ThaiPublica > คอลัมน์ > ดูงาน แต่ไร้ผลงานให้ดู

ดูงาน แต่ไร้ผลงานให้ดู

13 ตุลาคม 2014


หางกระดิกหมา

ผู้เสียภาษีชาวไทยผู้พิศมัยการท่องเที่ยวและเคยไปควานหาโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินราคาถูกตามงานต่างๆ คงตื้นตันน้ำตาจะไหลไปตามๆ กัน เมื่อพบว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีงบดูงานต่างประเทศปี 2556 ถึง 61.5 ล้านบาท และคงร่วมอำนวยพรคณะกรรมการนี้กันต่อไปอีกมาก เมื่อนึกว่า 61.5 ล้านนี้ มีคนใช้กันอยู่ 11 คนเท่านั้น

ผู้เสียภาษีเช่นว่าคนหนึ่ง พลิกดูรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่บอกว่าหนึ่งในกรรมการดูงานทั้งปีรวม 18 ทริป 122 วัน แล้วก็ตั้งปุจฉาชวนบรรลุธรรมว่า “หนึ่งปีอยู่เมืองนอกเสียหนึ่งในสาม แกเป็น กสทช. หรือเป็นทูตวะ”

งานอะไรที่มันต้องดูกันเป็นร้อยวัน เดี๋ยวเราคงได้เห็นกันจากคำอธิบายของคณะกรรมการต่อ สตง. ซึ่งเป็นผู้ตั้งข้อสังเกตเหล่านี้ขึ้นมา แต่ลองไปพลิกๆ ดูระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน พ.ศ. 2555 แล้วก็รู้สึกว่าระเบียบที่คุมเรื่องนี้ช่างวุ่นวายอ่านยากนัก อ่านแล้วก็ไม่ค่อยรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ชวนให้สังหรณ์ว่าสุดท้ายเรื่องนี้คงจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง การใช้จ่ายชอบแล้ว ไม่มีอะไรในกอไผ่ตามเคย (ยกตัวอย่างเช่น มีข้อหนึ่งบอกว่าค่าเช่าที่พักให้เบิกจ่ายตามจริงโดยไม่เกินอัตราที่กำหนด เว้นแต่กรณี “จำเป็นต้องพักแรมในสถานที่ที่มีผู้จัดเตรียมไว้ให้และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” ก็ให้กลับไปจ่ายตามจริง ฟังแล้วก็ชวนสงสัยว่ากรณีอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือไม่ และถ้าเกิดขึ้นจริง ใครหนอมันช่างใจไม้ไส้ระกำบังคับให้ กสทช. นอนพักโรงแรมดีๆ ที่แพงเกินอัตราตามระเบียบได้ลงคอ)

เคยอ่าน Travel Policy หรือ “นโยบายว่าด้วยการเดินทาง” อันเป็นสิ่งที่ใช้กำกับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐในเมืองนอก ก็รู้สึกว่าเข้าใจง่ายและน่าถูกใจผู้เสียภาษี (taxpayer-friendly) กว่านี้มาก

อันดับแรกเลย ก็เพราะในขณะที่ระเบียบของไทยดูเหมือนจะเน้นเพียงว่าเบิกอะไรได้กี่บาทๆ Travel Policy เหล่านี้ อย่างเช่นของ Office of Communications (Ofcom) ซึ่งเป็นเหมือน กสทช. ของอังกฤษ จะเริ่มต้นด้วยการเน้นในเรื่องของ “ความจำเป็น” ว่าก่อนจะมีการตัดสินใจเดินทาง ต้องพิจารณาก่อนว่ามีทางเลือกอื่นๆ ที่ประหยัดเงิน และประหยัดสิ่งแวดล้อมกว่าหรือไม่ (อย่างเช่นการใช้อีเมล หรือการประชุมผ่านวีดีทัศน์ ฯลฯ) ก่อนที่จะสำทับอีกว่า แม้เมื่อตกลงจะเดินทางแล้ว ก็ต้องเลือกวิธีการเดินทางที่ประหยัดที่สุด (คำนึงถึงทั้งเรื่องตัวเงินและเวลา) ในราคาที่ถูกที่สุด และใช้เส้นทางที่เหมาะสมที่สุด บอกหลักการใหญ่เสร็จสิ้นแล้ว เขาจึงค่อยลงลึกเป็นรายตัวว่า การเดินทางแต่ละวิธี มีขั้นตอนการทำเรื่อง และมีเกณฑ์กำกับการใช้จ่ายอย่างไร

น่าสังเกตว่า การเขียนหลักการใหญ่อย่างนี้ ถึงจะฟังเฝือๆ ไปบ้าง แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายของการเดินทางมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็น และดีกว่าการเน้นแต่เรื่องเพดานการเบิก ซึ่งไปๆ มาๆ จะทำให้การเดินทางกลายเป็นสิทธิหรือสวัสดิการ ที่สักแต่ว่ารู้กฎก็เบิกกันสบายไปเลยโดยแทบไม่ต้องพิสูจน์อะไร

ยิ่งกว่านั้น เกณฑ์ควบคุมการเดินทางในแต่ละวิธีเขาก็ค่อนข้างจะเข้มงวด เช่น การซื้อตั๋วเครื่องบินก็จะต้องทำผ่านหน่วยงานกลางเท่านั้น จะจองเองไม่ได้ การบินจะบินชั้นธุรกิจก็ต่อเมื่อบินนานกว่าสี่ชั่วโมงขึ้นไป จะจองตั๋วต้องบอกก่อนล่วงหน้าให้ได้มากที่สุด และก็ไม่ควรจะจองตั๋วแพงๆ ชนิดที่เลื่อนวันกลับได้ Ofcom คุมกระทั่งว่าถ้าเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เลานจ์เพื่อทำงานก่อนขึ้นบิน เขาก็จะขอให้เฉพาะบัตรเข้าเลานจ์ แต่ยังให้บินชั้นประหยัดเหมือนเดิม ฯลฯ

หันมาดูระเบียบของเราเองบ้าง ก็ไม่ปรากฏเกณฑ์เหล่านี้ มีแต่ระบุว่ากรรมการมีสิทธิบินชั้นธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่อีกประเด็นหนึ่งว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ กสทช. จะต้องได้บินชั้นธุรกิจ ในเมื่อเจ้าของธุรกิจทั้งหลายที่เป็นเจ้าของเงินภาษีเขายังบินชั้นประหยัดกันอยู่เป็นอันมาก

อาจมีคนเถียงว่าการได้บินชั้นธุรกิจ จิบแชมเปญ ใส่รองเท้าแตะขนนุ่มๆ และกินอาหารที่เสิร์ฟโดยใช้เครื่องเงินแท้ๆ นั้นย่อมทำให้กรรมการมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น เพราะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ในกรณีที่เป็นการบินกลางคืน กรรมการลงจากเครื่องแล้วก็จะสามารถเข้าประชุมเช้าต่อได้อย่างสดใสทันที อันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าการเอาไปแออัดอยู่ในชั้นกุลี แต่อีกฝ่ายก็บอกว่า ถ้านั่นคือเหตุผลจริง ดูในระเบียบแล้วก็ไม่เห็นได้บังคับว่ากรรมการจะบินธุรกิจต่อเมื่อเป็นการบินกลางคืน หรือการบินที่ลงเครื่องปุ๊บประชุมปั๊บแต่อย่างใด บอกแต่เป็นสิทธิให้กรรมการใช้ได้ในทุกกรณี แล้วก็ปล่อยให้เป็นธุระของผู้เสียภาษีจะทำงานหาเงินมาจ่ายให้ได้กันเอง

อีกข้ออ้างหนึ่งก็คือว่า คนความสามารถระดับนี้ เขาก็ต้องได้สิทธิบินอย่างนี้ ไม่งั้นใครจะอยากเข้ามาทำงานให้กับประเทศ แต่อีกฝ่ายก็แก้ว่าคงไม่มีใครตัดสินใจสมัครงานโดยดูเรื่องระเบียบการเดินทาง โดยเฉพาะกับงานอย่าง กสทช. ซึ่งจริงๆ แล้วไม่น่ามีเรื่องให้ต้องบินบ่อยแข่งกับคนทำงาน World Bank หรือ UN อย่างนี้

ส่วนตัวแล้ว วิธีคิดในเรื่องนี้ก็มีอยู่ง่ายๆ ว่า ต้นทุนของการให้กรรมการบินธุรกิจมันคุ้มไหมกับประโยชน์ที่ประเทศจะได้ ดังนั้น เรื่องนี้จะไม่เป็นประเด็นเลย หาก กสทช. พิสูจน์ตัวเองต่อประชาชนได้ว่ามีค่ามากกว่าค่าตั๋วชั้นธุรกิจ แต่นี่ไม่ว่าปัญหาการจัดสรรคลื่นความถี่ ปัญหาธรรมาภิบาล ปัญหาการใช้จ่ายเงินไม่ตรงวัตถุประสงค์มันชวนแต่จะให้คนเสียดายทรัพยากรที่ให้แก่กับ กสทช. ทั้งสิ้น เพราะเหมือนมีแต่ดูงาน โดยไม่มีผลงานให้ดู

ลำพังเอาเงินภาษีมาเสียค่าตั๋วน่ะคุยกันได้ แต่เอามาเสียค่าโง่นี่คนคงไม่ยอม

ตีพิมพ์ครั้งแรก : คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม 2557