ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ชี้เศรษฐกิจเปราะบาง “การบริโภค-ลงทุน-ส่งออก” หดตัว – “ท่องเที่ยว-การลงทุนภาครัฐ” เอาไม่อยู่ แรงไม่เพียงพอช่วยพยุง

ธปท. ชี้เศรษฐกิจเปราะบาง “การบริโภค-ลงทุน-ส่งออก” หดตัว – “ท่องเที่ยว-การลงทุนภาครัฐ” เอาไม่อยู่ แรงไม่เพียงพอช่วยพยุง

30 เมษายน 2015


S__8478892
ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนมีนาคม 2558 ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวปรับลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยครัวเรือนชะลอการบริโภค ภาคธุรกิจลดการผลิตและการลงทุนลง ขณะที่การส่งออกลดลงในเกือบทุกหมวด แม้การใช้จ่ายด้านการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจะขยายตัวดี แต่โดยรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกยังอ่อนแอ

จากภาวะดังกล่าว ถือเป็นสาเหตุสำคัญให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา โดยไม่รอตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยไถลตัวลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ ภาคการส่งออกหลังปรับผลของฤดูกาลหดตัวเกือบทุกหมวดและส่งผลให้ทั้งเดือนมีนาคมหดตัว -4.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การหดตัวของภาคส่งออกมีสาเหตุหลักจากราคาสินค้าส่งออกหลายหมวดยังอยู่ในระดับต่ำ ตามทิศทางของราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าปิโตรเลียม ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลงเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน สุดท้าย สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าประมง หดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือจีเอสพี จากสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ การส่งออกยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนชะลอตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกไปยังภูมิภาคเหล่านี้หดตัวลงและต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงเปราะบางสอดคล้องกับที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบภาคส่งออกของไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย จะพบว่าภาคส่งออกไทยถือว่าหดตัวในระดับปานกลาง ขณะที่เศรษฐกิจจีนและฟิลิปปินส์หดตัวรุนแรงกว่า (ดูกราฟิก)

การส่งออก

ประมารการส่งออกปี 2558

ทั้งนี้ เมื่อเทียบภาวะส่งออกในปัจจุบัน (ที่ไม่ได้ปรับตามฤดูกาล) กับประมาณการณ์ส่งออกของสภาพัฒน์ ที่ 3.5% ทำให้ระยะเวลาที่เหลืออีก 9 เดือน ประเทศไทยจะต้องส่งออกให้ได้รวมกันอีก  179,662.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยเดือนละ 19,962.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องเติบโตเฉลี่ยเดือนละ 6%

ขณะที่ตามเป้าหมายส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ที่ปรับลดเป้าเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558  เหลือ 1.2% ส่งผลให้ประเทศไทยต้องส่งออกในเดือนที่เหลืออีก  174,492.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยเดือนละ 19,388.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องเติบโตเฉลี่ยเดือนละ 3% สุดท้ายสำหรับประมาณการณ์ของ ธปท. ที่ 0.8% ประเทศไทยต้องส่งออกอีก 173,593.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเดือนละ 19,288.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตเฉลี่ยเดือนละ 2.47%

สำหรับภาวะเศรษฐกิจอื่นๆ ดร.ดอนกล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างอ่อนแอ จากดัชนีการบริโภคที่หดตัวในเดือนมีนาคมและไตรมาสแรก -1.9% โดยครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย เนื่องจากรายได้และการจ้างงานในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกลดลง รายได้เกษตรกรต่ำลง ทั้งจากผลผลิตที่ออกมาน้อยและราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง เมื่อผนวกกับภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของสถาบันการเงิน ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าหมวดไม่คงทนที่ไม่รวมเชื้อเพลิง หมวดสินค้ากึ่งคงทน และหมวดบริการลดลง และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงทำให้ธุรกิจลดการผลิตและการลงทุนลง แม้ต้นทุนทางการเงินจะต่ำลงบ้างจากผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงในทุกกลุ่มสินค้า ทำให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในเดือนมีนาคม -1.8% และขยายตัวเล็กน้อยในไตรมาสแรกที่ 0.1% ทั้งในกลุ่มที่ขายในประเทศ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออก อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลงเช่นกัน ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับลดลง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวในเดือนมีนาคมและทั้งไตรมาส -0.5%  ประกอบกับธุรกิจยังมีกำลังการผลิตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกมากกว่า 60% ของสินค้าทั้งหมด โดยเดือนมีนาคมใช้กำลังการผลิตเพียง 56.4% เท่านั้น และการลงทุนภาครัฐที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ธุรกิจบางส่วนจึงชะลอการลงทุนออกไปก่อน นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วลงทำให้การนำเข้าสินค้าลดลงจากเดือนก่อน ทั้งสินค้าทุน วัตถุดิบ (ไม่รวมน้ำมันดิบ) และสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบที่เคยลดลงมากในช่วงก่อนหน้าเริ่มทรงตัวตามราคาน้ำมันโลกที่เริ่มมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่มากขึ้น โดยเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐมีมากขึ้นจากการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ ด้านคมนาคม ขนส่ง และชลประทาน ขณะที่รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการปรับขึ้นอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นสำคัญ สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีจากการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีนและมาเลเซียเป็นหลัก

“ภาวะเศรษฐกิจเดือนมีนาคมมีส่วนสะท้อนถึงแรงส่งที่อ่อนแอลง หลายตัวอ่อนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่ถ้าถามว่าจะฟื้นตัวเมื่อไร ต้องดูช่องว่างของผลผลิต จะปิดเมื่อไร จากรายงานนโยบายการเงินล่าสุด บอกว่าเป็นปีหน้า ส่วนดูว่ากำลังซื้อจะกลับมาเมื่อไรตอนเดือนมีนาคมไปสอบถามธุรกิจก็มองเห็นว่าครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัว ส่วนที่เคยคาดว่าฟื้นตัวในไตรมาส 2-3 ก็หวังอยู่ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภาครัฐในเดือนหน้า ถ้าทำได้ตามเป้าหมาย 88% ทั้งปี โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีในไตรมาส 2 ก็มีอยู่” ดร.ดอนกล่าว