ThaiPublica > เกาะกระแส > สถาบันอนาคตไทยศึกษาตรวจสอบ KPI ของไทยควรเป็นอะไร! ถ้าอนาคตไทย เราเลือกได้

สถาบันอนาคตไทยศึกษาตรวจสอบ KPI ของไทยควรเป็นอะไร! ถ้าอนาคตไทย เราเลือกได้

1 สิงหาคม 2012


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand at the Crossroads : อนาคตไทย…เราเลือกได้” โดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ผูอำนวยการสถาบันฯ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เพื่ออนาคตเรา: KPI ของไทยควรเป็นอะไร?”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า โจทย์อันสำคัญของสถาบันคือ ทำอย่างไรให้เรา ประชาชน เอกชน รัฐ สื่อมวลชน ใส่ใจเรื่องระยะยาวมากกว่าเรื่องเฉพาะหน้าและเรื่องระยะสั้น สถาบันพยายามหาวิธีทำเรื่องอนาคตเรื่องระยาวให้จับต้องได้ โดยเป็นรูปธรรมที่วัดได้ แปลงเป็นตัวเลขได้ แปลงเป็นเคพีไอหรือตัวชี้วัดได้ วันนี้เราพยายามระบุว่าเคพีไอของไทยควรเป็นอะไร

ลองนึกภาพว่าถ้าเราเป็นผู้ถือหุ้น เป็นบอร์ดของบริษัท หากเราต้องการให้ซีอีโอหรือผู้บริหารบริษัทใส่ใจเรื่องระยาว เราก็ต้องหาวิธีเอาเรื่องระยะยาวพวกนี้ใส่ในเคพีไอของเขา หากเรามัวแต่เน้นเรื่องเคพีไอ เช่น กำไรระยะสั้น ซีอีโอคงเน้นแต่การตัดรายจ่ายต่างๆ อาทิ การตัดงบฝึกอบรมบุคลากร ตัดงบการพัฒนาศึกษาวิจัย ทำให้กำไรระยะสั้นดูดีจริง แต่สิ่งที่ทำ ทำให้อนาคตบริษัทดูไม่ดี

เช่นเดียวกัน หากเราในฐานะผู้ถือหุ้นของประเทศ ต้องการให้ซีอีโอของประเทศใส่ใจเรื่องระยะยาว เราต้องเอาเรื่องพวกนี้ใส่เข้าไปในเคพีไอให้เขา ตัวเลขที่คนสนใจหรือปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยสุด (ซึ่งมักใช้วัดฝีมือของรัฐบาล) คือจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือจีดีพีไม่ได้มีนัยยะเรื่องปากท้อง เรื่องรายได้ของคน

ทั้งนี้ ถ้าดูตัวเลขจีดีพีย้อนหลัง 10 ปี ณ ราคาคงที่ หักเงินเฟ้อออกไป จีดีพีมีการเติบโตรวมกัน 50% แต่ขณะเดียวกัน 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงหรือรายได้ที่แท้จริงหักเงินเฟ้อแล้วไม่โตเลย ดังนั้น สื่อว่าเรื่องจีดีพีที่เราใส่ใจมาตลอดว่าจีดีพีไตรมาสหน้า/ปีหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่ค่อยมีนัยยะ ไม่ค่อยมีผลต่ออนาคตของเรา

เหตุผลที่มองว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้าหากเราใส่ใจเรื่องระยะสั้น นโยบายที่เราจะทำมันจะออกมาเป็นเรื่องระยะสั้น คือเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องลดแลกแจกแถม ให้เศรษฐกิจดูดี แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะทำลายเรื่องอนาคตเราได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือโครงสร้างงบประมาณของประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างรายจ่ายที่ลดได้ยาก เช่น เงินโอนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น งบเงินเดือนข้าราชการ เงินที่จะต้องชำระหนี้ งบประชานิยมต่างๆ รวมแล้วคิดเป็นเงินประมาณ 76% ของงบประมาณรายได้แต่ละปี ทำให้เหลืองบลงทุนค่อนข้างน้อย และเป็นที่ทราบกันดีว่า ยิ่งนับว่างบประชานิยมค่อนข้างบานขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทรัพยากรที่มีน้อยของประเทศที่จะไปทำเรื่องอนาคตก็ยิ่งน้อยลงไป

ดังนั้น หากเราไม่ต้องการให้ซีอีโอหรือผู้บริหารใส่ใจเรื่องระยะสั้นมากนัก ก็ต้องกำหนดเคพีไอให้ผู้บริหาร แต่เคพีไอระยะยาวจะเป็นอะไรนั้น ดร.นิตินัยกล่าวว่า หากเรามองอะไรสั้นๆ นโยบายก็จะออกมาเป็นอะไรที่สั้นๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตไทยศึกษา

ในทางกลับกัน เคพีไอระยะยาวเราควรมองเป็นอะไร เป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่า เสาหลักที่พัฒนาประเทศ 4 เสา ที่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนจะต้องมีคือ

1. คน ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง

2. ภาคสาธารณะต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอ และมีการบริหารจัดการที่ดี

3. ภาคเอกชนที่ต้องมีความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่

4. โครงการสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ต่างๆ

สิ่งที่พูดมาเหล่านี้ดูเหมือนจะจับต้องไม่ได้ ดูเหมือนเป็นนามธรรม แต่จริงๆ แล้วจับต้องได้ เช่น หากดูการว่างงานของประเทศไทยอยู่แค่ 1% ถึงต่ำมาตลอด หลายท่านตกใจว่าทำไมประเทศมีการว่างงานค่อนข้างต่ำ หากดูโครงสร้างแรงงานจะพบว่า 40% ของประชากรวัยทำงานอยู่ในภาคการเกษตร เพราะฉะนั้น พวกที่ตกงานในเมืองมีโอกาสที่จะไปในภาคการเกษตร

แต่ในทางกลับกัน เด็กยุคใหม่หรือแรงงานเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 24 ปี เขาอาจจะทำไร่ทำนาไม่เป็นแล้ว พอตกงานในเมือง โอกาสที่เขาจะไปทำงานในภาคการเกษตรนั้นไม่มี การว่างงานที่อยู่ในระดับเพียง 1% เกือบครึ่งหนึ่ง 45% ในจำนวนนี้เป็นเด็กยุคใหม่เยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี

“ผมกำลังจะพูดว่า เราอาจจะดูการว่างงานอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าดูจีดีพี นโยบายเป็นการกระตุ้นจีดีพี แต่ถ้าดูการว่างงาน หากเห็นว่าว่างงานมีเพียง 1% เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการว่างงาน หรือมีนโยบายเกี่ยวกับการว่างงานค่อนข้างน้อย”

ถ้ามองลงไปลึกๆ ถึงโอกาส ประเทศไทยมีเกือบ 20 ล้านครัวเรือน มีเพียง 7 แสนครัวเรือนที่มีศักยภาพ หรือมีเงินออมเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนสูงสุดถึงขั้น ปวช.

และเมื่อเรียนจบแล้ว ถามว่ามีงานทำหรือไม่ อย่างที่บอกว่าเกือบครึ่งของคนที่ว่างงานเป็นเยาวชน

คำถามถัดมา ต่อให้มีงานทำแล้ว ได้ทำงานตรงกับวุฒิการศึกษาที่เรียนจบมาหรือไม่

คำตอบพบว่ามีแค่ 1 ใน 4 ที่ทำงานตรงกับวุฒิการศึกษา แต่ที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานระดับทักษะ เช่น ซ่อมมอเตอร์ไซด์ ซ่อมตู้เย็น ซ่อมวิทยุ แรงงานระดับนี้มีอัตรา 18.6 ล้านราย แต่จบตรงกับวุฒิการศึกษา ปวส., ปวช. จบเพียง 2 ล้านกว่าราย ที่เหลือ 14 ล้านรายทำโดยแรงงานที่จบมัธยม ซึ่งทำได้โดยการมาฝึกอบรม แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าให้มีการศึกษาแรงงานตรงสายงาน

พอแรงงานจบมาไม่ต้องกับวุฒิการศึกษา ความก้าวหน้าอยู่ตรงไหน พบว่าตัวเลข 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงที่แท้จริงเมื่อหักเงินเฟ้อออกในทุกระดับการศึกษาไม่โตขึ้นเลย

มากไปกว่านั้น ค่าแรงที่วุฒิการศึกษาสูงกว่ามัธยมตอนต้นขึ้นไป ค่าแรงที่แท้จริงติดลบ 5-10 % ด้วยซ้ำ นั่นคือโอกาสภาคประชาชน

หากผู้บริหารประเทศมองแค่การว่างงานต่ำ จึงไม่มีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานและนโยบายเกี่ยวกับการให้โอกาสแรงงาน …ไม่ได้

ในภาคสาธารณะ การบริหารจัดการที่ดีเป็นกลไกสำคัญ ช่วงหลังๆ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีปัญหาทางการเมืองมาก ครม.แต่ละชุดมีอายุการดำรงตำแหน่งแค่ 1 ปี 3 เดือน เท่านั้น กว่าจะจัดทำงบประมาณก็เกือบ 1 ปีแล้ว พอทำเสร็จ เปลี่ยนครม. ครม.อายุสั้นสุกด 75 วัน หรือแม้แต่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ

“พอเปลี่ยนสภาที กฎหมายที่กำลังอยู่ในการพิจารณาก็ล้มเลิกไปทีหนึ่ง ระยะเวลาเฉลี่ยในการออกกฏหมาย ประมาณ 800 วัน หรือ 2 ปีเศษ เราจึงไม่แปลกใจที่มีกฎหมายที่ถ่วงรั้งเศรษฐกิจ”

คณะรัฐมนตรีมีการเปลี่ยนบ่อย ตั้งแต่ปี 2002 เริ่มมี 19 กระทรวง แต่ละปีมีการเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรี 21 ตำแหน่ง มากกว่าจำนวนกระทรวงที่มีอีก

คณะที่ปรึกษาสถาบัน และวิทยากรที่มาร่วมงานสัมมนา อนาคตไทย เราเลือกได้ นั่งฟังบรยายพิเศษ ดร.เศรษฐพุฒิและ ดร.นิตินัย
คณะที่ปรึกษาสถาบัน และวิทยากรที่มาร่วมงานสัมมนา อนาคตไทย เราเลือกได้ นั่งฟังบรยายพิเศษ ดร.เศรษฐพุฒิและ ดร.นิตินัย

ในปี 2008 เรามี 3 รัฐบาล เป็นประวัติศาสตร์ มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 69 ตำแหน่ง แน่นอนว่าพอการเมืองเปลี่ยน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต่างๆ ก็มีการโยกย้ายกัน จากข้อมูล 20 จังหวัด ที่มีสัดส่วนจีดีพีประมาณ 2 ใน 3 พบว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็จะมีการโยกย้ายผู้ว่าราชการกว่าครึ่งทุกครั้ง ตัวเลขสูงสุดในปี 2009 โดยใน 20 จังหวัดหลักที่เป็นจังหวัดเศรษฐกิจใหญ่ มีการโยกย้ายผู้ว่าราชการ 17 ตำแหน่ง อายุเฉลี่ยการอยู่ในตำแหน่ง เดิมเคยอยู่ที่ 2-2 ปีครึ่ง ตอนนี้เหลือ 1 ปี 3 เดือน ลองนึกดูว่า กว่าผู้ว่าฯ จะรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนบ้างและจะต้องพัฒนาอย่างไร ก็ถูกย้ายอีกแล้ว

ดังนั้น นอกจากภาคประชาชนต้องแข็งแรง ภาคสาธารณะต้องบริหารจัดการที่ดีแล้ว ในส่วนของภาคเอกชน ฐานรากทางธุรกิจก็ค่อนข้างไม่ค่อยสมดุล หากดูตัวเลขบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า 5 บริษัทใหญ่จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดเป็น 1 ใน 5 ของภาษีนิติบุคคลที่จัดเก็บได้ทั้งประเทศ ขณะที่ 10 บริษัทใหญ่เสียภาษีประมาณ 27 % และ 15 บริษัทใหญ่เสียภาษีประมาณ 30%

“ที่ผมจะบอกคือว่า มีไม่กี่สิบบริษัทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยเราอยู่ ในทางกลับกัน เกือบ 80% หรือ 4 ใน 5 ของการจ้างงานอยู่ที่บริษัทเอสเอ็มอี และหนักหนากว่านั้น ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ที่บริษัทที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 10 คน บริษัทเหล่านี้มีอัตราการเกิด อัตราการตาย ล้มหายตายจากค่อนข้างมาก ถามว่าเราจะฝากอนาคตแรงงานอยู่กับบริษัทที่มีผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานไม่ถึง 10 คนหรือ!”

ดังนั้น 3 เสาหลัก ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคสาธารณะ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของโครงการสร้างพื้นฐานแห่งอนาคตที่เพียงพอ ตัวเลขหลายๆ ตัวเรามองกันอาจจะดูเหมือนดี อย่างการจดสิทธิบัตรนวัตกรรม เราอาจจะส่งเสริมให้มีการจดสิทธิบัตร เสมือนเป็นเคพีไอ แต่จริงๆ มีแค่ 1 ใน 3 ที่เป็นคนไทยจดทะเบียน และแค่ 2% ที่เป็นนวัตกรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นสิ่งประเดิษฐ์ ด้านการสื่อสารสนเทศ ลำพังการใช้อินเทอร์เน็ตของไทยน้อย แถมเอาไปใช้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก ขณะที่เวียดนามสูงกว่าเรา 1.7 เท่า ปริมาณการใช้ไอทีที่เข้าถึงเว็บไซต์ดังๆ เว็บไซต์ http://www.sanook.com, http://www.mthai.com และ http://www.kapook.com/ ประมาณ 8 แสนไอพีโดยเฉลี่ย และประเทศไทยเป็นเบอร์หนึ่งในการใช้เฟซบุ๊ก เฉพาะกรุงเทพมหานครมีบัญชีเฟซบุ๊ก 8.7 ล้านบัญชี มากกว่าปารีสบวกกับนิวยอร์ค ซึ่งรวมกันแค่ 6.5 ล้านบัญชี

แล้วทางวิชาการอยู่ตรงไหน ในวิกิพีเดีย บทความทางวิชาการภาษาไทยมีเพียง 7 หมื่นกว่าบทความ น้อยกว่าภาษาเวียดนาม 6 เท่าตัว

เพราะฉะนั้น ตัวเคพีไอต่างๆ เราทำมาถูกแล้วหรือ เราถูกเพียงแค่ว่าเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพียงพอแล้วหรือ!

นอกจากนี้ในเรื่องพลังงานของเรา ยิ่งใช้ยิ่งสิ้นเปลืองขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จีนใช้พลังงานเยอะ แต่ 10 ปีที่ผ่านมาเขาลดการใช้พลังงานลงได้ 60%

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่เราบอกว่าวัดไม่ได้ จริงๆ แล้ววัดได้ สถาบันอนาคตไทยศึกษา พยายามรวบรวมดัชนีต่างๆ ไว้ใน 4 ด้านตามที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อจัดทำเป็นดัชนี

นอกจากจะจัดทำดัชนีเครื่องชี้วัดแล้ว ก็ต้องการผลักดันให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจดัชนีเพื่ออนาคต เมื่อเราสนใจดัชนีเพื่ออนาคต นโยบายที่ออกมาก็เป็นนโยบายเพื่ออนาคต

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ตัวเลข ตัวชี้วัดต่างๆ เป็นตัวเลขที่สะท้อนเรื่องศักยภาพของอนาคตเรา แต่สิ่งสำคัญที่ต้องการสื่อสารในการจัดงานเปิดตัวสถาบันในวันนี้ คือ อนาคตไทย เราเลือกได้

หากเราไม่ทำอะไร เน้นแต่เรื่องสั้นๆ ไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งสำคัญๆ ในสิ่งยากๆ อนาคตของไทยจะฝ่อไปเรื่อยๆ ซึมไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรากล้าตัดสินใจทำของที่จำเป็น ทำเรื่องยาก ทำเรื่องที่ไม่ป็อปปูล่า อนาคตเราจะสามารถดีได้ ตัวอย่างที่ชัดเจน บ้านเราทุกวันนี้ที่เรากินอยู่ดี มาจากการตัดสินใจที่ดีในอดีตอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกันคือ

1. การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

2. การลงทุนสร้างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด

3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง หากเราไม่ตัดสินใน 3 เรื่องนี้มาก่อน หน้าตาประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ในเรื่องแรก การส่งเสริมการลงทุนโดยตรง หากไม่ได้ทำ ตัวเลขการส่งออกของไทย จีดีพี คงไม่ดีเหมือนปัจจุบัน เพราะการลงทุนโดยตรงที่เข้ามาในไทยทำให้เราสามารถสร้างคลัสเตอร์สำคัญๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทอรนิกส์ หากไม่มีการตัดสินใจส่งเสริมการลงทุนโดยตรง เราคงไม่เป็นเบอร์หนึ่งของการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกรถยนต์กะบะ 1 ตัน ที่เรามาได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ญี่ปุ่นย้ายฐานการลงทุน แต่ขณะเดียวกัน หากเราไม่ทำนโยบายให้ตัวเรารองรับการลงทุนในช่วงนั้น ทำให้การลงทุนโดยตรงของไทยคงไม่โต 10 เท่าของฟิลิปปินส์

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ

ประการที่สอง หากตอนนั้นไม่ได้จัดทำโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เราคงไม่มีสารพัดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับปิโตรเคมี ทำให้เรามีอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างๆ ซึ่งคิดเป็น 10 % ของการส่งออกของไทย

ประการที่สาม เรื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาไทยปีละ 16 ล้านคน ตอนนั้นประเทศไทยตัดสินใจปรับเปลี่ยนจังหวัดภูเก็ต จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่มาเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในปี 1986 เป็นจุดเปลี่ยนของไทย ทำให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างดี หากไม่ตัดสินใจเน้นการท่องเที่ยวในตอนนั้น และถ้านักท่องเที่ยวมาไทยโตตามเทรนด์เดิม คงมีนักท่องเที่ยงแค่ 10 ล้านคนเท่านั้น หายไป 40% ลองนึกดูว่า หากการจ้างงานหรือรายได้หายไป 40% จะเป็นอย่างไร เพราะธุรกิจที่ต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีนัยยะต่อเรื่องปากท้อง เรื่องรายได้ของคน เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการจ้างงานของคนมากประมาณ 1 ใน 4 ของการจ้างงานเอกชนทั้งหมด

ดังนั้น การท่องเที่ยวเราจะโตแบบเดิมไม่ได้ หากไม่คิดพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ยังเน้นการโปรโมต เน้นจำนวนหัวที่มาไทยให้เติบโต 2 เท่า ถามว่าแล้วเราจะสร้างโรงแรมรองรับได้ 2 เท่าหรือไม่ เรื่องสาธารณูปโภครองรับได้ 2 เท่าหรือไม่ การจัดการเรื่องขยะ ระบบขนส่ง การจัดการน้ำเสีย เราจะทำได้จริงหรือ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านท่องเที่ยวมาก่อนเลย

คงเห็นภาพว่า ที่เรามีดีอยู่ทุกวันนี้เพราะการตัดสินใจที่ดีในอดีต เรากำลังกินบุญเก่า และบุญเก่ากำลังจะหมดไป และมันค่อนข้างหมดไปเรื่อยๆ แต่หากเราไม่ทำอะไร บุญเก่าที่เรากินอยู่กำลังหมดไปอย่างการลงทุนโดยตรงที่ไปมาเลเซียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โต 2 เท่า ไปเวียดนาม 3 เท่า อินโดนีเซียโต 4 เท่า แต่มาไทย 0.7% ดังนั้น ถ้าเราจะสร้างบุญใหม่ เราต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ผมขอนำเสนอ 8 ตัวอย่าง อ่านรายละเอียดที่นี่