ThaiPublica > เกาะกระแส > จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต : “เปลี่ยนนักเรียน จาก passive learner เป็น active learner” (ตอนที่ 4)

จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต : “เปลี่ยนนักเรียน จาก passive learner เป็น active learner” (ตอนที่ 4)

29 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดสัมมนา “Education for the Future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทย ชูทางออกอนาคตการศึกษาศตวรรษที่ 21

ในงานสัมมนา มีการเสวนาในหัวข้อ “จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21, นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต, นายเชษฐ เชษฐสันติคุณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามเมนทิส จำกัด และที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู้อนาคต ดำเนินรายการโดยดร.อริสรา กำธรเจริญ

samsung

พิธีกร: อาจารย์อนุชาติได้กล่าวถึง 1 ปีที่อยากเห็นข้างหน้า สิ่งที่อยากจะเห็นก็คือการสร้างระบบ การโครงสร้างให้เอื้อต่อการทำงาน การของกระจายอำนาจการศึกษาลงสู่ข้างล่าง ประเด็นการพัฒนาครูอาจารย์ให้ความสำคัญว่าครูต้องเข้าใจผู้เรียน ต้องตระหนักถึงการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ว่าปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร เราเชื่อแค่ไหนว่าการเรียนรู้ประเสริฐที่สุด เรื่องการเรียนรู้ต้องไม่แยกส่วนออกจากวิถีชีวิต และหัวใจของการปฏิรูปคือการคืนคุณค่า คืนความหมายสู่จิตวิญญาณของความเป็นครูด้วย อาจารย์ให้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ที่เรียกว่า reconnect ว่าจะคืนความสุขสู่ห้องเรียนอย่างไร ตรงกับที่อาจารย์อมรชวิชช์และ ดร.สมเกียรติได้พูดถึง ทิศทางต่อไปต้องคืนครูสู่ห้องเรียน ทำให้ห้องเรียนมีความสุข การศึกษาต้องไม่แยกส่วน เรื่องการพัฒนาปัญญาและอารมณ์ และสุดท้ายผู้ปกครองและทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมด้วย

อาจารย์อนุชาติพูดถึงห้องเรียนแห่งอนาคต พูดถึงโครงการ Samsung Smart Learning Center คุณวาริทอยู่กับโครงการนี้มาตั้งแต่วันแรก ให้คุณวาริทฉายภาพว่าเราทำอะไรกับห้องเรียนอนาคต เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมในศตวรรษที่ 21

วาริท: จากที่ฟังอาจารย์ทั้งหมด ค่อนข้างดีใจว่าโครงการของเรามาถูกทาง เพราะว่าธีมที่ทุกคนพูดเหมือนกันคือ เรากำลังจะคืนความสุขให้การเรียนรู้ ซึ่งตัวโครงการเราเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีกว่า เรามองว่าทุกพื้นที่ที่ไปภารกิจก็จะมองหาปัญหาสังคมที่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ซึ่งหลังจากวิจัยก็พบว่าเรื่องการศึกษาเป็นประเด็นสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือ และเมื่อมองนวัตกรรมของเราเองและปัญหาที่มีอยู่ว่าจะเข้าไปช่วยพัฒนาอะไรได้บ้าง ก็มองว่าการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่เราจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยพัฒนา

จาก 2 ปีที่แล้ว เราก็เริ่มจัดทำโครงการและร่วมกับ สพฐ. และโรงเรียนต่างๆ ในการเริ่มต้นก็เริ่มต้นจากจุดเล็กที่สุดของการเรียนรู้คือโรงเรียนนั่นเอง ทำอย่างไรที่จะสร้างห้องเรียนแห่งอนาคตได้ แต่ยอมรับว่าโรงเรียนในประเทศ 30,000 กว่าแห่ง การที่เราจะทำทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามจะทำ จะทำอย่างไรให้เกิดโมเดลห้องเรียนแห่งอนาคตขึ้นซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับโรงเรียนอื่นๆ หลังจากที่มีโรงเรียนนำร่องแล้ว

ในปีแรก ได้ดำเนินโครงการทั้งหมดกับโรงเรียนนำร่องทั้งหมด 10 แห่ง ในปีที่แล้วก็ทำอีก 15 โรงเรียน รวมเป็น 25 แห่ง และสิ่งหนึ่งที่เราได้ลองทำในปีที่ผ่านมาคือการสร้างเครือข่าย เป็นการจัดการในปีแรก โรงเรียนที่แข็งแรงทั้งหมด 3 โรงเรียน และสร้างเครือข่ายขึ้นมา ทำให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ เกิดเครือข่ายสมาร์ทเลิร์นนิงเซ็นเตอร์อีก 3 เครือข่าย ที่เลย เพชรบูรณ์ เชียงราย ปัจจุบันเรามีซัมซุงสมาร์ทเลิร์นนิงเซนเตอร์ทั้งหมด 31 แห่งทั่วประเทศ และปีนี้จะขยายเป็น 40 แห่งทั่วประเทศ โดยที่เราทำงานกับคุณครูและนักเรียนประมาณ 50,000 คน

ทีนี้ ห้องเรียนแห่งอนาคต สำหรับเราห้องเรียนอนาคตคืออะไร ตัวห้องเรียนจากที่หลายท่านกล่าวมามีความหลากหลายมาก จริงๆ แล้วซัมซุงเองคงพูดถึงว่าเป็นสัดส่วน ส่วนผสมของกระบวนการและนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมเองน่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กและคุณครูแสวงหาความรู้ และสร้างสรรค์ผลงานจากการค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาเรื่องทักษะการเรียนรู้และวิจัย ขณะเดียวกัน เรื่องห้องเรียนที่มีสภาพแวดล้อมสนับสนุนการเรียนรู้แบบนั้น สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและการทำงานเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมาก

สรุปแล้ว องค์ประกอบของห้องเรียนแห่งอนาคตที่เรามอง ที่สำคัญมี 6 ด้าน คือ 1. สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ แทนที่จะเป็นห้องเรียนที่ทุกคนหันหน้ามาเจอกระดาน นักเรียนหันหน้ามาทางเดียวกัน เราก็จัดเป็นสตูดิโอคลาสรูม 2. ต่อมาเป็นเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ 3. แล้วเรื่องกระบวนการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 หรือการเรียนรู้จากการตั้งปัญหาหรือ PBL (problem-based learning) ที่เรารู้จักกันดี 4. เป็นการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนการสอน คือทำอย่างไรให้ครูปรับตัวเป็นโค้ช คือสอนให้น้อย เรียนรู้ร่วมไปกับเด็ก 5. การเตรียมพร้อมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เป็น active learner แทน passive learner สุดท้ายคือเรื่องวัดและประเมินผลที่ทำอย่างไรให้เด็กเป็นผู้ประเมินตัวเอง ดูสิว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับเขาบ้างหลังจากที่อยู่ร่วมโครงการ นี่คือ 6 องค์ประกอบสำคัญที่ประกอบเป็นห้องเรียนอนาคตที่เราสร้างขึ้น

ทีนี้มาดูว่า การทำงานของซัมซุงสมาร์ทเลิร์นนิงเซนเตอร์ เราทำงานอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร หลังจากที่เราได้จัดห้องเรียนนี้ขึ้นมา ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งอุปกรณ์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของโครงการ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือกระบวนการ หลังจากที่เซ็ตอัพกระบวนการห้องเรียนแล้ว เราก็สนับสนุนให้เด็กและครูพัฒนาองค์ความรู้ ในเรื่องกระบวนการ problem-based learning โดยทำเวิร์กชอปให้ครูและนักเรียนที่นำร่องมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนรู้ การตั้งคำถาม และเรื่อง digital storytelling skill ซึ่ง digital storytelling skill เป็นการดำเนินโครงการหลังจากที่เด็กจะเอาทักษะนี้ไปเรียนรู้ปัญหาของชุมชน หรือคำถามที่เขาอยากจะรู้ หัวข้อที่เขาอยากจะรู้ เขาจะใช้ digital storytelling skill ไปจับเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาบอกเล่าให้คนในโรงเรียน เพื่อนๆ ชุมชน ได้รับรู้ หลังจากนั้นจะติดตามประเมินผลโดยที่เด็กๆ จะเป็นคนประเมินผลและติดตามผลตนเองผ่านทาง narrative research

การสนับสนุนให้กับโรงเรียนและเครื่องมือต่างๆ ถือเป็นการบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรเลย และพัฒนาให้สอดคล้องกับความพร้อมและบริบทของแต่ละโรงเรียน อย่างโรงเรียนที่ผ่านมาทั้ง 31 แห่งนั้น เนื้อหาที่เขาได้เรียนรู้ ผ่านทาง digital storytelling ต่างโรงเรียนก็จะต่างซึ่งเรื่องราว

เช่น เชียงรายทำเรื่องแม่อิง จะเป็นเรื่องหลักของโครงการเด็กๆ ในขณะที่โรงเรียนอื่นๆ ทำเรื่องวัฒนธรรม ชุมชน หรือปัญหาในโรงเรียนเอง แล้วแต่บริบทของโรงเรียนนั้นๆ ทำให้เราได้ความหลากหลายที่จะมาพัฒนาเป็นต้นแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้โรงเรียนอื่นๆ ได้ต่อยอดต่อไป

storytelling skill ที่เด็กๆ จัดทำขึ้นจะมีเรื่องราวมากมายที่เด็กทำระหว่างที่ดำเนินโครงการ ซึ่งมีทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งการค้นพบเหล่านี้นอกจากจะทำให้เขาเกิดการตั้งคำถามกับโลกรอบตัวแล้ว ยังทำให้เขาได้ฝึกฝนสืบค้นข้อมูล แล้วก็รวบรวมความคิดเพื่อให้บอกเล่าต่อได้

นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต(ซ้ายสุด)
นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต(ซ้ายสุด)

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แค่พัฒนาสื่อเพื่อเล่าเรื่องราว แต่จุดมุ่งหมายของโครงการจริงๆ คือให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นทักษะที่ถือว่าสำคัญต่อการมีอยู่ของเราในศตวรรษที่ 21 นั่นเอง สิ่งสำคัญที่สุดที่เห็นคือเปลี่ยนนักเรียนจาก passive learner เป็น active learner เขาสามารถไปหาองค์ความรู้ของตัวเองแล้วพัฒนาขึ้นมาทำให้เขาสามารถบอกเล่าต่อได้

จากที่เห็นในเรื่อง narrative research ที่จัดทำ ผลที่ได้คือ เด็กที่ผ่านโครงการแล้วจะพัฒนาทักษะอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านไอซีที รวมทั้งค้นพบศักยภาพและความสามารถของตัวเอง โดยทักษะสำคัญ 3 อันดับแรกที่เด็กค้นพบคือ 1. ทักษะความคิดริเริ่มและสานงานต่อ 2. ทักษะสังคม การทำงานร่วมกับเพื่อนๆ และ 3. การบริหารเวลาและการรับผิดชอบในงานของเขาเอง

ทั้งหมดนี้เรามีคุณครูซึ่งได้เปลี่ยนบทบาทไปแล้ว จากเดิมที่ครูคอยชี้นิ้วสั่ง ก็เปลี่ยนเป็นโค้ช ทำงานเป็นที่ปรึกษามากกว่า แล้วสิ่งหนึ่งที่ครูหลายๆ คนบอกเราคือสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้จากโครงการคือเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก หลายๆ คนรู้สึกว่าต้องเป็นคนที่คอยบอกคอยพูด แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะในที่สุดเขาผ่านโครงการแล้ว คุณครูก็บอกว่าเราต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะเชื่อในตัวเด็กๆ ในสิ่งที่เด็กทำได้

จากที่ทำโครงการมา พอผ่านปีแรกคุณครูก็เอากระบวนการทั้งหมดไปปรับใช้ในวิชาต่างๆ เช่น โรงเรียนเทิงวิทยาคมในเชียงราย นำไปต่อยอดเชิงวิจัยในชุมชน โรงเรียนพรหมานุสรณ์ที่เพชรบุรีก็นำไปสอนปรับใช้กับวิชา IS หรืออย่างโรงเรียนโนนชัย ที่ขอนแก่น ก็นำไปใช้กับห้องเรียนคละชั้น จะเห็นว่าโมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในบริบทที่หลากหลายมาก

และสิ่งสำคัญที่สุดของโครงการ ผลอย่างหนึ่งที่อยากพูดถึง จริงๆ มันมี input มากมายที่เกิดขึ้นกับโครงการ ไม่ว่าเรื่องราวผ่าน digital storytelling หรือโครงการของเด็กเอง คือไม่ว่ากระบวนการจะลงไปโรงเรียนแบบไหน จะเป็นโรงเรียนใหญ่ เล็ก โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนในเมือง หรือโรงเรียนชายขอบ เราเห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ลงไปให้เด็ก ทำให้เด็กมีโอกาสได้แสดงศักยภาพและความสามารถ คือเด็กพวกนี้เขาสามารถมีพัฒนาการการเรียนรู้ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าเดิมจะเป็นเด็กเรียนเก่งหรือเรียนไม่เก่ง ถ้าเราเปิดโอกาสมีพื้นที่ให้เขา เขาสามารถแสดงศักยภาพได้ทั้งนั้น

นอกจากเปิดพื้นที่ให้เด็กทุกกลุ่มทุกประเภทได้มีโอกาสแสดงออกและเรียนรู้แล้ว สิ่งหนึ่งเราพบว่าโครงการไม่ได้พัฒนาเฉพาะการเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะเท่านั้น แต่เราค้นพบว่าจะมีเด็กที่ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ค้นพบว่าเป็นจุดเปลี่ยนของเด็กว่าเขามีเป้าหมายมากขึ้น มีเป้าหมายชีวิต และเขาคิดว่าการมีอยู่ของเขาสำคัญทำให้มีความมั่นใจที่เขาจะไปต่อยอดในอนาคตได้

พิธีกร: ทิศทางการศึกษาไทยเป็นอย่างไร

วาริท: ผมคงพูดในมุมองของเอกชน จริงๆ แล้วเอกชนหลายๆ ที่มีห้องเรียนแบบซัมซุงสมาร์ทเลิร์นนิงเซนเตอร์เกิดขึ้นเยอะมากในรูปแบบต่างๆ ในเมืองไทย ผมคิดว่าตัวเอกชนคงมีความกระตือรือร้นอยู่แล้วที่จะมีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา แต่ผมจะบอกว่า ที่เห็นว่าห้องเรียนมีเยอะมาก เราจะเห็นว่ามีหลายๆ ห้องเรียนที่เกิดขึ้นจากโครงการเพื่อสังคมของเอกชน ที่อาจจะใช้งานไป 4-5 ปี แล้วห้องเรียนก็หายไปกลายเป็นห้องเก็บของหรืออะไรก็แล้วแต่

ผมคิดว่าเอกชนทุกคนคงอยากมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหา และอยากจะมองว่า จะทำให้โครงการเหล่านั้นยั่งยืนเกิดขึ้นในบริบทของโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนไหนก็ตาม ผมคิดว่าตรงนี้เอกชนอาจจะทำโครงการได้รวดเร็วและยืดหยุ่นมากกว่า มีทรัพยากรที่ลงมือทำได้ทันที ถ้าเกิดเราได้ร่วมมือกับรัฐบาลจริงๆ มองว่ามีพื้นที่ไหนที่ต้องการความช่วยเหลือและไม่ซ้อนทับ และในที่สุดสามารถจะ contribution ให้เกิดความยั่งยืนขึ้น เพื่อให้การศึกษาไปต่อได้ มันจะได้เหมือนกับว่าเราลงแรง ลงทรัพยากรไปแล้ว ในที่สุดก็เกิดความยั่งยืนในบริบทสังคม และมีประโยชน์ที่ยั่งยืนจริงๆ กับครูและโรงเรียน

ผมคิดว่าต้องมองในมุมนั้นมากกว่า มันถึงออกมาเป็นโจทย์ให้เราทำซัมซุงสมาร์ทเลิร์นนิงเซนเตอร์ว่าทำอย่างไร พอในที่สุดแล้วอาจจะเหลือแค่โมเดลเดียว แต่เป็นโมเดลนั้นที่สามารถจะนำไปปรับใช้ได้กับทุกโรงเรียน โรงเรียนที่เหลืออีก 29,000 กว่าแห่งที่เราไม่ได้ทำ เพราะว่า จริงๆ แล้วเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ในที่สุดแล้ว เด็กเหล่านี้เขากลับมาบอกเรา กลับมาดึงเสื้อเหมือนดึงเสื้ออาจารย์อมรวิชช์ บอกว่า อาจารย์ ขอบคุณนะ เราหวังแค่นั้นจริงๆ

ตอนต่อไป “เวิร์กชอปเปลี่ยนชีวิต เปิดพื้นที่ ไม่มีการตัดสินถูก-ผิด”นายเชษฐ เชษฐสันติคุณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามเมนทิส จำกัด และที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู้อนาคต