ThaiPublica > เกาะกระแส > อสส. แจงไม่ฟ้อง “พานทองแท้” ในคดีปล่อยกู้กรุงไทย ฐานรับของโจร เพราะไม่ใช่ จนท.รัฐ – โยนคดีอยู่ที่ DSI

อสส. แจงไม่ฟ้อง “พานทองแท้” ในคดีปล่อยกู้กรุงไทย ฐานรับของโจร เพราะไม่ใช่ จนท.รัฐ – โยนคดีอยู่ที่ DSI

1 กันยายน 2015


580831พานทองแท้
(จากซ้ายไปขวา) นายพานทองแท้ ชินวัตร และ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/oakpanthongtae/photos/a.186040728111035.44120.186006744781100/186041418110966/?type=3&theater

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงาน อสส. ได้เปิดแถลงข่าวชี้แจง ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา ในคดีที่ อสส. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 27 คน กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงิน 9.9 พันล้านบาท โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย เหตุเกิดระหว่างปี 2546-2547 ในคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 โดยยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับบุคคล 4 คน ที่ อสส. มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ ในความผิดฐานรับ-องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ประกอบด้วย

  1. นายพานทองแท้ บุตรชายของ พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
  2. นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน
  3. นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนาภา
  4. นายมานพ ทิวารี บิดาของ น.ต. ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย

นายวินัย กล่าวว่า สำนักงาน อสส. ขอเรียนให้ทราบว่า คดีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2551 ขอให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก รวม 27 คน กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงิน 9.9 พันล้านบาท พร้อมขอให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ นางกาญจนาภา นายวันชัย และนายมานพ ในความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357

“อสส. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ คตส. ขอให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวก รวม 4 คน ฐานรับของโจร ซึ่งเป็นการกระทำความผิดหลังจากการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 27 คน ในคดีแรก ได้กระทำเสร็จสิ้นไปแล้ว และผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ มิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาอีก 27 คนก่อนหน้าได้ ต้องแยกฟ้องต่อศาลอาญาที่มีเขตอำนาจต่อไป”

นายวินัยกล่าวว่า อสส. ยังเห็นว่า คตส. ซึ่งใช้อำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีอำนาจไต่สวนนายพานทองแท้กับพวก เพราะมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมิได้เป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด และจากการตรวจสอบสำนวนการไต่สวนของ คตส. ก็ไม่ปรากฏบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ โดยหาก ป.ป.ช. ที่มารับไต่สวนคดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยต่อจาก คตส. ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่ ก็ควรที่จะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา แยกต่างหากจากคดีนี้

“ที่ประชุมคณะทำงานผู้แทนร่วมระหว่าง อสส. กับ ป.ป.ช. ได้ประชุมและมีมติร่วมกัน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 กรณีข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับประเด็นรับของโจรของนายพานทองแท้กับพวก ว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณาตามกฎหมาย อสส. จึงไม่อาจดำเนินคดีกับนายพานทองแท้กับพวก ในข้อหารับของโจรได้ เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ที่จะต้องแยกการสอบสวนไปดำเนินคดีต่างหาก โดยทราบว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงาน อสส. กล่าว

มีรายงานข่าวว่า คดีรับของโจร มีอายุความ 10 ปีนับแต่วันที่กระทำผิด แต่คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดคดีจากทางดีเอสไอว่ามีการกระทำผิดต่อเนื่องหรือไม่ ถึงจะระบุได้ว่า คดีหมดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า หลังเกิดคดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ในปี 2547 มีการโอนเงินเข้าบัญชีของนายพานทองแท้ 17 ล้านบาท นางกาญจนาภากับนายวันชัย 21 ล้าน และนายมานพ อีก 155 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เรียกนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ เข้าสอบถามถึงการดำเนินคดีฐานรับของโจรของนายพานทองแท้กับพวก ซึ่งจากการตรวจสอบ ปรากฏว่า คตส. หรือ ป.ป.ช. ไม่เคยร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอเข้าไปดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาผิดนายพานทองแท้กับพวก ในความผิดฐานรับของโจรแต่อย่างใด มีแต่ความผิดฐานฟอกเงินเท่านั้น ซึ่งคดีหลังมีอายุความ 15 ปี