ThaiPublica > คอลัมน์ > อากู๋ ทรู และรูในกฎหมาย

อากู๋ ทรู และรูในกฎหมาย

4 กรกฎาคม 2012


กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

ในช่วงที่ผ่านมา ข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกระแสฟุตบอลยูโร 2012 ในช่วงเวลาที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนภาคพื้นยุโรปก็ได้ปิดฉากไปแล้ว ผลการแข่งขันในสนามเป็นอย่างไร ทีมใดสมหวังหรือผิดหวัง คงเป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านพอจะไปหาอ่านและติดตามได้ตามสื่ออื่นๆ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้การแข่งขันในสนามก็คือ การแข่งขันนอกสนามในสังเวียนการแย่งชิงตลาดผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ระหว่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งได้ส่งกล่อง GMMZ ลงชิงชัย กับทรู คอปอร์เรชั่น ซึ่งครองตลาดอยู่เดิม

บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ใช้ลิขสิทธิ์เหนือสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2012 เป็นเครื่องมือในการขยายตลาดผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมของตน โดยการกำหนดให้ผู้ที่จะรับชมฟุตบอลยูโร 2012 ผ่านสัญญาณดาวเทียม ต้องรับชมได้ผ่านทางกล่องรับสัญญาณ GMMZ เท่านั้น โดยไม่สามารถรับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของเจ้าอื่นได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นข่าวใหญ่โต เนื่องจากทรู คอปอร์เรชั่น ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่สามารถแพร่ภาพสัญญาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ในครั้งนี้ได้ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคกว่า 2 ล้านคนของทรูไม่สามารถรับชมการแข่งขันในครั้งนี้ผ่านกล่องรับสัญญาณของทรูได้

ต่อกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีคนบางกลุ่มให้ความเห็นว่่าเป็นความผิดของช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 ผู้ถ่ายทอดสดสัญญาณการแข่งขันในครั้งนี้ ที่ไม่ยอมปล่อยสัญญาณถ่ายทอดสดไปให้กับบริษัทผู้ให้บริการสัญญาณดาวเทียมเจ้าอื่นๆ โดยอ้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ว่าคลื่นสัญญาณโทรทัศน์เป็นของสาธารณะ จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหากมีการกีดกันไม่ให้ประชาชนบางส่วนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว1

อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดให้นิยามของ “คลื่นความถี่” เป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้กำหนดนิยามของคลื่นความถี่ ว่าหมายถึงสัญญาณที่แพร่กระจายในระบบอนาล็อกเท่านั้น2 หรือนั่นก็คือสัญญาณโทรทัศน์ที่เราสามารถรับชมได้ผ่านหนวดกุ้งนั้นเอง ดังนั้นแล้ว หากเรายึดตามกฎหมาย การกระทำของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ รวมทั้งช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง9 ที่ทำการบล็อกสัญญาณ ไม่ปล่อยสัญญาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ให้กับผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมเจ้าอื่น จึงถือว่าไม่เป็นการผิดกฎหมาย เนื่องจากสัญญาณที่ส่งผ่านทางดาวเทียมนั้นเป็นสัญญาณดิจิตอล และไม่ถือว่าเป็นทรัพยากรสาธารณะแต่อย่างใดตามนิยามของกฎหมายไทย

แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนความชอบธรรมของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในการกระทำดังกล่าว โดยอ้างว่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2012 ดังกล่าวเป็นของแกรมมี่ เป็นลิขสิทธิ์ที่แกรมมี่ไปประมูลซื้อมา เมื่อแกรมมี่ได้รับ “ลิขสิทธิ์” มาแล้ว จึง “มีสิทธิ์” ที่จะกระทำการใดๆ ก็ได้กับสัญญาณถ่ายทอดสดนั้น จะขายสิทธิ์การถ่ายทอดสดต่อให้ใครก็ได้ หรือเลือกที่จะไม่ส่งสัญญาณดังกล่าวให้บางเจ้าก็ย่อมได้ แกรมมี่มีสิทธิ์ที่จะทำอย่างนั้นหรือไม่?

ในต่างประเทศมีแนวคิดที่เรียกว่า การใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาในการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขันทางการค้า (Abuse of Intellectual Property Rights) เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีสิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ใช้สิทธิ์นั้นในการกีดกันคู่แข่งหรือจำกัดการแข่งขันในตลาด

โดยปกติแล้ว เราจะอนุญาตให้ผู้ที่มีสิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญามีอำนาจผูกขาดในตลาดและกีดกันคู่แข่งออกไปจากตลาดได้ เนื่องจากการจะได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาโดยทั่วไปมักต้องใช้การลงทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น การอนุญาตให้ผู้มีสิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญาสามารถผูกขาดตลาดได้ ก็เพื่อให้ผู้นั้นสามารถตักตวงผลประโยช์ทางเศรษฐกิจกลับคืนไปหลังจากที่ได้ลงทุนไว้กลับมาได้ อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าผู้ที่มีสิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญาจะสามารถใช้สิทธิ์นั้นไปทำอะไรตามอำเภอใจได้

ในสหภาพยุโรปได้มีพัฒนาการในกฎหมายการแข่งขันทางการค้า จนทำให้เกิดหลักการที่ว่า ผู้มีสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้น สามารถจะทำอะไรกับทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆ ของตนก็ได้ จะอนุญาตให้ใครใช้หรือไม่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวนั้นก็ได้ เว้นเสียแต่ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะทำให้การกระทำนั้นเข้าข่ายการใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้นกีดกันการแข่งขันทางการค้า (Abuse of Intellectual Property Rights) ทั้งนี้ มีคดี 2 คดีซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่ได้สร้างมาตรฐานขึ้นว่า ในเงื่อนไขใดบ้างที่การใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้นเข้าข่ายการกีดกันการแข่งขันทางการค้า ได้แค่กรณี MaGill และกรณี IMS

ในกรณี MaGill นั้น เป็นคดีที่เกิดขึ้นในปี 1986 โดยเรื่องเริ่มจากการที่ประชาชนชาวไอร์แลนด์ส่วนใหญ่และกว่า 20% ในไอร์แลนด์เหนือสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ผ่าน Irish State Broadcaster (RTE), ITV และ BBC ได้ ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหราชอาณาจักร ผู้ให้บริการรายการโทรทัศน์ทั้ง 3 เจ้าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลผังรายการโทรทัศน์ของตนเองด้วย โดยก่อนหน้าปี 1985 ผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้ง 3 รายให้บริการข้อมูลผังรายการของตนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายผ่านทางหนังสือพิมพ์รายวันและนิตยสารต่างๆ แต่ก็เลิกให้บริการดังกล่าวไปในปี 1985 ต่อมานาย MaGill ได้ตัดสินใจที่จะเผยแพร่ผังรายการของโทรทัศน์ทุกช่องในสหราชอาณาจักร แต่ก็ติดปัญหาที่ว่าผู้ให้บริการโทรทัศน์ 3 รายดังกล่าวข้างต้นไม่ยอมให้สิทธิ์ในการเผยแพร่ผังรายการดังกล่าวกับนาย MaGill

นาย MaGill จึงร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ว่า ผู้ให้บริการรายการโทรทัศน์ทั้ง 3 รายดังกล่าวได้ใช้อำนาจเหนือตลาดของตนในการกีดกันการแข่งขันในตลาด โดยการปฏิเสธที่จะให้สิทธิ์ในการตีพิมพ์และเผยแพร่ซ้ำผังรายการของโทรทัศน์ทั้ง 3 ช่องแก่ตน คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินว่า การกระทำดังกล่าวของผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้ง 3 รายที่ปฏิเสธไม่ให้สิทธิ์ในการเผยแพร่ผังรายการแก่นาย MaGill เป็นการทำผิดตามมาตรา 86 ของสนธิสัญญากรุงโรม3 (Treaty of Rome) และถือเป็นการกีดกันการแข่งขันในตลาด

กรณีดังกล่าวได้สร้างมาตรฐานขึ้นเป็นครั้งแรกว่า ในเงื่อนไขใดบ้างที่การใช้สิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญาเข้าข่ายการกีดกันการแข่งขันในตลาด โดยในกรณีนี้ การที่ผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้ง 3 รายใช้ลิขสิทธิ์ในผังรายการของตนกีดกันไม่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่ (ซึ่งในที่นี้ก็คือนาย MaGill) เข้ามาดำเนินธุรกิจในตลาดการให้บริการข้อมูลผังรายการโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักรถือเป็นการกีดกันทางการค้า

คำตัดสินของศาลในกรณีดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขว่า การใช้สิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญาจะเข้าข่ายการกีดกันการแข่งขันทางการค้าก็ต่อเมื่อ

1. การใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้น (ในที่นี้คือสิทธิ์ในการเผยแพร่ซ้ำ) จำเป็นต่อการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ

2. หากไร้ซึ่งสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวแล้ว การจะนำเสนอสินค้าดังกล่าวสู่ตลาดย่อมเป็นไปไม่ได้

3. การปฏิเสธไม่ให้สิทธิ์ (refusal to license) เป็นการกีดกันไม่ให้เกิดสินค้าและบริการชนิดใหม่ขึ้นในตลาด

4. ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้านั้นๆ และ

5. ผู้ถือลิขสิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนในการปฏิเสธไม่ให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์นั้น

ในกรณี MaGill เบื้องต้นนั้นเห็นได้ว่า 1.) การได้รับสิทธิ์ในการเผยแพร่ผังรายการจากผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้ง 3 ช่องนั้นจำเป็นต่อการผลิตผังรายการโทรทัศน์ทั่วสหราชอาณาจักรที่ครบถ้วน 2.) หากปราศจากซึ่งสิทธิ์ดังกล่าว ผังรายการโทรทัศน์ทั่วสหราชอาณาจักรย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ 3.) หากผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้ง 3 รายปฏิเสธิที่จะไม่ให้สิทธิ์ดังกล่าวแก่นาย MaGill นั่นย่อมเป็นการกีดกันการเกิดขึ้นของข้อมูลผังรายการโทรทัศน์ทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสินค้าชนิดใหม่ในตลาด 4.) ผู้รับชมโทรทัศน์ในไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือมีความต้องการข้อมูลผังรายการที่ว่านี้ และ 5.) ผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้ง 3 รายไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนที่จะปฏิเสธไม่ให้สิทธิ์นั้นแก่นาย MaGill4

ดังนั้นแล้ว จึงถือได้ว่าผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้ง 3 รายในที่นี้ได้กระทำการเข้าข่ายการใช้สิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญาในการกีดกันการแข่งขันทางการค้า

ส่วนอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2001 โดยบริษัทที่ถูกร้องเรียนคือบริษัท IMS ซึ่งเป็นบริษัทเก็บข้อมูลสถิติในการจำหน่ายยาตามใบสั่งแพทย์ในโรงพยาบาลและร้านขายยา ข้อมูลดังกล่าวทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยามีข้อมูลสถิติการใช้ยาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ในเยอรมัน บริษัท IMS ได้แบ่งพื้นที่ในการวิเคราะห์สถิติในการจำหน่ายยาออกเป็นส่วนๆ ที่เรียกว่า “Module” ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการปกป้องข้อมูลของเยอรมัน (German data protection law) วิธีการแบ่งพื้นที่ในรูปแบบดังกล่าวได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์

ต่อมามีบริษัทอีก 2 ราย ได้แก่ National Data Corporation Health Information Services (NDC) และ Azyx Deutchland GmbH Geopharma Information Services (Azyx) ต้องการเข้ามาแข่งขันในตลาดการให้บริการข้อมูลสถิติการใช้ยาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันในประเทศเยอรมัน โดยทั้งสองบริษัทได้ใช้วิธีการแบ่งพื้นที่ข้อมูลในลักษณะที่คล้ายกับการแบ่งพื้นที่ของ IMS IMS จึงฟ้อง NDC ในฐานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแบบการแบ่งพื้นที่ข้อมูลของตนในเยอรมันและชนะคดี ต่อมา NDC ได้ฟ้องร้องไปถึงคณะกรรมาธิการยุโรปว่า IMS ได้ใช้อำนาจเหนือตลาดในการกีดกันการแข่งขันทางการค้า เนื่องจาก IMS ปฏิเสธที่จะให้สิทธิ์ NDC ในการใช้รูปแบบการแบ่งพื้นที่ที่เรียกว่า “Module” ของตน

ในที่สุด คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินว่าบริษัท IMS มีความผิดฐานใช้สิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญาในการกีดกันการแข่งขันในตลาด ทั้งนี้เนื่องจากการแบ่งพื้นที่ในรูปแบบดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยจำเป็นในการประกอบธุรกิจ (เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการปกป้องข้อมูลของเยอรมัน) อีกทั้งยังไม่มีตัวเลือกการแบ่งพื้นที่ในรูปแบบอื่นๆ ดังนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปจึงมีคำสั่งบังคับให้ IMS ให้สิทธิ์ในการใช้รูปแบบการแบ่งพื้นที่แบบ “Module” ดังกล่าวแก่ NDC และ Azyx

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากเงื่อนไขที่ทำให้การใช้สิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญาเข้าข่ายการกีดกันการแข่งขันทางการค้าก็คือ เครื่องมือที่ใช้ในการแก้ไขกรณีพิพาทดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากทั้ง 2 กรณีเบื้องต้น คณะกรรมาธิการยุโรปได้ใช้กลไกที่เรียกว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิ์ (Compulsory Licensing หรือ CL) โดยการสั่งบังคับให้เจ้าของลิขสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาให้สิทธิ์การใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆ แก่คู่กรณี โดยมาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาดและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก มากกว่าที่จะมุ่งลงโทษบริษัทที่กระทำผิด ซึ่งผู้เขียนจะได้พูดถึงเรื่องมาตราการบังคับใช้สิทธิ์ในรายละเอียดมากขึ้นในโอกาสต่อไป

จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคและคำนึงถึงการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมอย่างมาก แม้แต่ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งโดยปกติแล้วเรามักจะคิดว่าผู้มีสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาจะใช้สิทธิ์นั้นอย่างไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น สำหรับประเทศไทย ประเด็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์เหนือทรัพย์สินทางปัญญาในการกีดกันการแข่งขันทางการค้า (Abuse of Intellectual Property Rights) ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก อีกทั้งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยก็ยังไม่ได้มีการระบุกฎเกณฑ์ที่ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้

หันกลับมาดูกรณีพิพาทระหว่าง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ กับทรู คอปอร์เรชั่น กันอีกสักครั้ง ผู้เขียนอยากฝากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า หากใช้เกณฑ์การพิจารณา 5 ข้อที่สหภาพยุโรปใช้มาเทียบเคียงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะถือว่าจีเอ็มเอ็มแกรมมี่มีความผิดฐานมีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่? สัญญาณโทรทัศน์จากช่องฟรีทีวีนั้นจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมหรือไม่? แกรมมี่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือที่จะไม่ให้สิทธิ์ในสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 กับผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมรายอื่นหรือไม่?

และไม่ว่าคำตอบที่ท่านผู้อ่านได้จะเป็นอย่างไร เราก็อาจต้องมาตั้งคำถามกันต่อไปว่า แล้วเราจะสามารถทำอะไรกับเรื่องนี้ได้หรือไม่ กฎหมายของไทยในปัจจุบันจะสามารถบังคับให้แกรมมี่ปล่อยสัญญาณให้ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมรายอื่นได้หรือ ในเมื่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยยังก้าวไปไม่ถึง และเนื้อหายังไม่ครอบคลุมประเด็นที่ว่านี้ อีกอย่าง หากจะไปหวังพึ่งกลไกอื่นๆ เช่น กสทช. ก็ยิ่งหวังยากเข้าไปใหญ่ อย่างที่เราได้เห็นผลงานกันไปแล้ว เพราะหากบ้านใครใช้จานดาวเทียมของทรู แล้วหวังว่า กสทช. จะช่วยแก้ไขให้ตัวเองได้ดูบอลผ่านดาวเทียมอย่างคมชัดสักนัดหนึ่ง ก็คงต้องผิดหวัง และได้แต่นั่งจ้องจอดำกันไป

หรือว่าสุดท้ายแล้ว ทั้งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและ กสทช. จะเป็นเพียงแค่เสือกระดาษ มีไว้แค่ขู่ แถมยังวิ่งไปไหนไม่ได้ ไล่ไม่ทันกลของภาคธุรกิจ

หมายเหตุ

1.มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย พ.ศ. 2550 ระบุว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

2. พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้ให้คำนิยามของคำว่า “คลื่นความถี่” ไว้ว่า หมายถึง คลื่นวิทยุหรือคลื่นแฮรตเซียนซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ต่ำกว่าสามล้านเมกะเฮิรตซ์ลงมา ที่ถูกแพร่กระจายในที่ว่างโดยปราศจากสื่อนำที่ประดิษฐ์ขึ้น

3. มาตรา 86 ของสนธิสัญญากรุงโรม ว่าด้วยการห้ามพฤติกรรมที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาด ปัจจุบันกลายเป็นมาตรา 82 ของสนธิสัญญาประชาคมยุโรป (EC Treaty)

4. เป็นต้นว่า หากผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้ง 3 รายยังคงให้บริการข้อมูลผังรายการโดยไม่คิดค่าบริการอยู่ ก็อาจยกมาเป็นเหตุผลในการไม่ให้สิทธิ์แก่นาย MaGill ได้ว่าเป็นเพราะตนเองให้บริการดังกล่าวอยู่แล้วและไม่คิดค่าบริการ ดังนั้นจึงไม่สมควรที่นาย MaGill จะนำสิทธิ์นั้นไปดำเนินการทางธุรกิจ เป็นต้น