ThaiPublica > เกาะกระแส > จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต : เวิร์กชอปเปลี่ยนชีวิต เปิดพื้นที่ ไม่มีการตัดสินถูก-ผิด (ตอนจบ)

จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต : เวิร์กชอปเปลี่ยนชีวิต เปิดพื้นที่ ไม่มีการตัดสินถูก-ผิด (ตอนจบ)

29 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดสัมมนา “Education for the Future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทย ชูทางออกอนาคตการศึกษาศตวรรษที่ 21

ในงานสัมมนา มีการเสวนาในหัวข้อ “จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21, นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต, นายเชษฐ เชษฐสันติคุณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามเมนทิส จำกัด และที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู้อนาคต ดำเนินรายการโดยดร.อริสรา กำธรเจริญ

ในตอนที่ 4 นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ได้พูดถึงการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต ต้อง “เปลี่ยนนักเรียน จาก passive learner เป็น active learner”

พิธีกร: เห็นภาพชัดเจนว่าห้องเรียนแห่งอนาคตที่ซัมซุงไปทำเป็นอย่างไร เปลี่ยนเด็กที่แต่เดิมเรียนไม่เก่งมีตัวตนขึ้นมา หล่อขึ้นมา เพราะถ่ายทอดเก่ง และได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง โดยห้องเรียนแห่งอนาคตเป็นการผสมระหว่างกระบวนการกับนวัตกรรม มีองค์ประกอบ 6 ด้าน เริ่มต้นจากสภาพแวดล้อม ไม่ต้องหันหน้าเข้าครูอย่างเดียว เป็นวงกลม เรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี การเรียนรู้จาก PBL การพัฒนาครูที่จะเป็นโค้ช การเตรียมความพร้อมให้เด็กเป็น active learner และเรื่องการวัดผล ครูต้องปรับความคิด ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพเด็ก และปัญหาที่เด็กๆ ตั้งมาเป็นเรื่องจากชุมชน วิถีชีวิตของเขา

มาที่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญกับโครงการนี้อีกท่าน ระหว่างทำโครงการมีการทำวิจัยด้วย ให้คุณเชษฐบอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดทั้งจากตัวเด็ก และคุณครูผู้สอนนอกเหนือจากที่คุณวาริทกล่าวมา

samsung_1

เชษฐ: คำถามที่คุณวาริทสงสัยบ่อยๆ คือเด็กได้อะไรจากโครงการนี้ และอีกเรื่องคือสงสัยว่าการเข้าร่วมโครงการเด็กค้นพบอะไร จากการใช้เวลาอยู่กับโครงการของเรา ในเรื่องการค้นพบเรามีตัวอย่างบางส่วนตามเอกสารที่แจก และจะลองแบ่งปันกับทุกท่านว่า จากการติดตามของเรา เด็กในโครงการได้รับอะไรบ้าง

วิธีการที่เราติดตามคือการเก็บเรื่องราวประสบการณ์จากนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เด็กๆ จะเล่าให้เราฟัง ส่งมาให้ประมาณ 1,200 เรื่อง ซึ่งเด็กส่งเรื่องเข้ามาให้เราช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม 2558 ปีนี้มีโรงเรียนในโครงการ 31 แห่ง และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีแรก 10 แห่ง ดังนั้นจึงมีเด็กบางคนที่อยู่ร่วมโครงการมากกว่ามากกว่า 1 ปีการศึกษา

คำถามหลักของเราคือ เล่าให้ฟังหน่อยว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในตัวเธอคืออะไร หลังจากการเข้าร่วมโครงการซัมซุงสร้างการเรียนรู้สู่อนาคต ซึ่งการตอบคำถามจะมีกระบวนการถามว่า ก่อนและหลังเธอเป็นอย่างไร และอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่หลายอย่าง แต่สิ่งที่เราอยากให้นักเรียนเขียนเล่ามาคือความเปลี่ยนแปลงที่นักเรียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด จากนั้นเราก็มีคำถามอีกจำนวนหนึ่ง

จาก 1,200 เรื่องที่เข้ามา สิ่งที่เด็กเห็นว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ประมาณร้อยละ 40 จะเป็นทักษะการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม หรือทักษะ 4C คือ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดอย่างมีวิจารญาณ รองลงมาคือทักษะเรื่องชีวิตและอาชีพ และกลุ่มสุดท้ายคือสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยี

ถึงแม้ input ของโครงการจะมีเทคโนโลยีเป็น input ก้อนใหญ่ แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เด็กเห็นว่าสำคัญและเกิดขึ้นกับตัวเองมากที่สุดคือมันเป็นเรื่องอื่น ไม่ใช่ว่าใช้คอมพิวเตอร์เก่งขึ้น เด็กส่วนใหญ่จะพูดถึงเทคโนโลยี แต่ว่าการใช้คอมพิวเตอร์ได้คล่องขึ้นไม่ใช่สิ่งทุกคนที่เห็นว่าสำคัญที่สุด

“ทักษะแต่ละกลุ่ม เรื่องราวความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมี 1,200 เรื่อง ไม่สามารถยกตัวอย่างมาทั้งหมด ผมยกตัวอย่างสิ่งที่เราได้ยินซ้ำๆ จากเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น เด็กจากภูเก็ตบอกว่าความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือความกล้าแสดงออก กล้าคิดกล้าทำ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซ้ำมาก เพราะเด็กรู้สึกกลัวผิด อายเพื่อน หรือไม่มั่นใจในตัวเอง เป็นปัจจัยแวดล้อมที่ผูกมัด ไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้ เนื่องจากโครงการมีความคิดว่าเป็นการให้เด็กลองทำโดยไม่ตัดสินถูกผิด ซึ่งเปิดให้เด็กทดลองในสิ่งที่ไม่เคยทำมาได้ ก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในที่สุด”

มีอีกเรื่อง น้องจากอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม บอกว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือกล้าแสดงความคิดเห็น คือน้องคนนี้เป็นเด็กเรียนไม่เก่ง อยู่หลังห้อง และเวลาทำงานกลุ่ม ทำโครงการพวกนี้เป็นเรื่องของเด็กเก่งที่จะแสดงความเห็น แต่เมื่อไม่มีใครแสดงความเห็น เขาก็เสนอไอเดียแล้วก็รู้สึกสนุก คือเรียกว่ามีความเปลี่ยนแปลงว่าแม้เด็กจะเรียนไม่เก่ง ไม่มีความสามารถทางวิชาการ ก็อาจจะมีความคิดดีๆ ได้ คือมันก็มีผล ดังนั้น เวลาเด็กคละชั้น ทำงานร่วมกัน ผมคิดว่าระบบการศึกษาที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และโรงเรียนจัดนักเรียนเข้าห้องตามผลการศึกษา เป็นการจัดชนชั้นโดยอัตโนมัติ ทีนี่เด็กที่ไม่มีความสามารถทางวิชาการแต่อาจมีความสามารถทางอื่น เมื่อสภาพแวดล้อมอย่างนี้ มันเป็นตัวลดทอนความมั่นใจในตนเอง เด็กก็อยู่เงียบๆ ไป

โดยทั่วไปเราให้เด็กประเมินตัวเอง ว่าเข้าร่วมโครงการแล้วพัฒนาทักษะด้านไหนบ้าง มีตั้งแต่ว่าเข้าร่วมโครงการแล้วฉันทำได้แย่ หรือว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อย่างกราฟสีเขียวอ่อนจะบอกว่าฉันทำได้ดีขึ้น สีเขียวเข้มคือฉันทำได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผมว่าสาระมันคงไม่ใช่ตัวเปอร์เซ็นต์ แต่เราจะเห็นว่า การทำงานร่วมกับผู้อื่น เด็กจะบอกว่าเขาค่อนข้างมั่นใจว่า เขาทำได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะโดยเนื้อหาของกระบวนการ เด็กจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน และสิ่งนี้จึงส่งผลอัตโนมัติให้เด็กทำงานร่วมกับผู้อื่นที่ดีขึ้น เรื่องการสื่อสารก็ดีขึ้น จะเห็นว่าการกล้าคิดกล้าทำมันเป็นเรื่องการสื่อสารกับผู้อื่น

ทีนี้ลองมาดูทักษะเรื่องการสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานสุดคือ ใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้น โรงเรียนจำนวนมากเลยที่เข้าร่วมโครงการ เด็กที่อยู่ในโรงเรียนไม่ได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีพวกนี้เหล่านี้อย่างใกล้ชิด ของบางอย่าง เช่น กล้อง เด็กไม่เห็นมาก่อน เพราะฉะนั้น การได้จับ ได้ลองใช้ เป็นเรื่องที่เขาควรจะใช้เทคโนโลยีที่เก่งขึ้น เขามีโอกาสฝึกฝน สำหรับบางโรงเรียนนี่เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้สัมผัส

เรามีบ้าง บางโรงเรียนที่เด็กสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว น้องคนนี้อยู่ขอนแก่น อยู่ที่โนนชัย ตอนนี้ตัดสินใจว่าจะเรียนสายอาชีพเป็นคอมพิวเตอร์กราฟิก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อได้เครื่องมือของเราไปก็สนุกสนานกับการทำ digital storytelling ก็เลยเอาเครื่องมือไปถ่ายเป็นวิดีโอคลิปแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว หรืองานโอทอป ไปถ่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำอะไรกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน โดยที่ไม่ใช่งานที่คุณครูมอบหมาย นี่คือความสนุกของเด็กๆ เราจะเห็นได้ชัดว่าพอมีตัวป้อนเหล่านี้เข้าไป ทักษะไอซีที การใช้คอมพิเวตอร์และเทคโนโลยีของเด็กดีขึ้นมาก

อีกประการคือความรู้เท่าทันสื่อ เด็กพอเขาเป็นผู้ทำสื่อเองหลังๆ เขาก็คิด เวลาเห็นอะไรในสื่อเริ่มเข้าใจ เริ่มไม่เชื่อสิ่งที่เห็นในทันที บางโรงเรียนก็เอาเรื่องนี้มาพูดเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมว่าเธอพบเห็นอะไรมา เธอคิดว่าสื่อพูดอะไร มีเจตนาอะไร แล้วพอเด็กรู้จักว่าการตัดต่อคืออะไร เราจะเข้าใจแล้วว่าเรื่องๆ เดียวนั้นสามารถทำให้คนเห็นเป็นหลายทางได้ อยู่ที่วิธีการตัดต่อ

นอกจากนั้นคือทักษะการหาข้อมูล เด็กเล่าว่าแต่เดิมเขาคิดว่าการหาข้อมูลต้องหาจากอินเทอร์เน็ตคือวิธีแรกและวิธีเดียว แต่จริงๆ ไม่ใช่ การออกไปพูดคุยกับชาวบ้านที่เขามีความรู้เรื่องนั้น การคุยกับมนุษย์จริงๆ ก็เป็นวิธีการหาข้อมูลที่ดีกว่า

จากนั้น ทักษะกลุ่มสุดท้าย คือเรื่องชีวิตและอาชีพ ในนี้จะมีอยู่หลายอย่าง ทั้งการยืดหยุ่นปรับตัว ความคิดริเริ่ม การชี้นำตนเอง หรือการทำให้งานสำเร็จ ความเป็นผู้นำ ทักษะสังคม ผลิตภาพ เป็นเรื่องการวางแผนและแบ่งเวลา

นี่เป็นเรื่อง recurring seen ของนักเรียนมอต้น คือแบ่งเวลาไม่เป็น ทำอะไรไม่เคยมีแผน เป็นอาการปกติของเด็ก คือ ก่อนเข้าโครงการ ครูสั่งอะไรก็ทำ คิดอะไรได้ก็ว่าไป คือเด็กไม่รู้ว่าถูกผิด หรือไม่ก็ถามเพื่อน แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว มีความจำเป็นต้องคิดวางแผนด้วยตนเอง เพราะเนื้อหาของโครงการมีองค์ประกอบหลายอย่าง คือ PBL ให้เด็กไปหาคำตอบเรื่องที่ตนเองสนใจ แล้วมาผลิตชิ้นงานวิดิโอด้วย digital storytelling ซึ่งผลงานต้องมีครบทั้งเรื่องราว ไอเดีย คอนเซปต์ ว่าจะเล่าอะไร ต้องมีภาพ มีเสียง มีภาพเคลื่อนไหว มีภาพประกอบ ทั้งหมดถ้ามาไม่ครบงานไม่เสร็จ เพราะฉะนั้น การแบ่งไปทำ หากครูสั่งงานมา 5 บท เธอทำบทที่ 1 ฉันทำบทที่ 2 แยกกันไป แต่เวลาทำ digital storytelling มันทำแบบนั้นไม่ได้ งานไม่เสร็จ จึงทำให้เด็กรู้จักวางแผนว่าอะไรมาก่อนมาหลัง และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เช่น นัดป้าไว้ เดี๋ยวไปสัมภาษณ์ป้า ป้ามาสายจะทำอย่างไร หรืออะไรหลายๆ อย่าง อันนั้นเป็นสิ่งที่เขาจะได้รับจากเรื่องนี้

นายเชษฐ เชษฐสันติคุณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามเมนทิส จำกัด และที่ปรึกษาโครงการ Sumsung Smart Learning Center(ซ้ายสุด)
นายเชษฐ เชษฐสันติคุณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามเมนทิส จำกัด และที่ปรึกษาโครงการ Sumsung Smart Learning Center(ซ้ายสุด)

นอกจากการแบ่งงาน อีกอันที่เป็น recurring seen คือความรับผิดชอบ ซึ่งเกิดจากเรามีเพื่อนที่เขารออะไรบางอย่างจากเรา ถ้าเราไม่ส่ง ไม่ทำงานของเราให้เสร็จ เพื่อนเราทั้งหมดจะต้องเดือดร้อน ทำงานไม่เสร็จ อันนี้เป็น recurring seen อันหนึ่ง ฉะนั้น การเข้าร่วมโครงการนี้จึงมีส่วนสร้างให้เกิดความรับผิดชอบ อย่างเรื่องนี้ทุกคนในกลุ่มมีหน้าที่กันหมด ถ้าไม่ช่วย ดูเห็นแก่ตัว ฉันก็ช่วยเพื่อนจัดบอร์ด รับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง ภูมิใจที่ทำงานเสร็จ

อีกตัวอย่างจากแม่ริมวิทยา ที่เชียงใหม่ เป็นเด็กเรียนเก่ง มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก สอบต้องได้เกรด 4 เต็ม จะเรียนหมอ แล้วชีวิตมีแต่การเรียนในห้องเรียน น้องบอกว่าประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตคือการไปเวิร์กชอปที่ศาลายา ทำงานกับเพื่อนต่างโรงเรียนซึ่งเรียนไม่เก่ง แต่ในเนื้อของโครงการคือการลงพื้นที่คุยกับชุมชน ชาวบ้าน ผลิตงานออก 1 ชิ้นใน 24 ชั่วโมง

“น้องก็พบว่าเด็กที่เรียนไม่เก่งนั้นมีทักษะหลายอย่าง แล้วก็มีความคิดเห็นที่ดี หลายอย่างดีกว่าตัวเองอีก ซึ่งเวิร์กชอปอันเดียวที่สามารถเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิต ต่ออาชีพ ต่อเพื่อนด้วยกัน แล้วก็บอกว่าเดิมมีแค่บ้าน แค่โรงเรียน แค่ครู การบ้าน ข้อสอบ หนังสือ เดี๋ยวนี้มีมากขึ้น เพื่อให้มีความสุขบนเส้นทางในชีวิต แม้แต่อาชีพในอนาคต เขาก็เข้าใจแล้วว่ามีหลากหลายอาชีพนอกจากหมอ ตอนนี้เขาเลือกทางเดินชีวิตได้มากขึ้นแล้วและดีใจมากที่ทำได้”

อีกตัวอย่างสุดท้ายมาจากโรงเรียนสุขบท ชลบุรี บอกว่า กล้าที่จะเผชิญปัญหา ไม่หนีเหมือนเมื่อก่อน เรื่องของน้องน่าสนใจ แต่เราอาจจะพูดไม่ได้ว่าน้องเปลี่ยนไปเพราะเรียนรู้อะไรจากเรา ที่แน่ๆ คือการเข้าร่วมโครงการกับเราทำให้เขามีภาระงานมากขึ้น น้องสมัยก่อนเป็นคนลนลาน ฟุ้งซ่าน งานก็หนัก เพราะต้องสอบแข่งวิชาการ ทำโครงงาน แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็เข้าร่วมโครงการซัมซุงเข้าไป ก็ทำให้งานเยอะขึ้นอีก คือในระหว่างทางเธอก็เข้าใจว่า ไม่เป็นไร ปัญหาค่อยๆ แก้ไปทีละเปลาะ แล้วเธอก็ผ่านพ้นทั้งหมดไปได้ เธอบอกว่า มุมมองในการแก้ปัญหาเปลี่ยนไป ตอนนี้ไม่กลัวและกล้าเผชิญปัญหา และอะไรจะเกิดก็ต้องเกิดต่อให้ขัดขวางแค่ไหน ชีวิตนี้ลองเจอดูสักครั้งจะเป็นอะไรไป

“จริงๆ ภาระงานที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ปัจจัยลบเสมอไป บางคนภาระงานที่เพิ่มขึ้นทำให้ละเลยจากเฟซบุ๊ก และจัดเวลาในชีวิตใหม่เพื่อทำงานให้เสร็จ”

ทีนี้ จากการประเมินของเด็ก สิ่งที่ทำได้ดีขึ้นมากคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น นี่คือ social skill รองลงมาคือ initiative และ self direction ทำให้ความคิดริเริ่มเป็นจริงได้ ปรับตัวได้ดีขึ้น และอื่นๆ

โดยทั่วไปเราจะเห็นว่าเด็กร้อยละ 70-90 จะบอกว่าการร่วมโครงการนี้มีผลการพัฒนาทั้ง 3 กลุ่มของศตวรรษที่ 21

เนื่องจากโครงการนี้ตัวป้อนมีหลายตัว เราลองถามต่อไปว่าตัวป้อนตัวไหนมีผลอย่างไร เพื่อที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวป้อนต่างๆ เวลาอยู่ในบริบทโรงเรียนต่างๆ พบว่า อันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่บอกว่าการทำงานร่วมกับเพื่อนเป็นปัจจัยที่สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่นี้เวลาเราเลือกมาก็คือว่ามีองค์ประกอบ 12 ตัว ให้เลือก 4 ตัว ถัดมาเป็นเรื่องการออกไปนอกห้องเรียน เรียนรู้ด้วยตัวเอง หาคำตอบในเรื่องที่ตัวเองสนใจ ผมคิดว่า 3 เรื่องนี้เป็นแรงสนับสนุน แรงจูงใจ คือถ้าเด็กได้ทำในเรื่องที่สนใจ ออกไปข้างนอก สัมผัสมนุษย์จริงๆ สถานที่จริงๆ เรื่องที่เขาสนใจอยู่ที่ไหน เป็นการเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้ และในเวลาเดียวกัน สิ่งอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ กระบวนการเรียนรู้ ทั้งหมดก็เป็น enabler

“เราสงสัยว่าทำให้ภาระเป็นอย่างไรบ้าง คือส่วนมากภาระเพิ่มขึ้นจัดการได้ ไม่ค่อยเป็นปัญหา จำนวนมากบอกว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้มีประโยชน์กับการเรียนในวิชาอื่น เราก็สงสัยว่าเรื่องนี้ทำให้ฉุดผลการเรียนหรือเปล่า ครึ่งหนึ่งก็บอกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เขาสามารถรับมือกับงานที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ร้อยละ 40 บอกว่าผลการเรียนดีขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามต่อไป จำนวนมากร้อยละ 85 บอกว่าปีหน้าจะมาเข้าร่วม และเพื่อนๆ ถามว่าสนใจ โครงการนี้ดีหรือเปล่า ร้อยละ 46 จะบอกว่าพลาดไม่ได้”

จากทั้งหมดเราอาจจะพูดได้ว่าทักษะทั้งหมดเกิดจากการลงมือทำ เป็นทักษะที่สอนไม่ได้ เทคโนโลยีเราคิดว่าเป็นทั้ง enabler และเป็นทั้งแรงจูงใจ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นของใหม่ ไม่ค่อยได้สัมผัส ดังนั้น การได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดก็เป็นแรงจูงใจ ทักษะของเด็กสามารถพัฒนาได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน และเงื่อนไขที่สำคัญคือบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการทดลอง ผิดได้ไม่เป็นไร นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ และการให้เด็กได้หาคำตอบและเรียนรู้เรื่องที่ตัวเองสนใจเป็นปัจจัยสำคัญของผลสำเร็จ

พิธีกร: ทิศทางใหม่การศึกษาไทยควรเป็นอย่างไร

เชษฐ: ถ้าดูจากบทเรียนที่เราเรียนรู้จากเด็กๆ ผมคิดว่าต้องมีพื้นที่และแรงจูงใจให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองและไม่มีการตัดสินถูก-ผิด อีกอย่างคือ มีข้อสังเกตหนึ่งว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีมากๆ นั้น เขากำลังจะออกจากระบบสาระการเรียนรู้ คือตอนนี้การเรียน การเรียนรู้เปลี่ยนเป็นธีม คือในหัวข้อหนึ่ง เราควรรู้อะไรบ้าง และในหัวข้อนั้นมีการบูรณาการหลายวิชาเข้ามาร่วมกัน ซึ่งบางส่วนของโครงการซัมซุงสมาร์ทเลิร์นนิงเซนเตอร์มีบางอย่างคล้ายๆ แบบนั้น คือ เด็กจับเรื่องที่สนใจแล้วก็ลองหาความรู้โดยใช้หลายๆ สาขาวิชาเข้ามาด้วยกัน ผมคิดว่าทั้งครูและเด็กมีศักยภาพ เพียงแต่สภาพแวดล้อมอาจจะเป็นตัวยึดอยู่ ที่ทำให้ไม่สามารถทำให้เปล่งประกายได้