ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อ All Rights ไม่ all right: งานสร้างสรรค์ในยุคลิขสิทธิ์เบ่งบาน

เมื่อ All Rights ไม่ all right: งานสร้างสรรค์ในยุคลิขสิทธิ์เบ่งบาน

7 กุมภาพันธ์ 2013


กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

นายอารอน สวาร์ตซ (Aaron Swartz) วัย 26 ปี ผู้ร่วมคิดค้นเทคโนโลยี RSS และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์สังคออนไลน์ Reddit  ที่มาภาพ : http://rack.2.mshcdn.com
นายอารอน สวาร์ตซ (Aaron Swartz) วัย 26 ปี ผู้ร่วมคิดค้นเทคโนโลยี RSS และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์สังคมออนไลน์ Reddit ที่มาภาพ: http://rack.2.mshcdn.com

หลายคนที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับโลกไอที คงจะได้ผ่านตาข่าวการฆ่าตัวตายของนายอารอน สวาร์ตซ (Aaron Swartz) วัย 26 ปี ผู้ร่วมคิดค้นเทคโนโลยี RSS และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์สังคมออนไลน์ Reddit กันไปบ้าง เป็นที่เชื่อกันว่า สวาร์ตซตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากการต่อสู้คดีระหว่างเขากับ JSTOR และ MIT ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์บทความวิชาการออนไลน์ของ JSTOR

JSTOR เป็นผู้ให้บริการฐานข้อมูลห้องสมุดออนไลน์ รวบรวมบทความวิชาการหลากหลายสาขาไว้ในรูปแบบดิจิทัล จุดเริ่มต้นของ JSTOR เกิดจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาของห้องสมุดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสมุดในมหาวิทยาลัย ที่ต้องเก็บบทความวิชาการจำนวนมากในรูปแบบกระดาษ ซึ่งใช้พื้นที่ในการเก็บมากและมีต้นทุนในการดูแลรักษาสูง ดังนั้น แนวคิดในการสร้างห้องสมุดดิจิตอลเพื่อรวบรวมบทความวิชาการจำนวนมากเหล่านี้จึงเกิดขึ้น ห้องสมุดต่างๆ ทั่วโลกจะได้ไม่ต้องมีภาระในการเก็บรักษาบทความวิชาการจำนวนมากในรูปกระดาษอีก อีกทั้งการที่บทความต่างๆ อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ก็ยิ่งทำให้การค้นหาและการแพร่กระจายของความรู้ดูจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี บทความวิชาการต่างๆ ที่อยู่ใน JSTOR นั้น ไม่ใช่บทความฟรีๆ ที่ใครจะเข้าไปอ่านก็ได้ ผู้ที่ต้องการใช้บริการจำเป็นจะต้องลงทะเบียนและจ่ายค่าสมาชิก (subscribe) จึงจะสามารถเข้าไปใช้บริการและโหลดบทความวิชาการต่างๆ มาอ่านได้ หรือถ้าหากใครที่ไม่ได้ลงทะเบียน ก็จะต้องจ่ายเงินเพื่อ “ดาวน์โหลด” เป็นบทความๆ ไป ซึ่งราคาก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบทความ เช่น 35 เหรียญสหรัฐฯ/บทความ เป็นต้น

ผู้เขียนเองก็เคยใช้บริการของ JSTOR อยู่บ้างเมื่อครั้งยังอยู่ในเครื่องแบบนักศึกษา ทั้งนี้ถือเป็นโชคดีของผู้เขียนที่มหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนเรียนได้ลงทะเบียนไว้กับทาง JSTOR ทำให้นักศึกษาทุกคนในมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของ JSTOR ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม (หากนับว่าในแต่ละเทอม มหาวิทยาลัยได้เก็บค่าบริการดังกล่าวกับนักศึกษาแล้ว ในรูปค่าบริการห้องสมุดประจำภาคการศึกษา ก็ไม่อาจพูดว่านักศึกษาทุกคนสามารถใช้บริการดังกล่าว “ฟรี” ได้) แต่ก็น่าเสียดายที่นักศึกษาจำนวนมากไม่เคยใช้บริการดังกล่าวเลย

อารอน สวาร์ตซ ถูกดำเนินคดีในหลายข้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์และคอมพิวเตอร์ ภายหลังจากที่เขาได้เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของเขาเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ของ MIT และโหลดบทความวิชาการกว่า 4 ล้านบทความ จากฐานข้อมูลของ JSTOR แม้จะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า สวาร์ตซเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของเขาเข้ากับเครือข่าย ‘เปิด’ ของ MIT ที่อนุญาตให้คนที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบสามารถดาวน์โหลดบทความดังกล่าวได้ฟรี ดังนั้นจึงไม่ควรถือว่าสวาร์ตซได้กระทำความผิดใดๆ อย่างไรก็ดี สวาร์ตซถูกดำเนินคดีและอาจต้องรับโทษในคุกนานถึง 35 ปี

โชคดีที่เขาไม่ต้องรับโทษนั้น เพราะสวาร์ตซชิงฆ่าตัวตายก่อน ในวันที่ 11 มกราคม 2013 ที่ผ่านมา!

ประเด็นเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’ นั้นเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ฝั่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถือครองลิขสิทธิ์มักจะอ้างว่า ‘ลิขสิทธิ์’ นั้นเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง และก็ควรได้รับการปกป้อง/คุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับทรัพย์สินประเภทอื่นๆ เช่นเดียวกับบ้าน รถยนต์ ที่ดิน ฯลฯ ดังนั้นแล้ว งานทุกงานที่มีลิขสิทธิ์ ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ควรมีสิทธิ์ทุกอย่างเหนือลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคา การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้ หรือเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีที่ลิขสิทธิ์นั้นถูกละเมิด เช่นเดียวกับที่เจ้าของบ้านสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ถ้าหากบ้านตนเองถูกบุกรุก

ในขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แย้งว่า ลิขสิทธิ์นั้นไม่เหมือนทรัพย์สินชนิดอื่นๆ เพราะงานสร้างสรรค์ที่ได้รับลิขสิทธิ์ก็มักเกิดจากการต่อยอดจากงานสร้างสรรค์อื่นๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ในทางกฎหมายแล้ว เราจึงไม่ควรมองลิขสิทธิ์ว่าเป็นเหมือนทรัพย์สินอื่นๆ เช่น เราไม่ควรมองว่าคนที่มีลิขสิทธิ์ควรจะมีสิทธิ์ในลิขสิทธิ์นั้นตลอดไปและส่งต่อให้ลูกหลานได้ไม่สิ้นสุด (เหมือนในกรณีบ้าน ที่ดิน รถยนต์ หรือทรัพย์สินอื่นๆ) เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นแล้ว แม้กฎหมายลิขสิทธิ์มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับคนที่ทำงานสร้างสรรค์ และเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้งานสร้างสรรค์ถูกผลิตออกมามากขึ้น แต่ถ้ากฎหมายดังกล่าวเคร่งครัดจนเกินไป กฎหมายนั้นกลับจะเป็นตัวกดทับและบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ของสังคมนั้นลงเสียเอง

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งการดาวน์โหลดภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือ หรือแม้แต่ภาพถ่ายต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องง่าย ประเด็นปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์จึงซับซ้อนขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

ผู้เขียนเองได้มีโอกาสได้สัมผัสงานทั้งในวงการสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ และได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์อยู่บ้าง จะขอนำมาเล่าในที่นี้เพื่อขยายประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์

เรื่องแรก เกี่ยวกับปกหนังสือเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ หนังสือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิวัติประชาธิปไตยในอาหรับ ในกระบวนการออกแบบปก ได้มีการเลือกรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศอียิปต์จากอินเทอร์เน็ตมาใช้ ภาพดังกล่าวอยู่ในเว็บไซต์ Flickr และระบุว่าสงวนลิขสิทธิ์ ทางสำนักพิมพ์ติดต่อไปที่ผู้ถ่ายภาพซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทันที โชคดีที่ทางเจ้าของภาพอนุญาตให้เราใช้ภาพโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (สามารถดูภาพปกที่สมบูรณ์ได้ ที่นี่)

เรื่องที่สอง เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับสารคดีโทรทัศน์ชิ้นหนึ่ง สารคดีดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และต้องมีการใช้ภาพข่าวเหตุการณ์ในช่วงนั้นจากสำนักข่าวต่างประเทศเพื่อประกอบการเล่าเรื่อง ทางทีมงานได้ติดต่อไปยังสำนักข่าว AP ซึ่งมี AP Archive ที่รวบรวมภาพข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ไว้มากมาย รวมทั้งภาพข่าวเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2008 ด้วย อย่างไรก็ดี ทาง AP คิดค่าลิขสิทธิ์สำหรับการใช้ภาพข่าวดังกล่าวในอัตรา 35 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อวินาที (ใช่ครับ ต่อวินาที!) ลองคิดง่ายๆ ถ้าหากต้องใช้ภาพข่าวความยาว 10 นาที ก็ต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์ภาพข่าวคิดเป็นเงิน 21,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 650,000 บาท! (อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย) สุดท้ายทางทีมงานก็ตัดสินใจไม่ใช้ภาพข่าวดังกล่าว

ทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นสถานะของลิขสิทธิ์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์เหนืองานที่มีลิขสิทธิ์นั้นทุกประการ ผู้ถือลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครก็ตามนำงานที่มีลิขสิทธิ์ดังกล่าวไปใช้ ผลิตซ้ำ หรือดัดแปลง และมีสิทธิ์ที่จะกำหนดราคากับผู้ที่ขอนำงานที่มีลิขสิทธิ์นั้นไปใช้ในราคาเท่าไหร่ก็ได้ รวมทั้งยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้ด้วย

ในอดีต ความคิดเรื่องลิขสิทธิ์ไม่ได้กว้างขวาง ครอบคลุม และกินระยะเวลายาวนานเหมือนในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์เกิดขึ้นมาจากความพยายามของเหล่าสำนักพิมพ์ในอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ที่พยายามจะปกป้องผลประโยชน์ของสำนักพิมพ์ตัวเอง โดยการจำกัด ‘สิทธิ์ในการผลิตซ้ำ’ (copy-right) หนังสือไว้กับทางสำนักพิมพ์ โดยไม่อนุญาตให้ผู้อื่นพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวขึ้นมาแข่ง ในยุคเริ่มแรก ‘ลิขสิทธิ์’ จึงกินความหมายเพียง ‘สิทธิ์เหนือการพิมพ์ซ้ำหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง’ เท่านั้น

อีกทั้งในยุคแรกๆ นั้น ‘ลิขสิทธิ์’ ที่หมายถึง ‘สิทธิ์ในการผลิตซ้ำหนังสือ’ ยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการผูกขาดความรู้อีกด้วย ดังนั้นแล้ว จึงเป็นสิทธิ์ที่ควรต้องถูกจำกัดระยะเวลา เพื่อให้องค์ความรู้ต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในหนังสือได้แพร่กระจายออกไปสู่สาธารณะชนให้ได้กว้างขวางที่สุดในราคาที่ถูกที่สุด ดังนั้น ในที่สุดในปี 1710 ก็ได้มีการออกกฎหมายจำกัดระยะเวลาในการถือครองลิขสิทธิ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดระยะเวลาในการถือครองลิขสิทธิ์เพียง 21 ปี

อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป ลิขสิทธิ์ได้เปลี่ยนไปเป็นแนวคิดและเครื่องมือที่กินความหมายกว้างและทรงพลังกว่าเมื่อครั้งแรกเกิดมาก ปัจจุบัน ลิขสิทธิ์ ไม่เพียงจำกัดอยู่เพียงสิทธิ์ในการผลิตซ้ำ แต่ยังกินความรวมถึงสิทธิ์ในการดัดแปลง สิทธิ์ในการเผยแพร่ รวมทั้งสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์อื่นที่ต่อยอดมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วย (เช่น ชาติ กอบจิตติ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะห้ามการฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘ไอ้ฟัก’ ซึ่งสร้างสรรค์ต่อยอดจากนวนิยายเรื่อง ‘คำพิพากษา’ ของเขา หากไม่มีการขอลิขสิทธิ์มาก่อน เป็นต้น) นอกจากนั้นแล้ว ลิขสิทธิ์ยังไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่เพียงในอุตสาหกรรมหนังสือเหมือนในยุคเริ่มต้นเท่านั้น หากแต่ยังกินความครอบคลุมงานสร้างสรรค์ทุกชนิด ในด้านระยะเวลา การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในปัจจุบันก็กินระยะเวลานานกว่าเมื่อครั้งเริ่มแรกมาก จาก 21 ปี กลายเป็นตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์บวก 50 ปี สำหรับกฎหมายไทย

พัฒนาการของกฎหมายลิขสิทธิ์ ที่ขยายขอบเขตของตนเองเป็นอย่างมากนับตั้งแต่แนวคิดนี้เกิดขึ้น ได้เป็นอุปสรรคและบั่นทอนงานสร้างสรรค์จำนวนมากไม่ให้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สารคดีโทรทัศน์ที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังมา แม้ว่าสุดท้ายสารคดีดังกล่าวจะสามารถผลิตได้จนเสร็จ แต่สารคดีดังกล่าวย่อมสมบูรณ์มากกว่านี้หากสามารถใช้ภาพข่าวจาก AP ได้ หรือแม้แต่ภาพปกหนังสือ ที่ถ้าหากเจ้าของภาพไม่ใจดีและเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการใช้รูป ทางสำนักพิมพ์ก็อาจถอดใจ และก็คงจะไม่มีปกหนังสือ/ศิลปะสวยๆ ให้สังคมได้ยลโฉมกัน

ด้วยเหตุการณ์แบบเดียวกัน ลองจินตนาการดูว่าองค์ความรู้มากมายขนาดไหนที่ไม่ถูกแพร่กระจายออกไป และความรู้อีกมากมายขนาดไหนที่ไม่ถูกผลิตสร้างขึ้น เพียงเพราะการผูกขาดลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่บทความวิชาการมากมายของ JSTOR และไม่เพียงในโลกของงานวิชาการเท่านั้น ลองจินตนาการถึงงานสร้างสรรค์ในวงการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ ภาพถ่าย ซอฟต์แวร์ ฯลฯ

ในขณะที่เรามีอินเทอร์เน็ตที่ทำให้การหาและได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น ความรู้และงานสร้างสรรค์จำนวนมากมายกระจายอยู่ทั่วในโลกอินเทอร์เน็ต วัตถุดิบมากมายล่องลอยอยู่ในโลกออนไลน์ รอให้เรานำมาปรุงแต่งขึ้นเป็นงานชิ้นใหม่ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่อย่างมากมายก็ได้พัฒนาขึ้นจนทำให้เราสามารถสร้างสรรค์งานต่างๆ ได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องปวดหัวกับประเด็นเทคนิคต่างๆ อีกต่อไป (เช่น การตัดต่อภาพยนตร์ในปัจจุบันในรูปแบบดิจิทัลง่ายกว่าการตัดต่อภาพยนตร์ในรูปแบบฟิล์มมาก) เรากำลังอยู่ในจุดที่การผลิตงานสร้างสรรค์ต่างๆ ทำได้ง่ายที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของมนุษยชาติ เว้นเสียแต่ว่าเรามีกฎหมายลิขสิทธิ์ของศตวรรษที่ 20 ที่คอยขัดขวางไม่ให้เราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เรามีนี้

ลอว์เรนซ์ เลสสิก (Lawrence Lessig) นักวิชาการด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อให้กฎหมายลิขสิทธิ์เอื้อให้เกิดงานสร้างสรรค์มากขึ้น ไม่ใช่เป็นตัวขัดขวางการเกิดขึ้นของงานสร้างสรรค์เสียเองอย่างที่เป็นอยู่ เลสสิกเสนอให้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์หลายเรื่อง เช่น การเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นั่นคือ หากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้ทำเครื่องหมายสงวนลิขสิทธิ์เอาไว้บนผลงาน เจ้าของลิขสิทธิ์จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้ (หลักเกณฑ์ในปัจจุบันคือ ไม่ว่าจะมีเครื่องหมายสงวนลิขสิทธิ์หรือไม่ หากมีการละเมิด ย่อมเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งนั้น) การลดระยะเวลาของการถือครองลิขสิทธิ์ให้สั้นลง รวมทั้งยังเสนอให้ลดการควบคุมทางกฎหมายต่องานสร้างสรรค์ต่างๆ และลดการควบคุมอินเทอร์เน็ตด้วย

ตลอดมาในประวัติศาสตร์ เมื่อสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยน กฎหมายก็จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสภาวะของสังคมที่เปลี่ยนไป ในประวัติศาสตร์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทั้งเปลี่ยนแปลงเพื่อคุ้มครองประโยชน์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์และหลายครั้งก็ถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์สาธารณะ เปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่เอื้อและขัดขวางงานสร้างสรรค์ การต่อสู้อันยาวนานในประเด็นลิขสิทธิ์นับตั้งแต่แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 17 ทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์มีหน้าตาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การเกิดขึ้นและขยายตัวของอินเทอร์เน็ตทำให้สภาวการณ์ที่แวดล้อมประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวง หากเราต้องการวัฒนธรรมที่เสรี หากเราอยากมีโลกที่เราสามารถหาความรู้ได้โดยไม่ติดข้อจำกัดของเงินตรา และหากเราอยากได้อินเทอร์เน็ตที่จะช่วยดึงไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ออกจากตัวมนุษย์ ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องหันกลับมามองกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน และคิดร่วมกันใหม่ว่าจะลดอุปสรรคที่มันก่อกับสังคมของเราได้อย่างไร

หากจะมีอีกสักครั้งในประวัติศาสตร์ ที่กฎหมายและแนวคิดว่าด้วยลิขสิทธิ์จำเป็นต้องถูกเปลี่ยน เวลานั้นคือปัจจุบัน