ThaiPublica > คนในข่าว > “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ผอ.ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา ใช้วิธี “ใจกับใจ” – คืนครูให้ห้องเรียน

“นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ผอ.ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา ใช้วิธี “ใจกับใจ” – คืนครูให้ห้องเรียน

5 กันยายน 2014


ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องความถดถอยของการศึกษาไทย แต่จะแก้กันอย่างไร เป็นเรื่องที่ได้แต่พูดและพูดกันมานาน เมื่อใดที่พูดถึงอะไรลบๆ ก็มักจะโทษว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยที่ย่ำแย่อย่างนั้น อย่างนี้ เป็นเพราะรัฐมนตรีคนใหม่มักจะปรับเปลี่ยนนโยบายอยู่เสมอๆ จึงมีปรากฏการณ์ ได้เห็นได้ฟังทุกเวทีปฏิรูปจะต้องมีเรื่องการศึกษา เหล่านี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายหน่วยงาน หลายองค์กร หลายสถาบันต่างค้นหาทางเลือกใหม่ๆที่จะนำมาเป็นตัวอย่างนำร่องในการปรับกระบวนการเรียนรู้ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาระบบการศึกษาของไทย “เพื่อสร้างคนสร้างชาติ” ที่เป็นรูปธรรม

ล่าสุดสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้จัดตั้งศูนย์จิตวิทยาการศึกษา เพื่อเป็นผู้นำ นำการขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการศึกษาไทย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผอ.ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า หลังจากที่ได้จัดตั้งศูนย์จิตวิทยาการศึกษามาได้กว่า 6 เดือนว่า

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา

ไทยพับลิก้า: วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์จิตวิทยาการศึกษาและบทบาทของคุณหมอที่มาช่วยด้านการศึกษา

ที่มาของมูลนิธิฯ ในปี2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาถึงองคมนตรีว่า ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่แข่งกับตัวเอง และให้เด็กที่เก่งกว่าสอนเพื่อนที่ช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี

ศูนย์ฯนี้จึงเกิดขึ้นมาด้วยแนวคิดว่าจะทำยังไงถึงจะพัฒนาการศึกษาไทยให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ

เราลงทุนด้วยงบประมาณที่ผ่านกระทรวงศึกษากว่า 400,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 4% ของจีดีพี เป็นอันดับ 2 ของโลก มีโรงเรียน 40,000 แห่ง มีครู 400,000 คน แต่เราได้ที่โหล่ของอาเซียน

คือไม่ว่าวัดดัชนีการพัฒนาเรื่องใดๆ ในนานาชาติ เราจะอยู่ในระดับ 80 กว่า ทั้งที่ประเทศเราลงทุนด้านการศึกษามาก แต่ยิ่งพัฒนายิ่งแย่ลง เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็มีหลายเรื่อง ทั้งคอร์รัปชัน ค่านิยมทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกัน แต่เหตุหนึ่งที่สำคัญคือ การศึกษา

คนส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจการศึกษาไทย…

ครูที่จบใหม่ๆ ต่อให้มีกระบวนการเรียนรู้ เป็นไปได้ไหมที่จะเก่ง ผมว่ายาก แปลว่าอะไร แปลว่าไม่ว่าในวิชาชีพไหนก็ตามต้องมีกระบวนการพัฒนาต่อเนื่อง

ในอเมริกามีการพัฒนาครูหลังจบเฉลี่ยต่อคนเป็นเงิน 3,000-9,000 เหรียญสหรัฐ ทุกคนที่เข้ามาเป็นครูจะถูกพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยๆ คุณไปถามครูไทยสิครับว่ามีการพัฒนาที่ต่อเนื่องจริงๆ หรือไม่

เรามีปัญหาการศึกษาหลายอย่าง สาธารณชนไม่ไว้ใจระบบการศึกษาหรือครู ถามว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีกระบวนการซึ่งสร้างความทุกข์เพิ่มขึ้นให้กับครู โดยกระบวนการการศึกษามีการตรวจสอบ มีการประกันคุณภาพการเรียนการสอน มีการประกวดแข่งขันนั่นนี่ ซึ่งทำตรงข้ามกับที่พระเจ้าอยู่หัวบอก เพื่อหวังว่าจะใช้ระบบตลาดหรือระบบธุรกิจให้คุณภาพครูดีขึ้น แต่สิ่งที่พบเห็นคือยิ่งล้มเหลว ครูยิ่งมีความทุกข์เพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้ครูใช้เวลากับกระดาษเยอะเมื่อเทียบกับการใช้เวลากับนักเรียน

นี่คือองค์กรต่างๆ ที่เข้ามายุ่งวุ่นวายกับการศึกษา มีการประเมินตนเอง ประเมินการอ่าน ประเมิน NT ประเมิน O-NET ประเมิน GAT ประเมิน PAT ประเมิน สมศ. ประเมินโรงเรียนมาตรฐานวิชาการ

ครูใช้เวลากับการประเมิน และอยู่กับกระดาษเกินครึ่งของเวลาที่ควรจะไปสอนนักเรียน ก็มีคำถามว่า เอ๊ะ…ถ้าเราให้ครูเขากลับไปสอนคิดว่าจะดีขึ้นอีกไหม… ก็ไม่มั่นใจ คำถามสำคัญที่ผมต้องตอบให้ได้คือ เราต้องเข้าถึงหัวใจของการศึกษาให้ได้

ถามว่าคืออะไร

การศึกษาไม่ใช่ว่าเอา information ใส่เข้าไป แต่หมายถึงว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง คือเราต้องเข้าใจการศึกษาจริงๆ นะครับ

การศึกษาหรือEducation มาจากคำว่า E บวกกับคำว่า ducare ซึ่งหมายถึง ท่อ หรือนำออกมา ดังนั้น การศึกษาคือการดึงสิ่งที่ดีงามในตัวมนุษย์ออกมา ดึงศักยภาพให้ออกมา พวกนี้เป็นนามธรรมใช่ไหมครับ แล้วทำไงให้คนคนหนึ่งแสดงสิ่งที่ดีงามที่สุดออกมาได้ หรือที่เก่งที่สุดของเขาออกมา ฟังดูเหมือนยาก แต่จริงๆ โคตรง่ายเลย ทำไงให้เขาโชว์แสดงศักยภาพออกมาเต็มที่

ไทยพับลิก้า: ให้เขาโชว์ในสิ่งที่เขาอยากทำ

แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าดีที่สุดแล้ว

ไทยพับลิก้า: เขาแฮ็ปปี้หรือเปล่า

แฮ็ปปี้ไม่ได้แปลว่าดีที่สุด ถ้าเขาเป็นคนขี้เกียจเขาอาจจะไม่แฮ็ปปี้ แต่ผมรู้ได้อย่างไรว่านั้นเป็นสิ่งดีที่สุดที่เขาจะทำได้แล้ว คือมาถูกทางแล้วให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำ แต่มันก็ยังไม่การันตี ถูกไหม แล้วทำยังไงผมถึงจะดึงสิ่งที่ดีที่สุดของคนออกมาได้ ง่ายที่สุด ผมบอกแล้วว่ามันง่าย 1. ให้งานที่เขาท้าทาย ที่เขายังไม่รู้ แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก ในบรรยากาศที่เอื้อ สนับสนุน 2. อีกวิธีหนึ่ง บางทีไม่มีงาน แต่วิธีจะรู้ว่าเขาคิดยังไง คือถาม ไม่ใช่ถามเพื่อให้รู้ข้อมูล แต่ถามให้คิด

การศึกษาทั้งหมดมีแค่นี้เองนะ คือตั้งคำถาม ทำให้เด็กคิด ท้าทายเขา แต่ในขณะเดียวกันคาดหวังสูง ในบรรยากาศซึ่งไว้วางใจและรัก

นี่คือที่มาของศูนย์จิตวิทยาการศึกษา เพราะนี่คือพื้นฐานของการศึกษา

การศึกษาเป็นเรื่องระหว่างใจกับใจ ไม่ใช่หัวกับหัวอย่างเดียว เพราะอย่างนั้นกูเกิลก็ทำได้ ฉะนั้น จะพัฒนาครูอย่างไรหรือทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาเข้าถึงแก่นของการศึกษา ก็มีแค่นี้แหละ

ถ้าเกิดผมทำแบบนี้แล้ว บอกได้เลยว่า ในระบบการศึกษาส่วนใหญ่ ตราบใดที่มนุษย์จะทำดีให้คน มีผลทั้งนั้นแหละ คำถามไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดี คำถามคือว่า โครงการการศึกษาต่างๆ ที่ใส่ลงไป ทุกโครงการได้ผลทั้งนั้น มีไม่กี่เรื่องที่ทำแล้วไม่ได้ผล เช่น ถ้าย้ายเด็กย้ายครูบ่อยๆ เป็นการดีเพราะจะทำให้เด็กได้เจอครูใหม่ๆ นักเรียนจะได้เจอของใหม่ๆ อันนี้ทำให้เด็กลบนะครับ การศึกษาจะแย่ลง

หรือเคยเห็นเด็กสอบตกไหม ต้องซ้ำชั้นเรียน ฟังดูเข้าท่าไหม เคยไปถามครูที่ให้นักเรียนซ้ำชั้น เขาตอบว่า เรียนซ้ำชั้นกับฉัน จะได้แน่น (ความรู้)… มันดีไหม เข้าท่าไหม แล้วถ้าเป็นนักเรียนจะคิดยังไง เด็กอาจจะคิดว่าฉันเรียนกับครูปีหนึ่งได้แค่นี้เองเหรอ ถ้าเรียนฉันเรียนนานกว่านี้ ไม่แย่กว่านี้หรือ นี่คือต่างคนต่างคิด

แต่ของจริงจากงานวิจัยคือเด็กแย่ลง ปิดเรียนภาคฤดูร้อนนี้แย่ลง คือโง่ลงเรื่อยๆ ยิ่งปิดนานยิ่งโง่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาจริงๆ ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

อุปสรรคของเด็ก

การศึกษาเป็นเรื่องใจกับใจ การให้นักเรียนไปหาความรู้มาเองแล้วนำเสนอนั้นให้ผลน้อย การศึกษาจะต้องมีการกระตุ้น กดดัน ลดความกังวล เพิ่มทักษะทางสังคม ตั้งคำถามให้เป็น เพิ่มแรงบันดาลใจ ให้เพื่อนสอนเพื่อน อย่าไปตีตราเด็ก ต้องถือว่าเขาเป็นพวกเดียวกับเรา เป็นมนุษย์เหมือนกัน

จากการศึกษาทั่วโลกมากมาย หัวใจของการศึกษา พบว่า เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน การให้เด็กตั้งเป้าหมายในการเรียน แล้วไปให้ถึงดวงดาวให้ได้

ฉะนั้น สรุปแล้วว่าการบ้านมีผลน้อยนะครับ โดยเฉพาะวัยประถมไม่ต้องทำการบ้านยังได้เลย เด็กๆ ผมไม่ทำการบ้านยังเป็นหมออยู่เมืองนอกได้เลย ลูกผมไม่ทำการบ้านตอนเด็ก จะทำทำไม วัยประถมมีไว้สนุก มันจะไปทำสัญญาที่ไหนหรือ ถึงต้องรีบอ่านออกเขียนได้อย่างมหัศจรรย์

ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กคือคนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเขาพบว่าครูคนนั้นสอนเขาได้ เขารัก และน่าเชื่อถือ

ฉะนั้น ผมสรุปว่าหัวใจสำคัญของการศึกษาเป็นเรื่องของใจกับใจ เป็นเรื่องใจสู่ใจ เป็นเรื่องการดึงสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ออกมา การที่ทำให้ครูน่าเชื่อถือ อย่าไปเถียงกันเลยว่าเอาเด็กหรือครูเป็นศูนย์กลาง เพราะการศึกษาที่ดี ในเมื่อเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 บุคคล ถ้าใครเคยแต่งงานแล้วจะรู้ว่าต้องช่วยกันทั้งคู่ในการสร้างความสัมพันธ์ให้ดี ถ้าคนหนึ่งเฉยๆ หรือคนหนึ่งบ้าๆ บอๆ ก็เลิกกันอยู่ดี

ฉะนั้น การศึกษาที่ดี ครูต้อง actively teach สอนอย่างกระตือรือร้น นักเรียนก็กระตือรือร้นด้วย เมื่อ 2 อย่างนี้มาเจอกันเท่านั้นการศึกษาถึงจะเกิดขึ้น มันไม่ใช่ว่าใครจะเป็นศูนย์กลางหรอก ครูก็ต้องเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง ครูก็ต้องเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในแง่ว่าตัวเองสอนดีหรือยัง ตัวเองเข้าใจว่าได้เรียนรู้อะไรจากการสอนของตัวเอง

ในเมื่อเกิดปรากฏการณ์แบบนี้แล้ว งานวิจัยทั้งโลกก็รองรับแบบนี้แล้ว พวกผมก็อยากให้มีการเรียนการสอนที่ดี

ดังนั้นศูนย์จิตวิทยาการศึกษาเราต้องการที่จะเป็นผู้นำการขับเคลื่อนให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นในครูและระบบการศึกษาไทย สร้างความเชื่อมั่นคือ ถ้าปฏิวัติได้เราก็จะปฏิวัติ แต่เรารู้ว่าการปฏิวัติไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ฉะนั้นปฏิวัติ ปฏิรูป เป็นคำเหลวไหลทั้งนั้น แต่มันต้องพูดนะ เพราะดูเท่

“ถามจริงๆ เถอะ คุณว่าต่อให้มีสภาปฏิรูปหรืออะไรมากมาย มนุษย์เปลี่ยนกันง่ายๆ ไหม สำหรับผมเอง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า แก่ขึ้นและอ้วนขึ้นเท่านั้นแหละ เคยได้ยินที่ว่าแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นานไหม คือนิสัยหลายอย่างไม่เปลี่ยนเท่าไหร่หรอก แล้วเป็นกันทุกคน”

การศึกษาคืออะไร

จากงานวิจัยทั้งหมด จากสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวพูดและจากแนวเชิงปรัชญาว่าการศึกษาคืออะไร ทางศูนย์เราก็เลยพัฒนาเพื่อให้เด็กของเรายั่งยืน ชื่อ คิดส์เอสดี (Kids Sustainable Development) เป็นโปรแกรมการพัฒนาที่ยั่งยืนของเด็ก เราจะเห็นมี 6 โปรแกรมซึ่งมี 2 ส่วนใหญ่ๆ

1. Growth Mindset จากข้างต้นที่บอกว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจทั้งนั้น งานวิจัยที่ว่า Growth Mindset คือเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา รักปัญหา รักความยากลำบาก เจอของท้าทายแล้วสนุก ดีเพราะมีอะไรให้เรียนรู้ ปวดหัวก็บอกว่าโชคดีมีหัวให้ปวด

2. Socratic Method มาจากนักปราชญ์ชื่อ โสเครติส เขาบอกว่าเขาไม่รู้อะไรทั้งนั้น และวิธีการหาความรู้ของเขาคือถาม แต่ไม่ได้ถามเพื่อต้องการคำตอบ แต่เพื่อให้คุณคิดไปเรื่อยๆ กระตุ้นให้คิด เรียกว่าโครงการครูสอนคิด

3. Student-teacher Relationship การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน

4.Peer Tutoring พี่ช่วยน้องผองเพื่อนช่วยกัน คือ เพื่อนสอนเพื่อน ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากสมาคมกวดวิชาแห่งประเทศไทย ครูดังๆ ทั้งหลาย เช่น ครูอุ๊ ครูสมศรี ครูประกิตเผ่า ครูดาว้องก์ ครูพี่แนน ฯลฯ ที่มาให้ทุนโรงเรียนนำร่องกับเรา เพื่อให้เราทดลองโครงการนี้ แล้วเขาก็โค้ชเด็กเรา แล้วเด็กเราก็ไปสอนต่อ เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ คือ เราเอาเด็กไปให้ครูที่สอนเก่งๆ มาสอนเขา แล้วเขาก็ไปถ่ายทอดให้เพื่อนเขา

5.Inclusion การศึกษาที่ดีต้องไม่แบ่งแยกว่าเด็กเรียนอินเตอร์ เด็กพิการ เด็กพิเศษ เราต้องถือว่าทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ทั้งนั้น มาก-น้อยต่างกัน เพราะฉะนั้นเราก็มีโครงการพัฒนาครูเพื่อให้ดูแลเด็กพิเศษเบื้องต้น

6. Parent Involvemrnt การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ซึ่งสำคัญที่สุดคือ หลายครั้งที่เด็กไม่ได้ดั่งใจ อย่าไปโทษโรงเรียนเลย เด็กเหลือขอ ผ่านโรงเรียนที่ดีที่สุดยังไงมันก็เกือบจะเหลือขออยู่ดี นอกจากโรงเรียนดัดสันดานที่จะทำให้เด็กดีขึ้นมากๆ หรือเด็กที่ดีหลายคน โรงเรียนไม่ได้เพิ่มอะไร แต่เด็กดีอยู่แล้ว ดูเด็กเก่งๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากพ่อแม่ที่เขาดูลูกดีๆ

6 วิธีพัฒนาเด็กที่สำเร็จ

“แปลง่ายๆ คือ พ่อแม่หวังพึ่งโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วม มีหน้าที่ เพราะฉะนั้นจะมีกิจกรรมที่จัดให้มีการพบปะ เราไปกระตุ้นนะครับ อย่างเช่น ที่โรงเรียนวัดรางบัว เป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ได้พบกับครูทุกวิชา จัดระบบแบบที่อังกฤษเลย ซึ่งเราได้ค้นพบอะไรมหาศาล 1. พ่อแม่ต้องคาดหวังลูก 2. พ่อแม่ต้องปฏิบัติต่อลูกอย่างนี้ คือครูบางคนบอกว่าลูกคุณเรียนไม่เก่ง พ่อแม่ก็หันไปด่าลูกเลย เราก็ต้องหาจังหวะนั้นสอนพ่อแม่ว่าอย่าทำกับลูกแบบนี้ พ่อแม่บางคนไม่เคยรู้เลยว่าลูกเรียนอะไร วิธีการนี้เป็นการพบปะที่มีค่ามากๆ เป็นโครงการที่สำคัญ”

หลายโรงเรียนทางเลือกมีชั้นเรียนพ่อแม่ อบรมพ่อแม่ว่าวิธีเลี้ยงลูกที่ดีควรเป็นอย่างไร เชิญผู้เชี่ยวชาญมา ฉะนั้นพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมอย่างมากในทุกขั้นตอน ในต่างประเทศพ่อแม่รู้ด้วยว่าลูกจะสอบอะไร ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าเว็บไซต์โรงเรียน

เพราะฉะนั้น โครงการทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราพัฒนาโดยทีมงานของเรา เป็น 6 อย่างที่กระตุ้นให้โรงเรียนต้องทำ เราออกไปอบรมเรื่องนี้แล้วพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการอบรมมากที่สุดในโลก คนไม่อยากฟังแล้ว เสียเวลาครู แยกครูเขามาจากห้องเรียน ทำไงให้เขาพัฒนาเรื่อง Growth Mindset เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคิดไกล สมัยนี้ การเรียนรู้หรือเวิร์กช็อปไม่จำเป็นต้องถ่อสังขารไปเรียนหรืออบรม หรือถูกบังคับ ตอนนี้บนเว็บไซต์ของเรามีโปรแกรมต่างๆ ทั้งหมด ครูอยากรู้เรื่องไหน ในเว็บไซต์เรามีทั้งหมด ยกเว้นบางเรื่องที่ต้องมาเรียนกับเราที่นี่ อาทิ Growth Mindset, Socratic Method

“ในที่สุดการปฏิรูปที่ถูกต้องก็คือ 1. จะต้องมาถึงหัวใจของมัน 2. จะต้องไม่ทำเรื่องเยอะเกินไป ต้องคืนครูให้ห้องเรียน ลดอำนาจผู้บริหารโดยเฉพาะนักการเมือง และทำอย่างไรก็ได้ให้ครูกับเด็กเขามีความสัมพันธ์กัน การให้ครูทำงานเพื่อขั้น (เลื่อนตำแหน่ง) ต่างๆ คุณคิดว่ามันตลกไหม คือให้ครูเขาใช้เวลานอกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเด็ก เราปฏิรูปการศึกษาที่เป็นเรื่องไกลๆ ตัวทั้งนั้น ทาสีโรงเรียน ซื้อขนมปัง ซื้อแท็บเล็ต ทำห้องสมุด แต่เรื่องใกล้ตัว ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กไง เอาใจใส่มันสิ ผมอยากจะช่วย สมมติเด็กมีความทุกข์เรื่องแฟนทำไง ผมก็ต้องคุยกับเด็กสิ เอาหนังมาฉายให้ดูว่าวิธีแก้อกหักทำยังไงดี เอาสีสวยๆ มาทา เอาดอกกุหลาบมาให้ คุณคิดว่ามันจะเปลี่ยนไหม ไกลตัว”

ดังนั้นต้องทำเรื่องใกล้ตัวที่สุด เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ซึ่งพัฒนาได้ ก็มีแค่นี้แหละ ที่เหลือผมก็ทำอย่างอื่นด้วย เช่น สร้างภาพยนตร์ คุยกับวงการธุรกิจ และหน่วยงานที่ร่วมมือกับเรา มีโรงเรียนนำร่อง จิตรลดา วัดรางบัว บางมูลนาก แล้วเราก็ยังมีแบบสอบถาม ไม่ใช่แบบประเมินความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ เราทำเป็นวิทยาศาสตร์เรื่องนี้ทำเป็นวิจัยซะส่วนใหญ่

โรงเรียนนำร่อง

ไทยพับลิก้า: สรุปศูนย์นี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน

ศูนย์นี้เพิ่งเกิดได้ประมาณ 6 เดือน แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังจะตั้งคณะศึกษาศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เราเป็นที่ปรึกษาใหญ่ เขามาหาเรา ถามว่าควรจะทำอย่างไร ขณะนี้โรงเรียนต่างๆ บางคนเจอเราตามหน้าหนังสือพิมพ์ บางแห่งให้เราไปคุยกับครูของเขา 300 คน ขณะนี้เราเริ่มได้ความไว้วางใจ

“เราจะทำเรื่องนี้ (ผู้นำในการขับเคลื่อน) เราต้องได้รับความไว้วางใจก่อน เราได้รับความไว้วางใจจากสถาบันต่างๆ มากพอสมควร ฉะนั้นคนที่อ่านบทความคุณครั้งนี้หลายคนชอบใจก็อาจติดต่อเรามา เพราะฉะนั้นคือภาพกว้างๆ ของศูนย์เราและเราก็มีทิศทางที่ชัดเจนว่าต่อจากนี้นอกจากเราจะผลิตสื่อมากขึ้น เราจะพัฒนาคอร์สที่เรียกว่าผู้นำทางการศึกษาขึ้นที่นี่ เราไม่ใช่มหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ออกปริญญา ปริญญาไม่ได้แปลว่าความรู้ จบปริญญาแล้วโง่กับเลวกับบ้าก็เยอะ เราไม่ได้สนใจปริญญา ก็เหมือนเวลาไปโรงพยาบาล ถ้าหมอเก่งเราก็ไม่สนใจว่าจบมาจากไหน หรือปริญญากี่ใบ”

ไทยพับลิก้า: ศูนย์นี้จะขับเคลื่อนอย่างไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร

ในขณะนี้ สถาบันต่างๆ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนต่างๆ ที่ติดต่อเข้ามา ที่ผ่านมาเราออกไปขายแนวคิด ออกไปพูดจาโดยเฉพาะผมออกไปเยอะ ก็เป็นที่รู้จัก แต่วิธีนั้นก็แค่รู้จัก แต่เขาก็ยังไม่แต่งงานด้วย

“เราไม่ได้หวังผลิตครูปริมาณเยอะๆ กระบวนการผลิตครูก็สำคัญ ฉะนั้นผมจึงเอาใจใส่ อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังจะสร้างคณะศึกษาศาสตร์ หรือว่าสถาบันราชภัฏต่างๆ และเราก็ไม่ใช่กระทรวง เราไม่สามารถลงไปนำแล้วบริหารโรงเรียน เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่เป็นผู้นำ ในที่นี้คือเราสร้างผู้นำ แต่ผู้นำใหม่ในประเทศมันสร้างไม่ได้ในตอนนี้ นอกจากครู ดูดีๆ นะ ฉะนั้น ผู้นำจริงๆ คือผู้นำที่มีอยู่แล้ว เป้าหมายเราก็คือคนที่เป็นผู้นำในวงการการศึกษา ครูใหญ่ต่างๆ ผู้บริหารในระดับกระทรวง ผู้บริหารในสถาบันการศึกษา จะเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน”

ฉะนั้นถ้าเราทำงานร่วมกับการเมือง ผมก็บอกกับการเมืองว่าต่อไปนี้วิธีการตั้งผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนวิธี ไม่ใช่เอาคนที่เรียนเก่ง แต่เอาคนที่เก่งจริงๆ และเป็นผู้นำจริงๆ มาเป็นครูใหญ่ ไม่ใช่ใครจ่ายมาก บางทีจ่ายเป็นกิโลเมตรก็มี ขึ้นอยู่กับระยะทางที่อยากจะย้าย

ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของเราคือ ครูใหญ่ ผู้บริหารการศึกษา เจ้าของโรงเรียน ผู้ที่มีอิทธิพลต่อวงการการศึกษา แต่เราไม่ใช่สถาบันอบรมครูนะ…ต้องเข้าใจ

ไทยพับลิก้า: นโยบายภาครัฐต้องชัดเจนก่อนไหม หรือว่าไม่จำเป็น ศูนย์ก็ทำไปเลย

คือถ้าเขาชัดก็ยิ่งดี แต่ว่าคุณจะไปหวังอะไรเขา ในโลกนี้ถ้าคุณหวังภาครัฐช่วยคุณเจ๊งไปแล้ว บ้านเราทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยภาคเอกชนรู้ไหม ไปดูวงการเศรษฐกิจได้เลย ถ้าไม่มีเอกชนป่านนี้เราพินาศไปแล้ว อย่าไปหวังอะไรรัฐนะ รัฐที่ดีคือรัฐที่เล็กที่สุด รัฐที่มีอำนาจน้อยที่สุด เพียงแต่รัฐที่ดีต้องดูเรื่องที่เอกชนทำไม่ได้ เช่น เอกชนจะไปสร้างกองทหารได้ไง เอกชนจะสร้างตำรวจได้ไง เพราะฉะนั้น รัฐควรดูเรื่องของส่วนร่วมที่ต่างคนต่างทำไม่ได้ รัฐไม่ควรมายุ่งรายละเอียดของภาคปฏิบัติการ เพราะในที่สุดมันเลือกกันเอง คือ ถ้าโรงเรียน ก. ทำไม่ดีเขาก็ไปเลือกโรงเรียน ข.

ไทยพับลิก้า: แต่ข้อเท็จจริงโรงเรียนถูกกำกับโดยรัฐ

นั่นคือนโยบายอันหนึ่ง ถ้าคุณไปเวทีปฏิรูปคุณจะได้ยินบ่อยๆ ว่าปล่อยได้แล้ว ครูใหญ่วันๆ ไม่ทำอะไรคอยไปอยู่รอบๆ อธิบดี อธิบดีไม่ทำอะไรวันๆ ไปอยู่รอบๆ นักการเมือง เพราะฉะนั้น การกระจายอำนาจ การลดอำนาจ เอาง่ายๆ ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีเมื่อไหร่ ผมจะบอกเลยว่าผมจะเป็นรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่มีอำนาจน้อยมากที่สุด ตอนเป็นรัฐมนตรีต้องอำนาจน้อย พูดอย่างนี้เขาก็ไม่ให้เป็นแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าไปหวังรัฐ คือไม่หวังรัฐ แต่ขณะเดียวกันรัฐมีความสำคัญ เพราะประวัติบ้านเรารัฐจัดการ แล้วเรื่องการศึกษานี้รัฐเป็นคนให้เงิน การให้เงินไม่ได้แปลว่าเขาเป็นเจ้าของ รัฐต้องบริหาร อันนี้เป็นความเข้าใจผิด ไปถามนักรัฐศาสตร์เขาก็รู้ ฉะนั้นการไปทำแบบนี้นักการเมืองจึงมีอำนาจมาก ครูใหญ่แทนที่จะสอนก็คอยจะยุ่งเรื่องของตำแหน่งและอำนาจ

“ตอบคำถามคือ เราจะทำอยู่ไหมถ้ารัฐไม่ช่วย เพราะว่าการศึกษาไม่เกี่ยวกับรัฐ มีตรงไหน ข้อไหน ที่บอกว่าการศึกษาที่ดีรัฐต้องเป็นคนทำ education แปลว่า government do it ไม่มี เลอะเทอะ”

ไทยพับลิก้า: แต่ข้อเท็จจริงกับในทางปฏิบัติ มันค่อนข้างจะขัดแย้งกัน เพราะว่าครู โรงเรียน กับกระทรวงศึกษา

เพราะฉะนั้นแปลว่าอะไร เมื่อกี้คำตอบของผมง่ายๆ ที่สุด คือ ของจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องปฏิบัติให้ใกล้เคียงของจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ว่าของจริงคืออะไร ใครที่มีอำนาจก็ต้องไปทำของที่ปฏิบัติเลอะๆ เทอะๆ ให้ใกล้ของจริงมากที่สุด ง่ายๆ คือทำไงให้คืนครูให้โรงเรียน อย่าให้ครูทำงานกระดาษเยอะเกินไป

ไทยพับลิก้า: ก็ต้องกลับมาที่เดิมอีกว่า งานเอกสารทั้งหลายที่ครูทำ ครูก็ต้องทำเพราะว่ากระทรวงสั่ง

ก็ใช่ไง จะทำยังไง ก็ต้องเตะกระทรวงออกไป แล้วออกคำสั่งใหม่ เมื่อมันสั่งได้ก็ออกคำสั่งใหม่สิ ไปตั้งกฎหมายมา หรือตั้ง สมศ. เข้ามา มันก็มีปรัชญาที่ดีในตอนเริ่มต้นที่พยายามมาตรวจสอบ จริงๆ คำถามของการตรวจสอบมีประโยชน์ไหม อาจจะมีประโยชน์ในบางเรื่อง เช่น รองเท้าก็อาจต้องตรวจสอบ แต่เรื่องที่ว่าจะพูดจาอย่างไร แต่งตัวอย่างไร สูงกี่เซนติเมตร ต้องดูกระดาษก่อน มันเลอะเทอะไปหมด

ไทยพับลิก้า: คุณหมอว่าจะขับเคลื่อนยังไง โดยปัญหารอบด้านยังมีอยู่ แล้วจะขับเคลื่อนเลยโดยไม่ต้องรออย่างอื่น

มันไม่ใช่หน้าที่ผม ถ้าถามว่าจะขับเคลื่อนยังไง ถ้าถามผมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา ผมก็ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องของผู้นำ เขาจะตามหรือไม่ก็เรื่องของเขา ถ้าเขาเชื่อ เราก็พยายามขายว่าอย่างนี้มันถูก สื่ออย่างคุณก็จะช่วยได้ว่าเฮ้ย…ศูนย์นี้มันทำดีนะ ช่วยฟังกันหน่อย แต่ด้วยความสมัครใจ

สมมติผู้อำนวยการโรงเรียนอ่านข่าวของคุณ ก็มีผู้อำนวยการคนหนึ่งอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ผมให้สัมภาษณ์ไป แล้วเขาก็ตัดมา ขีดแล้วขีดอีก ไปไหนก็โชว์ บอกว่า นี่ คุณหมอพูดอย่างนี้ แล้วก็ติดต่อตามตัวจนเจอ แล้วก็เชิญตัวผมไป จะมีสักกี่คน แต่ถ้ารัฐมนตรีไม่ต้องสั่งน่ะ แค่…ก็วิ่งตามแล้วก็ทำแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าถามผมในฐานะผู้อำนวยการ ผมก็จะทำสิ่งที่ถูกและดี แต่บังคับใครไม่ได้ ผมได้แต่เชื้อเชิญ วันหนึ่งคนอ่านคอลัมน์คุณเป็นแสนๆ แล้วเห็นด้วย ออกมาโวยวายว่าสิ่งที่หมอคนนี้พูดถูกนี่หว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทำตาม เออ…เราก็อาจจะพูดให้เขาฟัง ดีขึ้นมาหน่อยเขาเชิญเราไปช่วยบริหาร

ทีนี้ ถ้าเขาไม่ฟัง ไม่ได้แปลว่าเราจะหยุดทำนะ มันไม่เกี่ยวกัน สมมติพระพุทธเจ้ามาสอนว่าต่อไปนี้ฉันจะหยุดทำดีแล้ว เพราะไม่มีใครฟังท่าน มันคนละเรื่อง เพราะฉะนั้นก็ถ้ามีโอกาส เราก็ค่อยๆ นำเสนอต่อผู้บริหารที่มีอำนาจ ฉะนั้นการขับเคลื่อนการศึกษาจริงๆ มันขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นใครด้วย องคาพยพทั้งหมดคนที่มีอำนาจทางการเมืองก็ต้องทำ ไม่ใช่พูดไปอย่างนั้นว่าจะทำ แต่ว่าไม่ได้อยู่ในหัวเลย

ไทยพับลิก้า: แต่ยังไงคุณหมอมีโครงการนำร่องอยู่แล้ว 4 โรงเรียน

คือโครงการนำร่อง 4 โรงเรียนนี้ไม่ใช่โรงเรียนตัวอย่างนะ เข้าใจให้ถูก โรงเรียนตัวอย่างแปลว่าอะไร คุณเคยเห็นใครหรือตัวอย่างที่เห็นแล้วบอกอยากทำตามไหม ไม่มีหรอกครับ มันไม่เปลี่ยน สิ่งเดียวที่ทำซ้ำได้คือดีเอ็นเอ จำไว้ นอกนั้นมันก็อบปี้ซ้ำหรอก เขาจะไปดูนั่นดูนี่ ดูโรงเรียนตัวอย่าง แต่ก็ต้องไปทำเอง แต่ว่ามันไม่ใช่โรงเรียนตัวอย่าง แต่เป็นโรงเรียนที่ให้พวกผมฝึกในเรื่อง 6 โครงการนี้ว่าดีจริงอย่างที่เราคิดไหม ซึ่งโรงเรียนทั้ง 4 แห่งก็กรุณาให้เราทำ แล้วมันก็ได้ผล แล้วเขาจะเป็นตัวอย่างในแง่นั้น แล้วเขาจะเป็นวัตถุดิบ เป็นผลิตภัณฑ์ของเรา เป็นตัวอย่างให้คนได้เห็นในแง่นั้น เป็นแรงบันดาลใจ ว่ามันทำได้ แต่ว่าไม่ได้เป็นตัวอย่างในแง่ว่าคนอื่นมาดูแล้วเป็นต้นแบบ ไม่มี ไม่ใช่ต้นแบบ

เพราะสิ่งที่ผมทำ อย่าลืมว่าทดแทนสิ่งที่ครูสอนไม่ได้ ครูเขาอยู่ในโรงเรียนสอน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง พูดง่าย เด็กคนหนึ่งอยู่ในสถาบันการศึกษาจากเด็กถึงมหาวิทยาลัย 15,000 ชั่วโมง ผมไม่สามารถแทน 15,000 ชั่วโมงนั้นได้ ผมเพียงแต่ไปบอกให้เขาลองเอาอันนี้ไปทำ แล้วจะเป็น 15,000 ชั่วโมงที่มีความหมาย

อันนี้อาจารย์ผมเขียน “15,000 hours” ไมเคิล รัตเทอร์ (Michael Rutter) ผลของโรงเรียนต่อพัฒนาการเด็ก นี่เป็นงานวิจัยซึ่งหลายสิบปีมาแล้ว 15,000 ชั่วโมงที่มีค่า เพราะฉะนั้นโครงการของผมทั้งหมดคือ ทำอย่างไรให้ 15,000 ชั่วโมงนั้นทรงคุณค่าที่สุด

เด็กเรียนหนังสือจนจบ15,000ชม.
ไทยพับลิก้า: ที่พูดว่าครูและเด็กต้อง active มันจะอย่างไร ต้องทำแบบไหน

เอาใจใส่เด็ก active ไม่ใช่การเต้นระบำ ใจต้อง active อยากจะสอน อยากจะถาม แล้วก็รู็จักผ่อนคลาย (relax) คนที่ active และ relax เท่านั้นถึงจะเกิดประสิทธิภาพที่ดี active ไม่ใช่ว่า hyper active มันต่างกันนะ เพราะ hyper active คือป่วยและโรค แต่ active แปลว่าคุณคิดอยู่และตั้งใจจะทำตลอดเวลา เมื่อไรทำครูให้เป็นคนรัก คิดถึงคนรักอยู่ตลอด

ไทยพับลิก้า: ในแง่กระบวนการ active และ relax จะทำอย่างไรให้ครูรู้สึกอย่างนั้น

ให้มันกินยาบ้าก็จะ hyper active ไม่ใช่ active มันไม่รู้จริงๆ ไม่มีใครรู้หรอก นี่คือความยากไง ทำอย่างไรให้คนเขารักงานเขา ผมไม่รู้หรอก จิตแพทย์รู้แต่เรื่องคนบ้า ถ้าคุณรู้มาบอกผมด้วย เพราะฉะนั้นคือไม่รู้

เราไม่ได้คิดจะสอนใคร เราไม่ใช่ครู แต่เราจะสื่อโครงการดีๆ คนเห็นก็อ้อ…เราต้องทำอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องอาศัยความคิดในการเสนองาน ต้องใช้ไอเดีย

ไทยพับลิก้า: ถ้าคนต้องการให้ไปช่วยจะทำยังไง

ก็ต้องยอมรับข้อจำกัดตัวเอง เราไม่ได้เป็นพระศรีอารย์ที่ไปเปลี่ยนแปลงโลก

ไทยพับลิก้า: แต่ครูมี 400,000 คน หากต้องการขึ้นมาจะทำอย่างไร

ก็ต้องให้ครูใหญ่ต้องการก่อน พอต้องการเขาก็ส่งครูใหญ่มา ก็ 30,000 กว่าแห่ง ถ้าเป็นกรณีนั้นจริงๆ เราก็ดีใจที่สุด ก็ต้องกลายเป็นนโยบายกระทรวงทันทีเลย นั่นคือ กระทรวงต้องเปลี่ยนวิธีการดูแลเด็กมาเป็นแบบนี้หมด นั่นคือสำนักงานเราก็บรรลุเป้าหมาย ปิดได้เลย แต่ถ้าคนต้องการระดับนั้นจริงๆ เราทำไม่ได้ เทรนนิงปีหนึ่งได้สมมติ 10 โรงเรียน 30,000 โรงเรียนต้องเทรน 3,000 ปี ซึ่งเราต้องเกิดอีกไม่รู้กี่สิบชาติ

ไทยพับลิก้า: เพราะว่าครั้งเดียวไม่ใช่ว่าจะจบ เพราะว่าตั้ง 6 คอร์ส

ใช่ ถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่ผมอยากให้เกิด สมมติไทยพับลิก้าเผยแพร่ปุ๊บ ทุกคนต้องการเพราะเห็นว่าอันนี้เป็นคำตอบ ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นคำตอบ แล้วเขามากันเยอะๆ ผมก็รับไม่ไหว ถ้ามากันขนาดนั้น คราวนี้กระทรวงก็ต้องเป็นคนทำ เหมือนเราผลิตวัคซีน เราผลิตวัคซีนขึ้นมาใหม่แล้วเอาไปฉีดไม่ได้หรอกหากมีแค่นี้ เช่น อีโบลาอย่างนี้ แต่คนที่ผลิตก็คือโรงงาน นั่นก็คือโรงเรียนที่ต้องไปทำ

“ฉะนั้น เราก็จะมีแบบ เหมือนเราเป็นสถาปนิกหรือผู้ทำคลอดแบบนี้ แต่เราไม่สามารถที่จะทำได้ แล้วชัดเจนตลอดเวลาว่าเราไม่สามารถเข้าไป ต่อให้มีเงินเพิ่มขึ้นหรือมีคนอีก 10 เท่าก็ตาม สิ่งที่เราควรทำในทีมก็คือคุณภาพของแบบนั้นต้องดี ซึ่งเราจะใช้เวลาทำเรื่องพวกนี้ที่เหลือ คือตอนนี้เราออกไปทำแล้วเริ่มรู้แล้วว่า product นี้ผู้ใช้เป็นยังไง ที่ออกไปตอนนี้สำหรับผมคิดว่าไม่ใช่ต้นแบบ เรารู้แล้วว่าพ่อแม่เขาพบปัญหาอะไร ฉะนั้นตอนนี้เราออกแบบตรงนี้ขึ้นมาแล้วจะโรงเรียนในความผิดพลาดที่เราเรียนรู้ขึ้นมา ในสิ่งดีๆ ใน 10 โครงการที่เราทำ พอ Growth Mindset ได้เรียนเยอะ วิทยากรเก่งขึ้นเลย ว่า Growth Mindset คืออะไร”

เด็กพิเศษก็เหมือนกัน ตอนแรกโทรมาเพื่อจะให้รักษาเพราะว่าในทีมมีจิตแพทย์หลายคน สุดท้ายเราก็บอกว่าไม่ใช่หน่วยงานรักษานะ

Peer Tutoring ก็เหมือนกัน คนที่จะทำได้ดี ที่สุดคือสมาคมกวดวิชา แล้วเขายินดีร่วมกับเราแล้ว ตอนนี้เขาทำของเขาเองให้กับประเทศหมดเลย ถ้าใครไปดูครูอุ๊สอนจะรู้เลยว่าทำไมคนไปเรียนเยอะ เพราะเขามีความเป็นครูสูงมากๆ เลย มีพิธีไหว้ครูในโรงเรียนด้วย เอาเงินไปให้เขาแย่งกันเรียนนะ เปิด 2 นาทีหมด

ไทยพับลิก้า: ทางรร.กวดวิชาคิดว่ากระบวนการนี้จะทำให้ลูกค้าเขาน้อยลงไหม

ตอนนี้เขาอยากจะลดอยู่แล้ว เขารับไม่ไหว พวกนี้เขามีใจบุญพอสมควรนะ มนุษย์นี่แปลก ยิ่งให้มันยิ่งได้ ความรู้ให้ไปมีแต่เพิ่ม ไม่ต้องห่วง ที่กลัวคือมันจะไปแย่งกันเรียนมากขึ้น เห็นเพื่อนไปเรียนแล้วสอนเก่งขึ้น พอมีเงินเขาก็ไปเรียน โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนนี่แปลก เพราะเราทำในโรงเรียนยากจนนะ พ่อแม่เขาดีใจมากมาเฝ้าที่โรงเรียนเลย โอ้โห มีอย่างนี้ด้วย ให้เด็กที่ไปเรียนมาก็แท็กกันเป็นทีม เนื่องจากแต่ละคนเก่งคนละวิชา ปรากฏให้กันหลายวิชา วิชาละ 2 คน ก็เกือบทั้งห้องได้ไปเรียนนั่นแหละ แล้วมาช่วยกันสอน โอ้โห วิเศษสุด แล้วพอไปสัมภาษณ์เด็กบางคนนี่อยากเป็นครูเลย เห็นคุณค่าของpeer tutoring ไหม ในหลวงพูดไว้ในข้อสองไงให้ “เพื่อนช่วยเพื่อน”…. มันมหาศาลเลย

ฉะนั้นพวกผมก็ทำไม่ได้ พอเรากระตุ้นเสร็จ โรงเรียนกวดวิชาเขาเห็นก็แฮ็ปปี้ คราวนี้ก็เป็นหน้าที่กระทรวงแล้ว เพราะทุกคนมาดูงานรอบๆ ทั้งนั้นแหละ เช่น ครูใหญ่รอบๆ โรงเรียนวัดรางบัว เขาบอกว่าอยากเรียนบ้าง แต่เราก็บอกขอโทษทีเราไม่มีเงิน จะไปเที่ยวแจกให้ชาวบ้านเรียนหมด เพราะเราไม่มีเงินจะไปทำอย่างนั้นจริงๆ เขาก็ทำไง เขาก็ต้องไปบอกเจ้านายหรือกระทรวงว่าให้ทำเป็นโครงการ

ไทยพับลิก้า: แล้วใครเป็นคนบอก

เลขาธิการ สพฐ. คนใหม่ทราบแล้ว

ยกตัวอย่าง เรื่องพวกนี้ถ้าเราไม่มีเวลาพูด เช่น ผมบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กต้องดี เขาก็จะบอกว่ามีอยู่แล้ว พอบอกpeer tutoring เขาก็บอกทำอยู่แล้วให้พี่สอนน้อง แต่ไม่นะ เวลาเราไปนำเสนอต้อง 1. ครูประจำต้องเป็นพี่เลี้ยง 2. เป็นนโยบายเลยนะ 3-4 โมงทุกวันต้องมี ไม่ใช่ว่านึกอยากจะสอนตามบุญตามกรรม 3. เด็กที่มาสอนต้องอบรมเขา ส่งไปเรียนดีๆ ให้เขาสอนเป็น ไปไกด์ให้เขาสอนเป็น ไม่ใช่ว่าใครก็ตามเดินมาสอน นึกจะจัดก็จัด ก็มันทำแบบนี้ ลวกๆ แล้วก็บอกว่ามีแล้ว คุณไปเวทีปฏิรูปการศึกษามาเยอะแล้วใช่ไหม มีแต่พูดกัน ไม่มีรายละเอียดที่จะทำ

ภาระกิจมูลนิธิ
ฉะนั้นเราเข้าไปก็บอกว่าให้เขาทำให้ดี เขาบอกมีใจสอนอยู่แล้ว ใจแบบไหน แบบ Growth mind set เขาบอกเขาถามนักเรียนแล้ว เราบอกไม่ใช่วิธีถามที่ดีต้องเป็นการถามแบบนี้ แต่ว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในวิดีโอ เดี๋ยวจะพาเดินดู

ไทยพับลิก้า: กระบวนการขับเคลื่อนที่ทำอยู่ช้าไปไหม หรือว่าจะทำไงให้เร็วกว่านี้เพื่อรับมือวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง

ง่ายมากเลยนะ ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีจะทำให้ดู คุณเคยไปเวทีปฏิรูปไหม มันมีเป็นร้อย ทุกคนรู้เรื่องการศึกษาหมดเลย ถามว่าทำไมรู้ โธ่…ลูกผมเคยเรียนโรงเรียนนั้นแล้วผมรู้ ก็พวกนี้ลูกเคยผ่านกระบวนการศึกษา ไปดูงานวิจัยจริงๆ สิครับ คุณถามดีนะแต่ผมไม่มีคำตอบ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด สื่อของคุณก็เป็นสื่อที่สำคัญ ก็หวังว่าสมมติแสนคนอ่านแล้วคุณลงดีๆ แล้วประทับใจขึ้นมา มันก็เกิดพลังทางโซเชียลมีเดีย แล้วอยากไปศูนย์นี้ มันทำดี ต้องไปฟังมัน มันก็มีแรงกดดันเรื่อยๆ วันหนึ่งคนมีอำนาจที่โดนกดดันอาจเดินมาตรงนี้แล้วบอกว่าเดี๋ยวผมจัดการเอง อะไรแบบนี้

ไทยพับลิก้า: ศูนย์นี้ทำหน้าที่ได้แค่จุดประกาย

ใช่ ผมว่ามากกว่าจุดประกาย จะพยายามจุดไฟด้วย

ไทยพับลิก้า: 15,000 ชั่วโมง เด็กกับครู จะทำได้อย่างไรให้เป็นใจกับใจ

เด็กทุกคนตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย เขาสัมผัสกับครู 15,000 ชั่วโมง คำถามคือทำไมไม่ใช้ 15,000 ชั่วโมง ให้มีค่ามากที่สุด ถ้า 15,000 ชั่วโมง เข้ามาแล้วไม่เจอครู หรือเจอครึ่งเดียว ใจอยู่ครึ่งหนึ่ง ใจอีกครึ่งหนึ่งของครูอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เหลือ 15,000 ชั่วโมง เจอครูไม่ดีครูไม่เก่ง ก็เหมือนกับเราไปฝึกเทรนนิง เขามีกฎ 10,000 ชั่วโมง เช่น จะตีเทนนิสเก่งระดับเหรียญทองโอลิมปิกต้องฝึกอย่างน้อย 10,000 ชั่วโมง ผมจะเป็นแพทย์ที่เก่งและเชี่ยวชาญต้องฝึกอย่างน้อย 10,000 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเด็ก 15,000 ชั่วโมง มีโอกาสเหลือเกินที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแสวงหาความรู้ เรื่องของชีวิต แต่ขณะนี้เราได้ปล่อยตรงนี้ให้ผ่านไป เพราะให้รัฐบาลเป็นคนดำเนินการ คนที่เก่งที่สุดไม่ได้มาเป็นครู เพราะเรามีปัญหาหลายอย่าง อาทิ คอร์รัปชัน มีรั่วไหลและมีที่ไม่รู้เรื่องอีก แต่สมมติ 15,000 ชั่วโมง เจอของดี เก่งสักครึ่งหนึ่ง เราไม่รู้อีกเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ ถ้าเราเจอคนดีคนเก่ง ยิ่งนับชั่วโมงมากขึ้น ยิ่งดีไง แต่เราไม่เจอตรงนี้

ไทยพับลิก้า: เคยมีงานวิจัยไหมว่า 15,000 ชั่วโมงนี้ เด็กอนุบาลถึงปริญญาใช้เงินเท่าไหร่

มีงานวิจัยในอังกฤษพบว่า ใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาทต่อคน แต่ของไทยไม่มีใครทำ อาจจะเยอะกว่านี้เพราะเราลงทุนมาก

“ผมเคยเสนอนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง Education Economics (เศรษฐศาสตร์การศึกษา) คือเรามี Health Economics (เศรษฐศาสตร์สุขภาพ) เรามีงานวิจัยบางอย่าง เช่น อีกสาขาที่เราละเลยมากๆ คือเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน ก่อน 6 ขวบเป็นการลงทุนที่มีค่า ในอเมริกาศึกษาว่า เราลงทุนในช่วง 3-6 ปี เช่น มีบางโปรแกรมเทสต์สตาร์ท สามารถประหยัดเงินหรือเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 300,000 เหรียญเมื่อถึงอายุ 30 ปี”

“ง่ายๆ ครับ เด็กที่ผ่านโครงการที่ดีๆ ในวัยเด็ก เขาจะลงท้ายที่โรงเรียนที่ดีกว่า ประสบความสำเร็จได้มากกว่า ได้งานที่ดีกว่า บวกลบคูณหารนักเศรษฐศาสตร์สามารถคำนวณได้เลยว่า งานที่ดีกว่า เด็กที่มันไม่จบอะไร คือเด็กบางคนจบมัธยมก็ไปทำงาน เขานึกว่าเขาทำงานได้แล้วขณะที่เพื่อนไปเรียนมหาวิทยาลัย แต่ได้เงินเดือนต่ำ เพื่อนเขาจบมหาวิทยาลัยอาจจะช้าหน่อยแต่ได้เงินเดือนสูงกว่า ในระยะยาวๆ เมื่อคำนวณแล้ว รวมทั้งพวกที่ไม่ได้เรียนหนังสือดีๆ ไม่มีใครอบรมสั่งสอน เกเร ติดคุก บวกลบทั้งหมดแล้วในแง่เศรษฐศาสตร์ วัย 3-6 ปี 10 ล้านบาท”

คำถามคือว่า ถ้าเด็กได้รับการศึกษาที่ดี ทำไมพ่อแม่ถึงส่งโรงเรียนอินเตอร์ เพราะเขาถือว่าลงทุนปีละ 500,000 – 1 ล้านบาท กว่าจะจบมหาวิทยาลัยเขาลงทุนไป 10 ล้าน ยังไม่รวมอื่นๆ ปรากฏกว่าเด็กกลุ่มนี้ได้งานในบริษัทที่เงินเดือนเยอะกว่า สมมติเด็กโรงเรียนวัดจบมาได้เงินเดือน 15,000 บาท ไอ้พวกนี้มีคอนเนกชันด้วย เงินเดือน 150,000 บาท คิดดูทำงาน 3-4 ปีคืนทุนหมดแล้ว พวกเด็กวัดยังต๊อกต๋อยอยู่ โอกาสเพิ่มโอกาส นี่พูดแง่ถึงเศรษฐศาสตร์ทางการศึกษาอย่างเดียว

เรื่องนี้ไม่มีคนทำ แล้วผมอยากทำ มันสำคัญมาก มันมีการศึกษาแบบอ้อมๆ เรียกว่าทุนมนุษย์ (human capital) คือการลงทุนกับคน ซึ่งนอกจากการศึกษาแล้วมีหลายเรื่อง แต่ผมอยากให้วิจัยเรื่องการศึกษาจริงๆ แล้วบ้านเราไม่มีตัวเลขไม่เป็นไร เราดูเป็นสัดส่วนก็ยังได้ ขอให้มีคนทำ

แต่ไม่มีข้อมูลเลย ผมไปที่ธรรมศาสตร์ถามนักเศรษฐศาสตร์ว่ามีข้อมูลไหมก็ไม่มี มีแต่ข้อมูลอ้อมๆ ของ human capital ซึ่งข้อมูลคล้ายๆ กันหมด เราแทบจะเดาได้ว่าประโยชน์มีมากแต่จะแค่ไหนเรายังไม่รู้ เพราะโอกาสเพิ่มโอกาส เขาเรียกว่าอิทัปปัจจยตา คือ เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิด

ไทยพับลิก้า: จริงๆ แล้วจำเป็นต้องมีกวดวิชาไหม เพราะเด็กกวดวิชาเยอะมาก

มนุษย์จริงๆ ใครใคร่จะทำอะไรก็ควรมีสิทธิทำ ในแง่การอยู่ร่วมกันในสังคม ระบบปกครองประเทศ ถ้าถามว่าจำเป็นไหม จริงๆ เรากำหนดไม่ได้หรอกว่าวิชาชีพไหนจะมีหรือไม่มี จำเป็นหรือไม่ มนุษย์ในที่สุดมันดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง ทำมาหากินนี่ ก็จะมีพัฒนาการ พัฒนาอาชีพตามอิสรภาพของมนุษย์ และผมคิดว่าในประเทศที่เจริญแล้วก็เป็นอย่างนี้

เป็นคำถามที่น่าสนใจว่า อย่างในอังกฤษตอนนี้โรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนแทบไม่มีเลย ญี่ปุ่นมีเป็นล่ำเป็นสัน จริงๆ คือเขามีโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเข้าโรงเรียนกวดวิชาชั้นนำอีก แต่เขาไม่ได้ดูถูกกวดวิชา ผมว่าในที่สุด ประเทศไทยมันมีกวดวิชาเพราะว่ามีช่องว่างเยอะมากไง คุณจัดสอบแบบนี้โรงเรียนไทยคนเขาไม่ไว้วางใจ เดี๋ยวนี้เชื่อไหมอินเตอร์รอบๆ โรงเรียนก็มีเรียนกวดวิชาแล้วมีแต่เด็กไทยเรียนไม่มีฝรั่ง

“ลูกผมไม่เคยเรียนกวดวิชา แต่ถ้าลูกผมอยู่เมืองไทยคงต้องเรียน บางคนไปเรียนไม่ได้เรียนอะไร ผมเคยถาม เขาบอกรู้สึกว่าได้สมัครครูอุ๊เหมือนเพื่อนก็ดีใจแล้ว บางคนเรียนไปหาเพื่อน คือมันมีสารพัดเหตุผล”

ในแง่การศึกษาจำเป็นไหม ถ้าโรงเรียนสอนพอแล้วเข้าใจการศึกษาว่าเป็นเรื่องของใจกับใจ ไม่ใช่เรื่องเอาข้อมูลเพิ่มขึ้น ในขณะที่กวดวิชาเป็นการเอาข้อมูลเพิ่มขึ้น คำตอบง่ายๆ กวดวิชาก็ไม่จำเป็น แต่ผมไม่อยากตอบในแง่ที่คนธรรมดาชอบตอบๆ กัน คือผมคิดว่ามนุษย์ควรมีอิสรภาพในการทำ แม้ว่าเป็นของไม่ดี เพราะในที่สุดมันจะควบคุมกันเอง เช่น ถ้าคุณสอนไม่ดี กวดวิชาตายก็เยอะ เกิด 10 ตาย 9 คนอาจจะเปิดทั้งนั้นเมื่อเห็นคนอื่นเปิดแล้วรวย ไม่ได้รอดกันง่ายๆ ฉะนั้น คนที่อยู่เขาก็คงมีอะไรบางอย่างที่ดีจริงๆ เพราะตรงนี้อย่าไปกังวล ไม่มีประเด็น

แต่ที่น่าสนใจคือ เขาเป็นโรงเรียนแล้วไม่เสียภาษี ผมคิดว่ามีวิธีการกว่านั้นที่ทำ โอเคไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ แต่เจ้าของ สมมติโรงเรียนกวดวิชาได้เงินก็เป็นเงินของบริษัทหรือโรงเรียนกวดวิชา เขาเอามาใช้ไม่ได้ ถ้าเจ้าของมาใช้ก็ถือว่ารับเงินของบริษัท เจ้าของก็ต้องเสียภาษีส่วนบุคคล แค่นั้นก็แก้ปัญหาเรื่องเสียภาษีได้แล้ว

ไทยพับลิก้า: แล้วเงินตรงนั้นเอาไปทำอะไร

เงินตรงนั้นที่กองอยู่ก็ต้องไปลงทุนเพิ่มเหมือนบริษัททั่วๆ ไป เขาก็ไปลงทุนการศึกษาเพิ่มหรืออะไรเพิ่มก็ได้ แต่เป็นเงินของบริษัท เนื่องจากว่าหามาจากการเรียนการสอน เพราะว่าไม่ยอมให้แก้กฎหมายไง พอให้แก้ทีก็เหมือนว่า คุณมาเก็บภาษีผมได้ผมจะไปเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่ม มันก็ผลักภาระให้ผู้ปกครองอีก รัฐบาลจึงเบรกตัวโก่งกันทุกรัฐบาล

ถ้าเป็นผมบริหารใหม่จะบอกว่าไม่เป็นไร ขอให้ทำให้ถูกต้อง ใช้กฎหมายบริษัทที่มีอยู่ คือเงินไม่สามารถเข้าส่วนตัวได้ คุณอ้างว่ายกเว้นในแง่โรงเรียนก็ต้องยกเว้นในเรื่องโรงเรียนสิไม่ใช่บุคคล ถ้าผมมีบริษัทเป็นเจ้าของบริษัท ถ้าบริษัทจดทะเบียนถูกต้องผมไม่สามารถหยิบเงินบริษัทมาใช้ได้นะ สิ่งที่ทำได้คือกินเงินเดือนบริษัทซึ่งเงินเดือนนี้ต้องเสียภาษี สิ้นปีได้เงินปันผล ปันผลนั้นก็ต้องจ่ายภาษี แค่นั้นเองรับรองจบ ผมว่าทำไมคิดไม่ออก

แนะนำมูลนิธิยุวสถิรคุณ
http://www.youtube.com/watch?v=Eb3mxD3AYvc