ThaiPublica > เกาะกระแส > จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต : เด็กยุคใหม่ต้องการอะไรจากครู-passion for learning (ตอนที่ 2)

จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต : เด็กยุคใหม่ต้องการอะไรจากครู-passion for learning (ตอนที่ 2)

29 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด, คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดสัมมนา Education for the Future “ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทย ชูทางออกอนาคตการศึกษาศตวรรษที่ 21

ในงานสัมมนา มีการเสวนาในหัวข้อ “จากโลกสู่ไทย ทิศทางใหม่ของการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21” โดยมีวิทยากร ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21, นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต, นายเชษฐ เชษฐสันติคุณ กรรมการบริหาร บริษัท สยามเมนทิส จำกัด และที่ปรึกษาโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู้อนาคต ดำเนินรายการโดยดร.อริสรา กำธรเจริญ

samsung_1

ในตอนที่ 1 ได้นำเสนอข้อคิดเห็นของอาจารย์รพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิชาการและผู้แปลหนังสือ “ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21” ไปแล้ว

พิธีกร: อาจารย์วรพจน์ได้เริ่มต้นบอกว่าตอนนี้เราได้เจอความท้าทายอะไรบ้าง มี 4 ประเด็น ก็คือการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ให้ความสำคัญกับความรู้มากขึ้น เรื่องเทคโนโลยี เรื่องโครงสร้างองค์กรที่ปัจจุบันเป็นแนวราบ และตลาดแรงงาน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือโลกหลอมรวมกันมากขึ้น เราจะสร้างเด็กอย่างไรให้มีสำนึกระดับโลก สร้างเด็กอย่างไรที่เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม

เรื่องของทักษะในศตวรรษใหม่ อาจารย์ก็แบ่งเป็นโมเดลเห็นได้ชัดเจน มีทั้งในประเด็นของเนื้อหาที่ต้องมีทั้งวิชาการเดิมและวิชาการที่เป็นการบูรณาการใหม่ เรื่องของคุณลักษณะ มีทั้งการทำงาน การเรียนรู้ มีศีลธรรม และเรื่องของทักษะที่อาจารย์ใช้เวลาลงรายละเอียดมากที่สุด ก็มีทั้งทักษะการเรียนรู้นวัตกรรม มีทักษะชีวิต และเรื่องของ ICT เทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ให้ความสำคัญมากกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แล้วก็เด็กสามารถที่จะนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้อย่างไร เดี๋ยวจะให้อาจารย์ช่วยขบคิดต่อว่าเราจะต้องทำอย่างไรให้เด็กมีความพร้อมในศตวรรษที่ 21

ตอนนี้มาฟังมุมมองของผู้ที่กำหนดนโยบายบ้าง อาจารย์วรพจน์ฉายภาพแล้วว่าโลกต้องการคนลักษณะอย่างนี้ ทักษะแบบนี้ เราจะทำอย่างไร กระทรวงศึกษาธิการทำอะไรบ้างเพื่อให้เรามีความพร้อมมากที่สุด

อมรวิชช์: มี 2 ส่วนนะครับ ความจริงตั้งใจพูด 2 เรื่อง เรื่องที่ทางกระทรวงศึกษาธิการทำจริงๆ เชื่อมกับทางสภาปฏิรูปด้วย ผมเองสวมหมวก 2 ใบ คือโฆษกกระทรวงและโฆษกกรรมาธิการการศึกษาของ สปช. (สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ด้วย ตอนนี้ก็ทำงานประสานกันอยู่

ผมอยากพูดเรื่องสำคัญก่อนว่า ตอนนี้เด็กยุคใหม่ต้องการอะไรจากครู และจากนั้นจะพูดว่าทางกระทรวง สปช. สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) คิดอะไรกันอยู่ว่าจะทำให้ครูของเราเป็นครูที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการ อยากได้

จริงๆ ผมเป็นครูสอนหนังสือมา 27 ปี ผมพูดในฐานะครูคนหนึ่งที่สอนเด็กมหาวิทยาลัย ผมว่าเด็กยุคนี้สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือ

1. ความสุขและความเชื่อมั่นในตนเอง ผมว่าเด็กยุคนี้มีความสุขน้อยกว่าเด็กยุคที่แล้ว เขาอยู่ท่ามกลางความเครียดของการแข่งขันและความเครียดทางสังคม ข่าวสารข้อมูลที่เข้ามารายวันก็ดูไม่จืดเลย ใครมีลูกเล็กๆ 4-5 ขวบ อย่าเพิ่งไปดูถูกว่าเขาไม่รู้เรื่องอะไร ลองคุยกับลูกที่เขาดูทีวีจะรู้เลยว่าเขาเครียด โตขึ้นมาก็เครียดเพราะสารพัดสอบ สารพัดแข่ง ฉะนั้นความสุขของการเรียนรู้ ความสุขเหล่านี้ ผมเรียกว่า passion for learningแล้วกัน ซึ่ง passion for learning จะเกิดไม่ได้ในคนที่ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นการที่เด็กมีความสุข อิ่มมาจากครอบครัว เต็มมาจากครอบครัว มาเต็มที่โรงเรียน ครูให้ความรัก ความเอาใจใส่ เหมือนลูกอีกคนได้ ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าอันนี้ back to basic มากๆ

2. การรู้จักตัวเอง ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้เด็กยุคใหม่ทางเลือกเยอะมาก แต่เป็นทางเลือกที่ต้องบอกว่า อยู่มาวันหนึ่งเด็กต้องใช้วิจารณญาณเลือกว่าอะไรดีที่สุดสำหรับตัวเขา ตอนนี้ไปถามเด็กก็ยังงงอยู่ว่าจบมัธยมปลาย จบปริญญาตรีแล้วจะไปทำอะไรกับชีวิต เพราะกระบวนการเรียนรู้เราไม่เคยเปิดโลกแห่งความเป็นจริงให้เขาได้สัมผัส ได้ทดลอง ได้สำรวจโลก ให้เขารู้จักว่าอยากได้อะไร ซึ่งตรงนี้สำคัญมากๆ

ที่นี้พูดเรื่อง passion for learning พูดเรื่องการรู้จักตนเอง ผมคิดว่า ทิศทางการเรียนรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่คุณหมอประเวศ วะสี ใช้คำว่า interactive learning through action การเรียนอย่างมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการลงมือการปฏิบัติ หลายเรื่องที่ซัมซุงทำทั้ง digital story telling เด็กลงไปเก็บข้อมูลร่วมกับชุมชนต่างๆ นั้น ชัดเจนว่า interactive learning through action การเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ผ่านการลงมือปฏิบัติ ทันทีที่เราเปิดโลกห้องเรียน ปลดโซ่ตรวนการเรียนกับตำราออกไปได้ ผมคิดว่าชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว การให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นจริง หลายเรื่องผมคิดว่าจากประสบการณ์ตัวเอง เด็กเรียนรู้อะไรจากชีวิตจริงได้มาก ในกระบวนการเรียนรู้บางทีเราไม่ได้ให้แค่ทักษะเขานะครับ เราให้ศักดิ์ศรีและศรัทธาแก่เขาด้วย

“ตัวอย่างเช่น ผมเคยมีลูกศิษย์ที่จุฬาฯ ซึ่งเป็นนิสิตชายกลุ่มหนึ่งมาเรียนวิชาสังคมวิทยาการศึกษา มีเป้าหมายคือสอนให้นิสิตที่จะเป็นครูในอนาคตเข้าใจปัญหาสังคมและเห็นบทบาทตัวเองในฐานะครูรุ่นใหม่ของประเทศช่วยแก้ไขปัญหาอย่างไร วิชานี้เป็น research based เป็นการทำวิจัยทั้งเทอม เราไม่เลคเชอร์ปัญหาสังคม แต่ให้นิสิตไปศึกษาเอง แล้วผมก็ยึดหลักเสรีภาพการเรียนรู้ คือให้เด็กตั้งหัวข้อเอง ก็มีเด็กกลุ่ม 5 คน หน้าตาป่าเถื่อนเล็กน้อย ใส่เสื้อนอกกางเกง นั่งหลังห้องติดประตู เผลอแวบเดียวเซ็นชื่อแล้วหายไปเลย”

“โดยนิสิตกลุ่มนี้สนใจศึกษาปัญหาสุขวัฒนธรรมที่เขาสนใจอยากรู้ เขาทำเรื่อง ‘ปอบสารคาม’ ซึ่งเป็นปัญหาความเชื่อ โชคดีที่ปีนั้นผมมีศิษย์จบไปเป็นครูที่สารคามพอดี จึงฝากให้น้องไปนอนที่บ้านและพาลงหมู่บ้านด้วย ปกติแล้วผมสอนเด็กจะแนะนำเทคนิควิจัยง่ายๆ การสัมภาษณ์ การสังเกต การบันทึกภาคสนาม”

“กลุ่มนี้ก่อนไปลงพื้นที่ก็บอกว่าเรื่องของคุณน่าสนใจมาก ผมเห็นโอกาสที่จะซ่อมแซมเด็กศักดิ์ศรีบกพร่องกลุ่มนี้ เพราะเขาเป็นเด็กที่อาจารย์ผู้ใหญ่ไล่ออกจากห้องประจำ เนื่องจากแต่งตัวไม่เรียบร้อย และหน้าตาค่อนข้างป่าเถื่อน แต่ผมชอบ ผมก็บอกว่าเรื่องของคุณน่าสนใจมาก ครูก็สนใจ ก็บอกเขาว่า เรื่องคุณจะมีเสน่ห์มากขึ้น สิ่งที่ลงไปทำนอกจากสัมภาษณ์และสังเกตแล้ว หลักฐาน เช่น ภาพถ่ายต่างๆ จะช่วยให้เรื่องนี้มีเสน่ห์และสนุกมากขึ้น”

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

หลังจากกลับมารายงานความก้าวหน้าครั้งแรก ปรากฏว่าเด็กกลุ่มนี้เอาหม้อทุบปอบมาด้วย และมีหวายเสกมาฝากผมหนึ่งอัน การนำเสนอของเขาสนุกมาก ฟิวเจอร์บอร์ด มีรูปเยอะมาก มีปอบหน้าตาหน้าน่ากลัวมาก และที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือหน้าตาพระที่ไปปราบปอบ พอเห็นงานอย่างนี้ผมก็วางคิวการรายงาน ใช้เทคนิคว่าให้กลุ่มนี้รายงานกลุ่มสุดท้าย แล้วให้กลุ่มอื่นๆ รายงานเร็วหน่อย พอรายงานเสร็จพอเหลือเวลาสัก 10 นาที ก็ให้เพื่อนที่สนใจออกมาดูกัน ปรากฏว่าเพื่อนๆ มาดูเต็มเลย จากเดิมกลุ่มนี้ที่เป็นเหมือนเชื้อโรคนั่งอยู่หลังห้อง นิสิตผู้หญิงนิสิตชายจะนั่งข้างหน้าห้อง สองแถวต่อมาว่าง ไม่มีใครอยากนั่งใกล้ พอรายงานเรื่องปอบเสร็จ ผมให้ออกมาดู เพื่อนๆ ออกมาดูกันเต็มเลย นิสิตผู้หญิงออกมาดูเต็มเลย นิสิตชายกลุ่มนี้ยืนตัวลีบเลย ชะโงกหน้าหาปอบในหม้อ ผมก็นั่งรอฟังประโยคเด็ดอยู่ข้างหลังว่ามีไหม ปรากฏว่ามีครับ คือ “ทำไมพวกเธอเก่งจัง เธอกล้าเนอะ พวกเธอเจ๋งมาก ทำได้ไง” นิสิตกลุ่มนี้เป็นไงครับ ทั้ง 5 คนนี้ก็ตัวพองเลย

“พอผ่านไปสักครึ่งเทอม เห็นการเลื่อนไหลแล้ว กลุ่มนี้ขยับมานั่งกลางห้อง เพื่อนผู้หญิงมานั่งล้อม นั่งรอแจกพระ พอปลายเทอมก็ขยับมานั่งหน้าๆ แล้ว เป็นเด็กดีไม่หนีเรียนแล้ว แล้วที่ผมภูมิใจมากไม่ใช่เขาได้ A นะ เดิมเขาไม่เคยไหว้ผมเลยนะ เห็นผมเป็นแผ่นใสขนาดจั้มโบ้ เดินผ่านใต้ถุนตึกครุศาสตร์จุฬาฯ ไม่ไหว้ จนได้ A ผ่านไปเป็นเดือน มีอยู่วันหนึ่ง ผมยืนซื้อข้าวที่โรงอาหาร มีคนมากระตุกหลังเรียก จารย์….จารย์ หันมาหน่อยจะไหว้ นี่คือความภูมิใจอย่างยิ่ง ที่เปลี่ยนเด็กศักดิ์ศรีบกพร่อง 5 คน กลับมาเป็นปกติได้

“ผมจะบอกว่า ถึงจุดหนึ่งที่เขาสนใจที่จะทำ แล้วลงลึก นี่คือ passion for learning จะเห็นชัดมาก รั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ครูไม่เกี่ยวจริงๆ เขาอยากเรียน แล้วทักษะที่เหลือจะตามมาเอง เสียดายตอนนั้นถ้ามี digital story telling ถ้าเอาเทคนิคการทำหนังสั้นไปสอนเขานะครับ เราจะได้หนังสั้นเรื่องปอบสารคาม ซึ่งจะน่าดูมาก นี่คือตัวอย่างว่า passion for learning สำคัญมาก ผมไม่อยากให้ลืมเรื่องนี้ และคิดว่าสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการคือครูที่เข้าใจและครูที่มองเห็นเขาเป็นคนๆ มองเห็นเป็นคนๆ เป็นปัจเจก ไม่ใช่มองเห็นเขาเป็นห้องๆ เป็นโหลๆ แล้วครูปรับการเรียนการสอนยืดหยุ่นตามเขาได้”

เรื่องปอบอาจจะสุดขั้วไปนิด แต่จะบอกว่าครูต้องยืดหยุ่นครับ ยืดหยุ่นแม้แต่เรื่องการวัดผล

ผมเคยเจอเด็กอาร์ต ตัวอย่างนี้ก็เป็นเด็กผู้ชาย 5 คน เขาทำเรื่องรับน้องใหม่ซึ่งเป็นปัญหามาก เพราะทุกปีจะพบว่าการรับน้องใหม่มีเด็กเสียชีวิต ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีเพื่อนทุกมหาวิทยาลัยเลยครับ โดยใน 4 เดือน สามารถทำได้ 12 กรณีตัวอย่างในมหาวิทยาลัย เจ๋งมากครับ รายงานความก้าวหน้าครั้งสุดท้ายครั้งที่ 4 ทำไปจนสามารถสังเคราะห์โมเดลการรับน้องได้ว่าถ้าเขาจะรับน้องเขาจะรับแบบนี้ โดยดึงข้อดีของแต่ละแห่งมา ไม่จืดไป ไม่โหดไป กำลังดี สร้างสรรค์ ผมเตรียมจะให้ A อยู่แล้วครับ แต่มีปัญหาคืออีก 2 อาทิตย์ จะส่งเกรดเด็กไม่ส่งงาน

ผมจึงเรียกมาคุยว่าทำไมไม่ส่งงาน เงียบ… ผมบอกว่าครูเตรียมให้ A อยู่แล้ว งานคุณเจ๋งมาก ส่งมาเลยๆ ๆ…. เงียบ ต้องทุบโต๊ะ ทำไมไม่ส่งงาน เด็กบอกว่าเขียนไม่ได้ ผมถามย้ำว่าอะไรนะ เด็กบอกว่าเขียนไม่ได้ คุณพูดได้คุณก็เขียนได้ เด็กอาร์ตไม่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์เป็นตัวหนังสือได้ ทำไง… เด็กก็ต่อรองมาสอบปากเปล่าได้ไหม ผมก็บอกไม่ได้เพราะต้องมีรายงานส่งทุกคน เด็กก็บอกเขียนไม่ได้ สุดท้ายผมก็หาทางออกว่ากลุ่มคุณมีใครเขียนการ์ตูนเป็นไหม เขาบอกว่ามี ถามว่าเขียนเก่งไหม เขาบอก…เทพ ผมให้เด็กวาดเป็นการ์ตูนมาส่ง ถ้าเห็นหน้าเขา จะเห็นเลยว่า สว่างแวบเลย หัวหน้ากลุ่มเขาบอกว่าอาจารย์ทำไมไม่บอกแต่แรกว่าเขียนการ์ตูนได้ ไม่งั้นส่งไปนานแล้ว

นี่เพราะเป็นทักษะที่เด็กถนัด สุดท้ายผมก็ได้รายงานที่น่าอ่านเล่มหนึ่งเท่าที่สอนมา เพราะมีทั้งภาพ ทั้งเรื่อง มีเสน่ห์มาก จากนั้นก็มีการไปกระซิบรุ่นน้องว่า ไปลงวิชาอาจารย์อมรวิชช์ เขียนการ์ตูนส่งได้

“ผมเล่าเพื่อจะบอกว่า passion for learning มันไปกับความยืดหยุ่นและความพร้อมเข้าใจของครู เมื่อเรามีความยืดหยุ่น ตั้งแต่หัวข้อ กระบวนการเรียนรู้ วิธีวัดผล ถ้าเรามีความยืดหยุ่น เอาหัวใจของเด็กเป็นตัวตั้ง ผมเชื่อว่าเราทำอะไรได้มากกว่าแค่การเรียนรู้ด้วยซ้ำไป ไม่ใช่แค่ learning skill ไม่ใช่แค่ทักษะศตวรรษที่ 21 นะครับ เราทำให้เขารักตัวเอง รักเพื่อนมนุษย์ รักการเรียนรู้ได้ด้วย”

พิธีกร: ตอนนี้แก๊งปอบอายุเท่าไหร่ทำงานที่ไหนกัน

อมรวิชช์: น่าจะ 20 ปลายๆ แต่ละคนก็ทำงานหลากหลายรูปแบบ เช่น กราฟิกดีไซน์ สำนักพิมพ์ หลายที่

พิธีกร: อาจารย์ตั้งคำถามว่าเด็กยุคใหม่ต้องการอะไรจากครู สรุปให้ว่าเด็กต้องการครูที่เข้าใจ มองเห็นเขาเป็นคนๆ และมีความยืดหยุ่น

อมรวิชช์: ขอเพิ่มนิดเดียว ที่ผมเล่าเรื่องนี้ จริงๆ จะโยงมาที่เรื่องไอที เพียงแต่จะบอกว่าโลกจะหมุนไปเร็วแค่ไหน เทคโนโลยีก้าวหน้าแค่ไหน หัวใจครูที่เข้าใจเด็กสำคัญที่สุด

พิธีกร: เด็กต้องการครูที่เข้าใจ และปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับเขาแม้แต่วิธีการวัดผล จากที่ให้ส่งเป็นเล่มรายงาน ยอมปรับให้ส่งเป็นการ์ตูนได้ นี่เป็นตัวอย่าง และให้ความสำคัญกับความสุขความเชื่อมั่นในตัวเขาให้เขารู้จักตนเอง เกิด passion of learning และจะทำให้เขาสามารถเรียนได้ดี

อมรวิชช์: ก่อนไปสู่ทิศทางการศึกษาเป็นอย่างไร ในส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ สปช. ประสานกันอยู่ อาจจะตอบคำถามหลายๆ ท่านได้ ผมอยากพูดโครงการนิดเดียวที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และน่าจะสำคัญ ตอนนี้มีความรู้สากลว่าการเรียนรู้ที่ดีที่ทำให้คุณภาพการเรียนของเด็กดีมีอะไรบ้าง เช่น 1. การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ 2. การเรียนรู้ที่เหมือนปุจฉา วิปัสสนา ให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน 3. ใช้การวัดผลหลากหลายมากขึ้น วัดผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนก็เข้ามาชัด 4. ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ครูเป็นหุ้นส่วนการเรียนรู้ ครูเป็น learning partner

ยังมี 2-3 เรื่องครับ อาจจะเติมเต็มเข้ามาได้ คือในระบบสากลโลกพบว่า ระบบเพื่อนช่วยเพื่อนในห้อง หรือพี่ช่วยน้อง ช่วยได้เยอะมาก ช่วยการเรียนรู้ได้เยอะมาก คนติวและคนถูกติวได้ความรู้ทั้งคู่ อันนี้รวมครูด้วย peer tutor จะทำให้เราขยายผล อย่างที่เราฝันไว้ได้

อีกอันคือระบบการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้ เพราะเด็กเหล่านี้ถ้าดูแลเขาไม่ดีเขาป่วนห้องคุณนะครับ ผมไม่ใช้คำว่าเด็กบกพร่องการเรียนรู้นะครับ ฟังดูมันโหดร้ายกับเด็ก ผมใช้คำว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษในการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น ห้องเรียนที่ดีควรมีระบบที่ดูแลเด็กเหล่านี้ได้ และสุดท้ายดึงครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ ถ้าครอบครัวเข้ามาเข้าใจว่าการเรียนรู้ที่ดีหมายความว่าอย่างไร ครอบครัวจะเป็นแรงเสริมได้

ส่วนโครงการซัมซุง สมาร์ทเลิร์นนิง การประเมินของเด็กก็ดี หรือข้อมูลเชิงคุณภาพค่อนข้างชัดว่า ผมเองก็ชอบข้อมูลเชิงคุณภาพ ไม่ค่อยชอบตัวเลข ถ้าผมไปราชการที่ไหนสักสัปดาห์ กลับมาบ้าน คุณภรรยาบอกว่าฉันคิดถึงเธอระดับ 4.2 เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.6 ผมไม่ชอบนะครับ แต่ถ้าบอกว่าเพิ่งรู้ว่าหนึ่งสัปดาห์นานแค่ไหนตอนที่พี่ไม่อยู่ โอ้โห…มันชื่นใจ ผมชอบคุณภาพ

แต่ในฐานะนักวิจัยผมต้องการทั้งคู่ ผมคิดว่ามีคุณสมบัติของการเรียนรู้ที่ดีหลายเรื่องที่เราถอดเป็นเชิงปริมาณได้ เช่น เด็กมาเรียนมากขึ้น ขาดเรียนน้อยลง พฤติกรรมเด็กเกเรเด็กกลุ่มเสี่ยงน้อยลง เพราะมี passion การเรียนรู้มากขึ้น หรือใช้เวลาติดต่อสัมพันธ์กับครูมากขึ้น มาตามครูไปเรียนหนังสือ หรือเอาง่ายๆ เวลาครองบอลในห้องเรียนปัจจุบันครูครองบอลในห้องเรียนร้อยละ 90 ทั้งๆ ที่ควรจะครองบอล 50:50 สิ ลองวัดดู ใช้คำว่าครองบอลนี่เข้าใจนะครับ คือเด็กได้พูดมากขึ้น หรือปริมาณการตั้งคำถามของนักเรียน หรือคะแนนทั้งหลายจากการเขียน การนำเสนอ การคิดที่มาจากการอธิบายเรื่องของเด็ก เขาสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวเชื่อมโยงได้ พวกนี้วัดได้เชิงปริมาณนะครับ

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ขวาสุด)
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ขวาสุด)

ในส่วนของครู ครูมีการติดต่อสัมพันธ์กับครอบครัวเด็กมากขึ้นไหม ครูมีระบบเพื่อนช่วยเพื่อนหรือเปล่า ครูมีระบบช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษบ้างไหม ครูมีวิธีการวัดผลที่หลากหลายมากขึ้นไหม

สุดท้ายการสอนแบบอภิปรายในห้องเรียน พวกนี้ดูได้ ที่เหลือคือการสังเกต อันนี้อาจจะเป็นยาขม กลับไปเรื่องเชิงคุณภาพ ผมว่าบันทึกหลังการสอนสำคัญมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูไม่ชอบแต่ผมคิดว่าจำเป็น เพราะการบันทึกพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็กจะเป็นข้อมูลที่ดีมากๆ กับโครงการรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งห้องและเป็นรายบุคคลด้วย นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากจะเสริมนิดหนึ่ง ในส่วนที่เราจะประเมินโครงการนี้ เพื่อเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่มีต่อเด็กชัดเจนยิ่งขึ้น

ส่วนทิศทางการศึกษาไทยข้างหน้าคืออะไร ทั้ง สปช. สนช. หรือแม้แต่ในซูเปอร์บอร์ด ท่านนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งประชุมเมื่อไม่กี่วันนี้ เห็นตรงกันหมดเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการกระจายความรับผิดชอบ การเพิ่มความหลากหลายของผู้จัดการศึกษาให้มากขึ้น การจัดการศึกษาเป็นพื้นที่มากขึ้น อีกหน่อยจะเห็นว่าแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษกับแผนพัฒนาการศึกษาไปคู่กันตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน ตอนนี้การศึกษาที่เป็นรองเท้าเบอร์เดียวไม่น่าจะไปได้แล้ว มันเดินต่อไม่ได้ พวกเขตเศรษฐกิจพิเศษ area-base education มาแน่ครับ แต่จะเป็นจังหวัด ท้องถิ่น ว่ากันอีกที แต่การศึกษาต้องตอบโจทย์ที่มีความหมายกับชีวิตจริงและการทำงาน วิชาการอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นทักษะชีวิตที่จะทำอย่างไรให้เป็นคนดี เป็นคนมีศีลธรรม มีคุณภาพ

สิ่งที่ทำในโครงการซัมซุงสมาร์ทเลิร์นนิงเซ็นเตอร์ไม่ใช่แค่สร้างการทักษะการเรียนรู้ที่ดีนะ ทำได้หลายเรื่อง การเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม การปรับตัวทางวัฒนธรรม การทำงานเป็นทีม ทุกอย่างเกิดได้หมด แต่ต้องทำให้โรงเรียนมีอิสระ ตอนนี้เราเริ่มมีผู้บริหารและครูเก่งๆ แล้ว ต้องให้อิสระโรงเรียนปรับหลักสูตรปรับเรื่องการวัดผล ปรับวิธีการสอนมากขึ้น ซึ่งมีแล้วแต่มีน้อย เช่น โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สังกัด อบจ.เชียงราย โรงเรียนนี้มี 6 หลักสูตร ตั้งแต่ห้องเรียนเตรียมแพทย์-วิศวะ สำหรับเด็กที่อยากเรียนด้านนี้ โดยเตรียมให้มีเกรด 3.5 ขึ้นไป ไปจนถึงห้องเรียนเป็นกลุ่มที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนอื่นแล้วไม่มีที่ไป ก็มาเรียนที่นี่เพราะสงสารเด็ก โดยเรียนรู้คู่บริการชุมชนตลอด เพื่อให้เด็กรู้จักการให้และทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้รับโอกาสการสอนให้กลับไปเป็นคนดีของสังคม มีหลักสูตรกีฬาสำหรับนักกีฬามืออาชีพ บางคนอยู่สโมสรแล้วตั้งแต่อยู่มัธยมปลายมีเงินเดือน 20,000 บาท โดยเรียนเป็นบล็อกคอร์ส คือไปซ้อมกีฬาแล้วกลับมาเรียนได้ มีหลักสูตรภาษาอังกฤษ (EP) สำหรับพ่อแม่เน้นเรื่องภาษา และจ้างครูโดยที่เขาสามารถจ่ายเงินเองได้ จ่ายโบนัสครูได้ 4 เดือน

ผมก็ถามเขาว่าโรงเรียน สพฐ. จะทำได้ไหม เขาก็บอกว่าทำได้แต่ต้องประกอบด้วยหลายอย่าง คือ 1. ภาวะผู้นำของโรงเรียน ผู้บริหารต้องใจถึงพอสมควร 2. ตรงนี้เราก็พยายามปลดล็อกตรงกลางเยอะๆ การกระจายอำนาจลงไปโรงเรียนตอนนี้เรื่องใหญ่ครับ ต้องปลดล็อกหลายเรื่องมาก ทั้ง สมศ. ที่หลายคนพูดถึงซึ่งตอนนี้ปิดปรับปรุง การประกวดแข่งขันทางวิชาการ การเลื่อนวิทยฐานะด้วยกระดาษ ตอนนี้กำลังปรับอยู่ครับ พฤษภาคมเดี๋ยวจัดการให้

ตอนนี้เรามีโรงเรียนนำร่องที่ทดลองเรื่องความเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ คือให้เขามีอิสระยืดหยุ่นหลักสูตร วิธีการวัดผล การสอน การบรรจุครู ที่ทำอยู่ตอนนี้ 300 กว่าแห่ง ส่วนการกระจายอำนาจตอนนี้มี 15 จังหวัด ที่ตั้งสภาการศึกษาจังหวัดขึ้นแล้ว ซึ่งเราขยายผลได้ และวางแผนว่าในจังหวัดนำร่องเราอยากจะตั้ง teacher tutoring ขึ้นมาไม่ใช่แค่เพื่อติวครูถ่ายทอดทักษะแต่เพื่อถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นครูด้วย

ขอให้สมาร์ทเลิร์นนิงไม่แค่สมาร์ทซิติเซน แต่ต้องสร้างให้เป็นคนเก่งและคนดีของสังคมด้วย

อ่านต่อ “คืนความสุขสู่ห้องเรียน คืนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ และคืนจิตวิญญาณความเป็นครู” รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์