ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังเบรกใบลาออก “โสฬส” เอ็มดีแบงก์เอสเอ็มอี พร้อมสั่งสอบทุจริตต่อ

คลังเบรกใบลาออก “โสฬส” เอ็มดีแบงก์เอสเอ็มอี พร้อมสั่งสอบทุจริตต่อ

27 กรกฎาคม 2012


นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (กลาง) นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. (ซ้าย) และนายพิชัย  ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร ธพว. (ขวา) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธพว. ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ณ ห้องวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (กลาง) นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. (ซ้าย) และนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร ธพว. (ขวา) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธพว. ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ณ ห้องวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555

วุ่ยวายกันไม่เลิกรา ในช่วงเช้าของวันที่ 25 กรกฏาคม 2555 นายโสฬส สาครวิศวะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ “เอสเอ็มอีแบงก์” ได้ยื่นใบลาออกกับนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. ก่อนการประชุมบอร์ดของธนาคาร โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ จึงขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว. ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป

นายนริศจึงเชิญนายโสฬสเข้าห้องประชุม พร้อมกับสั่งให้ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปรอที่หน้าห้อง การประชุมบอร์ดวันนั้นจึงกลายเป็น “การประชุมลับ” โดยบอร์ดได้ใช้เวลาเจรจาเกลี้ยกล่อมนายโสฬสอยู่ 3 ชั่วโมง กว่าจะเลิกประชุมประมาณเที่ยง แต่ในระหว่างที่บอร์ดกำลังประชุมลับกันอยู่นั้น ปรากฏว่าในเวลา 10.30 น.กระทรวงการคลังได้ส่งข้อความ SMS ไปแจ้งสื่อมวลชนว่า นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะผู้บริหารระดับสูงของ ธพว. จะแถลงข่าวที่ห้องวายุภักษ์ 1 เวลา 15.30 น. แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นประเด็นอะไร

จนกระทั่งถึงเวลาที่กระทรวงการคลังเปิดแถลงข่าว นายนริศเปิดเผยว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 นายโสฬสได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกับบอร์ดของธนาคาร โดยอ้างว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ และขอให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป แต่เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้างนายโสฬส ที่ระบุว่า หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกเลิกจ้างต้องมีเหตุผลอันสมควร และต้องบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน นั่นคือวันที่ 24 ตุลาคม 2555

ดังนั้น กรณีนี้บอร์ดตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นการลาออกก่อนกำหนด ซึ่งในสัญญาว่าจ้างฯ ระบุว่า หากนายโสฬสไม่ปฎิบัติตาม ธนาคารมีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากนายโสฬสได้ โดยคำนวณจากค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณกับระยะเวลาทำงานที่ยังเหลืออยู่ ส่วนเหตุผลการลาออกครั้งนี้ นายโสฬสอ้างว่ามีปัญหาสุขภาพ แต่ไม่ได้แนบใบรับรองแพทย์มาให้พิจารณาด้วย ดังนั้นในการประชุมบอร์ดครั้งนี้ ยังไม่มีการอนุมัติให้นายโสฬสลาออกตามที่ร้องขอแต่อย่างใด

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธพว.
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธพว.

นายนริศกล่าวว่า ช่วงที่นายโสฬสดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว. นั้น การบริหารงานพบว่ามีข้อผิดพลาดอยู่หลายประเด็น ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย อย่างเช่น โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างที่ธนาคารได้รับการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งโครงการนี้ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดธนาคารแค่ 7,000 ล้านบาท แต่ในช่วงที่นายโสฬสบริหารงานอยู่นั้น ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อออกไป 19,000 ล้านบาท หรือเกินวงเงินไป 12,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายกว่า 700 ล้านบาท

“ตอนนี้มีหลายประเด็นที่นายโสฬสเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตราบใดที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงการคลังแต่งตั้ง ยังไม่สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงว่าถูกหรือผิด ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ผมคงยอมให้ลาออกก่อนไม่ได้ และถ้าพบว่ามีมูลความผิดจริง ก็จะต้องดำเนินการตามกฏหมายต่อไป มิฉะนั้นจะถือว่าผมมีความผิด ฐานละเว้น ไม่ปฎิบัติตามหน้าที่” นายนริศกล่าว

แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์ ธพว. กล่าวว่า ก่อนที่นายโสฬสจะยื่นใบลาออกครั้งนี้มีกระแสข่าวว่า นายโสฬสปรารภกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังว่าอยากลาออก โดยมีข้อแม้ว่าต้องยุติเรื่องการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่สุดท้ายไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากบอร์ดไม่อนุญาตให้ลาออก ยังมีคำสั่งจากเบื้องบนให้เดินหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตที่เกิดขึ้นในธนาคารอย่างเข้มข้นต่อไป

นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

นอกจากเรื่องการปล่อยสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างเกินวงเงินกู้ที่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ดแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กำลังตรวจสอบอยู่ อาทิ เรื่องตบแต่งบัญชี, การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียโดยที่ลูกหนี้ไม่ทราบเรื่อง, กรณีอนุมัติสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างให้กับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่, โครงการจัดซื้อระบบปฏิบัติการหลักของธนาคาร หรือ (Core banking system: CBS) และยังมีคดีพิพาทที่กำลังต่อสู่ในชั้นของศาลแพ่ง กรณี ธพว. ตัดสินใจไม่จ่ายค่าปรับตามสัญญาซื้อ-ขายอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Interest rate swap) ให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หากแพ้คดี ธพว. จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นวงเงินหลายพันล้านบาทให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นต้น

ดังนั้น สถานะของนายโสฬสตอนนี้จึงตกอยู่ในที่นั่งที่ลำบาก กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ครั้นชิงลาออกก่อน บอร์ดก็ไม่อนุมัติ แถมยังต้องนั่งแก้ต่างในประเด็นที่ถูกตั้งกรรมการสอบถึง 9 ประเด็น จึงเป็นหนทางวิบากสำหรับ “โสฬส สาครวิศวะ”