ThaiPublica > คนในข่าว > ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดใจกรณี”มาบตาพุด” น้ำใต้ดินปนเปื้อน – สารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดใจกรณี”มาบตาพุด” น้ำใต้ดินปนเปื้อน – สารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง

3 มีนาคม 2012


นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เริ่มมีการพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ที่ว่าด้วยการกระจายความเจริญจากเมืองหลวงไปสู่ภูมิภาคอย่างเป็นระบบ ภายในนิคมมีพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ มีอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า

ในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่สะสมมาอย่างยาวนาน ก็เริ่มก่อตัวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และชุมชนโดยรอบ จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

จนวันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลปกครองระยองได้พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการลด ควบคุม และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

และได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ด้วยการบังคับให้โรงงานในพื้นที่ต้องจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment หรือ HIA) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรค 2

จนถึงวันนี้ ข่าวสารความคืบหน้าในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของมาบตาพุด เริ่มเงียบหายไปจากความสนใจของคนในสังคม สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงได้ติดตามความคืบหน้าในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จากกรมควบคุมมลพิษ องค์กรที่ทำหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด และมีส่วนช่วยในการจัดทำแผนงานแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ตามมติ ครม.

โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้เล่าถึงการแก้ปัญหาสถานการณ์มาบตาพุดในปัจจุบัน และสถาณการณ์มลพิษของไทยโดยรวม

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้สถานการณ์มลพิษที่มาบตาพุดเป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องมาบตาพุด หลังจากที่มีการฟ้องร้องตามมาตรา 67 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว กรมควบคุมมลพิษได้มีแผนลดและขจัดมลพิษที่ได้จัดทำขึ้นในปี 2552 มีการบังคับใช้ครั้งแรกในปี 2553 ซึ่งแผนลดและขจัดมลพิษนี้ได้กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีโครงการต่างๆ เพื่อไปแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่แผนของมาบตาพุดจะพิเศษกว่าที่อื่นๆ ตรงที่มีแผนของภาคเอกชนมาด้วย ในแผนของภาคเอกชนนี้ เอกชนต้องตกลงว่าจะไปลดมลพิษประเภทไหนบ้าง และมีเงินลงทุนเท่าไร ต้องใส่มาในแผน กรมควบคุมมลพิษจะมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งน้ำ อากาศ และอื่นๆ

ในเรื่องน้ำ ส่วนของน้ำผิวดิน โครงการบางโครงการตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา อย่างน้ำทะเลที่ปากคลองซากหมาก ก็ยังพูดคุยกันอยู่ว่า จะต้องเอาตะกอนที่เน่าสะสมไปจัดการโดยวิธีไหน จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของการนิคุมอุตสาหกรรม โดยจ้างที่ปรึกษามาดำเนินการ เพราะมีการประเมินว่า มีตะกอนที่อยู่ใต้ดินประมาณ 2 แสนถึง 3 แสนคิวบ์ ที่ตรงนี้ต้องเอาตะกอนออกมา ซึ่งตะกอนที่สะสมมานานนี้มีการปนเปื้อนน้ำมันปิโตรเลียม

ส่วนของน้ำใต้ดิน เราได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย และมีการปนเปื้อนของโลหะหนักบางชนิด แม้จะไม่มีการใช้ประโยชน์จากน้ำใต้ดิน แต่ต้องมีการฟื้นฟูในบางแห่งที่มีการปนเปื้อนเยอะๆ หรือถ้าจำเป็นต้องปิดบ่อ ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญคือ การเอาน้ำประปาไปให้ประชาชนใช้ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ได้ 100%

ในเรื่องอากาศ ช่วงที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้ให้ความสำคัญกับการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่ม จากเดิมของกรมที่มี 3 สถานี ได้เพิ่มเป็น 4 สถานี และมีการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะเดียวกันก็มีระบบจอแสดงผล ที่รายงานผลให้ประชาชนได้ทราบ มีการแปรผลสู่ภาคประชาชน

ถ้าถามว่าตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนไหม ต้องตอบว่าตอนนี้ ในบางช่วงบางเวลาที่มีการตรวจวัดยังพบว่ามีปัญหาอยู่ เพราะว่าเรื่องสาร VOCs (สารอินทรีย์ระเหยง่าย) มาจากหลายๆ แหล่ง ซึ่งเราคิดว่าหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2555 ที่มีการประกาศบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 4 จะทำให้สารเบนซีนตัวก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่อยู่ในน้ำมัน จากเดิมมีอยู่ 3.5% ลดลงมาเหลือ 1.5% ซึ่งจะทำให้การปลดปล่อยสาร VOCs ออกสู่สิ่งแวดล้อมลดลง สถาณการณ์ต่างๆ น่าจะดีขึ้น

ในขณะเดียวกัน เรามีมาตรการที่จะเข้าไปควบคุมโรงงานซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการว่า เมื่อตรวจเจอปัญหา เราจะประสานงานเข้าไปกำกับดูแลร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้เราได้ประกาศไปหมดแล้วเพื่อให้มีการเตรียมตัว เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนระบบ ตรงนี้จึงเป็นแผนเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่วางแผนไว้ล่วงหน้า

ไทยพับลิก้า : มีพื้นที่หรือโรงงานไหนที่น่ากังวลเป็นพิเศษหรือไม่

ที่น่าเป็นห่วงก็มีพวกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นส่วนใหญ่ พวกท่าเทียบเรือ ที่มีการตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย ในบางช่วงบางเวลาที่ยังมีมลพิษเกินค่ามาตรฐานอยู่

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่าบางแห่งมีการปนเปื้อนเยอะ จะทำอย่างไรให้ดีขึ้น

น้ำใต้ดินตอนนี้ไม่ได้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว เนื่องจากมีน้ำประปามาทดแทน ส่วนน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนก็ไม่ได้เอามาทำอย่างอื่น เพราะอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีการปิดบ่อล้างบ่อ ตอนนี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำลังศึกษาอยู่ว่ามันไปทางไหน เป็นการแบ่งเขตกันรับผิดชอบ มีคณะกรรมการที่แก้ไขปัญหาซึ่งกรมควบคุมลพิษ เป็นฝ่ายเลขาฯ มีปลัดกระทรวงเป็นประธาน

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าตอนนี้มาบตาพุดยังมีปัญหาเรื่องมลพิษอยู่จริง

มันก็มี ถ้าเปรียบเทียบกับมาตรฐาน ที่บอกว่าน้ำมีปัญหา มีสาเหตุทั้งมาจากอุตสาหกรรมและจากชุมชนในบางส่วน ที่เราบอกว่ามาจากชุมชนเพราะมีการตรวจพบเจอแบคทีเรียที่มาจากสัตว์เลือดอุ่น มาจากคน เพราะในชุมชนที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียจะมีการระบายน้ำเสียลงสู่คลอง ระบายลงสู่ทะเล

หากถามว่าปัญหามาบตาพุดกับปัญหาที่อื่นเป็นอย่างไร มันก็มี อย่าง กทม. เรามีปัญหาเรื่องฝุ่นในพื้นที่รถติด สารอินทรีย์ระเหยง่ายจากยานพาหนะก็มีเช่นกัน แต่ขนาดแตกต่างกันไปตามพื้นที่และช่วงเวลา ตัวที่บอกว่าเกินมาตรฐานมีอยู่ 3 ตัว คือ เบนซิน บิวทาไดอีน ไดคลอโรอีเทน อย่างเบนซินก็มีจากหลายแหล่ง ทั้งจากการใช้พาหนะ จากโรงงานอุตสาหกรรมพวกพลาสติก เคมีภัณฑ์

เรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่หลายคนเป็นห่วงเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง แต่เราก็มีมาตรฐานเราเข้มงวดมาก อย่างสารเบนซินในอากาศนี่ ประเทศอื่นๆ เขากำหนดไว้ไม่เกิน 3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เรากำหนดไว้ 1.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างนี้เป็นต้น แต่เมื่อไปตรวจเราก็ยังพบอยู่ประมาณ 2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงปฏิบัติ แต่เราก็พยายามใช้มาตรการต่างๆ เข้าไปดูแล ตอนนี้ฝ่ายอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือได้ดี แต่ยังมีอุตสาหกรรมเล็กๆ ที่มีปัญหาอยู่บ้าง

ไทยพับลิก้า : ถ้าปัญหามลพิษยังแก้ไขไม่ได้ มาบตาพุดจะเกิดการร้องเรียนอีกไหม

ต้องไปลดมลพิษให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ฝั่งอุตสาหกรรมเขาก็ให้ความร่วมมือ ซึ่งตอนนี้มีแผนที่จะพัฒนาไปสู่อีโคปาร์ค อีโคอินดรัสเทรียลทาวน์ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยตอนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมดูอยู่ว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเท่าไร หรือกรณีโรงงานที่ตั้งใกล้ชุมชน จะต้องมีแนวกั้นอย่างไร ต้องมีการปลูกต้นไม้ ส่วนที่ไม่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ก็ต้องทำกำแพง

แต่มาบตาพุดก็ยังมีปัญหาเรื่องไม่สามารถแบ่งใช้พื้นที่ได้ เพราะตอนนี้คนกับอุตสาหกรรมอยู่ใกล้กันมาก ที่จริงต้องมีการกำหนดโซนให้ชัดเจนถึงจะทำได้ หลายประเทศเขาทำแล้วได้ผล แต่บ้านเราบ้านอยู่ใกล้โรงงานมาก ก็ต้องย้ายคน ที่จริงควรจะแบ่งเป็นเขตว่าชุมชนควรอยู่ไหน

แม้จะมีผังเมือง แต่ผังเมืองที่ว่าก็เปลี่ยนทุก 5 ปี พอมีการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมก็ขยายไปล้ำชุมชน แบบนี้ต้องเอาอุตสาหกรรมศาสตร์เข้าไปจัดการ ตอนนี้เรามองอยู่ว่า อุตสาหกรรมที่มีอยู่ต้องลดมลพิษลงถึงจะอยู่ได้ หรือสิ่งที่จะเข้าไปใหม่ต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาด อุตสาหกรรมที่ไม่มีมลพิษ ชุมชนถึงจะยอมรับได้

บางครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ อย่างก๊าซระเบิด ก็เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่ออุตสาหกรรม ถ้าเกิดบ่อยๆ จะมีปัญหา เป็นเรื่องไม่ดีต่ออุตสาหกรรม ตรงนี้เป็นส่วนที่เราพยายามให้ข้อมูลว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้นควรจะมีแผนฉุกเฉิน มีแผนการต่างๆ แต่ปัญหาคือคนไทยเวลาเกิดอะไรขึ้นมักจะไม่เป็นไปตามแผน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้มีการประสานงานที่ชัดเจนขึ้นในการแก้ไขปัญหามาบตาพุด หลังจากมีปัญหาในรอบที่แล้วหรือไม่

ปัญหารอบที่แล้วก็มีแนวทางที่ชัดเจน แต่ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลปัจจุบันมองตรงนี้อย่างไร ตอนนี้เราก็รอนโยบายอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่มีปัญหาเรื่องการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราทำงานร่วมกันได้ดีและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : เรื่องมลพิษมาบตาพุดยังต้องห่วงอะไรไหม

มีเรื่องที่จะทำต่อไปคือเรื่องความร่วมมือ ต้องเข้าไปทำความเข้าใจในพื้นที่ ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งที่เราพยายามเข้าไปตรวจสอบและให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้อุตสาหกรรมพยายามทำตัวไม่มีปัญหา เพราะถ้ามีปัญหาเวลา ตรวจวัดก็จะเตือน ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้คนตระหนักและดำเนินการ

ไทยพับลิก้า : แล้วเรื่องมาตรฐานฝุ่นละอองเป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องมาตรฐานของฝุ่นละออง เรามีมาตรฐานฝุ่นละอองซึ่งบ้านเราล้ำหน้ามาก เพราะเรามีมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และใน 1 ปีต้องไม่เกิน 0.025 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งตรงนี้เป็นก้าวสำคัญที่ประเทศในภูมิภาคนี้ยังไม่มี เพราะเราให้ความสำคัญกับฝุ่นเล็กๆ เนื่องจากฝุ่นเล็กๆ จะมีผลต่อสุขภาพอนามัยค่อนข้างมาก เนื่องจากสามารถเข้าไปในส่วนลึกๆ ของร่างกายได้ และเราจะมีการตรวจสอบให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศในอนาคต โดยตอนนี้ที่มีการตรวจสอบมีในกรุงเทพฯ บางสถานีที่เชียงใหม่ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ยังอยู่ในมาตรฐาน ค่าเฉลี่ยรายปี

ไทยพับลิก้า : ฟังดูเหมือนว่ามาตรฐานของไทยก็ก้าวหน้า แต่ทำไมปัญหาพวกนี้ถึงยังมีอยู่

มาตรฐานไม่ได้เป็นตัวบอก สิ่งที่เป็นตัวบอกคือทำอย่างไรให้ได้ตามมาตรฐาน ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายของเราไม่ค่อยได้ผลเท่าไร แหล่งกำเนิดมลพิษทั้งหลาย ทั้งฟาร์มหรืออาคารบ้านเรือนที่เราไปตรวจสอบ ตรงนี้ยังมีปัญหาเรื่องการบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน และที่เราไปตรวจสอบทั้งหมดประมาณสัก 500 – 600 แห่ง พบว่าทำตามมาตรฐานได้แค่ 50% ส่วนที่เหลือก็ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเรากำลังบังคับใช้กฎหมายอยู่ เรื่องปรับก็ดำเนินการอยู่ สุดท้ายเราต้องทำให้ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้กรมก็ดูอยู่ว่าจะขยายผลเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างไรให้ครอบคลุม

เรื่องรถยนต์เหมือนกัน เราไปจับตรวจ พบว่ามีไม่ได้ตามมาตรฐานเพราะคนไม่ค่อยดูแล ปกติต้องตรวจสอบ ซ่อมบำรุง ดูแลรถเป็นประจำ พวกนี้ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษ แต่ปกติคนที่ใช้รถก็ปล่อยให้เลยเวลาถึงจะไปตรวจเช็ค น้ำมันเครื่องก็เปลี่ยนไม่ตรงตามเวลา เลยมีปัญหา

ไทยพับลิก้า : แล้วจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมอีกไหม

คงต้องให้คนทุกคนเกิดจิตสำนึก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็ไม่ง่าย ทั้งๆ ที่เรารู้อยู่ว่ามันไม่ถูก หรือเวลาที่เราปล่อยน้ำเสียแล้วถ้าจะมีการเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ถามว่าทุกคนอยากจะจ่ายไหม ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากจ่าย ที่จริงต้องบังคับ แต่เรื่องพวกนี้มีเรื่องของท้องถิ่น มีการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยว สมมติว่าเราเป็นนายกเทศมนตรีแล้วเราไปเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย เราก็กลัวว่าคราวหน้าคนจะไม่เลือกเรา

ระบบบำบัดน้ำเสียของประเทศไทยขณะนี้มีอยู่ 100 แห่ง ที่เก็บค่าบำบัดน้ำเสียได้จริงๆ มีอยู่ปะมาณ 7 แห่ง ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายเรายังมีปัญหา แม้ตอนนี้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ช้าไปหน่อย เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนเรื่องโครงการ ตอนนี้มีโครงการเพื่อนชุมชนของบริษัทเอกชนที่เข้าไปร่วมกับบริษัทเล็กๆ ในการเข้าไปแก้ไขปัญหา ในส่วน CSR(corporate socila responsibilityหรือความรับผิดชอบต่อสังคม) เราก็เข้าไปร่วมกับเขาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน มีที่บ้านโป่งที่เราเข้าไปร่วมกับทางบริษัทเอสซีจี เข้าไปช่วยเรื่องวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม บริษัทก็สนับสนุนเงิน ชุมชนก็มาสร้างเครือข่าย ขณะนี้ก็มีการขยายผลไปมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : กรมควบคุมมลพิษได้เข้าไปคุยกับโรงงานต่างๆ ไหม

เราคุย อย่างมาบตาพุดในปีที่แล้วเราคุยกันทุกเดือนเพื่อไปช่วยเขา ที่จริงไม่ใช่หน้าที่ของเราโดยตรง แต่เมื่อเกิดปัญหาเราก็ต้องไปเสนอแนะ ไปคุยกัน อย่างท่าเรือก็มีปัญหาเรื่องสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบางช่วงบางเวลา ช่วงขนถ่ายสินค้าลงเรือ เราก็จะเข้าไปคุยกับว่าเขามีปัญหาอย่างไร ไปแลกปลี่ยนช่วยเหลือ บางทีเราก็เอาฝ่ายอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาด้วย เอาชุมชนเอาจังหวัดเข้ามาด้วย

นอกจากนี้ เราก็ไปในพื้นที่อื่นๆ ด้วย แล้วแต่ปัญหาที่พบเจอ ตอนนี้ที่เราให้ความสำคัญก็คือเรื่องหมอกควันภาคเหนือ ได้มีการเตรียมพร้อม ตรวจวัดค่ามาตรฐาน ดูว่าเราต้องไปทำอะไร เพราะปัญหามาจากประชาชนเผาในพื้นที่เกษตร ก็จะไปโยงถึงเรื่องพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ทุกคนกำลังตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้งานหนักขึ้นไหม

เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เยอะขึ้น แต่เราอยากให้มีจุดเน้น อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลกระทบไปทั้งประเทศ อย่างเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าเราเอาจริงให้คนกลัวก็น่าจะดีขึ้น สมติว่าเราสามารถทำโทษรถที่มีควันดำเกินมาตรฐานด้วยการห้ามใช้รถชั่วคราวได้ จะใช้รถได้ต้องเอารถไปตรวจสภาพก่อน ปัญหาน่าจะดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาอยู่ว่า เราไม่สามารถไปเชื่อมระบบกับการต่อทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบกได้ ถ้าเชื่อมกันได้ก็จะดี แต่อีกฝ่ายเขาติดที่ระเบียบ ซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไข

แต่เมื่อพูดถึงในภาพรวม เราก็ดีกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย ในภูมิภาคนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมเราเป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ไทยพับลิก้า : แผนการทำงานเชิงรุกในอนาคตจะเป็นอย่างไร

อยากทำ แต่งบประมาณที่ได้มาในแต่ละปีก็น้อย เพียงปีประมาณ 400 ล้าน เท่านั้น เฉพาะของกรม ค่าอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ งบประมาณก็หมดไปครึ่งๆ แล้ว

และเราก็มีโครงการกับต่างประเทศเหมือนกัน อย่างตอนนี้เยอรมันสนใจเรื่องการจัดซื้อสีเขียว เพราะตอนนี้เป็นเทรนด์ใหม่ที่จะมองเรื่องสินค้าบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดูตั้งแต่ต้นทางว่าของมาอย่างไร บริโภคอย่างไร เกิดของเสียแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน ตอนนี้เราก็เริ่มทำกับภาครัฐแล้วเรื่องสินค้าบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการสั่งการเป็นมติ ครม. อย่างเช่นกระดาษ เวลาที่หน่วยงานของรัฐจะใช้กระดาษ ต้องใช้กระดาษที่มีเนื้อกระดาษรีไซเคิลอย่างน้อย 30% เพื่อลดการตัดต้นไม้ เวลาเราพิมพ์เอกสารต้องใช้กระดาษรีไซเคิล

หรือเรื่องการใช้โรงแรมในการจัดประชุมสัมนา โรงแรมต้องได้ใบไม้เขียว เป็นมาตรฐานโรงแรมที่ดูแลสิ่งแวดล้อม มีระบบการจัดการน้ำเสีย จัดการขยะตามมาตรฐาน หรือบริษัทที่มาดูแลทำความสะอาดให้หน่วยงานราชการ จะต้องไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย พนักงานต้องรู้วิธีแยกขยะ ซึ่งเราพยายามทำเป็นกฎเกณฑ์ให้ได้ผลในวงกว้าง ถ้ารัฐเป็นผู้นำ ภาคเอกชนก็จะตามไปได้

อย่างกรมเราเองก็พยายามทำเป็นตัวอย่าง เราได้รับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เราเป็นหน่วยงานที่ทำเรื่องคาร์บอนฟุตปริ๊น เพื่อดูว่ากิจกรรมที่เราทำมีการปล่อยคาร์บอนเท่าไร มีการลดได้เท่าไหร่ เราพยามเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ เวลาเราไปพูดกับใครก็จะได้พูดได้เต็มปากว่าเราทำแล้วมันเกิดผล

ส่วนมาตรฐานใหม่ๆ เราก็จะทำ จะมีการผลักดันมาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรมรายประเภท ดูเรื่องมาตรฐานอื่นๆ และทบทวนว่า ของเก่าที่เราทำอยู่มีปัญหาอุปสรรคในการจัดการอย่างไร อย่างที่คุยในตอนแรกว่าเราออกมาตรฐานมามากมาย แต่ทำได้จริงๆ เพียง 50% มันต้องมีข้อผิดพลาดที่ไหนสักอย่าง การบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรฐานเราใช้ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้อยู่ในระหว่างการทบทวน และมีการบังคับการใช้กฎหมายให้ครอบคลุม

ในอนาคต สิ่งแวดล้อมภาคจะมาอยู่กับกรมควบคุมมลพิษ ตรงนั้นจะเป็นแขนขาในระดับภูมิภาคได้ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายครอบคลุมมากขึ้น ขณะเดียวกันเราต้องดูแลจัดลำดับความสำคัญในการออกมาตรฐาน และที่สำคัญ เรื่องความสมัครใจก็ต้องทำไปด้วย