ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์หนุนนโยบาย “ลดดอกเบี้ย” ดูแล “บาทอ่อน” กระตุ้นเศรษฐกิจปี ’56 โตต่อเนื่อง

สภาพัฒน์หนุนนโยบาย “ลดดอกเบี้ย” ดูแล “บาทอ่อน” กระตุ้นเศรษฐกิจปี ’56 โตต่อเนื่อง

19 กุมภาพันธ์ 2013


สภาพัฒน์ฯ แถลงจีดีพีไตรมาส 4/2555 โตพรวด 18.9% และทั้งปีขยายตัว 6.4% แต่ไม่ร้อนแรงเกินไป ยังจำเป็นต้อง “จ่ายยา” กระตุ้นเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง เลขา สศช. เสนอ “ลดดอกเบี้ย” สกัดเงินไหลเข้าระยะสั้น ดูแล “เงินบาทอ่อน” อุ้มผู้ส่งออก เพื่อดันเศรษฐกิจปีนี้โตต่อเนื่อง 4.5-5.5%

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาส 4/2555 ขยายตัว 18.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันที่จีดีพีติดลบถึง 8.9% แต่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัว 3.6% เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.1%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า จีดีพีไตรมาส 4/2555 ที่ขยายตัว 18.9% มาจากการขยายตัวเกือบทุกสาขา ทั้งอุตสาหกรรม การใช้จ่ายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ตัวเลขทุกตัวในไตรมาส 4/2555 ปรับตัวดีขึ้นมากเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงเป็นประวัติการณ์คือ 6.3 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 39.3%

“โดยรวม ไตรมาส 4 ในแง่การเติบโตไม่มีปัญหา ฐานการผลิตโดยรวมกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ปี 2556 เราจะดูแลอัตราการเติบโตให้ต่อเนื่องอย่างไร”เลขาสภาพัฒน์ฯ กล่าว

ส่วนเศรษฐกิจทั้งปี 2555 สภาพัฒน์ฯ แถลงว่า ขยายตัว 6.4% ถือว่าสูงกว่าที่หลายหน่วยงานประมาณการไว้ก่อนหน้านี้

ประมาณการจีดีพี

นายอาคมกล่าวว่า จีดีพีปี 2554 โตเพียง 0.4% ทำให้ฐานต่ำ จึงส่งผลให้ปี 2555 จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.4% เข้าสู่ภาวะปกติ และในปี 2555 จากฐานที่มั่นคง สภาพัฒน์ฯ จึงคาดว่าในปี 2556 เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.5% ซึ่งในแง่ของการเติบโต สภาพัฒน์ฯ เชื่อมั่นว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเรามีการเติบโตดี เรื่องน้ำท่วมเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว มีผลกระทบชั่วขณะ แล้วเราก็กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

“เศรษฐกิจเราปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ถามว่าร้อนแรงไปหรือไม่ ก็เรียนว่า หากหักผลกระทบน้ำท่วมออกไป เศรษฐกิจเราก็อยู่ในภาวะไม่ร้อนแรงเกินไป และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคมีความจำเป็น เพราะว่าในเรื่องของมาตรการภาครัฐที่จะหมดลง และเศรษฐกิจยุโรปที่กระทบภาคส่งออกของเรา เพราะฉะนั้น ในแง่การเติบโตคิดว่าเราไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะทำให้การเติบโตของเราต่อเนื่องอย่างไร”

เลขาสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจในปี 2556 มี 4 ปัจจัย คือ

1. การบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับรายได้ของประชาชนและความเชื่อมั่น โดยวันนี้ประชาชนมีความเชื่อมั่น สังเกตจากดัชนีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น ในด้านความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นแล้วจากมาตรการของภาครัฐในการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ช่วยอย่างมากในเรื่องทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เพราะฉะนั้น คนดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนมีหลายภาคส่วน แต่หลักๆ รัฐบาลเองก็ดูแลในแง่ของมาตรการที่จะเข้าไปพยุง ไปดูแลสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพ”

2. การลงทุนภาคเอกชน ในส่วนนี้เอกชนลงทุนก็ต้องดูแลเอง แต่คนที่ไปช่วยคือธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการปล่อยเงินกู้ เพราะฉะนั้น ถ้าสถาบันการเงินปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดึงดูดเพียงพอ ความหมายคือ “ดอกเบี้ยต่ำ” ต้นทุนการลงทุนของเอกชนก็จะต่ำ แม้กระทั่งการลงทุนภาครัฐเองในส่วนที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ถ้าให้เอกชนไปหาแหล่งเงินทุนเอง เขาก็หาเงินได้ในต้นทุนที่แพงกว่าภาครัฐ

“เพราะฉะนั้น ใครที่ช่วยเข้าไปดูแลการลงทุนของภาคเอกชน ก็คือสถาบันการเงิน ตัวแปรที่สำคัญคือต้นทุนดอกเบี้ย”

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นายอาคมกล่าวว่า ถ้าให้เขาต้องปรับตัวจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าเขาต้องปรับตัวโดยหาเทคโนโลยีมาผลิต ถามว่าเขาหาแหล่งเงินทุนได้ไหม ถ้าเขาหาได้และมีต้นทุนที่ต่ำ ก็จะช่วยคืนทุนได้ในระยะเวลาไม่นานมาก

“เพราะฉะนั้น สิ่งนี้ที่ผมเรียกว่าเป็นอนาคต เวลาดูเรื่องการดูแลค่าเงิน หรืออัตราดอกเบี้ย ต้องดูในระยะยาวให้เรามั่นใจได้ว่ามี Productive Capacity เกิดขึ้น”

3. เรื่องของการใช้จ่ายของภาครัฐ รัฐบาลและภาครัฐต้องดูแลให้เม็ดเงินของรัฐบาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อกฎหมายงบประมาณผ่านแล้ว ต้องเร่งการใช้จ่ายเงิน ซึ่งจะดูทั้งเม็ดเงินที่ออกไปและการประหยัด คือ ดูแลว่าเราต้องได้ของที่ดีในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่ได้ของราคาที่สูงจนเกินเหตุ

“เพราะฉะนั้น การดูแลเม็ดเงินของภาครัฐให้ออกสู่ระบบ จะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก แม้สัดส่วนการใช้เงินของภาครัฐต่อระบบเศรษฐกิจจะมีประมาณ 20% ซึ่งไม่มาก แต่มีส่วนช่วยมาก”

4. การส่งออก ตัวแปรที่สำคัญคือ เรื่องของ “ค่าเงิน” เพราะฉะนั้น ใครที่เป็นผู้ช่วยดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพ คงต้องช่วยกันดูให้มีเสถียรภาพเพียงพอ เราพูดว่าการส่งออกไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าเงินเพียงอย่างเดียว แต่ก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดความได้เปรียบ และความได้เปรียบของภาคการส่งออกต้องมาจากประสิทธิภาพและต้นทุนที่ถูกกว่าเขา

เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตเพื่อส่งออกต้องปรับตัวให้สินค้ามีคุณภาพ และมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศที่แข่งกับเรา

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ประมาณการส่งออกทั้งปี 2556 จะขยายตัวได้ 11% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกขยายตัว 9%

“ก็อยากจะเรียนว่า ผู้ที่ดูแลทั้ง 4 ปัจจัย ต้องดูแลให้ความมั่นใจกับระบบเศรษฐกิจในปี 2556 ให้สามารถที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ใครดูแลอะไรก็ช่วยกันดู และร่วมกันช่วยกันคิด ช่วยกันออกมาตรการ”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ

นายอาคมกล่าวว่า ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2556 เชื่อว่ากำลังซื้อภายในประเทศคงมีต่อเนื่อง แต่ปัจจัยที่ต้องหนุนเติมเข้าไปคือการส่งออก ซึ่งปีที่แล้วอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำ ถ้าเป็นตัวเลขกระทรวงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 5% ถ้าเป็นตัวเลขที่อยู่ในดุลการชำระเงินก็เพิ่มขึ้น 3.2% ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำ เพราะฉะนั้น แรงจากด้านภาคการส่งออกต้องมาช่วย เพื่อให้เศรษฐกิจเราขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าจะให้ภาคการส่งออกช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ ต้องดูแลค่าเงินบาทให้มั่นคง การที่จะแข็งขึ้นหรืออ่อนลงคงไม่เป็นปัญหาเท่าไร ค่าเงินบาทแข็งเราเคยเผชิญมาแล้ว ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวต่อเนื่อง แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน ไม่แกว่งไกวมากเกินไป จนทำให้ธุรกิจไม่สามารถคำนวณต้นทุนธุรกิจของตัวเองได้ ในขณะเดียวกัน การดูแลค่าเงินบาท ก็ต้องดูแลในเรื่องของอนาคตด้วย

นายอาคมกล่าวว่า ประเด็นที่ผมอยากพูดคือ วันนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลังน้ำท่วม เราเพิ่งเริ่มเข้าสู่หมวดปกติ แต่การเข้าสู่หมวดปกติได้นั้น เราต้องมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของเราจะโตได้ 4-5% หรือ 5-6% ในระยะยาว

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจำเป็นอยู่ในเวลานี้คือว่า เรายังต้องการเม็ดเงินลงทุนทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ เพื่อสร้างกำลังการผลิตใหม่ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน 10-20 ปีข้างหน้า เพราะขณะนี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวเราเริ่มมีข้อจำกัด มีปัญหาคอขวดในหลายๆ จุด อย่างเรื่องโลจิสติกส์ เรามีต้นทุนสูงถึง 15% ดังนั้น ต้นทุนการย้ายจากระบบการขนส่งจากระบบถนนมาสู่ระบบรางถือเป็นความจำเป็นของประเทศที่ต้องดูในอนาคต

“เพราะฉะนั้น การดูแลค่าเงินบาทต้องดูแลในอนาคตด้วยว่า เราจะมั่นใจได้แค่ไหนว่าเศรษฐกิจของเราจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ก็อยากให้ดูตรงนี้เพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต เราคงไม่ดูแลเฉพาะปัจจุบัน เพราะอย่าลืมว่า การดูแลค่าเงินบาทวันนี้จะช่วยภาคการส่งออก ก็มีมาตรการดูแลหลายอย่าง มาตรการเรื่องอัตราดอกเบี้ยก็เป็นส่วนหนึ่ง แม้กระทั่งในเรื่องของการเข้าไปแทรกแซง ซึ่งเราก็เคยทำแล้วในปี 2553 มาตรการตรงนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย เราคงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี และมาตรการภาษีคงต้องเข้ามาช่วยดูด้วย ส่วนมาตรการยาฉีดรุนแรงคงไม่จำเป็นต้องใช้ เราก็มีประสบการณ์อยู่แล้ว”

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า เมื่อเงินบาทแข็ง แน่นอนที่สุด สินค้าที่เราผลิตในประเทศใช้วัตถุดิบในประเทศจะเสียเปรียบในแง่ต้นทุน เพราะฉะนั้นต้องดูว่า ถ้าบาทมีเสถียรภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปี 2554 หรือก่อนหน้านั้น ภาคเอกชนก็ตัดสินใจเรื่องการผลิตได้ บาทอ่อนลงไปนิดหนึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการโดยทั่วไปที่ส่งออกจะได้ประโยชน์มากที่สุด

เพราะฉะนั้น การดูแลเรื่องตรงนี้ นายอาคมย้ำว่า ต้องเข้าใจว่าบาทแข็งเกิดจากอะไร ถ้าเกิดขึ้นจากพื้นฐานเศรษฐกิจ ก็คิดว่าพื้นฐานของเราก็ดีอยู่ แต่คำถามคือว่า พื้นฐานเศรษฐกิจของเราเติบโตมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือไม่ ซึ่งประสิทธิภาพการผลิตของเรายังมีช่องที่จะปรับปรุงได้มากขึ้น ถ้าเงินบาทแข็งขึ้นสะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็ไม่มีปัญหาอะไรทุกคนก็ต้องปรับตัว

แต่หากบาทแข็งขึ้นมาผิดปกติไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเวลานี้มหาอำนาจทั่วโลกเร่งปั๊มเงินออกมา เงินที่ไม่สามารถไปลงทุนในธุรกิจได้ก็ไหลออกมาข้างนอก เข้ามาที่ตลาดเอเชีย เพราะเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ แต่ตลาดเอเชียก็มีทั้งประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจดีและพื้นฐานไม่เข้มแข็ง ก็ต้องไปดูว่า ประเทศที่ไม่เข้มแข็งเขามีมาตรการดูแลอย่างไร

ถ้าสังเกตดูค่าเงินบาทของเรา ถ้าเทียบกับภูมิภาคต้องเทียบกับคู่แข่งของเรา จะพบว่าแม้ทุกสกุลจะแข็งขึ้น แต่เงินบาทเราจะแข็งกว่าอยู่ที่ประมาณ 2.7% เพราะฉะนั้น ต้องดูว่าสินค้าที่เราจะแข่งกับกลุ่มพวกนี้ เขามีต้นทุนเรื่องค่าเงินของเขาแพงขึ้นหรือไม่เท่าไร สังเกตดู ค่าเงินมาเลเซียกับอินโดนีเซียเขาได้เปรียบเรา เพราะฉะนั้น ต้องดูคู่ขนานไปกับกลุ่มอาเซียน และก็ต้องดูว่าสินค้าของเราประเภทไหนเราแข่งกับใคร และในเรื่องของเงินบาทแข็งมาจากเรื่องอะไร มาจากเงินร้อน ก็ต้องมีมาตรการเข้าไปดูแลตรงนี้

“ในหลายประเทศไม่ใช้เรื่องของมาตรการดอกเบี้ยเพียงด้านเดียว แต่ใช้มาตรการอื่นผสมผสานกันไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราแทรกแซงค่าเงิน เรามีต้นทุนแน่นอน แต่ถ้าหากดูมาตรการที่ทำได้เร็ว ดอกเบี้ยคงทำได้เร็ว อาจมีผลในเรื่องของการจำกัด เพราะดอกเบี้ยที่ไหนสูงก็ไปที่นั่น แต่ ธปท. เอาดอกเบี้ยไปผูกกับเงินเฟ้อ ก็เลยไม่ได้ดูแลภาคส่งออก”

อย่างไรก็ตาม นายอาคมย้ำว่า “ยาแรงคงไม่ใช้” เรื่องนี้อยู่ที่ผู้มีหน้าที่ของการดูแลค่าเงินตรงนี้ คงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

นายอาคมย้ำว่า เวลาบาทแข็งก็มีทั้งผลดีและผลไม่ดี แต่โดยรวมน่าจะมีผลทางด้านลบมากกว่า ถามว่าคนที่ได้ผลทางด้านบวก อย่างที่พูดมาตลอดช่วงบาทขึ้นจาก 25 บาทเป็น 45 บาท และลงมา 30 บาท ต้องรู้จักป้องกันความเสี่ยง หรือต้องรู้จักเรื่องของการฉวยโอกาสในช่วงบาทแข็งระยะสั้นๆ ให้เป็นประโยชน์ที่สุด ขณะที่ถ้าเงินบาทอ่อนจะได้ประโยชน์มากกว่า แน่นอนที่สุดคือภาคการส่งออกได้ประโยชน์ทั่วหน้า รวมถึงเอสเอ็มอีก็ได้ประโยชน์ได้ด้วย

ค่าเงิน

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2556 จะเห็นว่า ในประเทศแถบนี้บางประเทศสกุลเงินไม่ได้แข็งค่า และบางสกุลก็ทรงตัว แต่เงินบาทแข็งค่าขึ้นไป 2.7% ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า มีแรงกดดันให้เงินเราผันผันผวนมากกว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แทนที่เงินบาทจะเปลี่ยนแปลงตามภูมิภาค

“สภาพัฒน์ฯ เป็นห่วงเรื่องเงินทุนไหลเข้าส่งผลเงินบาทแข็ง กระทบผู้ส่งออก ดังนั้น ควรมีการลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น โดยการประกาศให้ชัดเจนว่าจะลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราต้องการชะลอเงินทุนระยะสั้น”

นอกจากนี้ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า แม้จีดีพีปี 2555 จะขยายตัว 6.4% แต่เป็นผลของฐานที่ต่ำถึง 1 ใน 3 และหากมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศหมดไป การจะให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็นในอัตรา 5% ในระยะยาว จึงมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตต่อเนื่อง

“ปัจจุบัน การขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่เต็มที่ และไม่ใช่ลักษณะฟองสบู่ หรือหากมีก็เป็นจุดๆ ที่สามารถดูแลแก้ไขเฉพาะจุดได้โดยไม่ต้องใช้ดอกเบี้ย” ดร.ปรเมธีกล่าว