ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปตท. เข็น ”โครงการบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2” แก้หนี้เน่าแท็กซี่ สามล้อ กว่า 4,000 ราย 7 เดือน เบี้ยวหนี้ 6.7 ล้านบาท

ปตท. เข็น ”โครงการบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2” แก้หนี้เน่าแท็กซี่ สามล้อ กว่า 4,000 ราย 7 เดือน เบี้ยวหนี้ 6.7 ล้านบาท

19 กันยายน 2012


ที่มา: http://pttweb2.pttplc.com/webngv/Files/NgvProj/img/521_001.jpg
ที่มา: http://pttweb2.pttplc.com/webngv/Files/NgvProj/img/521_001.jpg

ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศนโยบายลอยตัวราคาพลังงาน ด้วยการทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ไปจนถึงสิ้นปี 2555 และเพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และลดกระแสต่อต้านการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี

วันที่ 1 ธันวาคม 2554 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำบัตรเครดิตพลังงานพร้อมกับบัตรส่วนลดไปแจกให้กับคนขับรถแท็กซี่ รถสามล้อ และรถตู้ร่วมบริการ ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยมีผู้ได้รับบัตรเครดิตพลังงานไปทั้งสิ้น 22,800 ราย และบัตรส่วนลดอีก 85,000 ราย

ปรากฏว่า ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ปตท. ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้เสีย สมาชิกบัตรเครดิตพลังงานกว่า 4,000 ราย นำบัตรเครดิตไปรูดเติมก๊าซเอ็นจีวีแล้วไม่จ่ายเงินกับธนาคารกรุงไทยภายใน 60 วัน ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ยังคงได้รับสิทธินำบัตรส่วนลดไปใช้ในการเติมก๊าซเอ็นจีวีได้รับส่วนลดกิโลกรัมละ 2 บาทด้วย

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้น และส่งเสริมสมาชิกผู้ถือบัตรที่เป็นคนดีมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน วันที่ 15 สิงหาคม 2555 ปตท. เปิดตัว “โครงการบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2” โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์มากมายให้แก่สมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตพลังงาน พร้อมกับขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นำบัตรเครดิตพลังงานไปรูดและใช้เป็นส่วนลดในการเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์

นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการบัตรเครดิตพลังงานของ ปตท. มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 6.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของวงเงินที่ให้เครดิตทั้งหมด ปัญหาคือ มีผู้ถือบัตรบางรายนำบัตรเครดิตไปรูดเติมก๊าซเอ็นจีวีแล้วไม่มาชำระหนี้ แถมยังนำบัตรส่วนลดไปเติมก๊าซเอ็นจีวีแล้วได้ส่วนลดอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้น ปตท. จึงตัดสินใจเปลี่ยนระบบใหม่ โดยนำ “บัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2” มาใช้แทนบัตรเครดิตพลังงานรูปแบบเดิม ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป

บัตรเครดิตพลังงานรูปแบบใหม่ จะรวมบัตรเครดิตพลังงานกับบัตรส่วนลดที่ใช้ในการเติมก๊าซไว้ในบัตรเดียวกัน วงเงินเครดิตเริ่มต้นที่ 3,000 บาท เงื่อนไขเดิมกำหนดให้ผู้ถือบัตรต้องนำเงินมาชำระหนี้กับธนาคารกรุงไทยภายใน 30 วัน แต่เงื่อนไขใหม่ขยายเป็น 45 วัน สามารถชำระหนี้ผ่านร้านค้าที่มีเครื่องหมายเคาน์เตอร์เซอร์วิสและสาขาของธนาคารกรุงไทยได้

หากสมาชิกผู้ถือบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 นำเงินมาชำระหนี้ตรงตามกำหนดระยะเวลาต่อเนื่องเป็นเวลา 10 เดือน ปตท. จะขยายวงเงินเครดิตเป็น 5,000 บาท แต่หากผู้ถือบัตรทำผิดเงื่อนไข ไม่นำเงินมาชำระหนี้ สมาชิกผู้ถือบัตรจะนำบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 ไปใช้เป็นส่วนลดในการเติมก๊าซเอ็นจีวีไม่ได้

“ส่วนลด 2 บาทต่อกิโลกรัม ที่ ปตท. มอบให้กับผู้ถือบัตร สำหรับคนขับแท็กซี่ สามล้อ รถตู้ ถือว่ามีความหมายมาก เพราะสามารถเป็นส่วนลดในการเติมเอ็นจีวีไปจนถึงสิ้นปี 2558 คิดเป็นเม็ดเงินหลายหมื่นบาท เชื่อว่าวิธีใหม่นี้จะบังคับให้ลูกค้าประพฤติตัวดีขึ้น ระบบใหม่ที่ ปตท. นำมาใช้คือเราต้องการสนับสนุนคนดี นอกจากจะได้รับส่วนลด 2 บาทแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์หรือโปรโมชั่นอื่นๆ ที่ ปตท. กำลังทยอยออกมาอีกหลายรายการ เช่น ใช้บัตรเครดิตเป็นส่วนลดในการซื้อผลิตภัณฑ์ของ ปตท. หรือชิงโชค เป็นต้น” นายเติมชัยกล่าว

นายเติมชัยกล่าวต่อไปอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป สมาชิกบัตรเครดิตพลังงานเดิมจะนำบัตรส่วนลดไปใช้เติมเอ็นจีวีไม่ได้แล้ว เพราะจะถูกยกเลิกทั้งหมด ส่วนผู้ขับขี่รถแท็กซี่ สามล้อ และรถตู้ที่จะเข้าร่วมโครงการบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 ยื่นใบสมัครได้ที่เจเจมอลล์ จตุจักร แต่ผู้สมัครต้องชำระหนี้เก่าก่อนจะมารับบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 ซึ่งตามระเบียบเดิมกำหนดว่า ต้องนำเงินมาชำระหนี้ที่ติดค้างเต็มจำนวน ตอนนี้ ปตท. อนุโลมให้สมาชิกบัตรเครดิตพลังงานเลือกผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำอย่างน้อย 10% ของยอดหนี้ค้างชำระได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่องวด

“แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับบัตรเครดิตพลังงานยกกำลัง 2 อย่างเช่น กลุ่มผู้ประกอบการรถบัส ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ต้องการใช้บัตรเครดิตพลังงาน กลุ่มนี้ ปตท. คงต้องใช้บัตรส่วนลดต่อไป”นายเติมชัยกล่าว

ส่วนเครื่องรูดบัตรบัตรเครดิต คงต้องเปลี่ยนใหม่หมด เพราะเครื่องรูดบัตรรุ่นเก่าจะอ่านข้อมูลไม่ได้ ซึ่งในขณะนี้ ปตท. กำลังประสานงานไปยังธนาคารกรุงไทย ให้นำเครื่องรูดบัตรมาติดตั้งที่สถานีบริการทุกแห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“โครงการนี้ รัฐบาลต้องการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มคนขับแท็กซี่ สามล้อ รถตู้ และวินมอเตอร์ไซค์ และที่สำคัญ ต้องการสนับสนุนคนดีให้มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน หากคนกลุ่มนี้สามารถรักษาเครดิตของเขาเอาไว้ได้ ในอนาคตรัฐบาลอาจจะใช้ฐานข้อมูลเครดิตของคนกลุ่มนี้ไปทำโครงการอื่นๆ ต่อไป เช่น ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซื้อรถ หรือใช้เป็นทุนหมุนเวียน เป็นต้น” นายเติมชัยกล่าว