ThaiPublica > คอลัมน์ > กรณีกรุ๊ปลีส: ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

กรณีกรุ๊ปลีส: ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

3 พฤศจิกายน 2017


พิเศษ เสตเสถียร

ข่าวเรื่อง ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) (GL) กรณีทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัท และทำบัญชีไม่ถูกต้อง โดยทำธุรกรรมอำพรางผ่านบริษัทที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อให้ผลประกอบการของ GL สูงเกินความจริงนั้นเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่โดยทั่วไป

สำนักข่าวอิศราเมื่อ 24 ตุลาคม 2560 ได้ลงบทความเรื่อง “ดีหมด โปร่งใสทุกอย่าง! คกก.อิสระตรวจสอบ‘กรุ๊ปลีส’ไม่พบทุจริต‘ปล่อยกู้-ซื้อหุ้น’” ได้ให้ข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ ก.ล.ต. ได้กล่าวหาผู้บริหารบนพื้นฐานของข้อหา 2 ข้อหาคือ

1. การปล่อยกู้เงินให้กับบริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLH บริษัทลูกที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนปล่อยกู้ต่อไปยังบริษัทกลุ่มประเทศไซปรัส และสิงคโปร์ แต่ผู้บริหารถูกกล่าวหาว่าได้รับผลประโยชน์กว่า 54 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (ราว 3 พันล้านบาท)

2. เงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกาประมาณ 2,545 ล้านบาท ราคาหุ้นดังกล่าวได้ถูกตีราคาโดยผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทย่อยว่ามีมูลค่าประมาณ 1,900 – 2,500 ล้านบาท ในขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระตีราคาว่ามีมูลค่าประมาณ 1,600 – 1,700 ล้านบาท และจากราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ทำรายการหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1,391 ล้านบาท

ซึ่งทั้งสองกรณี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัทได้ตั้งข้อสังเกตถึงการทำธุรกรรมของเอกชนรายดังกล่าว และข้อสังเกตดังกล่าวปรากฏอยู่ในงบการเงินของบริษัทฯตามที่เสนอต่อผู้ถือหุ้น GL เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2560

แต่คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท GL ได้รายงานผลการตรวจสอบว่า บริษัทมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนมีระบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเป็นระเบียบ สอดคล้องกันภายในฝ่ายงานและสามารถอ้างอิงกันได้ระหว่างฝ่ายงานต่างๆ บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนกฎหมายและระเบียบที่กำหนดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด

กรณีเงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกาประมาณ 2,545 ล้านบาท คณะกรรมการตรวจสอบได้รับคำชี้แจงจากฝ่ายบริหารว่าข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายบริหารได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งงบการเงินดังกล่าวผู้สอบบัญชีได้รายงานความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข

ในขณะที่ ก.ล.ต. เอาเรื่องกับผู้บริหารในข้อหาว่าทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัท และทำบัญชีไม่ถูกต้อง แต่คณะกรรมการตรวจสอบกลับเคยให้ความเห็นว่า บริษัทมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และ ฯลฯ เป็นไปอย่างที่ชื่อบทความของสำนักข่าวอิศราเขาจั่วเอาไว้ว่า “ดีหมด โปร่งใสทุกอย่าง!” นั่นแหละครับ

จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า คณะกรรมการตรวจสอบได้ตรวจสอบอย่างไรผลจึงตาลปัตรกลับกันอย่างที่กล่าวมา เรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงเท็จประการใด คงจะต้องรอผลการสอบสวนของ ก.ล.ต. ต่อไป

แต่ที่น่าสนใจจากบทความข้างต้นก็คือว่า ถ้ามีการทุจริตหรือไม่ชอบมาพากลอย่างนี้เกิดขึ้นในบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบซึ่งตามปกติมีหน้าที่ตรวจสอบกิจการต่าง ๆ ของบริษัทจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่?

อย่างเรื่องของงบการเงิน ตาม “คู่มือคณะกรรมการตรวจสอบ” ในเว็บหน้า CG Thailand ของ ก.ล.ต. ได้บอกไว้ถึงการสอบทานการจัดทํางบการเงินของคณะกรรมการตรวจสอบไว้ว่ามีอยู่ 7 ข้อคือ

    (1) สอบทานนโยบายบัญชีที่สําคัญของบริษัท โดยพิจารณาว่าในการเลือกนโยบายดังกล่าวได้คํานึงถึงผลต่างที่เกิดขึ้นระหว่างแต่ละทางเลือก ประโยชนที่ผู้ใช้งบการเงินได้รับ เหตุผลของฝ่ายจัดการและการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป
    (2) สอบทานการเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีที่สําคัญของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา (ถ้ามี) โดยพิจารณาความสมเหตุสมผลของการเปลี่ยนแปลง ข้อสังเกตของผู้ตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชี และผลกระทบในปัจจุบันและอนาคตที่จะเกิดขึ้น
    (3) สอบทานรายการที่ไม่ใช้รายการปกติซึ่งมีนัยสําคัญที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา (ถ้ามี) โดยพิจารณาความสมเหตุสมผลของการทํารายการดังกล่าว ผลกระทบต่อฐานะการเงินและผลการดําเนินงาน และความถูกต้องครบถ้วนของการเปิดเผยข้อมูล
    (4) สอบทานความสมเหตุสมผลของรายการในรายงานทางการเงินที่ควรให้ความสําคัญเป็นพิเศษ เช่น รายการเช่าหรือรายการกู้ยืมที่มีระยะเวลายาวกว่าการทําสัญญาทั่วไป รายได้ที่รับรู้ก่อนเวลาอันควร รายจ่ายที่ประวิงเวลาการรับรู้ รายการนอกงบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงิน (Off Balance Sheet) ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย และการตั้งสํารองต่าง ๆ รวมทั้งการตั้งค่าเผื่อการด้อยของค่าสินทรัพย์ (Impairment of Assets) เป็นต้น
    (5) สอบทานข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายงานทางการเงินเช่น รายงานของผู้ตรวจสอบภายใน รายงานการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น
    (6) รายงานประเด็นที่พบจากการสอบทานรายงานทางการเงินต่อคณะกรรมการบริษัท และติดตามให้มีการแก้ไขปรับปรุงประเด็นดังกล่าวภายในเวลาที่กําหนด
    (7) สอบทานประมาณการที่จัดทําโดยฝายจัดการ (ถ้ามี) โดยพิจารณาความสมเหตุสมผลของสมมติฐานที่ใช้ผลกระทบที่จะมีต่องบการเงิน และความถูกต้องครบถ้วนของการเปิดเผยข้อมูล

ในทางบัญชีก็มีการกล่าวถึงกรณีต่าง ๆ ที่น่าสงสัยในงบการเงิน เมื่อมีกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นก็เหมือนกับมีการ “ยกธงแดง” (red flag) ที่คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องเข้าไปดู

ในสหรัฐอเมริกา เคยมีคดีของคณะกรรมการตรวจสอบเกิดขึ้นโดย Securities and Exchange Commission (SEC) กล่าวโทษบริษัท DHB Industries, Inc. (DHB) ต่อศาล U.S. District Court กล่าวหาว่าบริษัทโดยผู้บริหารกระทำการฉ้อฉลทางบัญชีและการเปิดเผยข้อมูล และใช้ทรัพย์สินของบริษัทไปในทางไม่ถูกต้องซึ่งเป็นผลให้บริษัทได้ทำการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเท็จและทำให้เข้าใจผิด ต่อมา บริษัทได้ยอมความกับทาง SEC (คดี SEC v. DHB Industries, Inc.)

SEC ยังได้ฟ้องร้องนาย David Brooks ผู้บริหารของ DHB เป็นคดีอาญาในคดีการฉ้อฉลเกี่ยวกับหุ้น ผลสุดท้าย ศาลได้ตัดสินจำคุกนาย David Brooks เป็นเวลา 17 ปี ตอนศาลมีคำพิพากษานาย Brooks อายุ 58 ปี แต่ติดคุกได้เพียง 3 ปีก็ถึงแก่กรรม (คดี SEC v. David H. Brooks)

ที่สำคัญ SEC ยังได้ตามมาเอาเรื่องกับคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท DHB โดยกล่าวโทษนาย Cary Chasin นาย Jerome Krantz และนาย Gary Nadelman ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบกล่าวหาว่า ในปี 2003-2005 คณะกรรมการตรวจสอบมีเจตนาที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อกรณีที่เป็น red flag ของการฉ้อฉลทางบัญชีและการใช้เงินของบริษัทโดยไม่ถูกต้องของบุคคลที่เป็นผู้บริหาร

นอกจากนี้ SEC ยังกล่าวหาคณะกรรมการตรวจสอบว่า ได้ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริหารทำการตกแต่ง(manipulate)บัญชีของบริษัทเกี่ยวกับผลกำไร รายได้สุทธิ และตัวเลขที่สำคัญอื่น ๆ เกี่ยวกับรายได้ ซึ่งทำได้โดยตั้งราคาสินค้าคงคลังให้สูง รวมทั้งไม่จัดการค่าใช้จ่ายบางรายการของสินค้าคงคลังซึ่งหมดสภาพไปแล้ว และยังมีการลงข้อมูลเท็จอีกหลายรายการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งถึงแม้จะมีกรณีที่เป็น red flag เกี่ยวกับการฉ้อฉลในบริษัทที่คณะกรรมการตรวจสอบต้องตรวจดู แต่คณะกรรมการตรวจสอบก็ยังอุตส่าห์อนุมัติงบการเงินและเอกสารนั้นเพื่อยื่นต่อ SEC เสียอีก

ผลสุดท้าย ศาลตัดสินตามยอมให้จำเลยทั้งสามคนเสียค่าปรับรวมกันเป็นเงินกว่า 1.6 ล้านเหรียญ และถูกห้ามไม่ให้เป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกต่อไป(คดี SEC v. Jerome Krantz, Cary Chasin, and Gary Nadelman)

กรรมการตรวจสอบก็เป็นกรรมการของบริษัทที่ได้รับเลือกมาจากผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้น ความรับผิดทั้งหลายของคนที่เป็นกรรมการทั้งทางแพ่งและอาญา กรรมการตรวจสอบก็มีเช่นเดียวกัน

กรรมการตรวจสอบจะต่างจากกรรมการอื่นเป็นผู้บริหารก็ตรงที่ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะเพื่อเป็นกรรมการอิสระ เช่น ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ได้เป็นญาติกับผู้บริหาร ไม่มีผลประโยชน์ในบริษัท ฯลฯ แล้วกรรมการอิสระนั้นก็จะเป็นกรรมการตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

กรรมการตรวจสอบไม่มีกฎหมายระบุความผิดหรือโทษไว้โดยตรง แต่ก็อย่าเพิ่งดีใจ เพราะการที่ไม่มีกฎหมายระบุความผิดไว้ไม่ได้แปลว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบจะไม่มีความรับผิดนะครับ

อย่างเช่นกรณีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรรมการตรวจสอบเช่น บริษัทมีรายการที่แปลก ๆ ทำผิดแผกแตกต่างไปจากรายการที่ทำปกติ อย่างนี้ก็ต้องสอบทานถึงเหตุผลของการทำรายการดังกล่าว ความสมเหตุสมผลของรายการ ฯลฯ ถ้ากรรมการตรวจสอบไม่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้ดีแล้วเกิดเป็นเรื่องขึ้นมา ก.ล.ต. ก็อาจจะลงโทษคนที่เป็นกรรมการตรวจสอบหนักกว่ากรรมการอื่นไม่ได้เป็นกรรมการตรวจสอบก็ได้

หรือถ้าเป็นคดีที่พิจารณาโดยศาล ในทำนองเดียวกัน ศาลท่านก็อาจจะลงโทษกรรมการตรวจสอบหนักกว่ากรรมการอื่นที่ไม่ได้เป็นกรรมการตรวจสอบได้เช่นกัน

คณะกรรมการตรวจสอบมีความลำบากตรงที่งบการเงินหรือข้อมูลต่างๆที่พิจารณานั้นจะเป็นข้อมูลที่บริษัทเสนอมา แต่หากว่าบริษัทเสนอมาแล้ว กรรมการตรวจสอบก็ไม่สงสัยอะไร ไม่ซักถามอะไร หรือเชื่อที่ผู้บริหารบอกมา ฯลฯ ความเสี่ยงก็จะอยู่ตรงนี้ หากงบการเงินหรือข้อมูลที่เสนอนั้นมีรายการที่เป็นความเท็จหรือหลอกลวงขึ้นมา คณะกรรมการตรวจสอบก็คงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ดังนั้น กรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายจึงต้องระวังครับ

พูดมาอย่างนี้แล้วไม่รู้ว่าจะทำให้บรรยากาศการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบครั้งต่อไปเคร่งเครียดขึ้นหรือเปล่า?