ThaiPublica > คอลัมน์ > ต้านคอร์รัปชัน…จุดติดต้องจุดต่อ

ต้านคอร์รัปชัน…จุดติดต้องจุดต่อ

11 พฤศจิกายน 2013


หางกระดิกหมา

ม็อบต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พฤศจิกายน 2556  อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ม็อบต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พฤศจิกายน 2556 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

บรรยากาศม็อบต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของคนหลากสีหลากกลุ่มที่สะพรั่งรับลมหนาวกันไปทั้งพระนคร ทำให้คนพยายามวิเคราะห์กันว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ดึงคนต่างผลประโยชน์เหล่านี้ออกมาได้อย่างพร้อมเพรียงกัน

เหตุผลที่ยกกันมาก็มีตั้งแต่เพื่อคัดค้านการล้างผิดให้กับแกนนำ/ผู้สั่งการ เพื่อคัดค้านการล้างผิดให้กับ “พวกเผาบ้านเผาเมือง” เพื่อคัดค้านการไม่ล้างผิดให้กับผู้ต้องหาคดี ม.112 แต่แน่นอนเรื่องที่เรียกแขกมากที่สุดก็คือ การล้างผิดให้กับคดีทุจริตคอร์รัปชันของคุณทักษิณ จนถ้าจะบอกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่มีชื่อเต็มๆ ว่า “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” นั้น ในสำนึกของของคนทั่วไปมีความหมายเพียงแค่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับคุณทักษิณก็คงจะไม่ผิดอะไร

ทางหนึ่ง นี่นับเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะแสดงให้เห็นว่าท่ามกลางสังคมที่ดูเหมือนจะแยกเป็นแพร่งไปด้วยอุดมคติและความคิดเห็นทางการเมืองอันแตกต่างจนแทบจะหาเรื่องเห็นตรงกันไม่ได้เลยในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้น สุดท้ายสังคมก็ยังมามีฉันทามติต้องกันว่าจะไม่ยอมรับเรื่องการคอร์รัปชันทั้งสิ้น ใครที่ผิดก็ต้องรับผิด ใครที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ด้วยการดำเนินคดีปกติก็ต้องกลับมาพิสูจน์ก่อน จะฟอกขาวเอาดื้อๆ โดยอาศัย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ​ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งก็น่าคิดว่า แม้นหากฉันทามติของสังคมระลอกนี้สามารถคว่ำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ​ได้จริงๆ สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้มันเพียงพอหรือไม่ คุ้มค่าแล้วหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าการคว่ำ พ.ร.บ. ครั้งนี้ จะน่ายินดีอย่างไรก็ใช้ต้นทุนไม่ใช่น้อย เรื่องต้นทุนของเจ้าภาพม็อบอย่างเวที เครื่องเสียง น้ำเลี้ยงอะไรก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่นอกจากนั้นก็ยังมีต้นทุนของคนที่ต้องออกจากบ้านมาอยู่ม็อบ ต้นทุนของคนที่บ้านอยู่ใกล้ม็อบ ต้นทุนของการจราจรที่ติดขัดเพราะการปิดถนน ต้นทุนของการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซันปลายปี เรื่อยไปจนถึงต้นทุนที่เป็นนามธรรมกว่านั้นอย่างเช่นต้นทุนอันเกิดจากการที่คนสูญเสียศรัทธาในระบอบรัฐสภาอันเป็นระบบปกติของประเทศ และไปศรัทธาการชุมนุมแทน ซึ่งข้อหลังนี่เป็นต้นทุนที่ประเทศไหนๆ ก็รับได้ยาก ประเทศไทยเองก็เห็นฤทธิ์มาเสียมากแล้ว

ในทางตรงกันข้าม ต่อให้เราสมมติไปเลยว่าคุณทักษิณและนักการเมืองที่จะได้รับนิรโทษกรรมทุกคนทุจริตทุกเรื่องตามที่ทุกคนกล่าวหาจริง สิ่งที่เราจะได้จากการคว่ำ พ.ร.บ. นี้ เท่าที่เป็นอยู่ ดูเหมือนจะไปไม่พ้นคุณทักษิณและกลุ่มนักการเมืองนั้นเท่าไหร่ ต่อให้สุดท้าย พ.ร.บ. ไม่ผ่านสภา ทำให้คุณทักษิณและกลุ่มนักการเมืองนั้นไม่พ้นผิด อย่างมากเราก็แค่เอาผิดคุณทักษิณและกลุ่มนักการเมืองนั้นได้ แต่แล้วคนกลุ่มนั้นเป็นอะไร นอกเสียจากนักการเมืองโกงๆ ตัวใหญ่ๆ ไม่กี่คนในประเทศที่มีนักการเมืองโกงๆ ตัวใหญ่ๆ อยู่อีกนับไม่ถ้วนนี้

ดังนั้น จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ ที่ในเมื่อเราคิดจะลงทุนกันถึงขนาดนี้แล้ว อย่าไปหยุดอยู่ที่การเอาผิดรายบุคคลที่คอร์รัปชันเลย แต่ควรมุ่งหน้าไปทำลายระบบนิเวศน์ที่เอื้อให้มีการคอร์รัปชันเช่นนั้นจะดีกว่า และถ้าเลยต่อไปจนถึงการปลูกสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ที่คอร์รัปชันจะงอกเงยไม่ได้ก็จะดีที่สุด ยั่งยืนที่สุด และคุ้มทุนที่สุด

ส่วนที่ว่าระบบนิเวศน์ใหม่นั้นมีลักษณะอย่างไร ความจริงในคอลัมน์นี้เองก็ได้พูดถึงมาบ้างแล้วหลายเรื่อง ตั้งแต่การเปลี่ยนทัศนคติของคนจากไม่โกงเป็นไม่ยอมให้โกง การกระจายและการลดขนาด บทบาท และอำนาจของรัฐ การลดทอนการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ การทำ Service Level Agreement การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เต็มรูปแบบ การเปิดเผยข้อมูลของรัฐและรัฐวิสาหกิจ การให้เอกชนเข้ามามีส่วนในการลงทุนของภาครัฐ (PPP: Public-Private Partnership) การเปิดเสรีทางการค้าการบริการ เรื่อยไปจนถึงการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ การออกกฎหมาย Anti-SLAPP การยกเลิกอายุความคดีคอร์รัปชัน ฯลฯ อย่าว่าแต่หากจะทำกันจริงๆ นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวก็ยังมีบทเรียนหรือต้นแบบดีๆ อีกมากไม่ว่าจากในหรือต่างประเทศที่เราสามารถนำมาศึกษาและพัฒนาต่อยอดได้

แน่นอน การสร้างระบบนิเวศน์ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่กว้างขวาง ต้องใช้ทั้งทุน ทั้งคน ทั้งยุทธศาสตร์มาก และก็ต้องใช้ไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน กว่าจะเกิดสังคมที่ “ความดีต้นทุนต่ำ ความระยำต้นทุนสูง” อันจะกำราบคอร์รัปชันได้ ไม่มีทางได้สะอกสะใจทันควันเหมือนม็อบ

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์การปราบปรามคอร์รัปชันในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่สถาบันหรือโครงสร้างทางสังคมต่างๆ ยังไม่ครบหรือยังไม่แข็งแรง (อย่างในแอฟริกา) พบว่ามีแต่การเสียเวลาปรับแต่งระบบนิเวศน์ไปอย่างนี้ การปราบปรามคอร์รัปชันถึงจะให้ผลยั่งยืน ไม่เป็นไฟไหม้ฟาง ลุกขึ้นวูบๆ แล้วก็ดับไป ซึ่งอย่างเก่งก็มักจะเป็นแต่เพียงการใช้ข้อหาคอร์รัปชันเพื่อเลือกกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งต่อให้มีประโยชน์บ้าง แต่ในภาพรวมแล้วเรียกว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์คอร์รัปชันของบ้านเมืองแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ในเมื่อคอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นนโยบายที่ต้องทำกันในระดับประเทศหรือแม้กระทั่งเป็นวาระแห่งชาติ การจะทำเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องมี “อาณัติ (mandate)” จากปวงชน ลักไก่ทำเอาไม่ได้ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยนี้ จะดีชั่วอย่างไร อาณัตินี้ก็อยู่กับรัฐบาลและรัฐสภา ไม่ได้อยู่กับม็อบ ดังนั้น หากทุกคนศรัทธาในการปราบคอร์รัปชันอย่างที่ได้แสดงพลังในเห็นในม็อบครั้งนี้แล้ว ก็ควรรักษาพลังนั้น เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปนอกม็อบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การแสดงความเห็นในประชาพิจารณ์ การร้องเรียนไปในทุกทางที่เกี่ยวข้อง หรืออย่างน้อยๆ ก็ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์โดยสุจริต ไม่เช่นนั้น การปฏิรูปประเทศในเรื่องคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนก็จะไม่มีทางเป็นไปได้

ไหนๆ ก็จุดติดแล้ว อย่าให้สิ่งที่จุดได้มันเป็นเพียงแค่ฟางหรือดอกไม้จันทน์เผาใครบางคนเลย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ. โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556