ThaiPublica > คอลัมน์ > บาทเดียวกูก็ไม่ให้

บาทเดียวกูก็ไม่ให้

16 ธันวาคม 2013


หางกระดิกหมา

ที่มาภาพ : http://ourfoundation.files.wordpress.com
ที่มาภาพ: http://ourfoundation.files.wordpress.com

หากใครได้อ่านนิตยสารอีโคโนมิสต์ฉบับอาทิตย์สองอาทิตย์ที่แล้ว คงจะเห็นแล้วว่าอุปกรณ์สำหรับต่อต้านคอร์รัปชันที่มาแรงในขณะนี้ไม่ได้มีแต่ “นกหวีด” ของม็อบมวลมหาประชาชนไทยเท่านั้น หากแต่ยังมี “ธนบัตรศูนย์รูปี (Zero-Rupee Notes)” ของอินเดียอีกอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ ธนบัตรศูนย์รูปีก็คือกระดาษที่พิมพ์ลายข้างหนึ่งเหมือนธนบัตรใบละห้าสิบรูปีของอินเดีย มีรูปคานธีครบทุกอย่าง เพียงแต่มีเลขศูนย์ตัวโตๆ แทนที่จะเป็นเลข 50 และมีคำโปรยขนาดเขื่องอยู่ด้านบนว่า “กำจัดคอร์รัปชันทุกระดับชั้น (Eliminate Corruption at All Levels)” ต่ำลงมาจึงเป็นคำมั่นว่า “ข้าพเจ้าสัญญาจะทั้งไม่รับและไม่จ่ายสินบน (I promise to neither accept nor give a bribe)” แทนที่ประโยค “ข้าพเจ้าสัญญาจะจ่ายเงินแก่ผู้ถือเป็นจำนวน…(I promise to pay the bearer…)” ของธนบัตรปกติ

ธนบัตรกงเต๊กอย่างที่ว่านี้ คนอินเดียไม่ได้พิมพ์ขึ้นมาไว้เผาให้ผี แต่พิมพ์ขึ้นมาไว้แจกให้กับประชาชน เพื่อที่ประชาชนได้ใช้นำไปยื่นให้กับตำรวจหรือข้าราชการใดๆ ที่รีดไถสินบน เป็นการประกาศจุดยืนให้พวกกังฉินขี้ฉ้อเหล่านั้นได้รู้ว่า “แดงเดียวกูก็ไม่ให้” โดยไม่ต้องเสียเวลาอภิปรายอ้อมค้อม เพราะคนอินเดียนั้นก็เหลืออดกับข้าราชการทุจริตเหมือนกัน เพราะกินกันหมดในทุกวงการ ประชาชนจะทำอะไรแต่ละทีก็ต้องหยอดน้ำมันกันอยู่นั่น เช่น ออกใบขับขี่ ขอสูติบัตร หรือแม้กระทั่งต่อน้ำประปา ไฟฟ้า จนเคยประมาณกันว่าชั่วชีวิตคนอินเดียหนึ่งคนจะต้องจ่ายค่าสินบนเหล่านี้คนละ 100,000 รูปีเป็นอย่างน้อย

โดยเดิมทีเดียวแนวคิดนี้มีจุดเริ่มมาจากศาสตราจารย์สอนฟิสิกส์ชาวอินเดียของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ในสหรัฐฯ ซึ่งกลับมาบ้านเกิดแล้วพบว่าตนต้องถูกเรียกสินบนไม่หยุดหย่อนจากเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำแบงก์นี้มาเพื่อแสดงการต่อต้าน แต่ปรากฏว่า พอเรื่องนี้ไปเข้าหูของคุณวิชัย อานันท์ (Vijay Anand) ประธานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของอินเดียที่ชื่อว่า 5th Pillar แกก็เห็นเลยว่าวิธีของศาสตราจารย์นั้นจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันกลายเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ไม่ใช่เป็นแค่การสมาทานงดเว้นส่วนตัวที่ไม่มีรูปมีร่างอีกต่อไป จึงได้ให้องค์กรเป็นตัวตั้งตัวตีพิมพ์ธนบัตรนี้ขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาล และเดินสายแจกกงเต๊กต้านโกงนี้ไปทั่วมาตั้งแต่ปี 2007 เพื่อรณรงค์ให้คนเอาไปใช้รับมือกับสถานการณ์คอร์รัปชันในชีวิตประจำวัน

นานๆ ไปธนบัตรนี้ก็ยิ่งติดเป็นกระแส โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ของอินเดียอย่าง เชนไน ไฮเดอราบัด บังกาลอร์ มีเรื่องราวความสำเร็จมากมายจากการใช้ธนบัตรศูนย์รูปีนี้

เช่น ยายคนหนึ่งขอให้เจ้าหน้าที่ออกโฉนดอยู่เป็นเวลาปีครึ่งก็ยังไม่ได้เพราะไม่ยอมจ่ายสินบน แต่พอวันหนึ่งคุณยายคนนี้เข้าไปหาเจ้าหน้าที่พร้อมกับยื่นธนบัตรศูนย์รูปีให้ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตกใจจนรีบกุลีกุจอหาเก้าอี้ให้ยายนั่ง เอาชามาเสิร์ฟ พร้อมกับออกโฉนดให้ยายได้ในวันนั้น หรืออีกกรณีหนึ่ง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้รับธนบัตรนี้แล้วก็กลัวมากถึงกับคืนเงินที่เคยเรียกๆ จากชาวบ้านเอาไว้เป็นค่าต่อไฟทั้งหมดเลยทีเดียว

ความสำเร็จของโครงการนี้ทำให้ทุกวันนี้มีหลายประเทศติดต่อเข้ามาที่องค์กรเพื่อจะยืมเอาไอเดียไปใช้บ้าง ตั้งแต่เนปาล อาร์เจนตินา เม็กซิโก ฝรั่งเศส เยอรมนี หรือแม้กระทั่่งเยเมน อันเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าข้าราชการโกงที่สุด

โดยคุณวิชัยบอกว่า การรณรงค์นี้ได้ผลดีก็เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มักไม่เคยคาดคิดว่าจะถูกตาสีตาสาลุกขึ้นแสดงอาการแข็งขืนอย่างนี้ ยิ่งกว่านั้น การที่คนใช้ธนบัตรที่ต้องจัดพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราวนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกว่าตาสีตาสาไม่ใช่ตาสีตาสาอีกต่อไป แต่เป็นคนที่รู้สิทธิรู้กฎหมาย แถมยังมีองค์กรใหญ่คอยหนุนหลังอีก เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็เลยไม่กล้าเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อคดีคอร์รัปชันในอินเดียนั้นเป็นคดีที่มีโทษรุนแรงถึงจำคุก นอกจากนั้น เพื่อรักษากระแสการไม่ยอมโกง องค์กร 5th Pillar ยังออกวารสารรายเดือนชื่อ “Mattram” (แปลว่า “การเปลี่ยนแปลง” ในภาษาทมิฬ) ซึ่งก็จะมีการสืบเสาะไล่เรียงเรื่องฉ้อฉลทุจริตต่างๆ และแสดงให้เห็นว่าข้าราชการโกงๆ คนนั้นคนนี้ไปเจอจุดจบอย่างไรบ้างอีกต่างหาก

แน่นอน ท้ายที่สุดแล้วการรณรงค์อย่างนี้เป็นเพียงแต่การรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ให้คนเลิกเห็นการคอร์รัปชันเป็นสัจธรรม และเลิกยอมรับพฤติกรรมคอร์รัปชันที่ตนได้พบเห็นเฉยๆ ไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม อันเป็นสาเหตุที่แท้จริงของคอร์รัปชันแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกัน การจะเปลี่ยนของที่ใหญ่มหึมาอย่างโครงสร้างนั้น ถ้าคนส่วนใหญ่ยังไม่เกลียดคอร์รัปชัน ฉันทามติที่จะขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างก็ย่อมมีขึ้นไม่ได้ อย่างที่พูดเป็นภาษาตรรกะก็ต้องว่าการเปลี่ยนทัศนคตินั้นไม่ใช่ “ปัจจัยที่เพียงพอ (Sufficient Condition)” แต่เป็น “ปัจจัยที่จำเป็น (Necessary Condition)”

ลองดูกันสักตั้งนะครับ ถ้าทั้งเป่านกหวีด ทั้งแจกแบงค์กงเต๊กแล้ว คอร์รัปชันมันยังจะด้านหน้าอยู่ได้ก็ให้มันรู้กันไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ” นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม 2556