ThaiPublica > คอลัมน์ > เหลียวหลัง เพื่อแลหน้า (ตอนที่ 3): เหลียวมองเศรษฐกิจไทย พัฒนาการในช่วง 60 ปี

เหลียวหลัง เพื่อแลหน้า (ตอนที่ 3): เหลียวมองเศรษฐกิจไทย พัฒนาการในช่วง 60 ปี

9 กันยายน 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ในตอนที่แล้วผมได้ร้อยเรียงความเป็นไปด้านการเมือง ในบทนี้จะว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ โดยจะเน้นภาพใหญ่ ภาพรวม (Macro-Economics) เป็นหลักนะครับ

เมื่อ 60 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2497 ในปีที่ผมเกิด ประเทศไทยยังเป็นประเทศยากจนอยู่ เราเพิ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย (ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลก หรือ Great Depression ในทศวรรษ 1930s แหละครับ) เพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง (2484-2488) เกิดภาวะเงินเฟ้อมหาศาลอยู่ช่วงใหญ่ (ก๋วยเตี๋ยวจากชามละสตางค์ขึ้นเป็นหนึ่งบาท)

ในปีที่ผมเกิดไทยมีประชากรเพียงประมาณ 20 ล้านคน (ตอนนี้มี 65 ล้าน) และผู้ชายไทยมีอายุคาดการณ์ (Life Expectancy at Birth) แค่ 51 ปี (ตอนนี้ผมได้กำไรมาแล้วเก้าปี) ขณะที่เด็กชายที่เกิดปีนี้คาดว่าจะตายเมื่ออายุ 71 ปี

ก่อนที่จะเล่ารายละเอียดถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ผมจะขอนำเสนอตารางเปรียบเทียบรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนต่อปีของประเทศต่างๆ (GDP per Capita) เพื่อจะได้เห็นบริบทการเปลี่ยนแปลงนะครับ โดยตารางนี้เป็นตัวเลขของธนาคารโลกที่เริ่มเก็บในปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ทั้งหมดเป็นการเทียบโดยใช้เงินตราเหรียญสหรัฐเป็นมาตรวัด (current US$)

GDP per capita

ถ้าพิจารณาตารางนี้จะเห็นว่ามีเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียวเกี่ยวกับบริบททางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ในช่วงห้าทศวรรษเศษที่ผ่านมา ซึ่งผมจะแจกแจงประเด็นต่างๆ ให้ดูนะครับ

– ไทยเริ่มต้นต่ำเตี้ยที่สุด โดยมีเกาหลีใต้เป็นเพื่อน แม้พม่ายังรวยเกือบสองเท่าเราตอนเริ่มต้น เราจนกว่าอเมริกาถึง 28 เท่าตัว ไทยและเกาหลีมีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่เคยเป็นเมืองขึ้นตะวันตก ไทยเป็นเอกราชมาตลอด (นอกจากเสียท่าพม่าสองครั้งสั้นๆ) ส่วนเกาหลีนั้นซวย เป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่นที่เอาแต่ขูดรีดปล้นชิง ไม่เคยนำพาความเจริญมาให้ พวกที่เป็นเมืองขึ้นตะวันตกนั้น ถึงจะมาเอาเปรียบ ปล้นชิงทรัพยากร แต่รากฐานการค้าการผลิต รากฐานด้านสถาบัน ซากเดนที่ทิ้งไว้ ก็นำพาความเจริญมาให้ได้ตามสมควร

– จะเห็นได้ว่า อังกฤษจะดูแลประเทศราชได้ดีหน่อย ฝรั่งเศสนำความเจริญให้น้อยกว่า ส่วนพม่านั้นค่อนข้างซวย เป็นเมืองขึ้นสาขา ผ่านอินเดียอีกที แถมท่านนายพลอองซาน วีรบุรุษกู้ชาติสามารถรวบรวมประชาชน ลุกขึ้นขับไล่อังกฤษ ได้เอกราชแบบกะทันหันในปี 2491 ไม่มีการเตรียมรากฐานไว้ให้เหมือนมาเลเซียหรือสิงคโปร์ (ได้เอกราชในปี 2500) พม่านั้นซวยหลายชั้น ปี 2505 นายพลเนวินยึดอำนาจได้จากอูนุ สถาปนา “รัฐสังคมชาตินิยมแบบพม่า” ปิดประเทศไปสี่สิบกว่าปี ถือเป็นประเทศที่ล้มเหลว (Failed State) โดยสิ้นเชิง ปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่จนที่สุดอันดับสองในเอเชีย รองจากอัฟกานิสถาน ทั้งๆ ที่พม่ามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่ง

– อีกสองประเทศที่ถือว่าล้มเหลว เติบโตได้ย่ำแย่ ทั้งๆ ที่เริ่มต้นค่อนข้างดี คือ เวียดนามกับฟิลิปปินส์ เวียตนามใต้นั้นเคยเจริญกว่าไทยมาก ไซ่ง่อนเคยได้ชื่อว่าเป็น “ปารีสแห่งเอเชีย” แต่การที่มีสงครามยาวนาน แถมเปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2518 เสียอีกยี่สิบกว่าปี เลยทำให้ถดถอย ตอนนี้เหลือแค่หนึ่งในสามของไทย จากเคยรวยสองเท่าตัว

– ฟิลิปปินส์นั้น ถึงจะไม่เคยมีสงคราม ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ก็ซวยสุดๆ ไปได้ผู้นำทรราช เฟอร์ดินาน มาร์กอส เป็นประธานาธิบดีเผด็จการเสีย 21 ปี (2508-2529) โกงกินเต็มที่ กับใช้ระบบพรรคพวกนิยมสุดโต่ง นำพาประเทศดิ่งเหวหายนะ จากประเทศเจริญเป็นยากจน มะนิลาที่เคยมีฉายา “แมนฮัตตันแห่งเอเชีย” ทรุดโทรมตกต่ำ

– มาเลเซียนั้นไปได้ดีพอควร ถึงจะมีปัญหาเรื่องเชื้อชาติบ้าง แต่ก็พอถูไถ โดยเฉพาะระยะหลังวิกฤติ 2540 ตั้งหลักได้ดี น่าจะได้เป็นประเทศพัฒนา เสือตัวที่หกแห่งเอเชีย ตามญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวันไปภายในไม่กี่ปีนี้

– อีกสองประเทศในตาราง คือ เกาหลีใต้กับสิงคโปร์นั้นไม่ต้องพูดถึง ถือว่าเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งยวดในการพัฒนา ถึงจะอยู่ภายใต้ระบอบที่ค่อนข้างเผด็จการ (กึ่งประชาธิปไตย) ยาวนาน แต่โชคดีที่ได้ผู้นำดี (Benevolent Dictator) อย่าง ปัคจุงฮี หรือลีกวนยู ประกอบกับองค์ประกอบที่เอื้ออื่นๆ เลยพัฒนาดีโดดเด่น เป็นตัวอย่างการพัฒนาให้ทุกคนพยายามลอกเลียน ใน 52 ปีเติบโตได้กว่าร้อยเท่า อย่างสิงคโปร์แซงไอ้กันไปแล้ว และได้รับการคาดหมายว่าจะมี per capita GDP สูงที่สุดในโลกในปี 2030 (เกิดจากหมวยๆ ไม่ค่อยยอมมีลูก ตัวหารเลยน้อยหน่อย)

หวนกลับมาดูประเทศไทย…

ถ้าเทียบกับนานาประเทศ เราก็อยู่กลางๆ ถึงจะไม่โดดเด่นเท่ระเบิด แต่ก็ไม่ยำ่แย่น่าเกลียด เดินมาได้เรื่อยๆ เหมือนเต่าในนิทานอีสป 57 ปีแห่งการพัฒนา เรามาได้เกือบครึ่งทาง (ประเทศพัฒนาแล้วต้องมี GDP ต่อหัว 12,000 เหรียญ นี่ถ้าไปอัตรานี้เรื่อยๆ เราก็คงถึงเป้าหมายในปี 2620 จะไปเร่งรีบทำไม) ถึงแม้เราจะมีวิกฤติเป็นครั้งคราว แต่ก็แค่สะดุด ไม่ถึงกับวินาศยาวนาน

อย่างที่บอกแหละครับ เราเริ่มต้นตำ่เตี้ย ปี 1960 เราจนสุดในหมู่เพื่อนฝูง จนกว่าพม่าเสียอีก จนกว่าไอ้กันตั้ง 28 เท่าตัว มาวันนี้ลดเหลือแค่สิบเท่า แถมแซงพม่ามาได้ตั้งหกเท่ากว่า ส่วนพี่ปัคพี่ลี อันนั้นมันของหายาก จะไปอิจฉาเขาทำไม

ลองมาดูรายละเอียดอดีตของเราดูหน่อยนะครับ ว่าไต่พรวดขึ้นมาได้ไง แล้วไหงถึงมาติดกึก “ติดกับดักการพัฒนา” เข็นต่อไม่ขึ้นซะงั้น

ถ้าดูว่าเราเจริญขึ้น 55 เท่าตัว (ตัวเลขในตารางไม่ใช่อัตราแท้จริงนะครับ เป็น Nominal Rate คือรวมอัตราเงินเฟ้อไว้ด้วย เพราะฉะนั้นจริงๆ เราไม่ได้ดีขึ้น 55 เท่าหรอกนะครับ) แต่ถ้าแยกช่วงเวลาของ 52 ปี จะเห็นว่า ช่วงแรก 36 ปี เราโตขึ้นถึง 30 เท่าตัวเลยทีเดียว โตในอัตราปีละ 10.5% เลยทีเดียว แต่พอหลังวิกฤติ 16 ปี โตแค่ 1.8 เท่าตัว หรือเฉลี่ยแค่ปีละ 4% เอง

ถ้าเอาช่วงเวลานี้ไปเทียบกับบริบทด้านการเมืองที่ผมเขียนบรรยายไว้ในบทที่แล้ว จะเห็นได้เลยว่า เราเติบโตเจริญได้ดีมากในเวลาที่เป็นระบอบเผด็จการ กับระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (2500-2531) ในยุคบุฟเฟ่ต์คาบิเนต ช่วงแรก (2531-2539) ถึงจะดูเติบโตดี แต่ก็กลายเป็นกลวงแบบฟองสบู่ ไประเบิดเป็นวิกฤติใหญ่โตเดือดร้อนเจ็บตัวกันทั้งประเทศ พอหลังวิกฤติ ถึงเราจะได้นายกฯ ได้รัฐบาลที่อวดอ้างว่าเก่งกาจการค้า เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ แต่เอาเข้าจริงการเติบโตจิ๊บจ้อย มีแค่ราคาคุย (ที่รากหญ้านิยมเป็นเรื่องการกระจายที่ดีขึ้น กับการเอาทรัพยากรอนาคตมาถลุง แอบสร้างหนี้สิน ไม่ได้เป็นฝีมือทำให้โตแต่อย่างใด) เรียกได้ว่า เราเติบโตตำ่กว่าศักยภาพที่ควรมานับสิบปี รั้งท้ายประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ทั้งหลาย

ถึงตอนนี้กรุณาอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเผด็จการเหมาะกับประเทศไทย หรือคิดว่ายุคเผด็จการทำให้เศรษฐกิจไทยโตดีนะครับ เดี๋ยวจะเกิดตีปีก มีความคาดหวัง แล้วไปกดดันเอากับบิ๊กตู่ หรือทีมเศรษฐกิจคุณชายเข้า แล้วต้องผิดหวังแน่นอน เพราะผมขอฟันธงว่า ถึงจะเก่งแค่ไหน ท่านทำได้อย่างมากก็กลับมาโตได้แค่ไม่เกิน 5% ในปีหน้า แถมถ้าเกิดเบี้ยว ไม่ยอมทำตามสัญญา ไม่ยอมเลือกตั้ง อยากโชว์ฝีมือต่อ ผมคิดว่ามีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะกลับไปเติบโตเรี่ยดิน หรือแม้แต่หดตัว

ช่วงนี้ผมยุ่งชุลมุนเหลือเกิน ทั้งงานหลวงงานราษฎร์งานบ้าน ไม่ค่อยมีเวลาเขียนหนังสือ วันนี้ตั้งใจจะให้จบบทเศรษฐกิจไทย แต่ก็มัวแต่รำป้อไปป้อมา ไปเยี่ยมเพื่อนบ้านเสียส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเลยครับ คงต้องผัดไปวันหน้าในตอนที่ 4 อีกแล้วครับ จะพยายามไม่ให้รอนานนะครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 30 สิงหาคม 2557