ThaiPublica > คนในข่าว > มวลชนกดดันหลังมวลน้ำ กระแทก “สุชน ชาลีเครือ” เอกซเรย์ “ม็อบผุด” ล้อมรัฐบาล

มวลชนกดดันหลังมวลน้ำ กระแทก “สุชน ชาลีเครือ” เอกซเรย์ “ม็อบผุด” ล้อมรัฐบาล

14 มกราคม 2012


“…ปัญหามันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เรียกแขกมามากกว่ารัฐบาลที่แล้ว อันนี้ต้องให้ความเป็นธรรม…”

หลังผ่านพ้นปรากฏการณ์ “วารีตีโอบ” รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ได้เกิดภาพ “ม็อบผุด” สารพัดจุด

ไม่ว่าจะเป็น “ม็อบ 5 พัน” โดยชาวอ. บางใหญ่ จ. นนทบุรี ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิได้รับเงินชดเชยน้ำท่วม 5 พันบาท/ครัวเรือน

“ม็อบคูปอง 2 พัน” ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่พยายามสอดตัวเข้ามาทึ้งคูปอง 2 พันบาทของกระทรวงพลังงาน ที่แจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย 28 จังหวัด เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน และกลุ่มที่ออกมาอัดถล่มกรณีใช้เงินได้ไม่เต็มจำนวน 2 พัน เว้นแต่ซื้อสินค้าหลักหมื่น

“ม็อบเอ็นจีวีแพง” ซึ่งนำโดยกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกและแท็กซี่ ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีในวันที่ 16 มกราคม 2555

และล่าสุด “ม็อบยางพาราราคาตก”

แม้ต่างข้อเรียกร้อง ต่างความต้องการ แต่ยุทธวิธีที่มวลชนเหล่านี้ใช้เพื่อกดดัน-ต่อรองกับรัฐบาล 15.7 ล้านเสียง ตรงกันด้วยการปิดถนน

ยังไม่รวบม็อบยิบย่อยที่ออกมาเคลื่อนไหวรายวัน

ร้อนถึง “ผู้นำหญิง” ต้องสั่งการกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม ให้หาทางสกัดมวลชนเหล่านี้ให้อยู่ในที่ตั้ง ห้ามเข้ามาตีโอบรั้วทำเนียบรัฐบาลเด็ดขาด

บุคคลที่คอยรับเรื่องร้องทุกข์-ร้องเรียน คอยรับหน้าประชาชนที่มาร้องไห้หน้าทำเนียบฯ นาม “สุชน ชาลีเครือ” อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งที่ปรึกนายกรัฐมนตรี และได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านมวลชนของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ตั้งต้นเอกซเรย์ปรากฏการณ์ “ม็อบผุด” ผ่าน “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า”

หลังรัฐบาลผ่านแรงกระแทกจาก “มวลน้ำ” และกำลังถูก “มวลชน” รุมกดดัน

นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา และที่ปรึกนายกรัฐมนตรี
นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา และที่ปรึกนายกรัฐมนตรี

ไทยพับลิก้า: ปรากฏการณ์สารพัดม็อบผุดขึ้นมาชุมนุม เรียกร้อง ต่อรองกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เกิดจากปัจจัยอะไร

ตั้งแต่ปีใหม่มานี้เยอะมากนะ ทราบว่ามูลเหตุหลักคือการไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นม็อบเกษตรกร 4 ภาค อย่างสภาเครือข่ายเกษตร ซึ่งนำโดยแกนนำชุดเดิมๆ ที่เคยเรียกร้องมาหลายรัฐบาลแล้ว ตั้งแต่ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เรื่อยมา แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ทำกินและหนี้สิน ดังนั้นจะเรียกว่าเป็นเทศกาลก็ได้ บังเอิญในช่วงต้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังจะขับเคลื่อนนโยบาย ก็เจอปัญหามหาอุทกภัยเสียก่อน ทำให้ปัญหาเหล่านั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข และมาปะทุเอาในช่วงนี้พอดี ส่วนม็อบขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ก็เกิดจากปัญหาค่าครองชีพ รัฐบาลชุดไหนมันก็เกิด ก็ต้องย้อนถามว่ารัฐบาลชุดก่อนแก้ปัญหาได้ดีเพียงใดล่ะ

ไทยพับลิก้า: ความแตกต่างของรัฐบาลเพื่อไทย คือชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 15.7 ล้านเสียง และโหวตเตอร์ส่วนใหญ่คือชาวรากหญ้า ทำให้เขามีความคาดหวังมากหรือเปล่า

(พยักหน้า) ชาวบ้านมีความหวัง เป็นรัฐบาลที่มาจากรากหญ้ามากที่สุดถ้าดูจากคะแนนโหวต และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีนโยบายโดนใจรากหญ้า ที่ไปประกาศนโยบายประชานิยมเอาไว้ ทำให้ชาวบ้านมีความหวังว่าจะได้ทันที แต่การขับเคลื่อนมันมีทั้งข้อกฎหมาย มีมติครม. ที่ต้องออก มีอำนาจต่างๆ ที่ต้องใช้ตามขั้นตอน ก็ต้องยอมรับว่า… รัฐบาลใหม่น่ะ (หัวเราะเล็กๆ) ก็เลยเจอ

ไทยพับลิก้า: รัฐบาลต้องสร้างสมดุลระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินตามระเบียบแบบแผน กับการบริหารความคาดหวังของโหวตเตอร์อย่างไร

ผมว่าตอนนี้มีปัญหา รัฐบาลก็ต้องแก้ไป รัฐบาลไม่หนีปัญหาอยู่แล้ว และต้องยอมรับว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้ความสำคัญกับนโยบายทุกเรื่อง และให้ความสำคัญกับโหวตติ้ง (การออกเสียง) ท่านจะรับปัญหาทั้งหมด และไม่หนีปัญหา

ไทยพับลิก้า: การที่รัฐมนตรีส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็น “แถว 3” ไม่มีแทคติคทางการเมืองมากนัก ส่งผลต่อการบริหารจัดการมวลชนหรือไม่(หัวเราะ)

อันนี้ก็มีความเห็นจากหลายฝ่าย รัฐมนตรีท่านก็พยายามทำแล้ว แต่ข้อมูลอาจไม่ครบถ้วน หรือประสบการณ์ของฝ่ายที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำท่านว่าจะทำอย่างไร ก็ไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์ ถือว่าท่านแก้ปัญหาได้ดีที่สุดแล้ว ลุล่วงไปแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการทำความเข้าใจกับประชาชนที่มาประท้วง หรือที่เรียกว่าม็อบ ต้องมีศิลปะในการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือกรรมการชุดใด ต้องมีศิลปะ และมีข้อมูลครบถ้วน ถึงจะเจรจากันได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะลุกลามบานปลาย ก็จะเป็นเหยื่อความขัดแย้ง และเป็นจุดหนึ่งที่เรียกแขกให้มาเติม มากดดันให้ม็อบขยายวง

ไทยพับลิก้า: แม้รัฐมนตรีจะใหม่เกินครึ่ง แต่กุนซือนอกเพื่อไทยก็มีมากมาย ทำไมถึงบริหารจัดการไม่ได้ จนเกิดภาพก่อม็อบซ้ำซาก

(หัวเราะ) นายกฯ ก็มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละคนพยายามทำความเข้าใจกับผู้เดือดร้อน ให้กระบวนการนั้นแล้วเสร็จ ณ ที่ตั้ง ณ ภูมิภาค แทนที่จะมาทำเนียบฯ มีนโยบายอย่างนี้

ไทยพับลิก้า: อะไรทำให้หัวคะแนนและฝ่ายสนับสนุนเพื่อไทย หันมาประท้วงพรรคพวกตัวเอง เช่น กรณีม็อบรถบรรทุกและแท็กซี่ปิดถนน เพื่อคัดค้านการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี เมื่อวันที่ 9 มกราคม แกนนำก็เป็นมือจัดม็อบเสื้อแดงมาก่อน

อย่างม็อบแท็กซี่ที่มา ก็เป็นคนที่เคยช่วยเหลือรัฐบาล เป็นฝ่ายสนับสนุนนโยบายประชานิยมมา ถามว่าทำไมมาประท้วง เพราะเขาเดือดร้อนจริงๆ มันไม่ได้แยกแยะหรอกว่าเป็นฝ่ายไหน เพราะเขาประกอบอาชีพโดยสุจริต รัฐบาลเพื่อไทย ต้องทำให้คนไทยกว่า 60 ล้านคน ไม่ได้เลือกว่าแท็กซี่เป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคหรือไม่ ต้องทำให้เกิดความเสมอภาคทุกคน

ไทยพับลิก้า: จากนี้ประเมินว่าจะมีคนกลุ่มไหนปลุกม็อบต่อต้านรัฐบาลอีก

ตอนนี้เป็นหน้าแล้ง กลุ่มประชาชนรากหญ้าเป็นกลุ่มที่เดือดร้อนที่สุด จากปัญหาเดิมๆ ที่ยังไม่ได้รับการสะสางดูแล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่อาจรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยตรงตามใจ พอกลุ่มอื่นเห็นกลุ่มนี้ก็อาจทยอยมาเพื่อให้รัฐบาลสนใจ ให้รัฐบาลไปแก้ไข ก็คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากคนแก้ไขปัญหาได้ทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นมิตร ก็คงไม่เกิดเหตุบานปลาย

ไทยพับลิก้า: ฝ่ายค้านวิจารณ์ว่ารัฐบาลสร้างค่านิยมคนไหนปิดถนน คนนั้นเสียงดัง

คงไม่ใช่อย่างนั้นหรอก รัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ) เองก็มีม็อบไม่เว้นแต่ละวันในช่วงที่เป็นรัฐบาล 2 ปีเศษ มีม็อบกลุ่มที่ไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดิน ม็อบที่รัฐบาลชุดก่อนตั้งคณะกรรมการเกือบ 20 ชุด มาแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องที่ดิน เรื่องสวนยาง ก็แสดงว่าปัญหามันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เรียกแขกมามากกว่ารัฐบาลที่แล้ว อันนี้ต้องให้ความเป็นธรรม

ไทยพับลิก้า: แขกมาเยือนตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนแล้ว

(ยิ้ม) ใช่ แต่เขาเพิ่งมาเยี่ยมเรา จังหวะว่าน้ำเพิ่งลด เลยเพิ่งมาได้ ตอนน้ำท่วมทุกคนออกไปช่วยคนน้ำท่วมกันหมด พอสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทุกคนก็ต้องกลับมาดูแลเรื่องตัวเอง ดังนั้นขอให้คุณอภิสิทธิ์พูดความจริงหน่อย แขก หรือประชาชนที่เดือดร้อนมันมีมาแต่เดิมแล้วส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นมูลเหตุให้เขาต้องมาเรียกร้อง ทั้งนี้มองว่าม็อบต่างๆ ที่มาเป็นเพราะได้รับความเดือดร้อนจริงๆ หรือต่อให้มีอย่างอื่นอยู่ข้างหลัง คุณเป็นรัฐบาล คุณก็ต้องเจรจานะ อย่าไปหลีกเลี่ยง

ไทยพับลิก้า: ถ้าจะมีเหตุให้พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองปลุกม็อบขึ้นมาขับไล่รัฐบาล จะใช้อะไรเป็นชนวนได้บ้าง

ผมว่าปัจจัยเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ถูกลบหายไปจากแผนที่ จากไดอะแกรม (แผนภาพ) ทางการเมือง โอเค… ซีกหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกซีกเป็นฝ่ายค้าน อีกกลุ่มอยู่แบบเป็นกลางบ้าง ไม่เป็นกลางบ้าง หรือถ้าเกิดผลประโยชน์ร่วมกันก็ร่วมงานกันได้ ในทางประชาธิปไตยถือเป็นความหลากหลาย และถ้ากลุ่มการเมืองใดจะจัดม็อบมา ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่เขาต้องมาชุมนุม มาเรียกร้อง เพราะเขามีปัญหา เพราะเขาแก้โดยลำพังตัวเขาเองไม่ได้ ใครที่มีอำนาจรัฐมีหน้าที่ต้องแก้ ฝ่ายสนับสนุนกลุ่มผู้เดือดร้อนอาจจะเป็นฝ่ายการเมืองก็ได้ อยู่ในรัฐบาลก็ได้ อยู่ในฝ่ายค้านก็ได้ นี่มองแบบมิติประชาธิปไตย แต่ถ้ามองว่าโอ้ย! พวกนี้เป็นศัตรู มันก็เกิดความรุนแรง เกิดการประจัญหน้ากัน

อย่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่จะทำให้ความขัดแย้งขยายวงออกไปได้ บางกลุ่มบอกว่าแตะรัฐธรรมนูญไม่ได้ หวงไว้มากเลย โดยไม่มีการอธิบายกันว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศที่เป็นแบบในการปกครองประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้ มันมีบทบัญญัติอยู่แล้วว่าขั้นตอนคืออะไร วิธีแก้คืออะไร คนที่มีหน้าที่คือใคร แต่คนอธิบายไปอธิบายเหตุที่ยังไม่เกิดไว้ก่อนว่า ถ้าแตะรัฐธรรมนูญเมื่อไรบ้านเมืองลุกเป็นไฟ คำพูดเหล่านี้นักการเมืองทั้งหลาย นักวิชาการทั้งหลายไม่ควรนำเสนอในสิ่งที่ทำให้ตื่นตระหนก ยั่วยุให้คนเกิดความไม่เข้าใจ ต้องอธิบายตามความเป็นจริง ตั้งแต่ร่างมาก็มีการรณรงค์ว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ไข เมื่อขณะนี้ประชาชนส่วนหนึ่งก็เข้าชื่อแก้แล้ว รัฐสภาขับเคลื่อนไปแล้ว วิปรัฐบาลบอกแล้วว่าจะแก้มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดังนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น ไม่ใช่เรื่องต้องไปคิดให้แตกแยก เป็นเรื่องปกติ

ไทยพับลิก้า: หากมีการปลุกม็อบต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างไร

ทุกคนได้เห็นบทเรียนมาแล้วที่มีการสูญเสีย การเยียวยาแค่รายละ 7.5 ล้านบาท มันไม่คุ้มกับความเป็นประเทศชาติของเรา เคยเป็นประเทศรักสงบ เป็นคนไทยแล้วมาฆ่ากันตาย มันไม่คุ้มหรอก นี่เป็นบทเรียนที่ต้องตระหนักกันให้ดี ถ้ารัฐธรรมนูญจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกเพียงเพราะเถียงกันด้วยหลักวิชาการ ไปแยกสีแยกฝ่ายให้มีการทะเลาะเบาะแว้ง ถึงขนาดขับมวลชนออกมาสู้กันเอาเป็นเอาตายอีก ไม่สมควร ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่ควรทำ ผมว่าต้องหยุด แล้วนั่งคิดกันด้วยเหตุด้วยผล เพราะแนวรัฐบาลก็เดินปรองดองกันอยู่แล้ว ทุกฝ่ายพูดกันในสภาด้วยเหตุด้วยผล ก็จบ ไม่ต้องเอาประชาชนมาสู้กัน ถ้าผู้นำทางการเมือง ผู้นำกลุ่มการเมืองแต่ละกลุ่ม ไม่เป็นหัวขบวนนำสิ่งที่ผิด มันก็ไม่ทะเลาะกันหรอก กองทัพเขาก็ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอยู่แล้ว

ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กลไก ส.ส.ร. ก็ส่งตัวแทนเข้ามาตามกติกาสิ สำหรับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย คุณเลือกผู้แทนฯ มาแล้ว ก็ปล่อยอำนาจหน้าที่ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. เขาทำไป ประชาชนก็เป็นกองเชียร์อยู่ในที่ตั้ง หากจะเสนอความเห็นก็ผ่านระบบมา ผ่านตัวแทนมา ไม่เช่นนั้นเราจะมีระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนไว้ทำไม บางคนนี่ไม่ได้หรอก จะเอากลุ่มมาลุย เพียงคนคนเดียวประกาศว่าข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย จะพาประชาชน 1 หมื่นคน 1 แสนคน มาต่อต้าน พูดได้ แต่ให้ลดราวาศอกลงหน่อย อย่าพูดเอาเด่นเอาดัง

ไทยพับลิก้า: แต่บางคนที่เสียงดังคืออีกขาของเพื่อไทย กอปรกับประเด็นที่ ส.ส. เสนอแก้ไขอาจไม่ตรงใจคนเสื้อแดง พรรคกล้าห้ามคนเหล่านี้ไม่ให้เคลื่อนไหวหรือ

ผมว่าถ้าคนที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองที่มีเกียรติแล้ว เป็น ส.ส. แล้ว หรือเป็นรัฐมนตรีแล้ว ความคิดเห็นส่วนตัวมันต้องมีกรอบคิดกรอบพูดหน่อย อย่าปากลำโพงมากนัก (หัวเราะร่วน) เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดมากขึ้น แต่ไปห้ามเขาไม่ได้หรอก เหมือนห้ามไม่ให้ผมพูดก็ห้ามไม่ได้ แต่มีจิตสำนึกหน่อย จิตสำนึกถึงจะเรียกว่าปรองดอง ยิ่งคุณเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยิ่งต้องระวังว่าต้องเป็นไปตามมติพรรค เป็นไปตามกลไก ฟังแกนนำฟังผู้ใหญ่ในพรรคหน่อยเท่านั้นเอง ส่วนพรรคอื่นก็ต้องรับผิดชอบต่อสถาบันที่ตนสังกัด ไม่ว่าจะรัฐสภา หรือรัฐบาล หรือพรรคการเมืองก็แล้วแต่ ต้องมีกรอบในการพูดคุย

ไทยพับลิก้า: ห่วงว่าชะตากรรมของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” จะซ้ำรอยรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” และรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” หรือไม่ ที่พอเปิดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญปุ๊บ ก็มีม็อบมาล้อมทำเนียบฯ ปั๊บ

นี่เป็นการบ้านใหญ่ที่ผู้นำรัฐบาล และคณะฝ่ายบริหารจะต้องขบคิดกัน แล้วมีกระบวนการอธิบายคนในพรรค คนในรัฐบาล และประชาชนให้เข้าใจว่าทำไมต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ต้องเป็นแนวทางปรองดอง ไม่ใช่ใช้แนวทางก้าวร้าว คิดว่าต้องใช้เสียงข้างมากดีหมด แบบนั้นไม่ใช่ เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยส่วนตัวเห็นว่าแนวทาง ส.ส.ร. น่าจะเหมาะสมแล้ว

ไทยพับลิก้า : องค์ประกอบที่เหมาะสมของ ส.ส.ร.3 ควรเป็นอย่างไร

ในเมื่อเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นตัวแทนของประชาชน แนวความคิดให้เลือก ส.ส.ร. จากประชาชน 77 จังหวัด ก็เป็นเรื่องที่ดี หรือจะเอาสัดส่วนจำนวนประชากร 65 ล้านคน แบบเลือก ส.ว. ก็ได้ ประมาณ 3-4 แสนคน ต่อ ส.ส.ร. 1 คน และอีกส่วนหนึ่งต้องเอากลุ่มนักวิชาชีพ นักวิชาการ นักกฎหมายที่มีองค์ความรู้มาโดยการเลือกตั้งทางอ้อมประมาณ 20-30 คน เช่น อาจมีการเสนอชื่อนักวิชาการมาเป็นพันคน เสร็จแล้วก็ให้สมาชิกรัฐสภาเลือก รวมเบ็ดเสร็จก็จะมี ส.ส.ร. ประมาณ 100-120 คน เพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญ โดยให้เวลาประมาณ 240 วัน ในการยกร่าง ก่อนนำไปทำประชามติ

นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา และที่ปรึกนายกรัฐมนตรี

ไทยพับลิก้า: ถ้าจะมีม็อบต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะปลุกกันช่วงไหน

กลุ่มที่จะมาคัดค้านน่าจะมีอยู่ 2 ส่วนคือ 1.กลุ่มที่ไม่ได้ศึกษาอะไรรอบคอบ ก็อาจถูกชักชวนกันว่าใครมาแตะต้องรัฐธรรมนูญเนี่ย เป็นพวกที่จะมาทำลายสถาบัน ก็เลยออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญไว้ก่อน แต่ถ้าได้รับการอธิบายเชื่อว่าจะเข้าใจ น่าจะจบ ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคอะไรเลย 2.กลุ่มที่กล่าวหาว่ามีการล็อคสเปค ใช้เสียงข้างมากล็อค ส.ส.ร. ก็กล่าวหากันได้ แต่ดูเนื้อหาสิมันยังไม่เกิดเลย หน้าตา ส.ส.ร. จะเป็นใครเราก็ยังไม่รู้ ต้องดูก่อนสิ จังหวัดหนึ่งๆ อาจจะเลือกนาย ก. นาย ข. ที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองเลยก็ได้ มันเคยเกิดมาแล้วตอนเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 2543 ส.ว. ชุดนั้น 200 คน อิสระเสีย 100 กว่าคน คนที่เคยอยู่พรรคใหญ่ยังตกหมด ดังนั้นที่มาที่ไปของ ส.ส.ร. มันกระจายได้ ส.ส.ร. ที่มาจากจังหวัดอาจจะมีพรรคการเมืองสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ ส.ส.ร. ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิก็กระจายกันมา ดังนั้นที่ถามว่าจะมีม็อบมาไหม เราคาดได้ อาจจะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ หากในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีการสอบถามความเห็นประชาชนไปเรื่อย ให้เขามีส่วนร่วมไปเรื่อย ตรงนั้นก็จะเบาลง เป็นภาวะปกติ เพราะพอมี ส.ส.ร. แล้ว ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องปล่อยให้ ส.ส.ร. ทำ ไม่ไปยุ่งเกี่ยว

ไทยพับลิก้า: ไม่ยุ่งเพราะเพื่อไทยล็อค ส.ส.ร. ภาคเหนือและอีสานได้แล้ว ส่วนประชาธิปัตย์ก็รวบ ส.ส.ร. ภาคใต้หมด

มันก็มีอีกกลุ่มจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ เข้ามาคาน

ไทยพับลิก้า: แล้วทหารจะเข้ามาเป็น ส.ส.ร. ได้จากช่องทางไหน

ทหารก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ก็อาจจะมาจากกลุ่มข้าราชการ ทั้งทหารและตุลาการต้องให้มีมา ก็อยู่ที่การยกร่างว่าจะให้ ส.ส.ร. มีที่มาอย่างไร แต่ใช้คำว่า “ต้อง” ให้มีมา (พูดช้าๆ และเน้นเสียง)

ไทยพับลิก้า: ล็อคไว้เลยว่าต้องมีตัวแทนจากกองทัพมานั่งเป็น ส.ส.ร.

(ทวนคำพูด) ต้องมีตัวแทน ทหารเขาก็มีนายทหารฝ่ายรัฐธรรมนูญที่รู้เรื่องกฎหมาย อย่างนี้ก็ส่งมา

ไทยพับลิก้า: แล้วตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) “ต้อง” ได้เข้ามาหรือไม่

พธม. ก็เป็นองค์กรๆ หนึ่ง ถ้ายอมรับว่าเป็นองค์กรก็ให้เข้ามาได้

strong>ไทยพับลิก้า: แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เคยวิจารณ์ว่า พธม. เป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญ

ไอ้นั่นมัน ส.ส. คิด ถ้าผมคิดคือมีสิทธิ หรือจะมาในองค์กรอื่นก็ได้ มาเลย รู้จักกันหมดน่ะ คุณปานเทพ (พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพธม.) คุณประพันธ์ (คูณมี) ก็รู้จักกันดี ส่วนคณะนิติราษฎรเขาไม่ได้เป็นองค์กร แต่เขาเป็นนักวิชาการ อาจจะมาในนามองค์กร ชมรม สมาคมก็ได้ ให้โอกาสเขาในฐานะนักวิชาการอิสระ แต่ใครจะเป็นคนเลือก เขาเสนอมาแล้วอาจไม่ได้ก็ได้ ส่วนตัวแทนสื่อมวลชน ต้องมี เราอาจเขียนไว้เลยว่าต้องมีคนกลุ่มนี้

เห็นรายชื่อของอาจารย์อุกฤษ [มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)] ไหมล่ะ ผมว่าท่านคิดดีนะ เจตนาบริสุทธิ์ที่อยากจะให้ทำรัฐธรรมนูญโดยเร็วและประหยัด คนอื่นเห็นต่างได้ แต่อย่าไปประณามอย่างนั้น เพราะอย่างกรณีอาจารย์สมบัติ (ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ อดีตประธานศึกษาพิจารณาแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญ) คนวิจารณ์ก็ไม่ได้พาดพิงจากข้อเท็จจริง เมื่อปีที่แล้ว อาจารย์สมบัติเป็นคนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งให้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีคนว่าเลย นี่สังคมไม่เป็นธรรมแล้ว ไปตั้งโจทย์ผิดแต่แรก ดังนั้นนี่เป็นเรื่องที่ต้องเปิดใจกว้าง

ไทยพับลิก้า: เป็นเพราะสังคมคิดว่าอย่างไรเสียชื่ออาจารย์สมบัติก็ลวงอยู่แล้วหรือเปล่า เลยไม่วิจารณ์ (หัวเราะ)

ลวงอยู่แล้วเหรอ ผมก็ไม่รู้ แต่ผมว่าครั้งนี้อาจารย์สมบัติก็น่าจะมาร่วมช่วยแก้ไขด้วย มาเถอะคนเก่งๆ ทั้งหลาย 1.อย่าผูกขาดการเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญคนเดียว 2.อย่าผูกขาดการรักชาติ 3.อย่าผูกขาดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศคนเดียว ทุกคนมีส่วนร่วม

ไทยพับลิก้า: ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมแล้วใช่หรือไม่ในการตั้งต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าต้องแก้ทั้งฉบับมันต้องเริ่ม เพราะต้องใช้เวลาเป็นปีถึงจะรอบคอบ นอกจากนี้รัฐบาลยังประกาศไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนด้วย ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเขาจะแก้ ขอให้ประชาชนเข้าใจเถอะ อย่าไปประณาม มันไม่ใช่เรื่อง

ไทยพับลิก้า: มีเสียงซุบซิบว่าบางคนในเพื่อไทยได้ประโยชน์จากความขัดแย้งในบ้านเมือง เวลาจะขยับทำอะไร คนเหล่านี้จึงเดินเกมขวางในทางลับ

ไม่ได้ยิน ผมไม่เคยได้ยิน ตอนนี้อาจจะคิดกันคนละอย่าง ผมถึงบอกว่าความคิดเห็นส่วนตัวมันห้ามกันไม่ได้ แต่พอถึงขั้นตอนจะทำงานมันต้องฟังซึ่งกันและกัน และไปในทางเดียวกัน มันถึงจะทำได้สำเร็จ ไม่ใช่คิดต่างกันแต่แรก แล้วจะหันไปขอความสนับสนุนจากใครล่ะ ก็เป็นเหยื่อสิ อย่างนี้เขาเรียกว่าเหยื่อ เป็นเหยื่อ (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า: ขณะนี้ฝ่ายที่ต่อสู้กันว่าจะยื่น หรือจะขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีคนอื่นเลย มีแต่ฝ่ายเพื่อไทย ฝ่ายคนเสื้อแดง ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ

คนอื่นเขายืนหัวเราะอยู่เลยใช่ไหม สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ผมคิดว่าขณะนี้มีการขับเคลื่อนไปแล้ว ส่วนหนึ่งประชาชนได้เข้าชื่อกันยื่นร่างไปแล้ว ก็เหลือแต่ร่างของ ส.ส. จะยื่นเมื่อไร หรือต้องเป็นมติครม. ยื่นเองไหม ก็มี 3 ส่วน ก็คิดกันไปสิ สมมุติ 3 ร่าง เอามารวมกัน สุดท้ายก็โหวตเป็นร่างเดียว ก็เสนอไป ขั้นตอนมีแค่นี้จริงๆ

ไทยพับลิก้า: จะทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะจะทำให้บางฝ่ายตั้งแง่ และไม่ยอมสังฆกรรมด้วย

นี่ไงคนพากันพูด พากันเถียงอะไรก็ไม่รู้ ผมว่ามันคนละประเด็นเลยนะ ท่านอดีตนายกฯ ก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง และตัวท่านเองก็อยู่ต่างประเทศ ท่านจะมิสิทธิ์มาอะไร ท่านไม่ได้เป็นสมาชิกอะไรเลย ทำไมคนมีหน้าที่ไม่ทำไปล่ะ และคนที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาส่วนใหญ่จะตั้งโจทย์ไว้ก่อน ท่านทักษิณก็เป็นคนไทยคนหนึ่งจะได้ใช้สิทธิตรงนี้หรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะท่านอยู่ต่างประเทศ และรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร มันก็เป็นรัฐธรรมนูญของประเทศไทยอยู่แล้ว เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เรื่องสิทธิทางการเมืองเขียนออกมาอย่างไร คนไทยทุกคนก็ได้ประโยชน์ ถ้าไม่ได้อยู่ในประเทศไทยก็ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์อยู่แล้ว ผมไม่ได้บอกให้ลืม แต่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ พอกล่าวถึงคนก็จะหาว่าเห็นไหม เพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ทำเพื่อคนๆ เดียว ทำใจกันหน่อย

โมเดล “สภาสูง” ในสายตา “อดีตประมุข”

เพราะอยู่ใน “รัฐสภา” มาหลายยุค เคยเป็นทั้ง “ส.ว.ลากตั้ง” และ “ส.ว.เลือกตั้ง” จากจ.ชัยภูมิ

ก่อนขึ้นสู่เก้าอี้ “ประมุขสภาสูง” ระหว่างปี 2547-2549

และยังเป็นกรรมการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2539 ที่ร่วมคิด-ร่วมทำรัฐธรรมนูญปี 2540

ทำให้ “สุชน ชาลีเครือ” อดีตประธานวุฒิสภา มองเห็นข้อดี-ข้อด้อยในการเฟ้นคนเข้าไปทำหน้าที่ ส.ว. แต่ละรูปแบบ ก่อนรัฐบาลจะตั้งต้นรื้อรัฐธรรมนูญปี 2550 พร้อมล้าง “วุฒิสมาชิกลูกผสม”

เขาเริ่มต้นเทียบ “ที่มา” เข้ากับ “อำนาจหน้าที่”

ประเภทที่ 1: ส.ว. ที่มาจากการสรรหา หรือแต่งตั้งทั้งหมด 200 คน จะมีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น สภามีหน้าที่เต็มที่ในการบริหารราชการ วุฒิสภาจะไปถอดถอนรัฐบาลไม่ได้ มีมติล้มรัฐบาลไม่ได้ ได้ทำเฉพาะหน้าที่ “พี่เลี้ยงสภา” นี่คือไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอะไร

ประเภทที่ 2: ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งล้วน 200 คน ซึ่งเอาโมเดลมาจากสหรัฐฯ และยุโรป เมื่อมาจากประชาชน อำนาจหน้าที่จึงต้องเต็มที่ อาทิ เป็นผู้แต่งตั้งองค์กรอิสระ เป็นผู้ถอดถอนอำนาจ แต่ด้วยข้อเท็จจริง คนที่ไปทำหน้าที่บางคนมีกิเลส บางคนติดยึดกับองค์กรตัวเอง ก็อาจจะไม่เป็นกลาง ไม่มีใครเป็นกลาง 100 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ยอมรับว่าอาจมีการเบี่ยงเบนอยู่บ้าง แต่ระบบมันไปได้

ประเภทที่ 3: ส.ว.ลูกผสม 150 คน ซึ่งออกแบบโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยเนื้อแท้คนมีที่มาที่ไปต่างกันก็ไม่สนิทกันอยู่แล้ว กรอบความคิดอาจจะตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง แต่คนหนึ่งไปสู้มา เกือบตาย อีกคนหนึ่งใช้คน 6 คน โหวตไปโหวตมา หรือจับฉลากไปมาในกลุ่มนั้นแหล่ะ มานั่งกินเงินเดือนเท่ากัน ก็กลายเป็นว่า… นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ถอดถอน ส.ส. คนที่เขามาจากการเลือกตั้ง มันก็ทำให้หน้าที่ตรงนี้มันเบี่ยงเบน ไม่สมบูรณ์

“ไหนๆ เราอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็ให้เลือกตั้งล้วนไปเลย อาจต้องออกแบบใหม่ อาจให้มี ส.ว. 200 คน หรือ 300 คนก็แล้วแต่ หน้าที่เขาคืออะไร ให้อำนาจเลือกองค์กรอิสระ ลองดูว่าองค์กรอิสระที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 นี่ มันมีที่มาไม่สง่างาม ไปอวดใครเขาก็ไม่ได้ และมีปัญหากันเองภายใน จะถอดถอนกันเองอีก จะถอดถอนกันสำเร็จหรือไม่ก็ไม่รู้ สรุปคือต้องลืมความขัดแย้ง แล้วเดินไปข้างหน้า” อดีตประธานวุฒิสภากล่าว

ทว่าการคืนอำนาจสรรหาองค์กรอิสระให้สภาสูง อาจถูกมองว่ากำลังท้ารบกับศาลที่รับหน้าที่ดังกล่าวอยู่ หลังยุค “ตุลาการภิวัฒน์”?

สุชนแย้งทันควัน “ไม่ๆๆๆ ไม่ว่าจะเป็นศาล หรือทหาร ทุกคนอยู่ในที่ตั้งหมด ทุกคนทำตามกรอบ เป็นองค์กรของรัฐ เราไม่ได้ลืมท่านนะ ท่านก็ต้องส่งตัวแทนมาเป็น ส.ส.ร. ด้วย อย่าไปปฏิเสธ อย่าไปปิดกั้น อย่าไปมองว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในขณะที่ยังไม่ได้สัมผัสกัน ทุกคนต้องเข้ามามาร่วมกันดีไซน์แต่ละส่วนของรัฐธรรมนูญใหม่”

แม้ข้อเสนอเรื่องการย้อนกลับไปใช้โมเดลเดิม โดยเลือกตั้ง ส.ว. ล้วน จะสะท้อนภาพประชาธิปไตยแบบอารยะประเทศ โดยสุชนย้ำว่าการเลือกตั้งมีแพ้มีชนะ เราต้องไว้ใจประชาชน

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปล่อยให้ ส.ส.-ส.ว. มีที่มาจากท่อเดียวกัน-ฐานเสียงเดียวกัน ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการกลับไปซ้ำรอย “สภาผัว-สภาเมีย” หรือ “สภาทาส” ซึ่งนำไปสู่การเกิดวิกฤตสภาสูง-วิกฤตองค์กรอิสระ

และเป็น 1 ใน 4 เงื่อนไขให้เกิดการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 มาแล้ว

“เรื่องนามสกุลมันห้ามกันไม่ได้ มันเกิดในตระกูลเดียวกัน เดี๋ยวกลายเป็นเรื่องสภาผัว-เมีย นี่ไปโทษเขา มันไม่ได้ การเลือกตั้ง ส.ว. 300 คน ก็ยังไม่รู้ว่ามาจากไหน อาจจะเอาเหมือน ส.ส.ร. ก็ได้ อาจเลือกตั้งโดยตรงจังหวัดละ 2 คน ได้ ส.ว. 154 คน และเอาคนที่มีความรู้ แต่ไม่มีฐานจังหวัดให้ลง มาทำอีกบัญชีหนึ่ง กำหนดสัดส่วนเข้าไป แล้วให้ฐานทั้งประเทศเลือก นี่คือเลือกโดยอ้อม มันอยู่ที่การออกแบบ”

ทั้งหมดนี้เป็นความคิด-ความเห็นจากคนที่เคยอยู่บนบัลลังก์สูงสุดในสภาสูง คนที่เคยถูกวิจารณ์มากที่สุดในยุครัฐบาลไทยรักไทย!!!