ThaiPublica > คอลัมน์ > “เราจะปฏิรูปประเทศ…ก่อนการเลือกตั้ง” ทำได้หรือไม่-อย่างไร-โดยใคร-ความเสี่ยงคืออะไร

“เราจะปฏิรูปประเทศ…ก่อนการเลือกตั้ง” ทำได้หรือไม่-อย่างไร-โดยใคร-ความเสี่ยงคืออะไร

14 มกราคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ความจริงในปัจจุบัน มีคำสำคัญที่ดูเหมือนทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกันไปทั่ว คือคำว่า “ปฏิรูป” “เลือกตั้ง” “ปราบคอร์รัปชัน” “ลดความเหลื่อมล้ำ” จนดูเหมือนว่าสังคมนี้กำลังมีฉันทามติไปในทิศทางที่จะสามารถก่อความร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงยั่งยืนได้เสียที

แล้วเรามาขัดแย้งอะไรกันอยู่ล่ะครับ…

1. เราเถียงกันว่าอะไรก่อน อะไรหลัง ระหว่างเลือกตั้งกับปฏิรูป

2. เราเถียงกันว่าจะให้ใครทำ ระหว่างผู้แทนที่เลือกมาตามรัฐธรรมนูญ (แล้วคนจำนวนมากเห็นว่ามันฉ้อฉลทั้งนั้น ไม่ต้องการอีกต่อไป) กับ กลุ่ม “คนดี” ที่กลุ่มคนฉลาด คิดว่าตนได้รับการศึกษาสูง คือคนชั้นกลางชั้นสูงในเมืองหลวง จะจัดการสรรหามาให้

3. เราเถียงกันว่า ระหว่างปฏิรูป หรือระหว่างรอเลือกตั้ง (แล้วแต่อะไรจะเกิดก่อน) จะให้ใครรักษาการบริหารบ้านเมือง จะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือ รัฐบาลที่พ้นตำแหน่งทำ หรือ คนอื่น (ใคร ชื่ออะไรก็ยังไม่มีใครเสนอ) ที่จะให้ผู้ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เสนอทูลเกล้า

เราเถียงกันแค่สามเรื่องนี้เป็นหลักเท่านั้นนะครับ (นอกจากจะมีพวกแอบจิตคิดอยากให้ทหารมาล้มกระดาน) …แล้วทำไมต้องแตกแยกรุนแรงจนทำให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะเสี่ยงใหญ่หลวงอย่างไม่เคยเจอมาก่อน

เสี่ยงต่อภาวะสงครามกลางเมือง เสี่ยงต่อการจะกลายเป็น “รัฐล้มเหลว” (Failed State) ที่อาจล่มสลาย ต้องใช้เวลาเยียวยาอีกหลายสิบปีกว่าจะเดินหน้าได้อีก (ผมขอเรียกพวกที่ประมาท คิดว่าไม่มีทางเกิดว่าพวก “โลกสวย” ตัวจริงนะครับ)

ผมประกาศตัวเป็นพวก 2 เอา 2 ไม่เอา ก็จริง แต่ขอแสดงจุดยืนในรายละเอียดทั้งสามเรื่องดังนี้นะครับ

ประเด็นที่ 1 เลือกตั้งกับปฏิรูป สำหรับผม แน่ใจอย่างยิ่งว่าการปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานับสิบปี เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ทำก่อน ก็ทำได้เพียงแค่กำหนดกรอบ กำหนดหัวเรื่อง กำหนดเป้าหมาย แต่การดำเนินการให้แล้วเสร็จนั้นต้องทำหลังเลือกตั้งแน่นอน นอกจากเรายอมได้ที่จะไม่ให้มีเลือกตั้งนานนับสิบปี ซึ่งเคยเกิดขึ้นครั้งเดียว ในยุคเผด็จการ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส (2500-2512)

ประเด็นที่ 2 สภาผู้แทนที่เลือกจากประชาชนทั้งประเทศ หรือกลุ่มคนดีที่คัดสรรมา จะเป็นผู้กำหนดกรอบ กำหนดหัวข้อ กำหนดเป้าหมาย …ทางออกที่ผมเสนอก็คือร่วมกันทำสิครับ ให้มีการคัดสรร “คณะกรรมการกำหนดแผนปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันคัดสรร (ความจริงข้อเสนอคล้ายๆ กับที่นายกฯ เสนอก็น่าจะทำได้ โดยยอมให้ “มวลมหาประชาชน” เสนอสักหนึ่งในสี่ก็ได้) แต่สุดท้าย กรอบและแผนที่กำหนดก็ต้องนำมาผ่านสภาฯ หรือทำประชามติ

ประเด็นที่ 3 ถ้าสองประเด็นก่อนสรุปกันได้ ใครรักษาการก็ไม่น่าสำคัญมาก เพราะจะเป็นเวลาไม่นาน (ไม่น่าเกินสามเดือน) แถมรัฐธรรมนูญก็กำหนดกรอบไว้ไม่ให้ทำอะไรได้มาก การให้ได้ให้เสียกับการเลือกตั้งก็พิสูจน์แล้วว่าแทบไม่มีผล (เพื่อไทยชนะถล่มสี่ครั้งทั้งๆ ที่รักษาการแค่ครั้งเดียว) เรื่องนี้ผมเห็นว่าท่านกำนันน่าจะถอยบ้าง ไม่ใช่เอาชนะทุกเรื่องไป

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเถกิง สมทรัพย์
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเถกิง สมทรัพย์

สรุป…ผมเสนอว่า ตั้งกรรมการวางกรอบปฏิรูป เลื่อนเลือกตั้ง 90 วัน นำเสนอแผนให้ลงประชามติ ให้รัฐบาลปัจจุบันรักษาการ

แล้วเราก็น่าจะได้ รัฐบาลเพื่อไทย ที่มีแผนปฏิรูปคอยกำกับ ซึ่งถึงแม้จะไม่หล่อถูกใจเต็มร้อย แต่ก็น่าจะดีกว่ารัฐบาลผสม Buffet Cabinet หรือรัฐบาลทหารตั้ง กลับไปวังวนเก่า

และผมก็มั่นใจแน่ว่า รัฐบาลใหม่จะเป็นใครก็ตาม จะต้องดำเนินการตามแผนปฏิรูป เพราะเราจะมีนกหวีดหลายสิบล้านอันคอยตามกำกับ และจะไม่มีการทำอะไรที่ไม่ชอบธรรมอย่างชัดแจ้ง เช่น พ.ร.บ.เหมาเข่งได้อีก

แน่นอนครับ สำหรับ “มวลมหาประชาชน” ส่วนใหญ่ ข้อเสนอของผมย่อมฟังดูหน่อมแน้ม ไม่สะใจ ไม่ถอนรากถอนโคนระบอบที่ท่านเกลียดชัง แต่ผมขอเรียนถามตรงๆ ว่า ท่านแน่ใจหรือว่า ทางที่ท่านเดินอยู่ จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้จริง จะไม่นำไปสู่ภาวะการล่มสลายของชาติ ที่ท่านตะโกนก้องว่ารักจนสุดใจอยู่ทุกวัน

แต่เอาเถอะ…ท่านคงไม่ฟังสิ่งที่ผมเสนออย่างแน่นอน ถ้าอย่างนั้น ผมขอถามคำถามง่ายๆ ที่ควรมีคำตอบตั้งนานแล้วสักสี่ห้าข้อนะครับ

ข้อแรก ขอถามว่า ที่บอกว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั้น จะปฏิรูปอะไรบ้าง แล้วต้องเสร็จขนาดไหน

ถ้าบอกว่า กระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าก่อนทุกจังหวัด กระจายตำรวจให้เสร็จ ปราบโกงให้หมด ก็เท่ากับว่าไม่ต้องมีเลือกตั้งกันพอดี (เพราะผู้ได้อำนาจมาปฏิรูปคงจะหวงอำนาจเอง โกงเสียเอง) บ่อง
ตง จนวันนี้ ข้อเสนอ “กรอบการปฏิรูป” ของ กปปส. มีสาระน้อยที่สุด มีรายละเอียดหลักการน้อยที่สุดในบรรดาข้อเสนอทั้งมวล (ถ้าผมรู้น้อยช่วยเฉลยด้วยนะครับ หาไม่เจอจริงๆ)

ข้อที่สอง “สภาประชาชน” ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ครอง “รัฏฐาธิปัตย์” คือเป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดินนั้นมีใครบ้าง ท่านกำนันบอกว่า กปปส. จะตั้งเอง 100 คน ขอทราบรายชื่อเลยได้ไหมครับ หรือไม่ก็ขอถามว่าจะสรรหาแต่งตั้งอย่างไร ใช้ตะโกนชื่อบนเวที แล้วให้โห่ร้องตบมือหรืออย่างไร กับอีก 300 คน ที่ให้เลือกจากสาขาอาชีพต่างๆ นั้น จะเลือกอย่างไร อาชีพอะไรบ้าง อาชีพละกี่คน หรือจะให้ใครกำหนด (ท่านคงไม่ยอมให้คนอื่นกำหนดหรอก) เรื่องพวกนี้สมควรมีรายละเอียดได้แล้วครับ ไม่งั้นเมื่อได้ชัยชนะจะโกลาหลแย่งชิงกันวุ่นวายจนมีแต่จอมเผด็จการเท่านั้นที่จะจัดการได้

ข้อที่สาม กระบวนการใช้อำนาจของ “สภาประชาชน” จะมีแบบแผนเป็นอย่างไร ใช้ผ่านหน่วยงานองค์กรอื่นๆ อย่างไร จะต้องเกี่ยวข้องกับองค์พระประมุขอย่างไรหรือเปล่า สภานี้จะเป็นผู้แต่งตั้งถอดถอนรัฐบาลรักษาการหรืออย่างไร

ข้อที่สี่ กระบวนการกฎระเบียบที่ใช้ในการดำเนินการ และควบคุมตัว “สภาประชาชน” เองนั้นเป็นอย่างไร ใช้ระเบียบเช่นเดียวกับรัฐสภาหรือไม่ มีการตรวจสอบและคานอำนาจได้แค่ไหน โดยใคร หน่วยงานใด

ข้อสุดท้าย ขอถามง่ายๆ ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับปัจจุบันนี่ จะยังเอาไว้ไหมครับ ถ้าไม่เลิก จะทำอย่างไร เพราะที่ท่านเสนอมันขัดไปหมดแทบทุกข้อ จะยกเว้นข้อไหนอย่างไร หรือจะกำหนดไว้กว้างๆ ว่า “ตามแต่เลขาธิการ กปปส. จะเห็นสมควร” ก็ขอให้ระบุให้ชัดเจน

เห็นไหมครับ กระบวนการที่ดำเนินอยู่มีแต่คำถามเต็มไปหมด ต่อให้ได้ชัยชนะมา สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือจะจัดการกับชัยชนะนั้นอย่างไร โดยไม่ให้ปั่นป่วนวุ่นวาย

ถึงผมจะเกลียดรัฐบาลนี้แค่ไหน ถึงผมจะชังการโกงกินอย่างสุดแสน ถึงผมจะเอือมกับประชานิยมสุดเสื่อมอย่างจำนำข้าวอย่างแทบกระอัก แต่ผมก็มองไม่เห็นหนทางที่จะเอาชนะ ที่จะขจัดรัฐบาลห่วยๆ นี้ได้โดยวิธีอื่นใด นอกจากวิธีการประชาธิปไตย ตามกฎ ตามกติกาที่เรามีอยู่นะครับ

โปรดพิจารณาข้อเสนอของผมด้วยครับ…

จัดตั้งกรรมการวางกรอบปฏิรูป-เลื่อนเลือกตั้ง 90 วัน-ขอประชามติกรอบ และวิธีการปฏิรูป พร้อมเลือกตั้ง-ให้คุณปูเธอรักษาการไปเถอะ-เสร็จแล้วคอยสอดส่องติดตามดูแลการปฏิรูป