ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (6) : ยกเครื่องมาตรการกำกับสถาบัน และยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความแข็งแกร่ง

ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (6) : ยกเครื่องมาตรการกำกับสถาบัน และยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความแข็งแกร่ง

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

หลังวิกฤติ 2540 นอกจาก ธปท. จะปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน และหันมาใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือ Inflation Targeting แล้ว ธปท. ยัง “ยกเครื่อง” การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินครั้งใหญ่ และภาคส่วนอื่นก็ปรับตัวยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง การเปลี่ยนครั้งนี้สร้างความเข้มแข็งให้ระบบการเงินไทยมากน้อยแค่ไหน สาระสำคัญมีดังนี้

ภาวิน: ช่วงหลังจากนั้นสิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือการปรับอัตราการแลกเปลี่ยนโดยลอยตัวตามตลาด ในส่วนของสถาบันการเงินมีกฎเกณฑ์อะไรเพิ่มเติมให้กับสถาบันการเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการเงินบ้าง

ก็ปรับเปลี่ยนกระบวนการดูแลทั้งหมด ในอดีตจะกำกับดูแลโดยไปตรวจสอบว่าธนาคารปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือไม่ แต่กฎเกณฑ์พวกนี้ไม่เกี่ยวกับความเสี่ยงเท่าไหร่ ไปดูว่าเขามีสภาพคล่องแค่ไหน อย่างไร แต่การดูไม่ได้วัดสภาพคล่องจริงๆ

ยกตัวอย่างเช่น เงินฝากออมทรัพย์ดูเหมือนว่าทุกคนถอนได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นในแง่ของธนาคารพาณิชย์อันนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเงินฝากประจำ ซึ่งอันนั้นถอนไม่ได้เลย แต่พฤติกรรมเหล่านี้ก็ไม่แน่นอน เราต้องดูข้อมูล
จริงๆ สิ่งที่เรากำหนดเกณฑ์ขึ้นมาตัวหนึ่งแล้วดูว่าเขาทำตามกฎเกณฑ์นั้นหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วสามารถดูง่ายๆ จากอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องมีเท่าไหร่ที่จะต้องบอกว่ารายสัปดาห์ รายปักษ์จะต้องมีเท่าไหร่นั้นเป็นสภาพคล่องตามกฎหมาย

แต่เวลาเกิดเหตุจริงๆ เอาไปใช้ไม่ได้เพราะตามกฎหมายต้องมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการดูสภาพคล่องต้องดูรายละเอียดอื่นๆ ที่ลึกซึ้งกว่านั้น และต้องดูความเสี่ยงของแต่ละธนาคารมาประกอบด้วย

เพราะฉะนั้นหลังวิกฤติการกำกับดูแลต้องเรียกว่า “ยกเครื่อง” คือไม่ได้ดูกฎเกณฑ์แต่ดูความเสี่ยงว่า 1.มีระดับความเสี่ยงแค่ไหน จากบัญชีทรัพย์สินของเขา 2.ความสามารถในการบริหารจัดการของทีมจัดการว่าเป็นอย่างไร บริหารจัดการได้ดีหรือไม่ ต้องประเมินเป็นรายๆ ไป

ฉะนั้นเมื่อเราเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลแล้ว แนวคิดจึงเปลี่ยนไปเลย ไม่ใช่ว่าธปท.เข้าไปประเมินความเสี่ยงให้เขานะ แต่ธนาคารพาณิชย์ต้องรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงแค่ไหน แล้วกรรมการของธนาคารต้องมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดเพื่อเข้ามาดูแลธนาคารของตัวเองว่า มีความเสี่ยงมาก-น้อยแค่ไหน และควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้างที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้

แนวคิดที่เปลี่ยนไปนี้ “ถูกต้อง” แก้ปัญหาได้มากแล้วธปท. กับธนาคารพาณิชย์ก็ทำงานด้วยกัน ไม่ใช่แนวคิดในสมัยก่อน ที่ธปท.เป็น “เจ้านาย” หรือ “ตำรวจ” ที่คอยเข้าไปจับผิด หากผิดก็จับปรับเสีย แต่แนวคิดที่เปลี่ยนไปนี้เราทำงานร่วมกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน เราอยากให้ธนาคารพาณิชย์ทำอะไรบ้าง ปัญหาเขาคืออะไรก็พูดคุยกัน และต้องแก้ให้ได้

การยกเครื่องตรงนี้ไม่ใช่แค่บอกว่ายกเครื่องก็ยกได้ แต่ต้องเตรียมการ ทั้งในแง่ของความคิด และบุคลากรของธปท. และธนาคารพาณิชย์ เรื่องนี้เป็นตัวที่ช่วยได้มากที่สุด

ส่วนกฎเกณฑ์แน่นอนว่าต้องเปลี่ยน สมัยก่อนนี้ NPL (non-performing loan) คือทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มาแล้วหนึ่งปีหรืออะไรแบบนี้ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ละหลวมเกินไปต้องทำให้เข้มขึ้น ต้องใช้เวลามาจับบ้างถ้าไม่ได้ส่งดอกเบี้ยมา 3 เดือนก็ต้องจัดเป็น NPL แล้วหรือว่าบางกรณีถึงแม้มีการจ่ายดอกเบี้ยแล้วแต่เอาเงินกู้จากที่อื่นมาชำระ อันนี้ก็แสดงว่าไปไม่รอดแล้วเพราะต้องจัดฉาก เป็นต้น

ส่วนการกันสำรองก็มีการขอเรื่องภาษี ก็ต้องขอยกเว้นภาษีในส่วนหนึ่ง พวกนี้ก็ต้องทำพร้อมๆ กันหมด เพื่อแก้ไขปัญหาไปในทางที่ดีขึ้นและเพิ่มความแข็งแกร่งแกระบบสถาบันการเงิน

ภาวิน: ธปท. มีส่วนเข้าไปกำกับหรือควบคุมความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์บ้างไหมครับ
เราเข้าไปตรวจสอบอยู่แล้ว คือสมัยก่อนก็เข้าไปตัวสอบ เพียงแต่การตรวจสอบเน้นคนละเรื่องกันจากเดิมที่ “เน้นกฎเกณฑ์” ก็เปลี่ยนมาตรวจสอบสิ่งที่เชื่อมโยงไปถึง “ความเสี่ยง” มากกว่า แล้วกรรมการแต่ละธนาคารตระหนักถึงความเสี่ยงไหม และมีความเสี่ยงใดบ้าง การตรวจสอบยังอยู่เพียงแต่เนื้อหาสาระต่างไป นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นในส่วนภาคการเงิน

แต่ว่าลูกค้าก็เปลี่ยน ต้องบอกว่าเมืองไทยโชคดีที่ได้กระแสพระราชดำรัสของในหลวงที่เตือนสติเรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ดิฉันคิดว่านี่เป็นตัวช่วยมาก สมัยก่อนเกิดวิกฤติคนอยากจะกู้เพราะรวยเร็ว แต่ไม่ได้ตระหนักว่าถ้ากู้มาแล้วเกิดเหตุการณ์พลิกผันเกิดขึ้นตัวเองจะตกอยู่ในฐานะอย่างไร

นี่คือแนวคิดที่ว่าต้องคิดเผื่อไว้ ก็เกิดเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น ไม่ได้หมายความว่าห้ามกู้นะ แต่อย่าทำอะไรเกินตัว เมื่อกู้แล้วต้องมองไปข้างหน้าว่าหากเกิดการพลิกผันตัวเองจะทำอย่างไร มีสติ มีการบริหารความเสี่ยงอยู่ในตัว อันนี้จะเป็นแนวคิดเป็นปรัชญาที่ทำให้เราแคล้วคลาดปลอดภัยจาความเสี่ยงได้

แต่สมัยก่อนไม่ใช่ ตอนเกิดวิกฤติภาคธุรกิจมีหนี้สิน 2-3 เท่าของทุน คือหามาเท่าไรก็ใช้หนี้อย่างเดียว ก็อยู่ไม่ได้ หลังจากเราปรับปรุงแนวคิดแล้วไม่ใช่แค่ภาคสถาบันการเงินเท่านั้น ผู้กู้ก็ระมัดระวังมากขึ้น หลังจากนั้นหนี้ก็ไม่ได้มากกว่าทุน ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

“ซึ่งตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ประเทศเรามีความแข็งแกร่งมากทางเศรษฐกิจ ดิฉันมองว่าอย่างนั้น”

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)