ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ปิดตำนานซุกหุ้นชินคอร์ป สรรพากรยุติบี้ภาษีครอบครัว “ทักษิณ ชินวัตร ” – “แก้วสรร” คาใจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ปิดตำนานซุกหุ้นชินคอร์ป สรรพากรยุติบี้ภาษีครอบครัว “ทักษิณ ชินวัตร ” – “แก้วสรร” คาใจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

22 กุมภาพันธ์ 2012


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ: http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/398/24398/images/shintax.jpg
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ: http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/398/24398/images/shintax.jpg

หลังจากที่คณะกรรมการปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ยึดอำนาจการปกครองของไทยสำเร็จ ในเดือนกันยายน 2549 ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบโครงการต่างๆที่ทำไว้ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หลายเรื่องถูกดำเนินการไปเรียบร้อย อาทิ โครงการจัดซื้อที่ดินรัชดา, จัดซื้อกล้ายาง, รถดับเพลิง, หวยบนดิน ยกเว้นคดีหลบเลี่ยงภาษีจากการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ซึ่งเปรียบเสมือนหนามที่แทงกลางดวงใจ พ.ต.ท.ทักษิณ

นอกจากจะถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยังถูกกรมสรรพากรตามไปอายัดทรัพย์สินของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร (โอ๊ค-เอม)อีก 12,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งคู่ได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปต่อสู่ในศาลภาษีอากรกลางจนชนะคดี เพราะบุคคลทั้งสองไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง ทำให้กรมสรรพากรต้องถอนอายัดทรัพย์สินคืนให้กับโอ๊ค-เอม

ถึงแม้ทั้ง 2 ศาลตัดสินแล้วว่า หุ้นชินคอร์ปฯ ไม่ใช่หุ้นของโอ๊ค-เอม แล้วหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นของใคร พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ บริษัทแอมเพิลริชที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของ ก็ยังเป็นประเด็นที่จะต้องมีการตีความกัน ทำให้กรมสรรพากรต้องนำประเด็นนี้มาขอความเห็นจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานฯ ซึ่งนายอารีพงศ์ได้มอบหมายให้นางเสาวนีย์ กมลบุตร รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ แทน

และในที่สุด มหากาพย์การต่อสู้ของคนในตระกูลชินวัตรก็ปิดฉากลง เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ โดยนางเสาวนีย์ กมลบุตร ในฐานะประธานคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้วินิจฉัยกรณีการจัดเก็บภาษีจากการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ โดยนำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ และศาลภาษีอากรมาประกอบการพิจารณา ซึ่งคำพิพากษาของศาลระบุว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ แต่เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากจะตัดสินยืนตามคำพิพากษาของศาล

นางเสาวนีย์กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนกรณีที่กรมสรรพากรมาขอความเห็นว่า จะประเมินภาษีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้หรือไม่ คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีหรือการประเมินภาษีนั้น น่าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่มีหน้าที่ไปตัดสินว่าจะให้กรมสรรพากรไปเก็บภาษีใคร หรือ ไม่เก็บใคร ประเด็นนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะเก็บภาษี พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่

ด้านนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ได้สรุปผลการวินิจฉัย กรณีการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ว่า เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ที่แท้จริง คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายปกปิดบัญชีทรัพย์สินที่จะต้องแสดงต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ตกเป็นของแผ่นดินไปหมดแล้ว จากนั้นเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นตัวจริงนำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายให้กับกองทุนเทมาเสกผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะได้รับยกเว้นภาษีตามกฏกระทรวงฉบับที่ 126

“เรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ ตอนนี้ถือว่าจบแล้ว ต่อจากนี้ไป กรมสรรพากรจะไม่มีการประเมินภาษีคนในตระกูลชินวิตรอีก เนื่องจากผลการตัดสินของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรถือเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ยืนตามคำพิพากษาของศาลทั้ง 2 ศาล ส่วนเรื่องการประเมินภาษี พ.ต.ท.ทักษิณ คณะกรรมการฯ มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อสรรพากรพิจารณาแล้วว่าไม่ต้องเสียภาษี ตรงนี้ก็ถือเป็นที่สิ้นสุดด้วยเช่นกัน เพราะกรมสรรพากรทำตามผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ” นายสาธิตกล่าว

นายแก้วสรร อติโพธิ(คนกลาง) อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
นายแก้วสรร อติโพธิ(คนกลาง) อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวว่า ผมไม่เข้าใจ ทำไมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และอธิบดีสรรพากรไปเอาคำพิพากษาจากศาลมาพิจารณา เพราะศาลทั้ง 2 ศาล ก็ไม่ได้ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง แต่ศาลตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของบริษัทแอมเพิลริชที่ถือหุ้นชินคอร์ปฯ กล่าวคือในปี 2542 พ.ต.ท.ทักษิณได้จัดตั้งบริษัทแอมเพิลริช และมีการโอนหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับบริษัทแอมเพิลริช และก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเล่นการเมือง ในปี 2543 ได้ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับนายพานทองแท้และนางสาวพินทองทาในราคา 1 บาทต่อหุ้น ต่อมา ทั้งคู่ได้นำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประกาศกระทรวง ฉบับที่ 126 แต่มาถูก คตส. ตรวจสอบพบจึงนำเรื่องนี้ส่งฟ้องศาลฎีกาฯ

“กรมสรรพากรยอมรับหรือไม่ หุ้นชินคอร์ปฯ นั้นเป็นของบริษัทแอมเพิลริช และ พ.ต.ท.ทักษิณคือเจ้าของบริษัทแอมเพิลริช ศาลทั้ง 2 ศาลตัดสินว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง ดังนั้นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริงก็คือบริษัทแอมเพิลริชที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของ เมื่อแอมเพิลริชนำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประกาศกระทรวง ฉบับที่ 126 เพราะถือว่าเป็นการซื้อ-ขายหุ้นระหว่างบริษัทกับบริษัท ดังนั้น กรมสรรพากรจึงมีหน้าที่ที่จะต้องไปไล่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% หรือเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับทักษิณที่ได้หุ้นจากบริษัทแอมเพิลริชไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด” นายแก้วสรรกล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตามมาตรา 13 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จะมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานฯ กรรมการประกอบด้วย อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1) กำหนดขอบเขตในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินและพนักงานเจ้าหน้าที่ 2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาในการตรวจสอบ และประเมินภาษีอากร 3) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับภาษีอากรที่กรมสรรพากรขอความเห็น และ 4) ให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะแก่รัฐมนตรีในการจัดเก็บภาษีอากร คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯให้ถือเป็นที่สุด

(อ่าน คำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 1)
(อ่าน คำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2)
(อ่าน คำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3)
(อ่าน คำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4)