ThaiPublica > คอลัมน์ > จ่ายภาษีแบบไร้ศีลธรรม

จ่ายภาษีแบบไร้ศีลธรรม

6 ตุลาคม 2014


หางกระดิกหมา

ในกระบวนเรื่องที่ท้าท้ายความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนทำมาหากินทั่วไปคงจะไม่มีเรื่องไหนยิ่งไปกว่าการเลี่ยงภาษี (tax avoidance)

ทั้งนี้ เพราะเรื่องอื่นๆ ในโลกนั้น ดีเลวก็อาจว่าไปตามเนื้อผ้าได้โดยง่าย ในขณะที่เรื่องเลี่ยงภาษีนั้นเป็นของหมิ่นเหม่ อาจมองได้ทั้งสองทาง ทางหนึ่งคนก็ว่าการเลี่ยงภาษี กล่าวคือการใช้ช่องทางตามกฎหมายเพื่อให้จ่ายภาษีน้อยที่สุดนั้น ต่อให้ถูกกฎหมายแค่ไหน ก็เป็นเรื่องไม่ถูกศีลธรรม เพราะเหมือนตอนทำธุรกิจตั้งอกตั้งใจแสวงหารายได้เต็มที่ แต่ถึงเวลาจ่ายคืนให้กับรัฐซึ่งเป็นที่มาของรายได้นั้นกลับทำอย่างเสียไม่ได้ ไม่สมน้ำสมเนื้อกัน

ในทางตรงกันข้าม อีกฝ่ายหนึ่งก็แก้ว่าการเลี่ยงภาษีไม่เห็นมีที่ไม่ถูกศีลธรรมตรงไหน เพราะธุระอะไรที่คนที่ได้จ่ายภาษีตามกฎหมายถูกต้องแล้วจะต้องหาเรื่องเทเงินเข้ารัฐให้มากกว่านั้นเข้าไปอีก ในเมื่อสุดท้ายเงินนั้นก็คือเงินของเขา ไม่ใช่เงินรัฐ อย่าว่าแต่ถ้าบอกว่าการไม่เอาเงินให้รัฐเป็นเรื่องไม่ถูกศีลธรรม ก็เท่ากับบอกว่าการเอาเงินให้รัฐถือเป็นเรื่องถูกศีลธรรมทั้งสิ้น ทั้งที่ความจริงการใช้เงินของรัฐก็ไม่เห็นได้วิเศษวิโสกว่าการใช้เงินของเอกชนที่ตรงไหน ไหนจะก่อหนี้สาธารณะ ไหนจะสนับสนุนสงคราม ไหนจะทำเรื่องอะไรอีกหลายอย่างที่คนเขาไม่เห็นด้วย

ข้อสนับสนุนหลักของฝ่ายนี้ก็คือคำพิพากษาต่างๆ นานาที่บอกว่าการเลี่ยงภาษีไม่ผิดกฎหมาย อย่างเช่น คำพิพากษาของลอร์ด ไคลด์ ในคดีที่กรมสรรพากรของอังกฤษฟ้องผู้เลี่ยงภาษีคนหนึ่งในปี 1929 ที่ว่า “ไม่มีบุคคลใดในประเทศนี้ที่จะมีหน้าที่แม้แต่น้อยหนึ่ง ไม่ว่าจะหน้าที่ในทางศีลธรรมหรือในทางอื่น ในอันที่จะต้องจัดสรรธุรกิจหรือทรัพย์สินของตนเพื่อให้กรมสรรพากรสามารถเข้ามากอบโกยได้มากที่สุด เพราะกรมสรรพากรนั้นๆ ไม่เคยช้าอยู่แล้วที่จะหาช่องประดามีภายใต้กฎหมายภาษีเพื่อถลุงกระเป๋าของผู้จ่ายภาษี โดยนัยนี้ ผู้จ่ายภาษีผู้ชาญฉลาดย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันการผลาญทรัพย์ดังกล่าวของกรมสรรพากรได้โดยวิธีการต่างๆ เท่าที่เขาจะอาจทำได้โดยสุจริต”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการเลี่ยงภาษีจะถูกหรือผิดศีลธรรม แต่ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะเห็นตรงกันว่าหากการกระทำหนึ่งๆ ล่วงเลยการเลี่ยงภาษีไปสู่ขั้นการ “หนีภาษี (tax evasion)” กล่าวคือ การใช้ช่องทางผิดกฎหมายเพื่อให้จ่ายภาษีน้อยที่สุดแล้ว เมื่อนั้นการกระทำก็จะเป็นอันผิดทุกประตู ไม่ว่าจะในทางศีลธรรมหรือประการใดๆ

แต่ก็อีกนั่นแหละ ข้อสังเกตนี้ใช้ได้กับคนดีๆ เท่านั้น แต่ใช้ไม่ได้กับคนโกง เพราะคนโกงนั้น อย่าว่าแต่การเลี่ยงภาษีเลย ต่อให้การหนีภาษีก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไรทั้งสิ้น ดังเรื่องที่คุณ “กลุ้มใจ” แจ้งมาที่หางกระดิกหมาเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องมีอยู่ว่าคุณกลุ้มใจ แกไปซื้ออาคารสำนักงานมาแห่งหนึ่งบนถนนธุรกิจสายสำคัญของ กทม. ซึ่งตามกฎหมายเจ้าของตึกย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนให้กับ กทม. ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ตามหลักการนั้น ภาษีโรงเรือน เขาเก็บคงที่อยู่ที่อัตราร้อยละ 12.5 ของ “ค่ารายปี” หรือประโยชน์ที่พื้นที่นั้นๆ อาจทำได้ในปีหนึ่ง ดังนั้นเจ้าของตึกจะเสียภาษีโรงเรือนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าค่ารายปีของพื้นที่นั้นๆ สูงหรือต่ำ ถ้าค่ารายปีต่ำ ภาษีโรงเรือนก็จะไม่กี่สตางค์ แต่ถ้าค่ารายปีสูงมากๆ ภาษี 12.5% ก็อาจจะก้อนใหญ่จนน่าใจหายได้ ทั้งนี้ วิธีการคำนวณค่ารายปีนั้น ถ้าเป็นตึกที่เจ้าของปล่อยให้คนอื่นเช่า เจ้าหน้าที่ก็จะเอาค่าเช่ารวมกันทั้งปีมาเป็นค่ารายปี แต่ถ้าตึกนั้น เจ้าของใช้ทำสำนักงานเอง ไม่ได้ให้ใครเช่า ไม่มีค่าเช่าจะเอามาคิดเป็นค่ารายปี กฎหมายก็กำหนดให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ประเมินค่ารายปีขึ้นมา โดยดูจากทรัพย์สินในบริเวณใกล้เคียงกัน ที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเล ที่ตั้ง ฯลฯ คล้ายคลึงกับตึกนั้นเป็นเกณฑ์

และนี่เองก็คือที่มาของปัญหาของคุณกลุ้มใจ

เพราะก่อนถึงกำหนดที่คุณกลุ้มใจจะต้องเสียภาษีโรงเรือน ก็ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ติดต่อมา ถามว่า “ปีนี้จะเอาเหมือนเดิมหรือเปล่า?” ทีแรกคุณกลุ้มใจแกก็งง ไม่รู้เหมือนเดิมอะไร แต่ถามไปถามมา สุดท้ายก็สว่างว่าที่ว่าเหมือนเดิมก็คือ จ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่ 1 ล้าน แล้วเจ้าหน้าที่จะประเมินค่ารายปีให้ต่ำๆ จนภาษีโรงเรือนลดจาก 8 แปดล้าน เหลือเพียง 2 ล้าน

ด้วยความที่เป็นคนตรง คุณกลุ้มใจแกจึงแข็งใจบอกไปว่า “ไม่เหมือนเดิมครับ แปดล้านก็แปดล้าน ผมไม่หนีภาษี” แต่แล้วก็นั่งนึกเสียดายว่าภาษีตั้งห้าล้านที่อาจประหยัดได้ น่าจะเอาไปทำอะไรได้อีกมาก กระทั่งลูกน้องก็ยังบ่นว่าไม่รู้คุณกลุ้มใจจะมานั่งทำตัวเป็นพระเอกทำไม เพราะภาษีห้าล้านนั้น ต่อให้คิดว่าประเทศเสียหาย แต่เฉลี่ยแล้วก็เสียคนละไม่ถึง 10 สตางค์ ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าคุณกลุ้มใจกลุ้มใจได้ไม่นาน เพราะว่าพอถึงเวลาประเมินภาษี สุดท้ายตัวเลขประเมินก็ออกมา 2 ล้านอยู่ดี แม้จะไม่มีการจ่ายคอร์รัปชัน คุณกลุ้มใจแกก็สงสัย คิดว่าเจ้าหน้าที่ลองใจ แต่สืบเสาะไปมาก็ได้ความว่าที่เจ้าหน้าที่ไม่คิดภาษีคุณกลุ้มใจเต็มที่นั้น ไม่ใช่เพราะว่าเจ้าหน้าที่ต้องการตอบแทนความซื่อสัตย์ของคุณกลุ้มใจอย่างเรื่องรุกขเทวดากับคนผ่าฟืน แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่คิดเต็มที่ไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่าบนถนนสายนั้นทั้งสาย เจ้าหน้าที่ไปรับเงินใต้โต๊ะเขาไว้หมดแล้ว เจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่ต้องกดค่ารายปีของย่านนั้นให้ต่ำ ดังนั้น ขืนปล่อยค่ารายปีของคุณกลุ้มใจสูงโด่มาคนเดียวทั้งๆ ที่เป็นตึกอยู่ในย่านเดียวกัน ความก็จะแตกว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตในการประเมินค่ารายปี คุณกลุ้มใจจึงรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ย่างไม่น่าเชื่อ

แล้วถามว่าคุณกลุ้มใจแกกลุ้มใจอะไร ใต้โต๊ะก็ไม่ต้องจ่าย ภาษีก็เสียถูกๆ แกบอกว่า “ก็ตอนนี้ผมกลายแกะดำ ไอ้พวกเศรษฐีบนถนนสายนั้นทั้งหมด มันหาว่าผมเอาเปรียบ ทำนาบนหลังคน ไร้จิตสำนึก บางคนก็บอกว่าทุเรศ เห็นแก่ตัว จะพลอยทำให้คนอื่นเค้าเดือดร้อนกันทั้งย่าน”

นี่แหละครับ จิตสำนึกหรือศีลธรรมมันก็พิสดารอย่างนี้นี่เอง พอพูดกันมากๆ เข้า คนดีเลยรู้สึกผิด ส่วนคนโกงกลับอ้างกันสบายไปเลย ดังนั้น จะปลูกฝังจิตสำนึก ศีลธรรม ค่านิยมอะไรก็ทำกันไปเถิดครับ แต่อย่าลืมเรื่องการวางระบบกลไกอะไรต่างๆ ให้มันเป็นเรื่องเป็นราว บิดเบือนยากกว่าตรรกะเพี้ยนๆ เหล่านี้หน่อยก็แล้วกัน

ไม่อย่างนั้นก็เห็นจะ “เหมือนเดิม” อีก

แล้วคราวนี้จะบ่นว่ากลุ้มใจไม่ได้นา

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2557