ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. เอกฉันท์ คงดอกเบี้ย 2% ติดต่อกัน 4 ครั้ง หวังเศรษฐกิจฟื้น V-Shape – สภาอุตฯ เผยยอดซื้อฉุดความเชื่อมั่นในรอบ 4 เดือน

กนง. เอกฉันท์ คงดอกเบี้ย 2% ติดต่อกัน 4 ครั้ง หวังเศรษฐกิจฟื้น V-Shape – สภาอุตฯ เผยยอดซื้อฉุดความเชื่อมั่นในรอบ 4 เดือน

17 กันยายน 2014


เมื่อ 17 กันยายน 2557 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่าคณะกรรมการกนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่4 เนื่องจากจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในระยะเริ่มแรก แม้ปัจจุบันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายจะปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับรายได้ของประชาชนนอกภาคการเกษตรยังดีอยู่

นายเมธีระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยืนยันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในลักษณะตัววี หรือ V-Shape นับจากที่เริ่มฟื้นในไตรมาสสอง โดยมีปัจจัยการใช้จ่ายภาครัฐที่ฟื้นตัวชัดเจน รวมไปถึงการบริโภคสินค้า “ไม่คงทน” ที่ขยายตัวค่อนข้างมากช่วยหนุนอยู่ ส่วนหนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัวหลังจากชะลอไปในครึ่งปีแรก ซึ่งไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแรง

นายเมธี สุภาพงษ์  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับเหตุผลของการคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ย้อนหลัง 4 ครั้ง พบว่า การประชุม กนง. 2 ครั้งล่าสุดเมื่อ 6 สิงหาคม 2557 และ เมื่อ 18 มิถุนายน 2557 ต่างให้เหตุผลตรงกันกับครั้งนี้ว่า ต้องการเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากปัญหาการเมืองคลี่คลาย ประกอบกับเหตุผลด้านเสถียรภาพการเงินเป็นปัจจัยสนับสนุนให้คงดอกเบี้ยในระดับนี้ ขณะที่การประชุม กนง. เมื่อ 23 เมษายน 2557 กนง. ให้เหตุผลว่าต้องการพื้นที่นโยบาย หรือ Policy space ไว้ใช้ในยามที่จำเป็น เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานี้ เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงอาจจะให้ผลสัมฤทธิ์ไม่มากนัก

ส่วนการประชุม กนง. เมื่อ 12 มีนาคม 2557 ซึ่งมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.25% มาเป็น 2% นั้น กนง. ให้เหตุผลว่า ภายใต้ภาวะที่สถานการณ์การเมืองยังยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยที่แรงกดดันด้านราคายังอยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินในบางด้านลดลงจากการชะลอตัวของสินเชื่อและภาวะตลาดการเงินโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น

เหตุผลกนง.ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ทั้ง 4 ครั้ง
เหตุผลกนง.ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ทั้ง 4 ครั้ง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าการที่ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% นั้นเหมาะสม เนื่องจากเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้นโยบายการเงินยังสามารถผ่อนคลายในระดับปัจจุบันได้ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับไม่สูงนักหรือเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.2% ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มชะลอตัวลงเพราะภาคสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศ ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ความเสี่ยงในการที่ไทยจะเผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออกรุนแรงมีค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรงดังกล่าวช่วยลดแรงกดดันต่อกนง. ในการต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน ในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ เชื่อว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 2% จนถึงสิ้นปี โดยคาดว่า กนง. ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนและมีเสถียรภาพ ก่อนที่จะเริ่มพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนโยบายการเงินยังสามารถผ่อนคลาย ณ ระดับปัจจุบันต่อไปได้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะต้องทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับสู่ภาวะปกติในปี 2015 เพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจและการเงิน (อ่านเพิ่มเติม)

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินก่อนหน้านี้ว่า กนง. จะมีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้คงอัตรานโยบายไว้ที่ 2% เป้าหมายหลักเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย

“อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% เป็นระดับที่ต่ำที่สุดแล้วในวัฏจักรดอกเบี้ยนี้ และแนวโน้มดอกเบี้ยของไทยจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งในปี 2558 สอดคล้องกับสภาพคล่องของโลกที่จะตึงตัวขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางปีหน้า” รายงานวิเคราะห์ระบุ

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมลดลง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานและโฆษก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. แถลงตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2557
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานและโฆษก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. แถลงตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2557

ในวันเดียวกัน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานและโฆษก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. แถลงตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2557 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าจาก 89.7 เป็น 88.7 เป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ขณะที่ความเชื่อมั่นล่วงหน้า 3 เดือน ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 103.1 เป็น 102.4

“อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าดัชนีโดยรวมต่ำกว่า 100 การปรับลดลงเล็กน้อยแบบนี้อาจเรียกได้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” นายศุภรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ ที่เป็นช่วงฤดูฝน เกิดภาวะน้ำท่วม เป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยกลุ่มสินค้าที่มีความกังวลสูงคือกลุ่มสินค้าคงทน เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องจักรการเกษตร

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกอุตสาหกรรม พบว่าบางประเภทมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาพรวม โดยถ้าแยกตามขนาดกิจการ มีเพียงกิจการขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจาก 91.7 เป็น 92.2 ขณะที่กิจการขนาดกลางและขนาดย่อมปรับตัวลดลงจาก 88.8 เป็น 86.7 สำหรับกิจการขนาดย่อม และจาก 88.7 เป็น 87.1 สำหรับกิจการขนาดกลาง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศที่สวนทางกับภาพรวม ปรับตัวสูงขึ้นจาก 82.8 เป็น 83.0

สำหรับภาพรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรม นายสุพันธุ์ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่เต็มร้อย และมีหลายอุตสาหกรรมเป็นกังวลอยู่ ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์ ในเดือนสิงหาคม พบว่าผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง -27.08% โดยการผลิตเพื่อการส่งออกลดลง -23.59% ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศลดลง -31.93% ทั้งนี้เมื่อนับยอดการผลิตรวมตั้งแต่ต้นปี พบว่ายอดการผลิตลดลง -28.31% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเพื่อการส่งออก ยังขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.25% แต่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศหดตัวสูงถึง -49.46%

ทั้งนี้ ธปท. เคยระบุในเดือนสิงหาคมว่า ผู้ประกอบการมีการระบายสินค้าคงคลังมาหลายเดือนแล้ว มาถึงจุดที่ถ้าอุปสงค์ไปต่อได้ ก็จะเริ่มขยายระดับการผลิตได้ ซึ่งจากข้อมูลของ ส.อ.ท. ในปัจจุบันก็ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนนัก