ThaiPublica > คนในข่าว > ปรับโครงสร้าง ทางรอดรัฐวิสาหกิจ ตั้งโฮลดิ้งคัมปะนีบริหารทั้งระบบ

ปรับโครงสร้าง ทางรอดรัฐวิสาหกิจ ตั้งโฮลดิ้งคัมปะนีบริหารทั้งระบบ

14 กุมภาพันธ์ 2015


บทสัมภาษณ์ “บรรยง พงษ์พานิช” นี้ได้ถูกตีพิมพ์ใน นสพ.ไทยรัฐ หน้า 8 ฉบับวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ทางสำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้รับอนุญาตจาก “ทีมเศรษฐกิจ” นสพ.ไทยรัฐ เพื่อนำคำสัมภาษณ์นี้มาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง

นี่เป็นอีกครั้งที่ “ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสจับเข่าคุยกับ “นายบรรยง พงษ์พานิช” แกนนำคนสำคัญของ “ซูเปอร์บอร์ด” องค์กรที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังและให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่

ภายใต้การบริหารจัดการที่สามารถทำให้ทรัพยากรที่รัฐมีอยู่ นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนคนไทยได้

พบกันคราวนี้ ทีมเศรษฐกิจ ขอทราบความคืบหน้าของการรวมศูนย์เพื่อการปฏิรูปและการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งของรัฐบาลใหม่ว่า ดำเนินการไปถึงขั้นใด โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสข่าวหนาหูว่า มีรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่บางแห่งของรัฐ อาจจำเป็นต้องใช้การตัดสินใจที่ยากเย็น เช่น การ set-zero, การเข้าสู่กระบวนการล้มละลายภายใต้ chapter 11 หรืออาจต้องปลดพนักงานเช่นเดียวกับที่หลายประเทศเคยทำกันมา

หาไม่…ประเทศไทยก็ไม่อาจใช้รัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปข้างหน้าตามหลักการและเหตุผล ที่นานาอารยประเทศเคยทำกันสำเร็จมาแล้วได้

ความคืบหน้าครั้งใหม่ที่เหลือแต่เพียงรอการอนุมัติรูปแบบของการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ นายบรรยงเล่าว่า ท้ายที่สุด เราไม่อาจหนีพ้นวิธีการแปรรูปภายใต้หลักการจัดการแบบเดียวกันกับกองทุนเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง เทมาเส็ก ได้

และสิ่งที่เขาตอกย้ำกับเราในครั้งนี้ก็คือ การปฏิรูป หรือ reform ไม่มีใคร win-win แต่ระยะยาวประเทศชาติต้องได้ประโยชน์

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน)
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน)

อะไรคือตัวชี้วัดว่าจะพัฒนาประเทศต่อไปได้

นายบรรยงบอกกับเราในครั้งนี้ว่า สิ่งที่เขาอยากให้พวกเราทำความเข้าใจกันให้ลึกลงไปก็คือถ้าลองเหลียวหลังไปดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า อะไรคือตัวชี้วัดว่าเราจะสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้มากน้อยขนาดไหน

จริงๆ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เกิดจากการที่รัฐบาลอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการคลัง ทั้งที่อยู่ในรูปงบประมาณประจำปี และที่แฝงอยู่นอกงบประมาณ

วิธีการแบบนี้ อาจจะดูเหมือนช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่องไปได้ แต่ก็ต่อเนื่องไปได้ในระยะสั้นๆ แม้หนี้สาธารณะจะดูไม่สูง แต่เอาเข้าจริง เรากลับมีภาระการเงินอื่นๆ แฝงอยู่ในกลไกของรัฐมากมาย

ถ้าจะให้ผมพูดถึงเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่เค้ากำลังขะมักเขม้นทำกันอยู่ ก็อาจจะไม่ค่อยถูกมารยาทสักเท่าไหร่ แต่ถ้าให้พูดถึงการเป็นประเทศเสรีนิยมที่เราเดินควบคู่ไปกับโลก แต่ขณะที่โลกเขาลดขนาด บทบาท และอำนาจรัฐลง เรากลับทำตรงกันข้าม คือ เพิ่มขนาด บทบาท และอำนาจรัฐตลอดมา ผมว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเราติดกับดัก!

เรื่องงบประมาณแผ่นดิน เรามีงบประมาณแผ่นดินอยู่ 22% ของจีดีพี ต่ำด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับประเทศที่มีรัฐสวัสดิการสูงๆ แต่อย่าลืมว่า ของเราไม่มีรัฐสวัสดิการ งบทั้งหมดเป็นงบที่เอาไปใช้จ่าย อาจไม่สูงนัก แต่ก็เพิ่มขึ้นจาก 17-18% เป็น 23% แต่ตัวที่เพิ่มมาก คือ รัฐวิสาหกิจ กับ สถาบันการเงินของรัฐ

รัฐวิสาหกิจหลังวิกฤติปี 2541 ขนาดค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเทียบกับจีดีพีในปีนั้น อยู่ที่ 17-18% วันนี้อยู่ที่ 42% ค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งรวมกัน ปีที่แล้ว 4.6 ล้านล้านบาท

มากกว่างบประมาณรัฐบาลเกือบเท่าตัว ในจำนวนนี้ 49 แห่ง ไม่รวมสถาบันการเงิน 7 แห่ง มีงบลงทุน 500,000 ล้านบาท มีขนาดของทรัพย์สิน 5 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องถือว่า ทรัพย์สิน หรือธุรกิจที่รัฐดำเนินการหรือควบคุมอำนาจอยู่ มีขนาดใหญ่มากในระบบเศรษฐกิจนี้!!

ผมจะพูดเสมอว่า เป็นที่พิสูจน์แล้วในโลกนี้ว่า รัฐที่แสนดีแสนเก่งนั้น…ไม่มี ระบบคอมมิวนิสต์เขาถึงเลิกไง มีแต่รัฐห่วยและรัฐชั่ว ผมไม่ได้ว่ารัฐไทยนะครับ นี่พูดถึงทั้งโลก ถ้าให้รัฐทำเมื่อไร จะเกิด 3 อย่าง คือ ของคุณภาพไม่ดี ต้นทุนสูง และปริมาณไม่เพียงพอ ที่บอกต้นทุนสูง ไม่ได้บอกราคาสูง เพราะบางทีมีการอุดหนุนราคา (subsidize) แล้วอาจขายถูก แต่ต้นทุนจริงสูง ซึ่งมันต้องไปอยู่ที่ไหนสักแห่ง

โครงการรับจำนำข้าว 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลังระบุว่า ขาดทุนเกือบ 700,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของจีดีพี คำนวณง่ายๆ 3 ปีที่ผ่านมา จีดีพีไทยโต 9.5% ถ้าเราไม่ทำจำนำข้าว จีดีพีจะโตแค่ 4.5% หรือเฉลี่ยโตแค่ปีละ 1.5% เท่านั้น ถือว่าห่วยแตกมาก ถ้าเทียบประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันที่โตเฉลี่ย 6-7%

ปัญหาเศรษฐกิจไทยวันนี้ คือ เติบโตด้วยเงินที่อัดฉีดโดยรัฐ ไม่ใช่ประสิทธิภาพการผลิต ถ้ายังคงเน้นเศรษฐกิจระยะสั้น และสั่งสมปัญหาเช่นนี้ต่อไป ไทยก็จะเข้าสู่สถานการณ์เดียวกับประเทศกลุ่ม PIIGS หรือกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สาธารณะพุ่งสูงของยุโรป ได้แก่ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน

รัฐวิสาหกิจไทยที่แข่งขันกับเอกชน โดยไม่ได้สิทธิครอบงำตลาดมีทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย 2 แห่งที่พอใช้ได้ แห่งที่ 1 คือ ธนาคารกรุงไทย แม้จะด้อยกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ แต่ก็ถือว่าใช้ได้ มีกำไร มีคุณภาพทรัพย์สินที่ค่อนข้างจะดี แต่ก็ยังแข่งกับกิจกรรมผู้ขายน้อยรายด้วยกันในประเทศ

แห่งที่ 2 ที่ดูเหมือนดีแต่คนก็จะโจมตีกันทุกวัน ก็คือ ปตท. แต่ ปตท. ก็มีสิทธิพิเศษบางเรื่อง เช่น เรื่องท่อแก๊ส เรื่องโรงแยกแก๊ส เรื่องการได้สิทธิที่จะซื้อแก๊สธรรมชาติในส่วนที่เป็นวัตถุของปิโตรเคมีในราคาที่ค่อนข้างจะต่ำ แต่อย่างอื่น ก็ต้องแข่งกับเอกชน แต่ก็ถือว่าไปได้ดี และเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับ

ภาพลวงตาของรายได้รัฐวิสาหกิจ

ถ้าดูภาพรวมเราจะพบว่า รัฐวิสาหกิจไทยทั้ง 56 แห่ง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจวันนี้ ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เพราะย้อนหลังไป 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2546-2556 รัฐวิสาหกิจทั้งระบบ 56 แห่ง จากที่เคยมีรายได้รวมกันทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.1 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 เท่า

ในด้านสินทรัพย์จาก 4.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 11.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เติบโตแซงหน้าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของประเทศก็จริง

แต่ถ้าวัดในแง่ของประสิทธิภาพ รัฐวิสาหกิจทั้งหมดใช้สินทรัพย์ที่มีรวมกัน 11.8 ล้านล้านบาท สร้างกำไรได้เพียงแค่ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเทียบสัดส่วนแล้วไม่ถึง 1% ของสินทรัพย์ที่มี ถ้าเป็นผู้บริหารในภาคเอกชนใช้เงินมากขนาดนี้ แต่ทำกำไรไม่ถึง 1% คงต้องถูกไล่ออกไปแล้ว!!

ยิ่งไปกว่านั้น การได้มาซึ่งกำไรของรัฐวิสาหกิจไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากประสิทธิภาพในการให้บริการ หรือการเอาชนะคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน แต่เกิดจากการมีอำนาจผูกขาดในตลาดเหนือคนอื่นๆ ยกตัวอย่าง การให้บริการท่าอากาศยาน ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีกำไรดีมาก เพราะมีอำนาจผูกขาด สามารถคิดอัตราค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge) จากผู้โดยสารที่ใช้บริการในสนามบินได้สูงถึง 700 บาทต่อหัว เป็นอัตราการจัดเก็บที่แพงที่สุดในเอเชีย ไม่นับรวมญี่ปุ่น

ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นกำไรของ AOT แต่กลับเป็นภาระต้นทุนของประเทศ ทั้งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่างๆ

เมื่อไปดูในแง่ประสิทธิภาพของการให้บริการ อันดับของ AOT ในการสำรวจของสกายแทรกซ์ (Sky Trax) องค์กรจัดอันดับสายการบิน และท่าอากาศยานทั่วโลก กลับมีอันดับลดลงต่อเนื่อง จากอันดับที่ 18 ในวันแรกที่เปิดตัว ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับที่ 47 ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า ความพอใจของลูกค้า และคุณภาพการให้บริการสนามบินต่างๆ ในประเทศไทยลดลงมาโดยตลอด

ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันกับเอกชน แต่ยังมีปัญหาด้านประสิทธิภาพจากการขาดทุน ที่เห็นได้ชัดอย่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อย่าง ร.ฟ.ท. ระบุอยู่เสมอว่า ขาดทุน เพราะดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยขึ้นรถไฟฟรี แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้า ร.ฟ.ท. ช่วยคนมีรายได้น้อยจนขาดทุน เราต้องได้เห็นภาพคนแห่ขึ้นรถไฟจนแน่นขบวน นั่งบนหลังคาโบกี้เหมือนในอินเดีย แต่รถไฟของไทยแทบจะว่างด้วยซ้ำ เพราะในธุรกิจขนส่ง รถไฟต้องแข่งขันสูงทั้งกับรถทัวร์ รวมทั้งสายการบินโลว์คอสต์ ที่หั่นราคาจนถูกมาก

เปลี่ยนวิธีคิดบริหารจัดการใหม่

ทางแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจไทยวันนี้ คงทำแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังเช่นที่เคยทำมาไม่ได้อีกแล้ว วันนี้หลายฝ่ายอาจจะยังอยู่ในกรอบแนวคิดการแก้ปัญหาแบบเดิม เช่น หลังจากคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สั่งการให้รัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่มีผลประกอบการขาดทุน จัดทำแผนฟื้นฟูมาเสนอ แต่นำเสนอแผนแก้ปัญหาแบบเดียวกันทั้งหมด คือ กลับมาขอเงินเพิ่มเพื่อไปลงทุนใหม่ ซึ่งนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน

การแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจต้องทำที่โครงสร้าง นั่นคือ ปัญหาประสิทธิภาพในการทำธุรกิจของรัฐวิสาหกิจไทยทั้ง 56 แห่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาจากนี้ไป คือการวางระบบเพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพ วัดผลได้เป็นเป้าหมายหลัก 4 ข้อ คือ 1. รัฐวิสาหกิจจะต้องทำภารกิจหลักของตัวเอง ห้ามสับสนหน้าที่ และต้องทำอย่างบูรณาการกัน อย่างองค์การสะพานปลา มีที่ดินสุดแพงอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้เสนอแผนแก้ปัญหาขาดทุน โดยการจะเปลี่ยนสถานที่ไปเป็นตลาดนัดติดแอร์ แต่นั่นไม่ใช่ภารกิจ ถ้าจะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรอื่นที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง

2. ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ ให้เป็นองค์กรที่ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน 3. ทำอย่างโปร่งใสไม่โกงกิน และ 4. รัฐวิสาหกิจทั้งหมดเป็นสมบัติของชาติ การบริหารงานจะต้องทำให้ได้มูลค่าสูงสุด

ปัญหาคือ โครงสร้างรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศวันนี้ ยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายทั้ง 4 ประการตามที่ควรจะเป็น เพราะมีความสับสนกันอยู่ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้กำหนดนโยบาย ฝ่ายผู้กำกับดูแล และฝ่ายผู้ปฏิบัติการ ยกตัวอย่าง ข้าราชการในตำแหน่งอธิบดี ที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการ (บอร์ด) ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ แค่นี้การทำงานก็สับสนแล้ว บางสินค้าตัวเองเป็นข้าราชการต้องคุมราคาไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ แต่กลับไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ต้องการขึ้นราคาขาย

รัฐวิสาหกิจทั่วโลกกำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบายขั้นพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ ในยุคแรกๆ จึงต้องถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดนโยบายลงไปได้ แต่เมื่อดำเนินการมาถึงระยะหนึ่ง ก็จะพบปัญหาเหมือนกันทั้งโลก คือ มีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ

การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในโลก จึงเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ การจัดตั้งองค์กรกลาง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง คอยบอกรัฐวิสาหกิจต่างๆ ว่ามีปัญหาอะไรและจะต้องแก้ไขอะไรบ้าง ในไทยก็มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง

และระยะที่ 3 คือ การรวมศูนย์แล้วนำรัฐวิสาหกิจทั้งหมดมาจัดกลุ่มรวมกัน เพื่อมุ่งการบริหารภาพรวมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังต้องมีการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายกำกับดูแลออกจากกัน และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานด้วย

ตั้งองค์กรกลางสลายขั้วผลประโยชน์

วันนี้ คนร. เห็นว่าการบริหารรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยต้องนำกลับมารวมศูนย์แล้วจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ เชื่อว่าถ้าทำได้จะเป็นการพลิกความสามารถในการผลิตของประเทศไทยได้ในระยะยาว

ขณะนี้ คนร. อยู่ระหว่างการอนุมัติหลักการว่าจะจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้น ทำหน้าที่รวมศูนย์การกำหนดทิศทางการบริหารรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ เบื้องต้นได้หารือกันไว้ 5 แนวทาง ประกอบด้วย

1. ให้องค์กรใหม่เป็นหน่วยราชการอยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง 2. เป็นหน่วยงานราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 3. ยกขึ้นเป็นกระทรวงใหม่ ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยตรง 4. ตั้งเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการที่ต้องมีสังกัด ลักษณะเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ 5. จัดตั้งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้น หรือโฮลดิ้ง คัมปะนี รูปแบบเดียวกับที่สิงคโปร์ ใช้กองทุนเทมาเส็กในการบริหารสินทรัพย์ของรัฐ หรือ กองทุนคาซานาห์ เนชันแนล ของมาเลเซีย

ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ทุกแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ซึ่งทาง คนร. และธนาคารโลก อยู่ระหว่างร่วมกันศึกษาการร่างกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งองค์กร แต่คาดว่าภายใน 3 เดือนจะได้ข้อสรุป

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หมายถึง การจัดวางองค์ประกอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันใหม่ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า การหยิบจับจัดวางแต่ละองค์กรใหม่ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องเกิดผลกระทบ ซึ่งอาจจะมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และไม่ชอบการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในครั้งนี้

กลุ่มแรก คงจะเป็นนักการเมือง ที่เคยสั่งการแบบแอบกระซิบให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไปทำอะไรตามอำเภอใจ กลุ่มที่สอง คือ ข้าราชการ ที่ได้รับสิทธิเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้เงินประจำตำแหน่ง และเบี้ยประชุม กลุ่มที่สาม คือ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเองจะไม่สามารถทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เพราะจะถูกตรวจสอบ

กลุ่มที่สี่ คือ พนักงาน อาจจะไม่ชอบ เพราะเป็นคนกลุ่มแรกที่อาจได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงโดยตรง และกลุ่มที่ห้า คือ คู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ของรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องถูกตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสขึ้น

ทั้งนี้ การตั้งองค์กรใหม่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อสร้างความโปร่งใสให้มากขึ้น

พร้อมกับการคัดกรองรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ยังคงสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม 2. กลุ่มที่จะต้องปรับปรุงสถานะ และ 3. กลุ่มที่ต้องยุบ เลิก หรือโอนกิจการ เพราะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ผมมองว่า เราได้พยายามสร้างเครื่องมือให้ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบติดตามรัฐวิสาหกิจได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจเป็นของรัฐ ก็เปรียบเหมือนไม่มีประชาชนคนใดเป็นเจ้าของ เมื่อไม่มีเจ้าของ จึงไม่มีใครสนใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ พวกเราต้องมาช่วยกัน

ถ้าในอนาคตประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ และนักการเมืองเกิดอยากยกเลิกระบบตรวจสอบเหล่านี้ ผมว่าคงไม่ง่าย เพราะจะต้องไปอธิบายประชาชนด้วยตัวเอง

ทีมเศรษฐกิจ