ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงการจำนำข้าว เจ๊งคามือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “เงินหมด” ใบประทวนค้างเติ่ง ชาวนาต้องรออีกนาน – 2 ปีใช้ไปกว่า 7 แสนล้าน

โครงการจำนำข้าว เจ๊งคามือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “เงินหมด” ใบประทวนค้างเติ่ง ชาวนาต้องรออีกนาน – 2 ปีใช้ไปกว่า 7 แสนล้าน

15 มกราคม 2014


ปัญหาชาวนาจำนวนมากออกมาประท้วงปิดถนนเพราะไม่ได้รับเงินจากการขายข้าวในฤดูการผลิต 2556/57 เป็นปรากฏการณ์ที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า เป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ที่ชาวนาทั่วประเทศขายข้าวแล้วไม่ได้เงิน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นหลักฐานชิ้น “โบว์แดง” ที่บ่งชี้ถึง “ความล้มเหลว” ของนโยบายรับจำนำข้าวภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดโลก และรับจำนำทุกเมล็ดเพื่อเอาเข้ามาไว้ในสต็อกของรัฐบาลเพียงผู้เดียว จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และเมื่อระบายขายข้าวจะได้กำไร

แต่ในความเป็นจริง “ไม่ใช่”

เพราะผลที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาล “ขาดทุน” เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “พิสูจน์” แล้วว่าราคาข้าวในตลาดโลกไม่ได้ปรับสูงขึ้นอย่างที่รัฐบาลเชื่อมาตลอด และการระบายขายข้าวก็มีปัญหาการทุจริต ประกอบกับข้าวที่ระบายขายก็ได้ราคาไม่ดี ทำให้รัฐบาลประสบปัญหาขาดทุนเป็นแสนล้านบาท จึงไม่มีเงินหรือขาดสภาพคล่องสำหรับไปหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต2556/57 และที่ผ่านมาได้ใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินโครงการรับจำนำ จนในที่สุดปัญหาก็ปะทุขึ้นมา

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธกส.) รายงานว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่ฤดูการผลิต 2554/55 จนถึงฤดูการผลิต 2556/57 ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นจำนวนเงินประมาณ 718,790.7 ล้านบาท

เงินโครงการจำนำข้าว

แบ่งเป็นการใช้เงินของฤดูการผลิต 2554/55 กับ 2555/56 ประมาณ 688,673 ล้านบาท และเป็นการใช้เงินของฤดูการผลิต 2556/57 ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 ประมาณ 30,177.7 ล้านบาท

ขณะที่ ณ วันที่ 4 มกราคม 2557 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ได้รับเงินจากการระบายขายข้าวและมันสำปะหลัง จำนวน 178,793.3 ล้านบาท และจากงบประมาณปี 2557 จำนวน 62,200.7 ล้านบาท ดังนั้นรวมมีเงินสำหรับชำระคืนเงินกู้ในโครงการจำนำข้าวไปแล้วประมาณ 240,993.9 ล้านบาท และยังเหลือภาระหนี้คงค้างอีก 477,796.7 ล้านบาท

จากข้อมูลของ สร.ธกส. จะเห็นว่า หากยึดกรอบวงเงินเดิมสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท จะเห็นว่ามีช่องว่างให้ดำเนินการได้อีก 22,203.2 ล้านบาทเท่านั้น(วงเงิน 500,000 ลบด้วย 477,796.7) ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอในการจ่ายเงินให้กับชาวนาในฤดูการผลิต 2556/57

และแม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุญาตให้รัฐบาลรักษาระบายขายข้าวได้ แต่มีการประเมินว่าเงินจากการระบายข้าวคงไม่เพียงพอมาจ่ายให้ชาวนาในฤดูการผลิต 2556/57 รัฐบาลจึงเล็งขอกู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท แต่ช่วงระหว่างรอ กกต. พิจารณาว่าจะดำเนินการกู้ได้หรือไม่ ก็จะขอยืมสภาพคล่องของ ธ.ก.ส ออกมาก่อนประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้ใช้ไปแล้ว 9 หมื่นล้านบาท

แต่ความคิดจะขอยืมสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ออกมาใช้ก่อนถูก “คัดค้าน” จาก สร.ธ.ก.ส. ขณะเดียวกัน ผู้จัดการ ธ.ก.ส. “ลักษณ์ วจนานวัช” ก็ออกมายืนยันว่าจะ “ไม่นำเงินฝาก” ของลูกค้าเงินฝากมาจ่ายโครงการจำนำข้าว และกระทรวงการคลังต้องจัดหาเงินกู้เพิ่มเติม 1.3 แสนล้านบาท มาให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อไปจ่ายเงินรับจำนำข้าวเปลือกที่เหลืออยู่ขณะนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะกู้เงินเพิ่มเติมได้หรือไม่อยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทั้งนี้ นายลักษณ์ชี้แจงถึงเงินที่ ธ.ก.ส. จะดำเนินการในฤดูการผลิต 2556/57 ว่ามีเงินที่ได้รับชำระคืนจากกระทรวงพาณิชย์และเงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้จัดสรรให้ ธ.ก.ส. ในปีงบประมาณ 2557 รวมทั้งสิ้น 54,950 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไปแล้วจนถึง ณ วันที่ 7 มกราคม 2557 จำนวน 245,944 ราย คิดเป็นข้าวเปลือกที่ส่งมอบ 2 ล้านตัน เป็นเงิน 31,543 ล้านบาท

เพราะฉะนั้น มีเงินเหลืออีกประมาณ 23,407 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คาดว่าจะจ่ายให้ชาวนาได้อีกกว่า 200,000 ราย คิดเป็นจำนวนข้าวเปลือกที่ส่งมอบ 1.5 ล้านตัน

วงเงินโครงการจำนำข้าว 56-57

ขณะที่ข้อมูลเพิ่มเติมของ “กรมการค้าภายใน” ล่าสุดระบุว่า ณ วันที่ 8 มกราคม 2557 ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินจำนำข้าวเปลือกไปแล้ว 264,260 ราย จำนวน 289,563 สัญญา เป็นเงิน 32,905.9 ล้านบาท

เพราะฉะนั้น หากมีไม่เงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ส่งมาให้ ธ.ก.ส. และไม่มีเงินกู้เพิ่มเติม จะมีเงินเหลือสำหรับจ่ายชาวนาได้เพียง 22,050 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าเพียงพอจะจ่ายเงินให้ชาวนาได้ทั่วถึง

เนื่องจากมีใบประทวนที่ต้องจ่ายเงินให้ในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 11 มกราคม 2557 มีจำนวน 1.7 ล้านสัญญา และปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกที่ส่งมอบจำนวน 10.8 ล้านตัน

แต่จากข้อมูล ณ วันที่ 8 มกราคม 2557 เพิ่งจ่ายเงินได้เพียง 289,563 สัญญา และเงินที่ ธ.ก.ส. มีอยู่ทั้งหมด 54,950 ล้านบาท ทั้งที่จ่ายไปแล้ว และที่คาดว่าจะจ่ายให้ชาวนาได้คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกแค่ 3.5 ล้านตัน

เพราะฉะนั้น ใบประทวนที่เหลืออยู่อีกประมาณ 1.4 ล้านสัญญา และปริมาณข้าวเปลือกที่ส่งมอบยังเหลืออีกจำนวน 6.5 ล้านตัน ก็มีโอกาสจะได้ไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว นั่นหมายความว่า ชาวนาที่ถือใบประทวนอยู่ในมือตอนนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้เงินจำนำข้าว เพราะรัฐบาลมีเงินไม่พอจ่าย

ถึงแม้ว่า “นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งรัดระบายขายข้าวหลังจาก กกต. ไฟเขียวให้ดำเนินการได้และรับปากชาวนาว่าจะจ่ายเงินให้ถึงมือชาวนาภายใน 25 มกราคม 2557 แต่เงินที่ระบายขายข้าวได้คงไม่เพียงพอจะจ่ายเงินให้ชาวนาได้ทั่วถึงทั้งหมด น่าจะเป็นชาวนาส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับเงิน แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังเดือดร้อนไม่ได้รับเงินจำนำข้าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า รัฐบาลน่าจะขายข้าวได้อย่างมากประมาณ 20,000 ล้านบาท เพราะจากสถิติระบายขายข้าวอยู่ที่เดือนละ 10,000 ล้านบาท และต่อให้รัฐบาลขายข้าวได้มากถึง 50,000 ล้านบาท ก็ไม่เพียงพอนำมาชำระชาวนาที่ใบประทวนค้างอยู่เป็นแสนล้านบาท

“เพราะฉะนั้น ในวันที่ 25 มกราคมนี้ เงินจากการระบายขายข้าวคงจ่ายให้ชาวนาได้บางส่วนเท่านั้น และการจะระบายข้าวได้เงินเป็นแสนล้านบาทคงต้องใช้เวลา 8-9 เดือน ดังนั้น กว่าชาวนาทุกคนจะได้เงินจำนำข้าวคงต้องรอจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่”

สิ่งเหล่านี้ เป็นการตอกย้ำว่า รัฐบาลดำเนินนโยบาย “ผิดพลาด” เพราะมีความเชื่อผิดๆ และไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงของผู้รู้ในวงการข้าว เมื่อเดินมาถึงจุดนี้จึงมีปัญหาทำให้ “ชาวนา” เดือดร้อนไม่ได้เงินจำนำข้าว ส่วนรัฐบาลดูเหมือนจะวิ่งวุ่นหาเงินกู้มาโปะให้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะการดำเนินการใดๆ ในช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการมีความสุ่มเสี่ยง อาจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการกู้เงินเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้กู้ และให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน ก็อาจเข้าข่ายผิดมาตรา 181 (3) ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจะใช้สภาพคล่อง ธ.ก.ส. ออกไปก่อนแล้วนำเงินกู้มาชดเชยภายหลังเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติในภาวะรัฐบาลปกติก็คงทำไม่ได้ เพราะเสี่ยงผิดกฎหมายเช่นกัน ทาง ธ.ก.ส. จึงออกมายืนยันว่า จะไม่นำเงินฝากของลูกค้าไปใช้โครงการรับจำนำข้าว

ดังนั้น แม้จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ชาวนาไม่ได้เงินจำนำข้าว แต่ไม่ใช่ครั้งแรกของ (ทุก) รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายผิดพลาดแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ