ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรรมาธิการสาธารณสุขแนะ สปสช. ทบทวนหลักเกณฑ์ล้างไตทางช่องท้อง ติงควรเคารพการวินิจฉัยของแพทย์

กรรมาธิการสาธารณสุขแนะ สปสช. ทบทวนหลักเกณฑ์ล้างไตทางช่องท้อง ติงควรเคารพการวินิจฉัยของแพทย์

14 มีนาคม 2012


หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกข่าว รณรงค์ให้ประชาชนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังมารักษาโดยใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้อง โดยข่าวนี้ออกมาก่อนวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งเป็นวันโรคไตโลก หลังจากที่ออกข่าว ได้มีแพทย์ออกมาให้ความเห็นว่า สปสช. ให้ข้อมูล/ข้อเท็จจริงไม่ครบแก่ผู้ป่วย เนื่องจากการล้างไตทางช่องท้องมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง และที่ผ่านมามีสถิติการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องสูงกว่า 30%

(อ่านเพิ่มเติม เลขา สปสช. รณรงค์ล้างไตทางช่องท้อง อ้างงานวิจัย ตปท. ติดเชื้อต่ำ – พญ.ประชุมพร ประธาน สพศท. โต้ให้ข้อมูลไม่ครบ เสี่ยงสูง และ กางข้อมูล สปสช. โต้ สปสช. – เปิดสถิติผู้เสียชีวิตล้างไตทางช่องท้องสูง 40% แต่ สปสช. ยังยันเป็นวิธีที่ดีที่สุด)

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันอังคารที่ 13 มีนาคม 2555 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โดยนายแพทย์อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณาศึกษาถึงการรณรงค์การล้างไตทางช่องท้อง ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปัจจุบัน โดยได้เชิญนายแพทย์ดำรัส โรจนเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและคณะ มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ สปสช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายและใช้บัตรทองที่ต้องมีการฟอกไต ให้เริ่มต้นด้วยการล้างไตทางช่องท้องตามนโยบายส่งเสริมการล้างไตช่องท้อง (CAPD First policy) จึงไม่เสียค่าใช้จ่าย

โดยระบุว่า หากผู้ป่วยรายใหม่ไม่สมัครใจทำการล้างไตผ่านช่องท้อง แต่ต้องการทำโดยวิธีฟอกเลือด ก็จะต้องจ่ายค่าฟอกเลือดเอง ซึ่งทั่วไปจะอยู่ในราวหมื่นกว่าบาทต่อเดือน ปัจจุบันผู้ป่วยตามสิทธิฯ ที่ได้รับบริการฟอกไตมีประมาณ 19,000 คน แบ่งเป็นเป็นการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD) ประมาณ 9,600 คน เป็นการฟอกเลือด (HD) ประมาณ 9,300 คน

แต่จากข้อมูลวิชาการที่คณะผู้เชี่ยวชาญฯ นำเสนอ พบว่า การล้างไตโดยวิธีการดังกล่าวแม้ไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่มีข้อจำกัดมาก โดยผู้ป่วยต้องเรียนรู้และมีความรู้ ความชำนาญพอเพียงในการดูแลตนเอง ต้องมีเทคนิคป้องกันการติดเชื้อที่ดี ต้องทำในบ้านที่มีความสะอาดสูง ต้องมีสถานที่เก็บน้ำยาที่ได้มาตรฐานในบ้าน ต้องมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ ทุกราย เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรของคนไข้กลุ่มนี้

ทั้งยังต้องเปลี่ยนเป็นฟอกเลือดได้เมื่อจำเป็น การตั้งเกณฑ์เช่นนี้อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วย ไม่เคารพในการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วยของแพทย์ ซึ่งในบางรายอาจต้องให้การรักษาเริ่มต้นโดยวิธีฟอกเลือด รวมทั้งจากข้อมูลสถิติผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับ สปสช. ในช่วงที่ผ่านมาที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ก็พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากในหลายพื้นที่ โดยยังไม่มีการแสดงผลวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางป้องกันที่ชัดเจน

จากกรณีดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ จึงมีความห่วงใยและกังวลต่อการกำหนดหลักเกณฑ์ ที่จำกัดให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและใช้บัตรทองรายใหม่ ต้องล้างไตทางช่องท้องเท่านั้น โดยไม่ให้สิทธิผู้ป่วยในการเลือกการรักษาที่ดีที่สุด และไม่เคารพการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาตามมาตรฐานของแพทย์ อีกทั้งการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น สปสช. จึงควรพิจารณาทบทวนในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง.