ThaiPublica > เกาะกระแส > ห้องเรียนอิสลามบูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21 “Active Learning” สอดแทรกอิสลามศึกษาทุกเนื้อหา

ห้องเรียนอิสลามบูรณาการสู่ศตวรรษที่ 21 “Active Learning” สอดแทรกอิสลามศึกษาทุกเนื้อหา

26 มีนาคม 2018


นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (คนที่ 4 จากซ้าย) พร้อมด้วยนายทรงพล ขวัญชื่น ผู้อำนวยการ สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี (คนที่ 3 จากซ้าย)

Iqraq คือ โองการแรกที่พระเจ้าหรือองค์อัลเลาะห์ ส่งมาให้พระนบี มูฮัมหมัด ศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม

“Iqraq หมายถึง เจ้าจงอ่าน เจ้าจงศึกษาหาความรู้ เพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เจ้าจงไปหาความรู้ ไม่ว่าที่ไหน จงไปเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้ พัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคม พระเจ้าทรงกล่าวไว้ และให้เราศึกษาหาความรู้ตั้งอยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ หมายถึงว่า เราต้องศึกษาความรู้ไปตลอดจนถึงวันตายเพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด” นางสาวอัสมะ หะยีมอหะมะสอ ผู้อำนวยการ โรงเรียนศาสนศึกษา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ขยายความหมายให้กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงาน “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” ที่จัดโดยบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

ตั้งใจสร้างโรงเรียนต้นแบบ

นางสาวอัสมะ หะยีมอหะมะสอและ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา

ด้วยความเชื่อมั่นในโองการแรกของพระเจ้า และยึดมั่นในคำสอนของผู้เป็นพ่อ ที่ย้ำอยู่เสมอว่า การตั้งโรงเรียนนั้นเป็นการทำเพื่อสังคม การสอนเด็ก เป็นการช่วยเหลือสังคม เป็นหนึ่งกิจกรรมที่จะทำให้ได้บุญตามหลักศาสนาอิสลาม นางสาวอัสมะ หะยีมอหะมะสอและ ซึ่งรับช่วงบริหารโรงเรียนศาสนศึกษาจากพ่อ จึงตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างโรงเรียนศาสนศึกษา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ให้เป็นต้นแบบโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนสอดคล้องกับสังคมยุคใหม่

โรงเรียนศาสนศึกษา เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานี เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สอนหลักสูตรวิชาสามัญควบคู่กับวิชาอิสลามศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด 1,600 คน ครู 126 คน ทั้งสายสามัญและสอนศาสนา

นางสาวอัสมะเล่าว่า “โรงเรียนศาสนศึกษาเดิมเป็นโรงเรียนปอเนาะ ก่อตั้งโดยคุณตา สอนเฉพาะศาสนาอย่างเดียวเหมือนกับโรงเรียนปอเนาะทั่วไปที่เจ้าของโรงเรียนเป็นผู้สอนคนเดียว สอนตามบ้าน สอนตามมัสยิด ไม่มีค่าตอบแทน บางครั้งผู้ปกครองอาจจะให้ค่าตอบแทนเป็นข้าวสาร ต่อมาเมื่อคุณพ่อรับช่วงต่อ ได้เข้าระบบด้วยการจดทะเบียนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มีการสอนเป็นวิชาสามัญเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการสอนศาสนาอิสลาม และในปี 2540 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิโรงเรียนศาสนศึกษา เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้การสนับสนุนเด็กยากจนได้เข้ามาเรียน”

โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบางส่วน เพราะเป็นโรงเรียนที่สอนทั้งสายสามัญและสอนศาสนา ทำให้งบประมาณไม่เพียงพอ ส่วนค่าเล่าเรียนเก็บจากเด็กเพียง 100 บาทต่อภาคการศึกษา เนื่องจากเด็กนักเรียนมีระดับทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน มีเด็กยากจน เด็กยากจนมาก เพราะผู้ปกครองมีอาชีพเกษตรกร นักเรียนมี 2 ประเภท คือ ไปกลับและประจำ นักเรียนประจำมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 500 บาทต่อ 1 ปีการศึกษา

นางสาวอัสมะเองก็ได้เรียนที่โรงเรียนของครอบครัวจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นระดับชั้นสูงสุดของโรงเรียนในขณะนี้ จึงได้ไปศึกษาต่อในจังหวัดใกล้เคียงจนจนมัธยมปลายและระดับปริญญาตรี จากนั้นได้เข้ามาเป็นครูสอนที่โรงเรียน ก่อนที่ทำงานด้านบริหาร โดยคุณพ่อให้เริ่มงานด้านบุคคลากร ในช่วงนั้นเองได้มองเห็นว่า เด็กนักเรียนที่โรงเรียนขาดระเบียบวินัยในหลายด้าน มีความรู้สึกขัดข้องใจ แต่ก็มีบุคลากรรุ่นพี่บอกว่า ใหม่ๆ ก็แบบนี้ อีกสักพักจะชินไปเอง

คำพูดนั้นทำให้นางสาวอัสมะรู้สึกว่าไม่ใช่ และไม่ควรทำเรื่องที่ไม่เข้าระบบหรือไม่เป็นระเบียบให้เป็นความเคยชิน และเริ่มคิดตั้งแต่นั้นมาถึงทิศทางการพัฒนาโรงเรียน ประกอบกับได้มีการประชุมครอบครัวระหว่างพี่น้องซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมด 3 คน จึงได้เสาะหาแนวทางพัฒนาโรงเรียนมาตลอดเวลา

“จุดที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงคือ เห็นว่าเด็กไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าสื่อสาร เวลาพูดด้วยมักหลบตา เป็นลักษณะของเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีอุปสรรคด้านภาษา จึงต้องหาวิธีการแบบใหม่ที่กระตุ้นให้เด็กกล้าแสดงออก อีกทั้งต้องการแก้ไขการเรียนการสอนที่เด็กต้องเรียนหนักมาก ส่วนใหญ่เป็นการสอนแบบบรรยายมุ่งการท่องจำ เด็กนั่งฟังบรรยายทั้งวัน 10 คาบ เด็กขาดความสนุก ขาดแรงบันดาลใจ เพราะวัยเด็กหากมีความสนุกเด็กจะเต็มที่กับการเรียน ดังนั้น ครูผู้สอนกับผู้บริหารจึงหารือถึงแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงเด็ก” นางสาวอัสมะกล่าว

ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน นางสาวอัสมะได้มอบหมายให้ครูสุนันต์ สะซีลอ หรือ “ครูฟี” ผู้สอนวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการหาแนวทางปรับปรุงการเรียนการสอนเสียใหม่ เพื่อพัฒนาเด็กให้มีทักษะในการสื่อสารสำหรับการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันได้

แก้ปัญหาเด็กเรียนหนัก-เรียนแบบท่องจำ

ครูฟี ซึ่งผ่านการเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเช่นกัน เล่าว่า โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามต้องเรียนทั้งสายสามัญและศาสนา โดยสายสามัญมี 8 กลุ่มสาระและรายวิชาศาสนาอิสลาม ทำให้เด็กเรียนหนักมากถึง 50 คาบต่อสัปดาห์ เด็กในโรงเรียนทั่วไปเรียนเพียง 40 คาบ นอกจากนี้เด็กในกลุ่มนักเรียนประจำหลังละหมาดเช้า 6 โมง จะต้องเรียนกีตาป คือ วิชาอิสลามศึกษา จากนั้นต้องเตรียมตัวเรียนวิชาปกติ และเมื่อเลิกเรียน 4.30 น. และหลังจากละหมาดช่วงเย็น 6 โมงเย็น ก็ต้องเรียนกีตาปอีกไปจนถึง 20.00-20.30 น.ทุกวัน

นอกจากเด็กเรียนหนักแล้ว การเรียนอิสลามศึกษาต้องมีความถูกต้องเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เด็กไม่ค่อยเข้าใจ จึงเป็นการเรียนแบบท่องจำ นักเรียนไม่มีส่วนร่วม ได้แต่นั่งฟังบรรยายตลอดทั้งคาบ 45 นาที และไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อย่างไร ครูผู้สอนเองก็มีวิธีการสอนแบบเดิม ไม่มีการสอนใหรู้ว่าความรู้ด้านนี้จะนำไปใช้อย่างไร

การเรียนอย่างหนักและการนั่งฟังการบรรยายทำให้เด็กไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าสื่อสาร เพราะโดยพื้นฐานเด็กใช้ภาษายาวี ซึ่งเป็นภาษาในท้องถิ่น แม้ครูจะใช้ภาษาไทย แต่บางครั้งเด็กจะตอบกลับเป็นภาษายาวี นึกเป็นคำได้ แต่ไม่สามารถพูดออกมาเป็นประโยคได้ จึงเป็นข้อจำกัดที่เด็กจะเงียบไม่กล้าแสดงออก ประกอบกับครูมุ่งแต่เนื้อหา การสื่อสารของเด็กจึงเป็นปัญหาที่สะสมมาหลายปีของโรงเรียน

ครูฟีเล่าว่า ได้เข้ามาเป็นครูสอนที่โรงเรียนศาสนศึกษาปี 2556 และได้รับโจทย์จากผู้บริหาร ให้หาวิธีการสร้างหรือปรับเปลี่ยนเพราะเด็กไม่มีทักษะ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ไม่มี จึงชักชวนครูรุ่นใหม่ของโรงเรียนให้มาร่วมกันคิด ร่วมทดลองปรับการสอนหลายแนวทางแต่ก็ยังไม่ได้ผล จนมาพบกับโครงการ Samsung Smart Learning Center หรือ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” จึงได้ติดต่อสมัครขอเข้าร่วมโครงการในปี 2559 เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอน

สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต

นายวาริท จรัณยานนท์ ผจก.โครงการ Samsung Smart learning Center

นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center เปิดเผยว่า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ได้ริเริ่มโครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ตั้งแต่ปี 2556 เพราะต้องการเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรับมือกับโลกอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยพลังของเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ ผ่านแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” มอบกระบวนการเรียนรู้และนวัตกรรมของซัมซุงให้กับครู เพื่อปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคตให้กับนักเรียน

ห้องเรียนแห่งอนาคต คือพื้นที่การเรียนรู้ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซัมซุงมาหนุนเสริมผู้เรียนร่วมกับการใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) ซึ่งผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองและทำงานร่วมกัน เพื่อค้นหาคำตอบ ดังนั้นในห้องเรียนผู้เรียนเป็น Active Learner หมายถึงว่า เด็กมีส่วนร่วม สามารถตั้งคำถามได้ เป็นการเรียนรู้จากการตั้งคำถาม ส่วนครูทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้อำนวยการเรียนรู้

“ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง ไม่ได้เป็นห้องเรียนที่ไฮเทค แต่เป็นห้องเรียนที่เตรียมเด็กสำหรับอนาคต เทคโนโลยีไม่ว่าในห้องเรียนแบบไหน มีส่วนแค่ทำให้เด็กสนใจ เข้าถึงสิ่งที่เข้าเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น แต่การเรียนรู้แบบเดิมอาจจะทำให้เด็กไม่สนใจกับสิ่งที่เรียนมากนัก เมื่อใช้เทคโนโลยีเข้าไป ดึงความสนใจจากเด็กมากขึ้นและเป็นสะพานเชื่อมทั้งหมดของห้องเรียนอนาคต”

นายวาริทกล่าวว่า ห้องเรียนแห่งอนาคตสนับสนุนครูให้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนและปรับบทบาทครูผู้สอนเป็นโค้ช อำนวยการสอนและเรียนรู้ไปกับผู้เรียน เปลี่ยนผู้เรียนจากผู้รอรับความรู้เป็นผู้ตั้งคำถาม หาคำตอบ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง

แนวทางการดำเนินงานของห้องเรียนแห่งอนาคต ได้แก่ 1. สร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เปิดโอกาสให้เข้าถึงเทคโนโลยี สามารถสืบค้นข้อมูล เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน ชุมชน หรือโลกกว้างผ่านอินเทอร์เน็ต 2. พัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ เช่น ครู ผู้บริหารการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดแบบ Active Learning มีวิธีการนำแนวคิดไปปฏิบัติในการเรียนการสอนได้จริง โดยโครงการได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครูทั้งในและนอกโครงการอย่างต่อเนื่องประจำทุกปี

3. พัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้แบบสำหรับศตวรรษที่ 21 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ครูสามารถพัฒนาหลักสูตรและแผนการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมได้ในทุกสาระวิชา 4. มีการติดตามและประเมินผลการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ของผู้เรียนเป็นระยะตลอดปีการศึกษา เพื่อให้เห็นการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

“ห้องเรียนซัมซุงแห่งอนาคตไม่ได้เปลี่ยนอนาคตเด็ก แต่ทำให้เด็กสามารถคัดสรรสิ่งที่จะเอาไปใช้ มีทักษะไปใช้ได้จริง เมื่อมีทักษะแล้วและดีขึ้นแล้ว เด็กจะมีทางเลือกอาชีพ 2 ทาง คือ หนึ่ง เลือกตามคนใกล้ตัว สอง เลือกจากความนิยม แนวทางนี้ปล่อยให้เด็กค้นหาค้นพบด้วยตัวเอง ให้เด็กรู้จักการเลือกอาชีพมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนคือทักษะที่เด็กจะได้ไป”

นายวาริทกล่าวว่า ทักษะที่จำเป็นในอนาคตสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่เด็กจะต้องมีประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills – 4Cs) ทักษะชีวิตและการทำงาน (Life and Career Skills) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) ที่จะทำให้เด็กมีความสามารถในการสื่อสาร การแก้ปัญหา การคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งการมีทักษะเหล่านั้นก็เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคต

“ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมมีความสำคัญเพราะเป็นทักษะที่ต้องสร้าง ขณะที่ทักษะการใช้เทคโนโลยีเด็กเรียนรู้ได้ง่ายใช้เวลาสั้นมาก แทบไม่จำเป็นต้องสอน ซึ่ง 4Cs ประกอบด้วย Creativity ความคิดการสร้าง Critical Thinking การคิดวิเคราะห์ Collaboration การทำงานร่วมกันและ Communication การสื่อสาร ซึ่งหลังจากที่ทำโครงการมา 5 ปีผลที่เห็นได้ชัด คือเด็กเกิน 50% บอกว่ารู้จักที่จะทำงานร่วมกันคนอื่นมากขึ้น”

โรงเรียนในเครือข่ายซัมซุงห้องเรียนแห่งอนาคต มีการบริหารจัดการให้สอดคล้องตามบริบทของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ เช่น ที่ปัตตานี นำรูปแบบการเรียนของห้องเรียนแห่งอนาคตมาปรับใช้กับห้องเรียนบูรณการอิสลามในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งยังมีการนำโรงเรียนที่เข้าโครงการในปีแรกๆ มารับการอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้คงความแข็งแกร่ง ปัจจุบันโรงเรียนในโครงการ Samsung Smart Learning Center มี 47 โรงเรียนทั่วประเทศ

สอดแทรกอิสลามศึกษาทุกเนื้อหา

นายสุนันต์ สะซีลอ ครูที่ปรึกษาโครงการฯ

เมื่อผู้บริหารและครูมั่นใจว่า แนวคิดห้องเรียนแห่งอนาคตสามารถเปลี่ยนแปลงเด็กได้ จึงนำมาใช้เป็นแนวทางการในการพัฒนา ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 พร้อมจัดตั้งทีมครูรุ่นใหม่เป็นแกนนำในการจัดทำหลักสูตร มีการปรับปรุงอาคารเรียนเดิมและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้

ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 เปิดรับนักเรียนครั้งแรกปี 2560 โดยเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 1 ห้อง มีนักเรียน 31 คน มัธยมศึกษาปีที่ 4 อีก 1 ห้อง นักเรียน 29 คน

ครูฟี ซึ่งเป็นครูที่ปรึกษาหลักประจำโครงการ Samsung Smart Learning Center ของโรงเรียนศาสนศึกษา เล่าต่อว่า การเข้าโครงการทำให้เข้าใจศตวรรษที่ 21 มากขึ้น เข้าใจถึงความพร้อมของผู้เรียน จึงได้ปรับการสอนแบบใหม่ เป็น Active Learning มากขึ้น มีการทำสื่อการสอนแบบใหม่ เด็กเรียนสนุกขึ้น การเรียนทุกช่วงจะอยู่ในรูปกิจกรรมมากขึ้น

โดยครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชดูแลให้เด็กอยู่ในประเด็นสาระการเรียนรู้ สามารถตั้งคำถาม นำเสนอความคิดเห็น ใช้เทคโนโลยีค้นคว้า แก้ปัญหา และระดมสมอง ทำงานเป็นทีม โดยมีวิชาอิสลามศึกษาสอดแทรกในทุกเนื้อหา

“ทัศนคติของเด็กเปลี่ยน ทำให้ครูปรับเปลี่ยนกระบวนการสอน ตั้งแต่การวิเคราะห์ มีการนำเนื้อหาด้านอิสลามศึกษามาวิเคราะห์และมาเชื่อมโยงวิชาสามัญเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักเรียนรู้ว่า อิสลามแท้จริงแล้ว คือทุกส่วนทุกก้าวของชีวิต”

เริ่ม 13.00-15.50 น. เรียนสัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันพุธกับวันพฤหัสบดี ซึ่งคาบบูรณาการมีครู 8 คน อำนวยการสอนในลักษณะสอนเป็นทีม (Team Teaching) ให้นักเรียนเรียนรู้จากการทำงานเป็นกลุ่ม ค้นหาคำตอบและลงมือปฏิบัติโดยมีครูเป็นโค้ช และสื่อสารความคิดในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการผลิตสื่อดิจิทัล และครูเองได้ช่วยกันสังเกตพฤติกรรมของเด็กได้ชัดเจนขึ้นตารางเรียนใหม่ รวบวิชาศาสนาที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกันเข้าเป็นรายวิชาเดียวและสอนโดยครูคนเดียว จากเดิมที่แยกเป็นคาบและสอนโดยครูคนละคน เช่น วิชาอัลกุรอาน อรรถาธิบายอัลกุรอาน และหลักการอ่าน ทำให้ใช้เวลาเรียนน้อยลง และเข้าใจได้มากขึ้น

นอกจากนี้เป็นการลดเรียนซ้ำ เช่น วิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งในวิชาศาสนาก็มีทั้งหน้าที่ จริยธรรม มีเนื้อหาหลายอย่างที่สอดคล้องกัน จึงเพียงแต่ปรับจากภาษาอาหรับ ภาษายาวี เป็นการสอนหน้าที่พลเมืองเป็นภาษาไทย เนื้อหาไม่แตกต่างกัน มีความเชื่อมโยงเพราะเป้าหมายทั้งสองวิชาคือทำให้เป็นพลเมืองดี

Active learning ครูทำหน้าที่เป็นโค้ช
ตารางเรียนบูรณาการ

การจัดการเรียนแบบบูรณาการได้เพิ่มวิชาใหม่ 3 วิชา คือ หนึ่ง วิชาความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่บูรณาการวิชาคอมพิวเตอร์และศิลปะเพื่อให้นักเรียนได้มีพื้นที่ คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงาน ฝึกทักษะการสื่อสาร การเข้าใจตนเองรวมถึงทักษะการใช้เทคโนโลยี สอง วิชาสุขภาวะและวิถีชีวิตเชิงสร้างสรรค์ บูรณาการวิชาสุขศึกษาและจิตวิทยาเข้าด้วยกัน นำประเด็นปัญหาสังคมและปัญหาวัยรุ่น เช่น เรื่องคุณแม่วัยใส เด็กแว้น มาสอน โดยเน้นสุขภาวะการใช้ชีวิต สุขภาวะมุสลิม เปรียบเทียบหลักการของอิสลาม และสาม วิชาการเงินและเศรษฐศาสตร์ในศาสนาอิสลาม เพื่อให้นักเรียนรู้วิธีจัดการการเงิน และยังคงเป็น มุสลิมที่เหมาะสม ในสังคมพหุวัฒนธรรม

โรงเรียนศาสนศึกษายังได้จัดหลักสูตรเป็นหน่วยการเรียนรู้เชื่อมโยงเด็กนักเรียนกับชุมชน นำเด็กลงพื้นที่ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งใน 1 ปีการศึกษามีหน่วยการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชุมชน 6 หน่วย ที่บูรณาการวิชาศาสนาและสามัญในคาบวิชาบูรณาการ และในปี 2559 เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนจัดกิจกรรมลงพื้นที่ชุมชน จากที่ไม่เคยจัดเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

เด็กกล้าสื่อสาร-ขอเพิ่มเวลาเรียน

ครูฟีกล่าวว่า ผลของการจัดห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 พบว่าในทักษะการเรียนรู้ 4Cs นั้นทักษะที่เด็กพัฒนาดีขึ้นมาก คือ การคิด เปิดกว้างมากขึ้น จากเดิมที่คิดในกรอบกลัวผิด ไม่กลัวผิดอีกต่อไป และยังมีการแก้ปัญหาดีขึ้น ขณะเดียวกัน การสอนศาสนาผ่านกิจกรรมที่เด็กนักเรียนได้ปฏิบัติก็ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น

“เด็กมีพัฒนาการการแสดงออกที่ดีขึ้นมากเพราะการสื่อสารที่เป็นจุดอ่อนของเด็กก็ดีขึ้น และเห็นได้ชัดคือมีการทำงานเป็นทีม การพัฒนา ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนของเด็กก็มีมากขึ้น บางครั้งเด็กเป็นฝ่ายเตือนครูว่าถึงเวลาสอนแล้ว ขณะที่ครูยังเตรียมการสอนอยู่ และมีการร้องขอให้เพิ่มเวลาเรียนมากขึ้น เพราะโรงเรียนเปิด 5 วัน ต่างจากโรงเรียนปอเนาะที่ปกติเปิด 6 วัน ปิดวันศุกร์”

เด็กนักเรียนร่วมกิจกรรมแสดงละคร

ครูฟีกล่าวว่า การขอให้เพิ่มเวลาเรียนอีก 1 วัน นับว่าเป็นผลลัพธ์ที่ดีมากสำหรับผู้บริหารและครู เด็กตั้งใจมาเรียนทุกวัน จำนวนเด็กขาดเรียนมีน้อยมาก โดยปกติเวลาฝนตกหนักเด็กทั้งห้อง 30 คนจะเหลือไม่กี่คน แต่ปัจจุบันเข้าเรียนอย่างน้อย 27 คน ผู้ปกครองก็ให้การตอบรับที่ดี มีการแจ้งโรงเรียนด้วยตัวเองหากเด็กต้องขาดเรียนเพราะติดฝนเดินทางมาโรงเรียนไม่ได้ ตลอดจนทำให้ไม่มีช่องว่างระหว่างครูและนักเรียน เด็กกล้าที่จะปรึกษาครูมากขึ้นทุกเรื่อง

“การโค้ชชิ่งเด็กแบบเดิม คือ ครูถือไม้เรียว ตอนนี้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของครู การสอนให้สนุกมีเนื้อหาที่สนุกจะดึงเด็กให้สนใจให้เรียนรู้มากขึ้น”

มุสลิมที่ดีต้องปฏิบัติเพื่อสังคม
นางสาวอัสมะ หะยีมอหะมะสอ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้โรงเรียนศาสนศึกษา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นต้นแบบการเรียนการสอนในสังคมยุคใหม่ ว่า “เริ่มจากวิถีชีวิตมุสลิม อิสลามเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า มีอิสลามเป็นเครื่องยึดของชีวิตประจำวัน เราต้องเรียนศาสนา แต่ขณะเดียวกันเราต้องทันกับโลกปัจจุบัน เราอยู่ในระเบียบของมุสลิมที่ดี เราไม่อยากขาดส่วนใดส่วนหนึ่ง และมุสลิมก็มีความเชื่อในเรื่องโลกนี้และโลกหน้า เราต้องทำโลกที่เราอยู่วันนี้ให้ดี เพื่อประโยชน์ของสังคม เพราะมุสลิมไม่ใช่มีแนวคิดว่าจะต้องปฏิบัติเพื่อตัวเราคนเดียว แต่เราต้องเพื่อสังคม มุสลิมมีทั้งการปฏิบัติเพื่อส่วนตัวและเพื่อสังคม

นางสาวอัสมะกล่าวว่า ศาสนาอิสลามไม่ได้ส่งเสริมว่าต้องเรียนศาสนาอย่างเดียว เพราะทุกศาสตร์ได้ระบุไว้ในโองการของพระเจ้าทั้งหมด ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ หรือศาสตร์อื่นๆ ทั้งหมด จึงเชื่อว่า ทุกศาสตร์คือวิชาที่บูรณาการกับอิสลามได้ กับโลกปัจจุบันได้ด้วย ไม่ได้แยกว่า นี่คือศาสนา นี่คือสามัญ แล้วจะเรียนวิชาสามัญไม่ได้ ไม่ใช่แบบนั้น เพราะเราต้องสามารถดำรงอยู่บนโลกนี้ได้ด้วย อยู่ในสังคมให้เป็นคนดีได้

โองการแรกที่พระเจ้าส่งมาให้ คือ Iqraq เจ้าจงอ่าน พระเจ้าส่งเสริมให้ศึกษาหาความรู้ เพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อนำมารวมกับ ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Ikram) ความบริสุทธ์ใจ (Ikhlas) ทั้งสามสิ่งนี้เมื่อเราแสวงหาความรู้ พัฒนาตัวเองโดยไม่หยุด ก็พร้อมที่จะพัฒนาสังคมด้วยใจที่บริสุทธ์ ไม่หวังผลตอบแทน

นางสาวอัสมะกล่าวว่า ช่วงแรกของการเปิดห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 ซึ่งทำให้มีชั่วโมงเรียนศาสนาน้อยลง ก็มีแรงกดดันบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะผู้ปกครองยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และกังวลว่าชั่วโมงเรียนที่น้อยลงจะมีผลให้หลักความเชื่อ หลักปฏิบัติตามหลักศาสนาจะน้อยลง แต่โรงเรียนได้พยายามอธิบายผู้ปกครองว่า ศาสนามีทั้งความเชื่อหลักปฏิบัติที่อยู่ร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการสอนไปได้ระยะหนึ่ง ผู้ปกครองพอใจการพัฒนาการของเด็ก มีการสื่อสาร ผู้ปกครองจึงเปิดรับแนวคิดมากขึ้น และเป็นกระบอกเสียงให้กับโรงเรียนสื่อไปถึงชุมชน

นอกจากนี้ ครูรุ่นเก่าของโรงเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นครูสอนศาสนาบางคน เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของเด็กก็เปิดรับมากขึ้น การสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ การใช้เทคโนโลยีก็กระตุ้นได้ส่วนหนึ่ง เริ่มมีการเรียนรู้เทคโนโลยี มีการจัดและปรับบทเรียนมากขึ้น

นางสาวอัสมะกล่าวว่า การเปิดห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 เพราะต้องการพัฒนาทักษะเด็ก คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่การสื่อสารสำหรับเด็กที่นี่มีความสำคัญ ในสังคมตราบใดที่สื่อสารไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์แม้ในหัวอาจจะความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา เพราะการสื่อสารทำให้อธิบายไม่ได้ ทำให้ปิดกั้นโอกาส รวมทั้งการเรียนต่อในระดับสูงขึ้น ที่ต้องผ่านการขั้นตอนหลายอย่าง เช่น การสัมภาษณ์ แต่ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุงที่มุ่งพัฒนาทักษะด้านนี้จึงมีประโยชน์กับโรงเรียน โดยเฉพาะทักษะ 4Cs

“เราอยากให้เด็กมีทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 แต่ขอให้ได้พื้นฐาน 4Cs ก่อน เพราะหากมีทักษะตรงนี้ได้ เชื่อว่าการต่อยอดจะง่ายขึ้น การเรียนการสอนแบบยุคใหม่แบบโต๊ะกลม ทำให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีขึ้น เด็กทุกคนสามารถที่จะพูด จะคิด คนที่ไม่พูด เมื่อเห็นคนอื่นพูด ก็กระตุ้นให้เกิดการพูด และเกิดการอยากมีส่วนร่วม ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เริ่มจากที่ได้พูดก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาษายาวี หรือภาษาไทย ขอให้เขาได้แสดงความคิดเห็น และหวังที่อยากจะให้อีก 3 ปีข้างหน้า นักเรียนของเราติดโอลิมปิกวิชาการบ้าง”

นางสาวอัสมะกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในวันนี้เป็นผลจากการบ่มเพาะของครอบครัว เพราะสนับสนุนให้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนทั้งด้านศาสนาและสายสามัญ โดยเฉพาะคุณพ่อที่เคี่ยวเข็ญให้เรียนหนังสือและสอนด้วยตัวเอง รวมทั้งเห็นตัวอย่างจากคุณพ่อที่เกิดและเติบโตที่กรุงมักกะฮ์ ซาอุดีอาระเบีย ได้พยายามที่จะเรียนรู้ภาษาไทย และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลาแม้ในช่วงสูงวัย ทำให้เห็นว่าในเมื่อมีต้นทุนดีกว่าคุณพ่อ ก็ควรที่จะผลักดันให้สังคมดีขึ้น

นางสาวอัสมะกล่าวว่า การเป็นผู้หญิงในโลกมุสลิมไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการทำงานในยุคใหม่ เพราะข้อดีของการเป็นผู้หญิงคือมีความละเอียดอ่อน เก็บรายละเอียดได้มาก แต่ในด้าน connection เป็นเรื่องของผู้ชาย และโดยที่ยึดหลักปฏิบัติของศาสนาก็ไม่ได้เข้าร่วมทุกกิจกรรม ในจังหวัดปัตตานีมีผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นผู้หญิงจำนวนมาก เพราะมีการเปิดกว้างมากกว่าเดิม ผู้หญิงมีบทบาทด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะมีศักยภาพจากการที่มีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น