ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิจัยเผย ”เกษตรอินทรีย์” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ชี้เทคโนโลยีทางการเกษตรช่วยได้

นักวิจัยเผย ”เกษตรอินทรีย์” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ชี้เทคโนโลยีทางการเกษตรช่วยได้

18 กันยายน 2014


เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องผลการดำเนินงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตร เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยนำเสนอผลการวิจัย “การจัดการฟาร์มกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว: กรณีศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ” โดย ดร.อัครพล ฮวบเจริญ นักเศรษฐกรปฏิบัติการ

งานวิจัยชิ้นนี้ เริ่มจากที่นายอัครเดชมีความสนใจเรื่องการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ใน “นาข้าว” เนื่องจากนาข้าวเป็นการใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากที่สุดในภาคการเกษตรของไทย ประมาณ 79 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ โครงสร้างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรส่วนใหญ่จึงมาจากภาคส่วนนี้

ดร.อัครเดช ฮวบเจริญ
ดร.อัครเดช ฮวบเจริญ

นายอัครเดชระบุว่า ผลการศึกษานี้ยังเป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้น ทำการศึกษาเฉพาะในส่วนของการผลิตข้าวเปลือกซึ่งเป็น 2 ส่วนแรกในวงจรทั้งหมดของวัฏจักรการผลิตข้าวสาร คือ ส่วนของการได้มาซึ่งวัตถุดิบ และการผลิตวัตถุดิบ

“เราลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากเกษตรกร 400 ราย จัดเก็บข้อมูลโดยนักวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งในระดับพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง พบว่า กว่าร้อยละ 97 ของที่นาใน จ.ศรีสะเกษเป็นนาน้ำฝน จึงทำนาได้เพียง 1 ครั้งต่อปี บางส่วนที่อยู่ในเขตชลประทานเท่านั้นที่สามารถทำนาปรังได้ ในการศึกษาได้ทำการแยกการปล่อยก๊าซจากการทำนา 3 รูปแบบ คือ นาอินทรีย์ นาที่ได้รับรอง GAP (ผลผลิตปลอดสารพิษตกค้าง ตรงตามพันธุ์ คุณภาพดี หรือนาที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนเป็นนาอินทรีย์) และนาเคมี (นาแบบดั้งเดิม)”

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรการผลิตฯ พบว่าในกลุ่มที่ทำข้าวอินทรีย์ ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 5.58 กิโลกรัมคาร์บอนฯ เมื่อผ่านกระบวนการมาเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์บรรจุภัณฑ์แล้ว ข้าว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 5.75 กิโลกรัมคาร์บอนฯ

ขณะที่การรายงานผลจากกลุ่มที่ยังใช้สารเคมีในการทำนา ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 2.27 กิโลกรัมคาร์บอนฯ และเมื่อผ่านการแปรรูป ข้าวสาร 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 2.72 กิโลกรัมคาร์บอนฯ

“ผลการวิจัยครั้งนี้ ออกมาว่านาข้าวอินทรีย์เป็นแชมป์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ซึ่งตรงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีเครื่องมือในการชี้วัดและผลการวิจัยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อค้นพบว่า ก๊าซเรือนกระจกมาจากกระบวนการผลิตในนาข้าวอินทรีย์มากที่สุด เมื่อเทียบกับนาข้าวที่ใช้เคมี” นายอัครเดชกล่าว

CFP เปรียบเทียบ

สำหรับสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อพื้นที่นา 1 ไร่ นาข้าวอินทรีย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.90 กิโลกรัมคาร์บอนฯ นาข้าวที่เป็นผลผลิตปลอดสารพิษตกค้าง ตรงตามพันธุ์ คุณภาพดี หรือนาที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนเป็นนาอินทรีย์ ที่ศรีสะเกษ ก็จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับรองลงมา เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากนาเคมีไปยังนาอินทรีย์ โดยค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 1.19 กิโลกรัมคาร์บอนฯ ขณะที่นาที่ใช้สารเคมีมีก๊าซเรือนกระจก 0.78 กิโลกรัมคาร์บอนฯ

นายอัครเดชตั้งประเด็นว่า “คำถามก็คือ ผลการวิจัย คือการโจมตีเกษตรอินทรีย์หรือเปล่า ความจริงแล้วเกษตรอินทรีย์มีประโยชน์ในเรื่องนิเวศการเกษตร แต่สิ่งที่ทำวิจัยมา ต้องการจำกัดขอบเขตการศึกษาเฉพาะเรื่องการทำลายชั้นบรรยากาศ ที่มีผลออกมาว่า เกษตรอินทรีย์อาจจะทำลายมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่ามีประโยชน์น้อยกว่าเกษตรเคมี”

ในการทางกลับกัน เกษตรที่ทำนาใช้สารเคมีก็เป็นแหล่งปล่อย “ไนตรัสออกไซด์” ซึ่งเป็นก๊าชชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงด้วย โดยปล่อยออกมาประมาณร้อยละ 8.48 ต่อปริมาณผลผลิต เมื่อเทียบกับเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ร้อยละ 2.19 ต่อปริมาณผลผลิต

“จริงๆ ก็มีข้อบ่งชี้อยู่แล้วว่าปุ๋ยบางประเภทปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก หากเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้ปุ๋ยพืชสดมาเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ซึ่งตัวปุ๋ยหมักเองก็เป็นตัวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกแน่นอน ดังนั้นควรปรับกระบวนการใช้ปุ๋ยหมัก เพื่อที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวลงได้ระดับหนึ่ง และชาวนาต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้มาใช้ปุ๋ยหมักมากขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตปุ๋ยหมัก เพื่อสามารถดึงก๊าซมีเทนจากการผลิตปุ๋ยหมัก ออกมาไปใช้ประโยชน์ และสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้”นายอัครเดชกล่าว

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางในการลดก๊าซมีเทนในนาข้าว ด้วยการทำการเกษตรภายใต้แนวคิด “Go Green” ที่มุ่งเน้นให้เกิดเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องใช้เทคโนโลยี และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับกระบวนการผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ

สำหรับข้อค้นพบเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกประเด็นคือ สามารถประเมินต้นทุนการทำลายชั้นบรรยากาศได้ ในอนาคตอาจนำไปปรับใช้พิจารณาประกอบการจัดเก็บภาษีด้วย เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีกลุ่มธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จาก ข้อมูลมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และคณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม ระบุว่า เกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้ทรัพยากรและสภาพที่เหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อการผลิตอาหารที่ดี ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยตรึงและเก็บกักคาร์บอนเอาไว้ในดิน (ในรูปของอินทรีย์วัตถุ และสิ่งมีชีวิตในดิน) ทั้งยังเป็นแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่เหล่านี้อาจหมายถึงเกษตรอินทรีย์ในแง่ของการมีกระบวนการผลิตที่ดีก็เป็นได้
(ดูข้อมูลเพิ่มเติม การจัดการฟาร์มกับการปล่อยก๊าซเรือน)

ภาครัฐ-เอกชน ร่วมกำหนดทิศทางคาร์บอนฟุตพริ้นท์

P9152777

รศ. ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ผู้อำนวยการโปรแกรมสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และประธานคลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความเห็นเรื่อง “การจัดการฟาร์มกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว” ว่า “ค่าการปล่อยก๊าซเรือนจะจกจะมีปริมาณสูงที่สุด ณ ตอนปลูก ฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะได้วิธีการปลูกที่ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้กรมการข้าวมีโครงการวิจัยที่การปลูกจะคำนึงถึงสภาพพื้นดิน ระดับน้ำ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้เกษตรกร อย่างไรก็ตาม ข้าวอินทรีย์ยังมีความสำคัญ และมีข้อดีในอีกหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องการใช้สารเคมี มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค”

นายธำรงรัตน์กล่าวว่า ร้อยละ 50 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการปลูกข้าว และประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แม้จำนวนประชากรจะไม่ใช่อันดับ 2 ดังนั้น หน่วยงานทางด้านการเกษตรของรัฐจะต้องเป็นแรงผลักดันที่สำคัญเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สศก. สวทช. และ มหาวิทยาลัยเกษตร เรื่องเครือข่ายวิจัยการประเมินวัฏจักรชีวิต และพัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิต ด้านเกษตรและอาหาร ระดับชาติ เมื่อเดือนกรกฎคม 2557

นอกจากนี้ นายธำรงรัตน์ได้ยกตัวอย่างถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซล ที่ทางสหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดค่าไว้ว่า พลังงานทดแทนดังกล่าวต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับน้ำมันฟอสซิล และจะปรับค่าให้เข้มงวดมากขึ้นเป็นร้อยละ 50 และ 60 ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ(ข้อมูลเพิ่มเติม)

หากไบโอดีเซลของไทยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ก็จะไม่สามารถทำการซื้อขายกับสหภาพยุโรป (EU) ได้ ในการวิเคราะห์สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบกับน้ำมันฟอสซิลต้องใช้ฐานข้อมูลเป็นตัวเลขสำหรับประเมิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทาง สศก. ได้รวบรวมไว้และประกาศเป็นค่าของประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ ดั้งนั้นจะเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมด้านข้อมูล

นายธำรงรัตน์กล่าวว่า แนวโน้มต่อไปในอนาคตตลาดสินค้าจะมีแต่สินค้ารักษ์โลก (ECO Product) และสิ่งนี้จะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะไม่หยุดเพียงแค่ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แต่จะรวมไปถึงการกำหนดค่าฟุตพริ้นท์อื่นๆ โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำ” ที่หลายประเทศได้เริ่มดำเนินการทำฟุตพริ้นท์น้ำ (Water Footprint) ที่เป็นค่าชี้วัดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด

นายธำรงรัตน์ได้ทิ้งท้ายว่า การทดลอง การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยภาคเกษตรและทุกกระบวนการของการเก็บข้อมูล การทดลอง และการวิจัย ควรทำให้เป็นฐานข้อมูลระดับชาติเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้

ด้านนางนางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการรวมตัวของชาวบ้าน การเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเข้ามาบริหารจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยใช้การบริหารจัดการที่ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงจะเป็นการดำเนินการที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

WT

ส่วนนายสมเจตนา ภาสกานนท์ คณะกรรมการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในระยะต่อไปของภาคเอกชน ซึ่งเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ทั่วโลกตระหนักถึงภาวะโลกร้อน จึงเริ่มมีความต้องการให้เปิดเผยข้อมูลการปล่อย และลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต เป็นผลให้เกิดการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในสินค้าต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าสิ้นค้าที่มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ในด้านผลิตภัณฑ์เกษตรก็ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) พัฒนาระบบการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน ระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หอการค้า และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 เนื่องจากมีการนำข้าวโพดมาใช้ในการทำอาหารเลี้ยงสัตว์สูงถึง 6.4 ล้านตัน/ปี

ทั้งนี้ นายสมเจตนาได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์เกษตรว่า ในอนาคตควรจะขยายให้ครอบคลุมพืชต้นน้ำอื่นๆ และเศรษฐกิจทั้งหมด พัฒนาแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซโดยสมัครใจ และเนื่องจากผลสำรวจของสื่อต่างประเทศรายงานว่าผู้บริโภคไทยมีแนวคิดเรื่องการรักษ์โลก (ECO mind) โดยผลสำรวจระบุว่าร้อยละ 62 ของคนไทยยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อบริโภคอาหารที่ผลิตด้วยกระบวนการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 76 ยินดีเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ดังนั้นจึงควรส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน