ThaiPublica > คอลัมน์ > ความลวงของเมืองหนังสือโลก

ความลวงของเมืองหนังสือโลก

4 สิงหาคม 2012


กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

หนึ่งปีที่แล้ว กรุงเทพมหานครได้รับเลือกจาก UNESCO ให้เป็นเมืองหนังสือโลกในปี พ.ศ. 2556 โดยกรุงเทพฯ มีแผนจะใช้งบประมาณกว่า 1,018 ล้านบาท ในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้คนไทย หนึ่งปีให้หลัง เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดหนังสือในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อวัฒนธรรมการอ่านและความหลากหลายของตลาดหนังสือของเมืองไทย โดยที่ภาครัฐไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือเลยแม้แต่นิดเดียว

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ได้ออกจดหมายร่วมกันส่งไปถึงสำนักพิมพ์และบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือต่างๆ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าในอัตรา 1% ของมูลค่าหนังสือที่ส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าของบริษัททั้งสอง โดยอ้างว่าที่บริษัทต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็เนื่องมาจากต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล บริษัทจึงจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น

ในระบบ “ฝากขาย” สำนักพิมพ์จะส่งหนังสือผ่าน “ผู้จัดจำหน่าย” หรือ “สายส่ง” เพื่อให้สายส่งดำเนินการกระจายหนังสือของตนไปวางตามหน้าร้านหนังสือต่างๆ โดยสำนักพิมพ์จะให้ส่วนลดกับสายส่งโดยทั่วไปอยู่ที่ 40% หมายความว่าหากหนังสือราคาปก 100 บาท สายส่งก็จะซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ในราคาเพียง 60 บาท เมื่อสายส่งได้หนังสือไปแล้ว ก็จะจัดการกระจายหนังสือดังกล่าวไปให้แก่ร้านหนังสือต่างๆ โดยให้ส่วนลดอยู่ที่ 25-30% นั่นคือ หากหนังสือราคาปก 100 บาท สายส่งจะขายหนังสือให้กับร้านหนังสือในราคาประมาณ 70-75 บาท ดังนั้น สายส่งก็จะมีรายได้จากการดำเนินการกระจายหนังสือจากสำนักพิมพ์ไปสู่ร้านหนังสือต่างๆ อยู่ที่ประมาณเล่มละ 10-15% ของราคาปก

อย่างไรก็ดี ในระบบฝากขายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสำนักพิมพ์และสายส่งจะมีรายได้ตามที่กล่าวมาเฉพาะต่อหนังสือเล่มที่ขายได้เท่านั้น ในกรณีที่หนังสือขายไม่ออก ทั้งสำนักพิมพ์และสายส่งก็จะไม่มีรายได้ แต่เนื่องจากการรับหนังสือมาเพื่อกระจายไปสู่ร้านหนังสือต่างๆ มีต้นทุนการขนส่ง จากข้อมูลของ se-ed อ้างว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ต้นทุนของการกระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือต่างๆ และการรับหนังสือกลับคืนมา คิดเป็นต้นทุนประมาณ 6.91 บาทต่อเล่ม โดยแบ่งเป็นต้นทุนในการส่งหนังสือไปยังหน้าร้านหนังสือต่างๆ 1.62 บาทต่อเล่ม และต้นทุนในการส่งหนังสือกลับคืนไปให้ทางสำนักพิมพ์ 5.29 บาทต่อเล่ม จะเห็นได้ว่าต้นทุนในการเก็บหนังสือกลับคืนมาสูงกว่าต้นทุนการกระจายหนังสือไปสู่หน้าร้านต่างๆ มาก อันเนื่องมาจากต้นทุนในการรวบรวมหนังสือจากหน้าร้านต่างๆ ที่กระจัดกระจายให้กลับมารวมกันนั้นสูงมาก ดังนั้นแล้ว ยิ่งขายหนังสือได้น้อย (เหลือหนังสือต้องคืนมาก) ต้นทุนสำหรับสายส่งก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ผู้บริหารของ se-ed ระบุว่า หลังจากที่บริษัทได้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท บริษัทมีต้นทุนในการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นทันที 5.1 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นแล้ว เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุนที่ซีเอ็ดและอมรินทร์ต้องแบกรับอยู่เพียงฝ่ายเดียว ทางซีเอ็ดและอมรินทร์จึงได้มีมติร่วมกันว่าจะขอเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 1% จากมูลค่าหนังสือทั้งหมดที่ส่งให้กับสายส่งทั้งสอง ซึ่งทางผู้บริหารของซีเอ็ดและอมรินทร์อ้างว่าการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่บริษัทแบกรับอยู่ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง

ในทัศนะของผู้เขียน ระบบการเก็บค่าธรรมเนียมกระจายสินค้าดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมอยู่ 2 ประการ

ประการแรก การเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าดังกล่าวกับหนังสือทุกเล่ม เท่ากับว่าสายส่งได้ผลักภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงไปให้กับสำนักพิมพ์ในกรณีที่หนังสือขายไม่ออก แต่ในขณะเดียวกัน สายส่งกลับจะได้รับกำไรเช่นเดิมในกรณีที่หนังสือเล่มนั้นๆ ขายดี

ในกรณีหนังสือเล่มที่ขายดี รายได้ที่ทางสายส่งได้รับจากหนังสือเล่มที่ขายได้ดีย่อมมากพอที่จะครอบคลุมต้นทุนค่าขนส่งดังกล่าวอยู่แล้ว อีกทั้งต้นทุนในการขนส่งหนังสือเล่มที่ขายดีนั้นน้อยกว่าต้นทุนของเล่มที่ขายไม่ค่อยออก เนื่องจากต้นทุนในส่วนของการเก็บหนังสือคืนน้อยกว่า ดังนั้นแล้ว การเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าจึงไม่เป็นธรรมกับสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือที่ขายดี เนื่องจากสำนักพิมพ์ต้องจ่ายเงินกินเปล่าให้กับทางสายส่งสำหรับต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ในกรณีที่เป็นหนังสือที่ขายไม่ค่อยออก ทางสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือเล่มดังกล่าวต้องรับภาระต้นทุนในการผลิตหนังสือเล่มนั้นๆ อยู่แล้ว การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมผลขาดทุนให้กับทางสำนักพิมพ์ อีกทั้งยังเป็นการผลักภาระต้นทุนค่าขนส่งหนังสือที่ควรจะเป็นต้นทุนของสายส่งเองไปให้กับทางสำนักพิมพ์อย่างไม่เป็นธรรม

การเก็บเงินค่าธรรมเนียมในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้บริษัทสายส่งทั้งสองกลายเป็นธุรกิจที่ไม่ขาดทุนในช่วงขาลง แต่ได้กำไรในช่วงขาขึ้น ดังนั้น ระบบการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจึงทำให้การกระจายต้นทุนและความเสี่ยงระหว่างสำนักพิมพ์และสายส่งเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม

ประการที่สอง เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเดิมที่สายส่งได้รับเพียงส่วนแบ่งรายได้ ระบบใหม่ที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพิ่มเติมไม่จูงใจให้สายส่งทำหน้าที่ส่งเสริมการขายหนังสือทุกเล่มอย่างเต็มที่ ในระบบเดิม หากหนังสือเล่มใดๆ ขายไม่ได้เลย ก็เท่ากับว่าสายส่งจะขาดทุนจากการรับหนังสือเล่มนั้นมาขาย เนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่งและเก็บหนังสือกลับ นี่จึงเป็นระบบที่จูงใจให้สายส่งพยายามส่งเสริมการขายหนังสือทุกเล่มที่รับมา แต่ในระบบใหม่ที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า ภาระต้นทุนและผลขาดทุนจากหนังสือเล่มที่ขายไม่ออกที่สายส่งจะต้องแบกรับย่อมมีน้อยกว่า สายส่งจึงไม่ค่อยมีแรงจูงใจนักที่จะส่งเสริมการขายให้กับหนังสือที่ขายไม่ดี การเลือกที่จะกระจายและวางขายหนังสือเล่มที่คาดว่าจะขายดีจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับสายส่ง ระบบเช่นนี้จึงเป็นระบบที่ลงโทษสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือที่ขายได้น้อยทางอ้อม ผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาจากระบบเช่นนี้ก็คือ จะยิ่งทำให้ความหลากหลายของหนังสือในตลาดลดลงไปอีก

ภายหลังจากที่ข่าวการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวของบริษัททั้งสองถูกแพร่ออกไป ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวของกลุ่มสำนักพิมพ์ต่างๆ เรียกร้องให้ซีเอ็ดและอมรินทร์ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ จนในที่สุดได้มีการพูดคุยกันสามฝ่าย ระหว่างตัวแทนของบริษัทซีเอ็ดและอมรินทร์ ตัวแทนจากชมรมส่งเสริมการจัดจำหน่ายหนังสือ และตัวแทนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 โดยมีมติให้ระงับการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวที่ตอนแรกกำหนดจะเริ่มเก็บในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ออกไปก่อน และให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพูดคุยหาข้อตกลงร่วมกันต่อไป

นอกจากนั้นแล้ว ทาง “เครือข่ายธุรกิจหนังสือขนาดเล็ก” ได้รวมตัวกันร่วมลงชื่อเพื่อต่อต้านการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวของซีเอ็ดและอมรินทร์ และยังมีการรณรงค์ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กรวมตัวกัน ไม่ส่งหนังสือไปวางขายยังสายส่งทั้งสองรายดังกล่าวด้วย

แต่นอกจากการร่วมกันลงชื่อต่อต้าน และความพยายามในการรวมตัวกันไม่ส่งหนังสือไปขายยังร้านหนังสือทั้งสองดังกล่าวแล้ว คนทั้งในวงการและนอกวงการหนังสือหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำของซีเอ็ดและอมรินทร์ในครั้งนี้อาจเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะในมาตรา 27 ที่ว่าด้วยการฮั้วกันของธุรกิจ และในมาตรา 25 ที่ว่าด้วยการใช้อำนาจเหนือตลาด

ในมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ 2542 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทำการใดๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่ง” และใน (3) ของมาตราดังกล่าวระบุว่า “[ห้ามมิให้ผู้ประกอบการ] ทำความตกลงร่วมกันเพื่อเข้าครอบครองตลาดหรือควบคุมตลาด”

หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มาตราดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท “ฮั้ว” กันเพื่อเข้าควบคุมตลาดนั่นเอง

พฤติกรรมของซีเอ็ดและอมรินทร์ในครั้งนี้อาจเข้าข่ายการฮั้วกัน เนื่องจากบริษัททั้งสองได้ทำการตกลงกันที่จะเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าว ทั้งที่ในทางธุรกิจ ซีเอ็ดและอมรินทร์ถือว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกัน ตามกฎหมายแล้วบริษัททั้งสองไม่มีสิทธิที่จะไปตกลงกันเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดชัดเจนและค่อนข้างร้ายแรง ในต่างประเทศ การฮั้วกันของธุรกิจในลักษณะนี้ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก ส่วนในประเทศไทยมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

นอกจากนี้แล้ว มาตรา 25 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการในลักษณะใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ (1) กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม (2) กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม ให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของคนต้องจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อหรือการจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า”

จากข้อมูลที่สุดของธุรกิจหนังสือปี 2554 ซึ่งจัดทำโดยซีเอ็ดเอง ระบุว่า ในปี 2554 ตลาดหนังสือทั้งหมดของประเทศไทยมีมูลค่า 21,000 ล้านบาท โดยมูลค่าทั้งหมดนี้เป็นของสายส่งคิดเป็น 40% ของมูลค่าทั้งหมด (อีก 60% เป็นส่วนแบ่งของสำนักพิมพ์ต่างๆ) หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,400 ล้านบาท (21,000×40%) จากรายงานประจำปี 2554 ของซีเอ็ดยูเคชั่นระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการขายหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นๆ (รายได้จากการเป็นสายส่ง) คิดเป็นมูลค่า 4,964 ล้านบาท ดังนั้นแล้ว ซีเอ็ดจึงมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดสายส่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 59% (4,964÷8,400)

ตามประกาศของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด ได้ระบุไว้ว่า ผู้มีอำนาจเหนือตลาดคือธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% และมียอดขายมากกว่า 1,000 ล้านบาท หากเรามองดูตัวเลขส่วนแบ่งตลาดและยอดขายในตลาดผู้จัดจำหน่ายหนังสือหรือสายส่ง จะเห็นว่าซีเอ็ดถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ดังนั้นแล้ว การกำหนดค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าของซีเอ็ดในครั้งนี้ อาจถือว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดในการเอาเปรียบสำนักพิมพ์ต่างๆ ซึ่งอยู่ในฐานะซัพพลายเออร์ โดยการกำหนดราคาค่าบริการในการจัดจำหน่ายหนังสืออย่างไม่เป็นธรรม (ผิดตามวงเล็บ 1) หรืออาจเข้าข่ายเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ต้องจำกัดการจำหน่ายหนังสือของตนเองอย่างไม่เป็นธรรม (ผิดตามวงเล็บ 2)

ในสถานการณ์ตลาดหนังสือของประเทศไทยปัจจุบัน ที่บริษัทสายส่งทั้งสองเป็นผู้ผูกขาดระบบการกระจายหนังสือส่วนใหญ่ของประเทศ ที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่มีทางเลือกอื่น และยังคงต้องพึ่งรายได้จากการขายหนังสือผ่านสายส่งทั้งสองเป็นหลัก การเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าของซีเอ็ดและอมรินทร์ในครั้งนี้ ถือเป็นการเอาเปรียบสำนักพิมพ์ต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม แน่นอนว่าย่อมไม่มีใครอยากจะผลิตหนังสือแล้วสุดท้ายขายไม่ออก แต่ด้วยความหลากหลายของหนังสือ จำนวนฐานผู้อ่านหนังสือแต่ละประเภทที่ต่างกัน หนังสือของนักเขียนหน้าใหม่ย่อมไม่อาจขายดีได้เท่านักเขียนชื่อดัง แต่จำนวนยอดขายก็ไม่ได้เป็นตัวตัดสินคุณค่าของหนังสือเล่มนั้น ภูมิปัญญาที่ฝังอยู่ในตัวอักษรเหล่านั้นต่างหากที่ตัดสินว่าหนังสือเล่มนั้นๆ มีคุณค่าหรือไม่

การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นนี้ไ่ม่เพียงแต่จะทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดเล็กซึ่งมีความสามารถในการแบกรับต้นทุนต่ำ ต้องตายลงเท่านั้น แต่นี่ยังส่งผลถึงความหลากหลายของตลาดหนังสือในประเทศไทยอย่างร้ายแรง ไม่เพียงแต่สำนักพิมพ์ขนาดเล็กจำนวนมากจะต้องปิดตัวลงเท่านั้น สำนักพิมพ์ที่สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ก็มีแนวโน้มที่จะผลิตแต่หนังสือที่คิดว่าน่าจะขายได้เท่านั้น หากเราถือว่าอุตสาหกรรมหนังสือเป็นอุตสหกรรมแห่งปัญญา เราแน่ใจแล้วหรือว่าต้องการให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมแห่งนี้ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น

หากเราต้องการภูมิปัญญาและความรู้อันหลากหลาย หากเราต้องการให้หนังสือในประเทศมีความหลากหลาย สำนักพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดเล็กจำเป็นต้องอยู่ได้ ได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นธรรม และไม่ถูกเอาเปรียบจากบริษัทหนังสือขนาดใหญ่ กฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้าและรักษาความหลากหลายในตลาด โดยการป้องกันไม่ให้ธุรกิจรายเล็กโดนเอาเปรียบจนต้องล้มหายตายจากไป อย่างไรก็ดี ต่อกรณีที่เกิดขึ้นในธุรกิจหนังสือในครั้งนี้ เราคงต้องมาดูกันต่อไปว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยจะสร้างความเป็นธรรม และรักษาความหลากหลายไว้ในตลาดหนังสือของไทยได้อย่างที่มุ่งหวังหรือไม่

เพื่อแสดงให้ชาวต่างชาติเห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการอ่าน การทุ่มงบประมาณประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น และการสร้างห้องสมุดใหญ่ๆ สักแห่งเอาไว้อวดก็คงเพียงพอ แต่หากเราต้องการเป็นเมืองและเป็นประเทศแห่งการอ่านอย่างแท้จริงแล้ว การทำให้อุตสาหกรรมหนังสือเข้มแข็งและคงความหลากหลายเอาไว้ย่อมเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งส่ิงนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้เล่นต่างๆ ในตลาดหนังสือยังคงไม่เป็นธรรมอยู่เช่นทุกวันนี้