ThaiPublica > คอลัมน์ > จับตาโปรเจกต์โกง

จับตาโปรเจกต์โกง

3 ธันวาคม 2013


หางกระดิกหมา

ฟังนายกฯ ตอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นคอร์รัปชันเมื่อหลายวันที่แล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้สึกไว้วางใจ

เพราะนายกฯ ย้ำว่า ได้ทำตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่พอไล่เรียงเข้าจริงๆ สิ่งที่ได้ทำไปก็มีแค่การรณรงค์ปลูกจิตสำนึก และการเปิดศูนย์ต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง ฟังแล้วก็เลยไม่รู้จะเอาความวางใจไปให้ไว้ตรงไหน เพราะถ้าจิตสำนึกกับข้าราชการพึ่งได้ ป่านนี้ประเทศก็คงไม่มีคอร์รัปชันมาตั้งแต่ต้น

ยิ่งกว่านั้น อีกมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่พอจะเข้าท่ากว่าเพื่อน กล่าวคือ การให้เครือข่ายภาคเอกชนเข้ามาสังเกตการณ์โครงการลงทุนก่อสร้างพื้นฐานสองล้านล้านนั้น พอลงเนื้อหาตาม “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการสังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ” ซึ่งพูดถึงเรื่องนี้ ก็กลับปรากฏว่ารัฐยังไม่ได้ให้อำนาจผู้สังเกตการณ์ในการเรียกดูข้อมูล หรือเสนอระงับโครงการอะไรจริงจัง วิธีการแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์ก็ขาดความเป็นอิสระ ดูอย่างไรก็เป็นเพียงแต่การเรียกเข้ามาเพื่อให้ครบขา และรัฐบาลจะได้ไปโพนทะนาได้ว่าตนโปร่งใสแล้วเท่านั้น

ใจหนึ่งก็อยากจะเชื่อว่า รัฐดำเนินมาตรการซังกะบ๊วยเหล่านี้ไปโดยความไม่รู้มากกว่าความไม่แคร์ แต่ก็เชื่อได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะมาตรการดีๆ ในเรื่องการป้องกันปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันนั้นมีอยู่มากมาย อย่างเฉพาะเรื่องผู้สังเกตการณ์นี้ เจ้าเก่าอย่างองค์การ Transparency International (TI) และ Global Infrastructure Anti-Corruption Center (GIACC) ได้ร่วมกันพัฒนาเป็น “มาตรฐานระบบการต่อต้านคอร์รัปชัน (Project Anti-Corruption System Standards) หรือที่เรียกกันว่า PACS Standards ไว้อยู่แล้ว รออยู่แต่ว่ารัฐบาลจะหยิบไปใช้ด้วยความจริงใจแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อระเบียบสำนักนายกฯ ยังร่างไม่เสร็จสิ้น และยังอาจจะแก้ให้ดีขึ้นได้ ก็เลยอยากจะยกหลักการบางข้อเกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์ตามมาตรฐานดังกล่าวมาเสนอในที่นี้

หนึ่ง หน้าที่ของผู้สังเกตการณ์

การคอร์รัปชันนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ลำดับของโปรเจกต์ ดังนั้น ถ้าจะจับผิดให้ได้ ผู้สังเกตการณ์จึงมีหน้าที่ต้องคอยตรวจตราตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกโปรเจกต์ การอนุมัติแผน การออกแบบโปรเจกต์ ช่องทางการไฟแนนซ์โปรเจกต์ ตลอดจนสัญญาสำคัญๆ ในโปรเจกต์ทั้งหมด อาทิ สัญญากับผู้ให้กู้ สัญญากับผู้รับเหมา สัญญากับที่ปรึกษา สัญญากับซัพพลายเออร์ ฯลฯ

แต่ยิ่งกว่านั้น สัญญาในลำดับต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างไปจ้างช่วง สัญญาที่ผู้รับจ้างไปร่วมทุนกับคนอื่น หรือสัญญาที่ผู้รับจ้างไปแต่งตั้งตัวการตัวแทนอะไรที่มีนัยสำคัญ ก็จะต้องถูกนำมาตรวจสอบทั้งหมด เพราะพอมีการตรวจตราเรื่องคอร์รัปชันมากๆ ผู้รับจ้างมักจะให้ผู้รับจ้างช่วง คู่สัญญาร่วมทุน หรือตัวแทนของตนเป็นผู้ดำเนินการติดสินบนแทนเพื่อหลบการตรวจสอบ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ที่จะตรวจให้ถึงสัญญาลำดับต่อๆ ไปเหล่านี้ด้วย โดยอาจพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวมีที่มาที่ไปสมควรหรือไม่ มีค่าตอบแทนพอเหมาะพอสมหรือไม่ หรือผู้ที่เข้ามาให้บริการมีคุณสมบัติจริงหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ก็จะได้รู้ว่าผิดปกติ

นอกจากนั้น หน้าที่อีกประการหนึ่งของผู้สังเกตการณ์ก็คือ การตรวจสอบข้อเรียกร้องต่างๆ จากคู่สัญญาของรัฐ เช่น การขอเปลี่ยนแปลงแบบ การขอขยายระยะเวลา หรือการเรียกร้องให้ชำระราคาหรือค่าเสียหายต่างๆ เพราะเหล่านี้อาจเป็นช่องทางการเอาเปรียบรัฐโดยการสมยอมกันระหว่างคู่สัญญาผู้เรียกร้องกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับเรื่อง โดยเอาผลประโยชน์ที่ได้มาแบ่งกันทั้งสิ้น

สอง การเข้าถึงข้อมูลของผู้สังเกตการณ์

การที่ผู้สังเกตการณ์จะทำงานข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้สังเกตการณ์จะต้องมีโอกาสได้เห็นเอกสารสำคัญ ได้ตรวจดูบันทึก ได้เข้าไปในออฟฟิศ ได้คุยกับคนทำงาน ตลอดจนได้เห็นสภาพวัสดุอุปกรณ์และตัวสิ่งปลูกสร้างอันประกอบเข้าเป็นโปรเจกต์ ดังนั้น รัฐจึงต้องจัดการให้บรรดาผู้เข้าร่วมในโปรเจกต์ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐเอง มาเซ็นสัญญาอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมและทำการตรวจสอบสิ่งต่างๆ อันเกี่ยวกับโปรเจกต์ทั้งหมด โดยให้ผู้สังเกตการณ์สามารถเรียกดูข้อมูล หรือเข้าถึงคน สิ่งของ เอกสาร และสถานที่ทั้งหลายในความครอบครองของผู้ที่เข้าร่วมในโปรเจกต์นั้นๆ ได้โดยไม่ต้องบอกก่อนล่วงหน้าด้วย

สาม การดำเนินการในกรณีผู้สังเกตการณ์พบเหตุผิดปกติ

เมื่อผู้สังเกตการณ์พบเหตุที่ควรสงสัยว่าจะเป็นคอร์รัปชัน ผู้สังเกตการณ์ก็ควรมีอำนาจส่งเรื่องให้กับองค์กรหรือบุคคลใดๆ ตามแต่จะเห็นว่าสมควร ซึ่งอาจมีได้ตั้งแต่หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้กู้แก่โปรเจกต์ ผู้เข้าร่วมในโปรเจกต์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชัน เรื่อยไปจนถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินคดีทางอาญาอย่างเช่น ป.ป.ช. โดยเหตุที่ต้องกำหนดให้ผู้สังเกตการณ์มีช่องทางดำเนินเรื่องได้กว้างขวางหลากหลายเช่นนี้ ก็เพื่อปิดทางที่หน่วยงานหรือบุคคลใดจะสกัดเรื่องไว้จนสายเกินการณ์

สี่ การเสนอชื่อผู้สังเกตการณ์

แม้ว่าการแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์อาจจำเป็นต้องทำโดยหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย แต่การเสนอชื่อผู้สังเกตการณ์ควรทำโดยองค์กรอิสระ อย่างเช่น องค์กรวิชาชีพหรือองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งนี้ เพื่อตัดอิทธิพลของหน่วยงานเจ้าของโปรเจกต์เหนือผู้สังเกตการณ์ และทำให้ผู้สังเกตการณ์กล้าขุดคุ้ยและเปิดโปงเรื่องคอร์รัปชันได้เต็มที่

ทั้งหมดนี้ก็เป็นหลักการเพียงส่วนหนึ่งตาม PACS Standards โดยยกมาเฉพาะเรื่องที่เห็นว่ายังไม่สะท้อนอยู่ในร่างระเบียบสำนักนายกฯ ซึ่งหากรัฐสนใจจะยกระดับขั้นตอนการต่อต้านคอร์รัปชันให้ได้มาตรฐานสากลอย่างที่เคยประกาศเจตนารมณ์ไว้ ก็ควรจะไปศึกษามาตรฐานนี้เพิ่มเติมและนำมาแก้ไขมาตรการของรัฐต่อไปให้ครบถ้วน

จนกว่ามันจะครบทั้ง “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” อย่างที่นายกฯ ชอบพูดนั่นแหละ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2556