ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.อธิบายเงินเฟ้อที่ลดลง ไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าลดลง แต่ของแพงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง – ประเมินศก.ฟื้นเร็วกว่าที่คาด แต่เสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น

ธปท.อธิบายเงินเฟ้อที่ลดลง ไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าลดลง แต่ของแพงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง – ประเมินศก.ฟื้นเร็วกว่าที่คาด แต่เสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น

11 พฤษภาคม 2012


ประเด็น”คิดไปเองว่าของแพง” ดูจะเป็นวลีฮิตในช่วงนี้ ขณะที่ความพยายามของพรรคฝ่ายค้านที่บอกว่า “แพงทั้งแผ่นดิน” ด้านรัฐบาลก็พยายามทำให้”ของถูกทั้งแผ่นดิน”

ประเด็นของแพงจึงเป็นเรื่องที่ใครๆก็รู้ว่า”ของแพงจริง” และจากการอธิบายความหมายของเงินเฟ้อของแบงก์ชาติก็ยืนยันเช่นนั้น

โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนเดือนพฤษภาคม 2555 โดยมีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2555 และปี 2556

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีครั้งนี้สูงกว่าครั้งก่อนค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นผลของฐานะจีดีพีปี 2554 ที่ขยายตัวต่ำเพียง 0.1% กับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเร็วกว่าที่คาด โดยคาดว่าจะกลับมาผลิตสูงกว่าระดับก่อนน้ำท่วม หรือกลับสู่ระดับปกติภายในปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 จากเดิมที่คาดว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2555

“ทั้งสองเหตุผลทำให้คาดการณ์จีดีพีปีนี้ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก และการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้จะมาจากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญในช่วงแรก และช่วงหลังภาคการส่งออกจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า” นายไพบูลย์กล่าว

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วกว่าที่ประเมินไว้ จากปัจจัยการการผลิตการลงทุนที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด และการบริโภคภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น กลับมาขยายตัวเหนือระดับก่อนน้ำท่วมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 รวมถึงการส่งออกก็ฟื้นตัวต่อเนื่องแม้จะยังขยายตัวอยู่ระดับต่ำ แต่แนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของการผลิต

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าที่คาด และเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้จะมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจยุโรปที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของฝรั่งเศสและกรีซ แต่ กนง. ประเมินว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะมาก

ทั้งนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และมีความเสี่ยงด้านการเติบโตน้อยลง แต่กลับเป็นแรงกดดันด้านอุปสงค์ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และเมื่อพิจารณาจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ระดับสูง ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2555 ที่ขยายตัว 2.47% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน ซึ่งลดลงจากเดือนมีนาคม 2555 ที่ขยายตัว 3.45% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน สอดคล้องกับระดับราคาสินค้าที่แท้จริงหรือไม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าราคาสินค้าไม่เห็นปรับลดลงอย่างตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำลง นายไพบูลย์มีความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตนเชื่อมั่นในกระบวนการและวิธีการที่ทางราชการใช้ในการรวบรวมตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล และบางครั้งตัวเลขอาจมีความผันผวนบ้าง โดยมาจากหลายปัจจัย

ประการแรก เงินเฟ้อในปี 2554 สูงเกิน 4% หรือขยายตัว 4.04% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดังนั้น เงินเฟ้อเดือนเมษายน 2555 เทียบกับปีที่แล้วจึงมีอัตราเพิ่มที่ลดลง

“อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าลดลง แต่หมายความว่าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง หรือแพงขึ้นในอัตราชะลอลง” นายไพบูลย์อธิบาย

นอกจากนี้ นายไพบูลย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ประชาชนแต่ละคนที่ไปเดินจ่ายตลาดก็ประสบราคาสินค้าที่สูง-ขึ้นลงต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นไปจ่ายสินค้าประเภทไหน เช่น อาหารคงแพงขึ้น แต่สินค้าอื่นที่ไม่ใช่อาหารอาจไม่แพงขึ้น แต่การวัดเงินเฟ้อของทั้งประเทศต้องก็รวบรวมรายการสินค้ากว่า 400 รายการ และดูน้ำหนักตามการใช้จ่ายของประชาชน ดังนั้น เงินเฟ้อเดือนเมษายนที่ขยายตัว 2.4% หมายถึงสินค้าราคาโดยรวมแพงขึ้น 2.4%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.

ทั้งนี้ ราคาอาหารมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีเงินเฟ้อประมาณ 1 ใน 3 ของราคาสินค้าทั้งหมด หรือประมาณ 33% ส่วนราคาพลังงานมีน้ำหนักประมาณ 10% เพราะฉะนั้น ทั้งสองอย่างรวมกันก็มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีเงินฟ้อประมาณ 50% จึงเป็นสาเหตุให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น

โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่แพงขึ้น นายไพบูลย์กล่าวว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะแนวโน้มอาหารสดมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง และโดยปกติแล้ว เมื่ออาหารสำเร็จรูปปรับราคาขึ้นแล้วจะไม่ลดลงแม้ราคาอาหารสดบางอย่างจะปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ในกรณีราคาอาหารสดผันผวนเพราะฤดูกาล ไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูปแพงขึ้น

สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ธปท. ประเมินว่าจะมีผลกระทบทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2-0.3% นั้น นายไพบูลย์คาดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงน่าจะสูงกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ เนื่องจากการประเมินดังกล่าวใช้ความสัมพันธ์ในอดีต ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการปรับค่าจ้างสูงถึง 40% และค่าจ้างแรงงานเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิต

ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่า ค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท จะส่งผลให้ค่าจ้างโดยเฉลี่ยทั้งระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 17% และส่งผลต่อดัชนีผู้ผลิตให้ปรับสูงขึ้น 4-5% จากนั้นจะส่งต่อถึงเงินเฟ้อทำให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3%

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินมาตรการควบคุมราคาสินค้า เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อหรือสินค้าราคาแพงนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า คงมีส่วนช่วยชะลอได้บ้าง แต่ระยะยาวไม่ใช่มาตรการที่ยั่งยืน เพราะถ้าต้นทุนสินค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มาตรการควบคุมราคาสินค้าช่วยได้ระยะสั้นแค่ชั่วคราว สุดท้ายอัตราเงินเฟ้อก็ตัดสินที่ปัจจัยพื้นฐาน

สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้า ที่ ธปท. สำรวจกับผู้ประกอบการนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า ไม่ได้ปรับสูงขึ้นรุนแรง และไม่มีอาการตื่นตระหนก

“เงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องระวัง แต่ไม่ถึงกับน่าวิตก เพราะแม้ความเสี่ยงเงินเฟ้อจะสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงิน กำหนดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่ 0.5-3% ส่วนกรณีเงินฟ้อทั่วไป แม้จะไม่ใช่เป้าหมาย แต่ ธปท. ก็พิจารณาและเคยเสนอเป็นกรอบไว้คือ 3.5-4.5%

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ย้ำว่า นโยบายการเงินในขณะนี้เป็นนโยบายผ่อนปรนหรือผ่อนคลายเป็นพิเศษ สะท้อนได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังติดลบ การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำก็เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพราะฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ แนวนโยบายการเงินก็ต้องปรับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่มีความเห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การดำเนินนโยบายการเงินการคลังก็ควรลดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ

หากเป็นไปตามตรรกะดังนั้น เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น และหากภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติตามที่ ธปท. ประเมินไว้ คือ ปลายไตรมาสที่ 2 ถึงช่วงต้นไตรมาสที่ 3 นั่นหมายความว่า ครึ่งหลังของปี 2555 ทิศทางอัตราดอกเบี้ยน่าจะขยับขึ้นบ้างถ้าเงินเฟ้อแรงขึ้นอีก

ดาวโหลด รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2555 ฉบับสมบูรณ์