้สภาพบังคับเช่นนี้ก็จะต้องคิดต่อไปด้วยว่า ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ที่เคยกระทำความผิดฐาน Insider Trading และถูก ก.ล.ต. ลงโทษมาแล้วเช่นกันนี้จะถูกสภาพบังคับอย่างเดียวกันหรือไม่ เช่น ให้ลาออก ก็ต้องออกหมดทุกบริษัท ไม่ใช่บางบริษัทให้ลาออก แต่บางบริษัทไม่ต้องลา ถ้าไม่เหมือนกันเช่นนี้ก็ต้องอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดหรือมีจะมีหลักเกณฑ์ต่างกันอย่างไร เหล่านี้ เป็นข้อที่สมาคม บลจ. และผู้อื่นที่เรียกร้องในเรื่องนี้พึงต้องระวัง

ล่าสุด เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. เตรียมทบทวนบทลงโทษกรณีผู้บริหารจดทะเบียนมีการกระทำผิดให้เข้มข้นมากขึ้น หลังจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ในกรณีที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนยินยอมถูกเปรียบเทียบปรับ จากปัจจุบันหากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกนั้นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจะถูกเปรียบเทียบปรับ แต่จะไม่ถูกห้ามหรือถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ โดยการทบทวนบทลงโทษใหม่นี้อาจจะปรับปรุงให้มีลักษณะใกล้เคียง หรือเช่นเดียวกับบทลงโทษการกระทำผิดของผู้บริหารสถาบันการเงิน ที่หากผู้บริหารสถาบันการเงินยินยอมถูกเปรียบเทียบปรับ จะถูกถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน ซึ่งบทลงโทษที่มีการทบทวนของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใหม่นั้นทาง ก.ล.ต. คาดว่า สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ (ผู้จัดการออนไลน์ 14 มกราคม 2559)

ความผิดฐาน Insider Trading จะมีบทกฎหมายมากำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มขึ้นทุกวัน ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจะทำความผิดฐานนี้เพิ่มขึ้นหรือลดลง