ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาคเอกชน-นักวิชาการ จับตาโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน แนะรัฐต้องทำ TOR ให้ชัดเจน โปร่งใส ไม่ข้ามขั้นตอน

ภาคเอกชน-นักวิชาการ จับตาโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน แนะรัฐต้องทำ TOR ให้ชัดเจน โปร่งใส ไม่ข้ามขั้นตอน

11 สิงหาคม 2012


งานเสวนา “งบน้ำท่วม 350,000 ล้านบาท...รวดเร็ว คุ้มค่า โปร่งใส?” โดยภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
งานเสวนา “งบน้ำท่วม 350,000 ล้านบาท…รวดเร็ว คุ้มค่า โปร่งใส?” โดยภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

หลังจากที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เชิญนักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอกอัครราชทูต และสื่อมวลชน มารับฟังรายละเอียดโครงการเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) ออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ภายในวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555

หลักการสำคัญของโครงการเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) ที่มีการพูดถึงคือ ผู้ที่สนใจจะต้องจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอกรอบแนวคิด ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และครอบคลุมไปถึงแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอื่นๆ โดยผู้เสนอผลงานต้องเคยมีผลงานออกแบบระบบและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท หรือถ้าผู้ยื่นเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่มารวมกัน สามารถนำผลงานที่เคยทำมาแล้วที่มีมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท มาคิดรวมกันได้ โดยรัฐบาลไทยจะพิจารณาข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการนับจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 มีดังนี้

1. ผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลงานต้องยื่นเอกสารประวัติการทำงาน คุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2555

2. คณะกรรมการคัดเลือกโครงการจะตรวจสอบและแจ้งผลการคัดเลือกภายในวันที่ 24 กันยายน 2555

3. บริษัทที่ผ่านการตรวจสอบมีเวลา 3 เดือนในการส่งรายงานกรอบความคิด โดยจะต้องส่งร่างเอกสารก่อนวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555

และ 4. คณะกรรมการคัดเลือกฯ สัมภาษณ์ และส่งเอกสารฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2555 หลังจากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกและประกาศผลคัดเลือกภายในวันที่ 31 มกราคม 2556

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงได้จัดงานเสวนา “งบน้ำท่วม 350,000 ล้านบาท…รวดเร็ว คุ้มค่า โปร่งใส?” ขึ้น เพื่อเปิดประเด็นและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ในโครงการก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ร่วมเป็นวิทยากร

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ

ในงานเสวนา รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ ได้เปิดเผยว่า กลุ่มวิชาชีพก่อสร้างมีความเป็นห่วง และจะเฝ้าติดตามเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเปิดเผยข้อมูลของโครงการนี้ว่า มีลักษณะเป็นประกาศ “ประชาสัมพันธ์” ไม่ใช่ TOR โดยเป็นสัญญาจ้างผู้รับเหมา ที่มีลักษณะเป็นการจ้างผู้รับเหมาพร้อมการออกแบบและก่อสร้าง หรือ Turnkey ที่มีปัญหาว่า หากเขียนสิ่งที่ต้องการไม่ชัดเจน อาจจะได้ของที่ผิดกับวัตถุประสงค์ ราคาแพง และไม่ตรงกับความต้องการ

นายต่อตระกูลเสนอว่า กรอบที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่เพียงพอ รายละเอียดในเบื้องต้นต้องมีมากกว่านี้ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องมีที่ปรึกษา หรือมีข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถมาเขียน TOR ที่แท้จริงออกมาก่อน แล้วจึงให้ต่างชาติเข้ามาเสนอโครงการ เนื่องจากระยะเวลาที่มี 2 เดือน ต่างชาติจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องประเทศไทย นอกเสียจากจะมีการมาเก็บข้อมูลก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้นายต่อตระกูลยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ระยะเวลาที่มีเพียง 3 เดือน เมื่อเทียบกับงบประมาณที่มี 3.5 แสนล้าน ถือว่าเป็นเวลาที่สั้นมาก ไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่รู้ช้า และการไม่กำหนดเป็น TOR ทำให้วิธีการตัดสินไม่มีความชัดเจน โดยได้ยกตัวอย่างวิธีการอนุมัติโครงการของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ที่ในขั้นตอนการอนุมัติ จะต้องมีการศึกษา และมีที่ปรึกษาโครงการ

“ในเชิงวิศวกรรม มองเห็นว่ากรมชลประทานมีอิทธิพลกับโครงการนี้มาก เห็นได้จากเขื่อนต่างๆ ที่ยังมีปัญหาไม่เคยสร้างได้ เช่น เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น อาจสามารถสร้างได้ในคราวนี้ จากการยกเว้นต่างๆ เช่น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างของ ป.ป.ช. ยกเว้นการประมูลออนไลน์ โดยอ้างเรื่องความเร่งด่วน ซึ่งความเร่งด่วนนี้จะเป็นตัวเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ โดยส่วนตัวผมอยากให้โครงการนี้สำเร็จ และอยากให้คนไทยได้มีโอกาสทำงาน เพราะเป็นเงินของเราเอง” นายต่อตระกูลกล่าว

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า งานนี้ไม่ควรเป็นโครงการแบบ Turnkey หรืองานแบบ Design Build เพราะงานบริหารจัดการน้ำ เป็นงานที่ต้องผสมผสาน (combination) กัน มีการทำอ่าง ทำคัน ขุดลอกต่างๆ ซึ่งการจะทำให้เกิดการผสมผสานโครงการที่ดีที่สุดได้ เวลา 3 เดือนไม่มีใครสามารถทำได้ และหากต่างชาติเพิ่งเข้ามาทำก็จะทำไม่ได้ ต้องให้คนไทยทำเพราะมีข้อมูลอยู่แล้ว

“การที่ผมอยู่ใน กยน. ก็สามารถบอกได้ว่า กยน. ไม่ได้กำหนดว่าทางออกที่ดีที่สุดคืออะไร และเงิน 3.5 แสนล้านบาท ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างถาวร เพราะในวงการบริหารจัดการภัยพิบัติไม่มีพิมพ์เขียว ดังนั้น TOR จึงต้องมีความยืดหยุ่น และต้องคำนึงเรื่องการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ในขณะที่บ้านเรากำลังคิดเรื่องสร้างพนังกั้นน้ำ แต่ต่างประเทศกำลังรื้อพนัง เพื่อหาที่ให้น้ำออก การจะคิดเรื่องนี้ให้ยั่งยืน มองแค่ 20 ปี อาจไม่พอ” รศ.ดร.เสรีกล่าว

ขณะนี้สิ่งที่ตนกังวลมากที่สุดคือ คำตอบของรัฐบาลที่ยังไม่ตกผลึก และโครงการแบบ Design and Build เป็นเรื่องยากที่จะคัดเลือกโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น ถ้าจะให้ได้ทางออกที่ดีที่สุด ต้องมีการศึกษา มีการให้เวลา อย่าไปกังวลว่าน้ำจะมาแล้วไปเร่งทำให้เสร็จ ในอนาคตข้างหน้าปัญหาอาจรุนแรงกว่านี้ ทั้งที่น้ำอาจจะน้อยลง แต่เป็นเพราะสภาพทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ต่างคนต่างป้องกันตัวเอง เรื่องนี้จึงต้องคิดให้ยาว คิดให้ลึก ไม่เหมือนกับการสร้างสนามบินหรือทางรถไฟ การจัดการน้ำเป็นเรื่องของการบูรณาการ

“ปัจจุบันยังไม่มีคนที่คอยรายงานและติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้าง เพราะจากข้อเท็จจริงคือ งบเร่งด่วน 1.2 แสนล้าน ที่บอกว่าจะสร้างถนนสูง 1.5 เมตร แต่ในความเป็นจริงกลับสร้างได้เพียง 0.5 เมตรเท่านั้น เนื่องจากมีความขัดแย้งในพื้นที่ รัฐจึงต้องมีมาตรการจัดการ และในการก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำตามนิคมอุตสาหกรรมที่ทำไป ก็มีปัญหาว่าประชาชนในพื้นที่ไม่เข้าใจ เนื่องจากไม่มีการสื่อสารที่ชัดเจน พอเกิดปัญหาก็มีการไปฟ้องศาล ทำให้เรื่องยุ่งยากมากขึ้นไปอีก ส่วนการประเมินสถานการณ์ปีนี้เป็นเรื่องยากมาก เพราะการขุดลอกคูคลองไม่สามารถประเมินไม่ได้ เนื่องจากไม่มีระบบการจัดการที่ชัดเจน ทำให้ขุดไปเท่าไรก็ไม่มีใครรู้” รศ.ดร.เสรีกล่าว

นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

ต่อมา นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่าโครงการนี้ผลประโยชน์ควรตกกับผู้ประกอบการไทย โดยได้แสดงความกังวลว่า ขณะนี้ยังมีความล่าช้าในการเข้าถึงงบประมาณในพื้นที่ต่างจังหวัด และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานตามแผนที่ได้วางไว้ โดยงบประมาณเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันอุทกภัย ในส่วนของงบกลาง ยังขาดความชัดเจน และพบการขุดลอกคูคลองใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดที่มีความไม่ชอบมาพากล

“โดยหอการค้าเสนอตัวที่จะเป็นเครือข่ายในการสนับสนุนการดำเนินโครงการของรัฐบาล และจะช่วยในการจับตา เฝ้าเตือนภัยแจ้งข้อมูลเบาะแส ติดตามการทุจริตคอร์รัปชันในทุกภาคส่วน เพื่อให้ทั้งกระบวนการทำงานมีความโปร่งใสชัดเจน และให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม” นายสมเกียรติกล่าว

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ระบุถึงปัญหาเรื่องน้ำว่า นอกจากเรื่องน้ำท่วม ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง แต่ขณะนี้เราไปให้ความสนใจกับน้ำท่วม แต่ปัญหาคือก่อนหน้านี้ค่าเฉลี่ยความเสียหายของน้ำท่วมอยู่ที่ประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท แต่เรานำตัวเลขความเสียหายเมื่อปีที่แล้ว 1.4 ล้านบาทมาคิด ทำให้เราไม่ได้พิจารณาถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ

โดยนายเจนได้ตังข้อสังเกตถึงการใช้งบประมาณของแผนระยะสั้นว่า การขุดลอกคูคลอง มีการประเมิน มีการติดตามผล หรือมีกลไกที่จะประเมินถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ โดยในส่วนแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 3 แสนล้านบาท ที่มี 8 แผนงาน นายเจนได้วิเคราะห์ และตั้งข้อสังเกตว่า

1. แผนงานฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศนั้นตนเห็นด้วย แต่ต้องมีการกำหนดมาตรฐานและประเมินประสิทธิภาพให้ชัดเจน ว่าป่าที่จะอนุรักษ์ควรเป็นป่าแบบใด เช่น ถ้าไปทำป่าสวนยางก็จะมีปัญหา เพราะไม่สามารถชะลอน้ำได้ และต้นทุนต่อพื้นที่ที่เข้าไปทำ มีความคุ้มค่าหรือไม่ จะมีการประเมินอย่างไร

2. แผนการจัดการเขื่อนขนาดใหญ่ จะเปรียบเทียบความคุ้มค่าอย่างไร ให้ความสนใจอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งด้วยหรือไม่

3. แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิมหรือตามแผนที่วางไว้ สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีการทำผังเมืองเสร็จแล้ว รัฐจะสามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามแผนได้อย่างไร

4. แผนงานพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย ต้องมีการพัฒนาให้สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

5. แผนงานเผชิญเหตุการณ์ฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่ ตนถือว่าเป็นจุดสำคัญที่สุด ที่ต้องมีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก่อนมีการก่อสร้าง ต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน และการก่อสร้างคันกั้นน้ำต่างๆ ตนสนับสนุนให้คิดเรื่องการสนับสนุนลอจิสติกส์เข้าไปด้วย เช่น แทนที่จะสร้างคันเป็นถนน ก็สร้างเป็นรางรถไฟเพื่อใช้ในการขนส่งแทน

6. แผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา จะต้องมีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจปัญหา และมีการชดเชยที่เป็นธรรม ไม่ใช่การโปรยเงินเพื่อเป็นฐานเสียงทางการเมือง

7. แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ ตนเห็นด้วย แต่เรื่องนี้ตามแผนเป็นการใช้งบปกติ

8. แผนงานสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และด้านตัวแทนจากภาครัฐ ที่มาร่วมการเสวนาในวันนี้คือ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายว่า การประกาศเรื่องโครงการก่อนหน้านี้ เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูล ยังไม่มีผลผูกพันใดๆ เนื่องจากโครงการนี้แบ่งสัญญาออกเป็น 3 ช่วง คือ 1. วางแผน 2. ออกแบบ และ 3. ก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้าง จึงยังไม่มีเงื่อนไขว่าจะจ้าง เป็นแค่การเสนอแนวคิดกว้างๆ โดยการเสนอโครงการ หากมีบริษัทที่เสนอโครงการแตกต่างจากแผนที่รัฐบาลวางไว้เบื้องต้น ก็อาจได้รับการคัดเลือก หากพบว่าแผนนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ในงบประมาณที่กำหนด และเมื่อได้แนวคิดมาจึงมาทำเป็น TOR โดยแนวคิดของบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกในขั้นตอนการวางแผน เมื่อถึงขั้นตอนการก่อสร้าง อาจเป็นคนละบริษัทก็ได้

“เรื่องการมีที่ปรึกษาโครงการก่อนออก TOR ขณะนี้เรากำลังทำแบบนั้น แต่เอกสารที่ออกมาก่อน ตามที่มีเห็นกัน ออกมาเพื่อเป็นตัวคัดกรองให้ผู้ที่เข้ามามีความน่าเชื่อถือ จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้มีประสบการณ์ หรือการกำหนดเงินขั้นต่ำเข้ามา แต่ตอนนี้ไม่มีการผูกพันสัญญาหรือจัดจ้างใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อได้แนวคิดมาเราจะทำ TOR อีกครั้งหนึ่ง” นายสุพจน์กล่าว

ส่วนเรื่องระยะเวลาที่บอกว่าสั้นไป นายสุพจน์อธิบายว่า ในความเป็นจริง แค่ 3 เดือนไม่เพียงพอต่อการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ แต่ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคือ การขอแนวคิด (Conceptual Plan) โดยที่ยังไม่ได้ทำอะไร ส่วนการทำ TOR หรือคัดเลือกโครงการ ก็จะทำหลังเดือน ม.ค. ปีหน้า ที่คนกลัวว่า 3 เดือนเลือกได้แล้วจะต้องมาทำเลย ก็คือยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีการทำประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือบางโครงการ เช่น แก่งเสือเต้น ที่มีแบบแล้ว มี EIA แล้ว แต่ของที่มีมันเก่าแล้ว ก็ต้องทบทวนใหม่ ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่ถึงขั้นที่เป็นห่วงกัน

“ส่วนประเด็นเรื่องการยกเว้นกฎกติกาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตอนนี้ ครม. ยังไม่มีการอนุมัติให้มีการยกเว้น พรบ. ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ แต่กำลังให้กฤษฎีกาดูอยู่ว่า จะสามารถปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องได้อย่างไรบ้าง แต่แน่นอนว่าไม่มีการยกเลิกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งฉบับ และในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่มีการยกเว้นเช่นกัน เพราะแผนนี้เป็นแผนระยะยาวหลายสิบปี หากมีการอนุมัติแล้วกว่าจะเริ่มสร้างได้จริงก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ส่วนเรื่องความโปร่ง รัฐบาลจะพยายามนำข้อมูลทั้งหมดขึ้นเว็บไซต์ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปลายเดือนนี้” นายสุพจน์กล่าว