ThaiPublica > คนในข่าว > เสรี วงษ์มณฑา มองปราด…ยุคยิ่งลักษณ์ ก้าวแรก “นกแก้ว” อ่อนใน-แข็งนอก “ปชป.- ฝ่ายค้าน” อ่อนนอก-อ่อนใน

เสรี วงษ์มณฑา มองปราด…ยุคยิ่งลักษณ์ ก้าวแรก “นกแก้ว” อ่อนใน-แข็งนอก “ปชป.- ฝ่ายค้าน” อ่อนนอก-อ่อนใน

6 มกราคม 2012


“ความคิดความอ่านคุณทักษิณอาจจะเหนือกว่าคุณยิ่งลักษณ์ แต่ถ้ามองจากสภาพสถานการณ์ในเวลานี้ คุณยิ่งลักษณ์ จะอยู่ได้นานกว่าคุณทักษิณแน่นอน … 1.กองทัพที่เคยปฏิวัติแล้ว และประชาชนก็ผิดหวังมาแล้ว คงไม่ปฏิวัติอีก 2.สื่อไม่พร้อมเป็นศัตรู เพราะฉะนั้นคงไม่ด่า 3.ข้าราชการ ต้องการเอาตัวรอด เพราะฉะนั้นคงไม่ขวาง 4.ฝ่ายค้าน ไม่มีพวก พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีพวก เขาโดดเดียวกันทั้งนั้น 5.ประชาชนไม่มีผู้นำ…จบ ! อยู่ไปเหอะ…ยังไงก็อยู่ได้”

265 เสียง ส.ส. ที่ พรรคเพื่อไทย ได้รับมาจากการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ส่งผลให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก้าวขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และเป็น “นายกรัฐมนตรีหญิง” แรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ตลอดระยะเวลา 5 เดือน (สิงหาคม 2554-มกราคม 2555) ในการปฏิบัติหน้าที่ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้รับการสรุปจากสื่อมวลชนสายการเมือง อย่างตรงไปตรงมา ด้วยฉายา “นายกฯนกแก้ว”

ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของ การท่องจำ การพูดตามโพยที่มีคนร่างให้ หรือแม้แต่การพูดผิดๆ ถูกๆ ในหลายกรรมหลายวาระ “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักการตลาดระดับต้นๆของประเทศไทย ที่เชี่ยวชาญงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็เห็นไม่แตกต่างกับที่สื่อมวลชนสายการเมือง ได้ตั้งฉายาให้นายกรัฐมนตรีหญิง แต่ด้วยความชำนาญเฉพาะตัว ของดร.เสรี ประกอบกับที่เคยผ่านงาน การเมือง มาทั้งที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์และรณรงค์หาเสียงให้กับ “บรรหาร ศิลปอาชา” เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย และการร่วมเป็นแกนนำใน “คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติและการประชาสัมพันธ์เชิงรุก” ของรัฐบาลหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน ของ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์”

“ดร.เสรี” บอกกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ว่าระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา ภาพภายนอกของรัฐบาล นั้นสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอ โดยเฉพาะตัว “นายกรัฐมนตรี”

แต่แม้ “นกแก้ว” อย่าง “ยิ่งลักษณ์” จะพูดผิดๆ ถูกๆ หรือร้องเรียกหา “โพย” อยู่ร่ำไป ก็ยังจะสามารถ “แข็งแรง” อยู่ใน อำนาจรัฐต่อไปได้

อันเนื่องมาจาก “ความแข็งแรง” ของ “ยิ่งลักษณ์” นั้น ไม่ได้หมายความถึง “ความแข็งแรง” อันเกิดจากความสามารถของ “นายกรัฐมนตรี” หรือ “คณะรัฐบาล”

แต่เป็นความแข็งแรงอันเกิดจาก “ฝ่ายต้าน” โดยเฉพาะ “ฝ่ายค้าน” อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” สื่อมวลชน ภาคประชาชน ไปจนถึง “กองทัพ” กลับกำลังอ่อนแอลง ๆ …

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักการตลาดระดับต้นๆของประเทศไทย
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักการตลาดระดับต้นๆของประเทศไทย

… หลังการเลือกตั้ง ผู้คนดูเหมือนจะให้โอกาสกับคุณยิ่งลักษณ์มาก เพราะโดยภูมิหลังแล้วไม่มีใครสงสัยในความสามารถมาก แม้เขาจะไม่มีความสามารถทางด้านการเมือง แต่ด้วยการที่เคยเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชน จบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ และจบปริญญาโทมาจากเมืองนอก อะไรต่างๆนาๆ เหล่านี้ทุกคนก็ยอมรับและให้โอกาส

เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่มีเสียงคัดค้าน ไม่มีคนกล่าวหาว่าใช้อำนาจ หรือใช้สะตุ้งสตางค์อะไร อาจจะมีคนท้วงหน่อยเรื่องการหาเสียงด้วยสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ว่าถูกต้องหรือเปล่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะทุกคนก็ยอมรับ เสียงค้านจากนักวิชาการและสื่อมวลชนก็แทบจะไม่มี

แต่พอเมื่อเริ่มต้นทำงาน ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น มันสวนทางกับความรู้สึกของคนที่ยอมรับ … การให้สัมภาษณ์ การพูดจาผิดๆ ถูกๆ การให้คุณเฉลิม (อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี) ออกมาพูดจาแทนตัวเอง การไม่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร การหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม บางคำถาม การปัดไปให้เจ้ากระทรวงตอบแทนตัวเอง หากสิ่งเหล่านี้ถ้าใครจะเรียกปรากฎการณ์ยิ่งลักษณ์ ก็คงหมายถึงอย่างนี้มากกว่า

“หลายเรื่องที่เขาควรจะตอบเองแต่เฉลิมก็เป็นคนตอบ หลายเรื่องที่เขาควรจะต้องร่วมรับผิดชอบก็โยนกลับไปที่กระทรวง กระทู้จากฝ่ายค้าน ก็ไม่ตอบ แต่ถ้าเป็นกระทู้จากพวกเดียวกันเองชงขึ้นไปจะตอบ การอ่านโพยแบบไม่ลืมหูลืมตา แม้แต่ท่านประธานสภาฯ คะ…ก็ยังอ่านอยู่เลย ทั้งที่ความจริงถ้า เรียก ท่านประธานสภาฯ ก็ควรมองไปที่ประธานสภาฯ แต่ก็ยังก้มหน้าอ่านอยู่

แต่ถึงขนาดอ่านโพยเธอก็ยังอ่านผิด อ่านถูก ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่การอ่อนภาษาไทย อย่างที่คนของพวกเขาอ้างว่า นายกฯสมบูรณ์แบบไปซะทุกเรื่อง จนไม่รู้จะติอะไร ก็เลยหันไปติกันเรื่องของภาษา (ทำเสียงสูง) ซึ่งมันไม่ใช่เลย มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องภาษา แต่มันเป็นปัญหาของความไม่รู้ เช่น ไม่รู้ว่ามีเรือดันน้ำ จึงตอบเป็นเรือดำน้ำ หรือไม่รู้ว่ามีหญ้าแฝกจึงพูดเป็นหญ้าแพรก อย่างนี้เป็นต้น ตรงนี้ไม่ใช่การอ่อนด้อยทางภาษา แต่หมายความว่าไม่มีความรอบรู้อย่างเพียงพอ”

ไทยพับลิก้า : ตรงนี้ทำให้มองเห็นอะไรในตัวนายกรัฐมนตรี

มันสะท้อนว่าเขาไม่พร้อมไง ! (ตอบสวนทันที) เขาได้เป็น เพียงเพราะเขาเป็นชินวัตร ที่เป็นน้องสาวคุณทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) แต่เขาไม่มีความพร้อมทั้งด้านประสบการณ์ทางการเมือง ความรอบรู้ที่จะทำให้เขามองภาพรวมของประเทศได้ หรือว่าความสนใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองอย่างกว้างขวาง

เชื่อได้เลยว่าวันที่เขาลุกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาไม่ใช่คนที่มีนิสัยประเภท ดูข่าวทีวี ฟังข่าววิทยุ เกี่ยวกับการถกปัญหาบ้านเมือง และไม่เชื่อเลยว่าเขาเป็นคนที่อ่านบทความของคนที่เป็นผู้นำทางความคิดทั้งหลาย

ไทยพับลิก้า : แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ประสบความสำเร็จ ในการชนะการเลือกตั้งเข้ามา

ก็บอกแล้วไง … เพราะว่าเขามีคุณสมบัติเป็นน้องสาวคุณทักษิณ ถามว่าเขาประสบความสำเร็จด้วยตัวเขาเองหรือ… จริงๆ ก็คือ มันมีการวางแผนการตลาดกันเอาไว้แล้วว่า จะขายยิ่งลักษณ์ด้วยวิธีการใด ซึ่งวิธีการขายไม่ใช่ขายว่าคุณยิ่งลักษณ์ดีอย่างไรนี่ … อย่างน้อยที่สุดประโยคคำว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ก็รู้แล้ว ก็คือขายว่าเขาจะเป็นคนที่อยู่อันเดอร์คุณทักษิณ อันเดอร์นะ ไม่ใช่โคลนนิ่ง … เขาไม่ใช่โคลน

“ประโยค “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” มันอยู่ในคำโฆษณาหาเสียงของเขาเลย คนที่เลือกเขาเข้ามาเนี่ย ไม่เชื่อลองไปทำวิจัยดูก็ได้ ว่าเลือกเพราะคุณยิ่งลักษณ์ หรือเลือกเพราะเป็นพรรคการเมืองของคุณทักษิณ คือเวลานี้เขาไม่ได้แคร์ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี เขาแคร์ว่าใครทำตามทักษิณได้ เขาเชื่อมั่นในทักษิณ…คือต่อให้คุณยิ่งลักษณ์ จะพูดด้วยการสาบานว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นคุณทักษิณไม่เกี่ยว คนที่รู้อะไรดี เขาไม่เชื่อหรอก”

ไทยพับลิก้า : ในส่วนของคณะรัฐมนตรี ประเมินภาพการทำงานอย่างไร

ก็มีหลายคนที่ประชาชนไม่รู้จัก ทั้งความสามารถ บารมีและผลงาน เมื่อเป็นแล้วประชาชนรู้จักแบบที่เห็นผลงานสักกี่คน…รัฐบาลมีคนอยู่ 35 คน แต่มีคนที่เรามีความรู้สึกว่า เออ…คนนี้พอจะใช่ไม่ถึง 10 คนเนี่ย มันเป็นรัฐบาลระดับไหน แต่ละคนโผล่มาทีสะดุ้งเลย เฮ้ย…มาจากไหนเนี่ย ใครอ่ะ เคยทำอะไรมา

ไทยพับลิก้า : บุคลากรของพรรคการเมืองที่ถูกสั่งให้ยุบพรรคไปแล้ว 2 ครั้งอาจจะเหลือน้อย

ทำไมไม่เอาคนนอกล่ะ รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามนี่ คุณจะมาอ้างแถว 2 แถว 3 …ไม่ใช่คุณตอบแทนกันหรอกหรือ การ์ดยังได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี แท็กซี่ยังได้เป็นโน่นนี่ มันเห็นได้ชัดว่าเป็นการตอบแทน คุณไม่ได้เลือกคนมาทำงาน แค่คุณอยากให้ใครได้ตำแหน่งคุณก็ให้ไป คุณอยากให้ใครมีอำนาจคุณก็ให้ไป

แต่เป็นอย่างนี้เขาก็อยู่ต่อไปได้นะ เพราะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ สื่อมวลชนไม่เล่นในเรื่องที่ควรจะเล่น ซึ่งจะเป็นเพราะอะไรก็ไม่รู้ ต้องไปถามกับทางสื่อมวลชนเอง ประกอบกับ ฝ่ายตรงข้าม ไม่มีผู้นำ เท่านี้ก็จบแล้ว

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่ารัฐบาลยังอยู่ต่อไปได้หมายความว่าอย่างไร

เขาคงอยู่กันไปแบบนี้ แต่เชื่อแน่ว่าเขาจะอยู่ไปได้อีกนาน (นิ่งเงียบ) เพราะคนที่ต้องการให้เขาอยู่จะหนุนจนสุดฤทธิ์สุดเดช ไม่ว่าจะเป็นมวลชนที่เลือกเขามา คนที่ได้รับตำแหน่งแห่งหน หรือคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย ถึงอย่างไรก็ให้เขาอยู่ต่อ คนที่ได้ประโยชน์คงไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะเขากำลังได้ประโยชน์อยู่ แต่คนที่ไม่ชอบและไม่ได้ประโยชน์ ในเวลานี้ถ้าจะลุกกันขึ้นมาแล้วใครจะเป็นผู้นำล่ะ

ไทยพับลิก้า : ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็มีหลายกลุ่ม ทั้งมวลชนเสื้อเหลือง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์

ก็มันแตกกันหมดแล้ว … มันแตกกันหมดแล้ว มันรวมกันไม่ได้แล้ว

ไทยพับลิก้า : หมายความว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยังอยู่ได้ต่อไป เพราะฝ่ายตรงข้ามอ่อนแออย่างนั้นหรือ

ใช่… มีทั้งความอ่อนแอ และความไม่แยแส คืออย่างสมมติว่าเรื่องพาสปอร์ต คน 3 คนพูดไม่ตรงกัน คือคุณนพดล ปัทมะ (ที่ปรึกษากฎหมายคุณทักษิณ) บอกว่าคุณทักษิณ ไม่รู้เรื่อง คุณสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศบอกว่ายังไม่ได้ทำ เพียงแต่คิดว่าจะทำ แต่กระทรวงการต่างประเทศบอกว่ามีการยื่นเรื่องมาวันที่ 25 ตุลาคม วันที่ 26 ตุลาคมนายสุรพงษ์ อนุมัติแล้ว สื่อมวลชนประชาชนก็ไม่เห็นจะสนใจเลยว่าใครพูดจริงและใครพูดโกหก แล้วตอนหลัง คุณสุรพงษ์ พูดในที่ประชุมสภาฯ ยอมรับแล้วว่ามีการออกพาสปอร์ตให้คุณทักษิณ แล้วมีใครประณามไหมว่าวันนั้นโกหก ก็ไม่เห็นมีใครกล้าพูดนี่…ด้วยเหตุนี้เขาถึงจะอยู่ได้

ที่สำคัญคือถ้าเราไปดูเรื่องสามเหลี่ยมพีระมิดสังคม ที่ชนชั้นสูงจะอยู่บนยอด ตรงกลางก็เป็นชนชั้นกลาง แล้วฐานข้างล่าง ก็เป็นคนชั้นล่าง แต่เมื่อดูจำนวนแล้ว ฐานด้านล่างซึ่งเป็นชนชั้นล่างจะมีจำนวนมากกว่า ซึ่งเป็นลูกค้าของพรรคเพื่อไทย ทุกอย่างก็จบลงแล้ว

คือถ้าคุณคิดจะเลือกเพื่อไทยมันมีวันช้อยช์ (ตัวเลือกเดียว) กับถ้าคุณคิดจะไม่เลือกเพื่อไทย มันมีเมนี่ช้อยช์ (หลายตัวเลือก) ฉะนั้นถ้าจังหวัดหนึ่งมีคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทย 30 เปอร์เซ็นต์ มีคนที่ไม่เลือกเพื่อไทย 70 เปอร์เซ็นต์ แต่คนที่จะเลือกเพื่อไทยเต็ม 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วคนที่ไม่เลือกเพื่อไทย 70 เปอร์เซ็นต์นี้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 18 เปอร์เซ็นต์ เลือกพรรคภูมิใจไทย 15 เปอร์เซ็นต์ เลือกชาติพัฒนา 17 เปอร์เซ็นต์ เลือกกิจสังคม 5 เปอร์เซ็นต์ เบ็ดเสร็จรวมแล้วเลือกทุกพรรคได้ 70 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วอย่างไร เพื่อไทยก็ชนะอยู่ดี

ถ้าหากประเทศไทยเราเป็น 2 พรรคแบบเดโมแคตรและรีพับลิกันของสหรัฐอเมริกา พรรคเพื่อไทยไม่ชนะหรอก ลองรวมคะแนนทุกจังหวัดดูได้ เขาไม่ชนะหรอก มีแค่บางจังหวัดเท่านั้นที่รวมคะแนนพรรคการเมืองอื่นๆ แล้วยังแพ้เพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เพราะจำนวนของลูกค้า อย่างบางจังหวัด อาทิ สุพรรณบุรีก็แล้วกัน ถ้ารู้ว่าชาติไทย ชนะแน่ๆ พรรคอื่นก็ส่งใครก็ได้ เพื่อให้คะแนนไปอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าบุรีรัมย์เนี่ย ภูมิใจไทยชนะแน่ๆ คนอื่นก็ส่งใครก็ได้ เพื่อให้ภูมิใจไทยชนะไป แต่เขายอมกันไหมล่ะ พรรคหนึ่งส่งอดีตผู้ว่าฯ อีกพรรคส่งอดีตแม่ทัพ พรรคนี้ส่งอดีตนายกเทศมนตรี คนพวกนี้มีคะแนนทั้งนั้น 70 คะแนนเนี่ยก็แยก พอมันแตกออกไปแล้วมันสู้ 30 ไม่ได้

ไทยพับลิก้า : นี่เป็นเหตุผลสำคัญของการจะบอกว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังจะแข็งแรงต่อไป ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอลง

ถ้าพูดถึงความคิดความอ่านคุณทักษิณอาจจะเหนือกว่าคุณยิ่งลักษณ์ แต่ถ้ามองจากสภาพสถานการณ์ในเวลานี้ คุณยิ่งลักษณ์ จะอยู่ได้นานกว่าคุณทักษิณแน่นอน … 1.กองทัพที่เคยปฏิวัติแล้วและประชาชนผิดหวังมาแล้ว คงไม่ปฏิวัติอีก 2.สื่อไม่พร้อมเป็นศัตรู เพราะฉะนั้นคงไม่ด่า 3.ข้าราชการ ต้องการเอาตัวรอด เพราะฉะนั้นคงไม่ขวาง 4.ฝ่ายค้าน ไม่มีพวก พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีพวก เขาโดดเดี่ยวกันทั้งนั้น 5.ประชาชนไม่มีผู้นำ…จบ ! อยู่ไปเหอะ…ยังไงก็อยู่ได้

ไทยพับลิก้า : พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านและกลุ่มต้าน จะไม่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมแล้วหรือ

จริงๆ คุณอภิสิทธิ์เป็นคนเก่งมาก แต่ไม่มีพวก พรรคประชาธิปัตย์มีข้อเสียคือไม่เอาพวก … พรรคประชาธิปัตย์จะต้องหายหยิ่งสิ หายใจแคบสิ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นกันทั้งพรรค ถามว่าคุณเคยได้ยินอภิสิทธิ์ เข้าหานักวิชาการคนไหนไหม ในขณะที่คุณทักษิณ ไปคุยกับคนนั้น ไปขอคนนี้ คุณอภิสิทธิ์ เคยทำไหม เป็นสื่อมวลชนเองก็เหอะ คุณอภิสิทธิ์ เคยมาขออะไรไหม เป็นสื่อแล้วทำอะไรให้กับคุณทักษิณ ได้อะไรตั้งเยอะแยะ แต่เป็นสื่อที่ทำอะไรให้คุณอภิสิทธิ์ ได้อะไร คือคุณอภิสิทธิ์แล้วได้อะไร …พรรคประชาธิปัตย์ตอบแทนคนไม่เป็น

ไทยพับลิก้า : ด้วยเพราะสถานะสถาบันการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะทำให้ขยับอะไรลำบาก

ก็ใช่…แต่เป็นสถาบันอะไรก็ตามมันต้องมีแนวร่วม คุณคิดว่าคุณทำงานคนเดียวได้หรือ นักวิชาการไม่ส่งเสริมคุณใครจะเชื่อคุณ สื่อมวลชนไม่ส่งเสริมคุณ คุณจะเผยแพร่เรื่องราวของคุณได้อย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลไม่ออกมาช่วยคุณแล้วคุณยืนหยัดให้สัมภาษณ์อยู่คนเดียว แสดงวิสัยทัศน์อยู่คนเดียว ต่อสู้อยู่คนเดียว ทั้งๆที่เป็นพรรครัฐบาลด้วยกัน ถามว่าเวลาที่ต่อสู้กับ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือเสื้อแดง) ครั้งนั้นมีพรรคอื่นออกมาไหม หัวหน้าพรรค ในพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีใครออกมาสักคน คืออภิสิทธิ์ พูดอะไรแล้วมีอะไรขานต่อเป็นลูกระนาดไหม แต่เสื้อแดงพูดอะไรแล้วมีการขานต่อกันเป็นลูกระนาดนะ

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างจะล้ำลึกเรื่องการเมืองมากกว่าพรรคอื่นๆ อยู่แล้วนะ

แต่ใจแคบ (ลากเสียงยาว) ไม่เอาพวก ไม่ทราบซึ้งบุญคุณคน ถ้าเป็นอย่างนี้อีก 12 ปีมั้งถึงจะกลับมาชนะ…

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักการตลาดระดับต้นๆของประเทศไทย
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักการตลาดระดับต้นๆของประเทศไทย

ไทยพับลิก้า : กำลังมองว่า ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์โดดเดียวและกำลังอ่อนแอ

ถ้าอยากจะชนะ เขาก็ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมในพรรคเขา ต้องเห็นความสำคัญของคนอื่นนอกพรรคบ้าง ต้องเห็นความสำคัญของการมีพันธมิตรบ้าง เอาอย่างนี้ละกัน…ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำอะไรให้คุณทักษิณ ในฐานะอะไรก็ตาม คุณทักษิณดูแลเป็นอย่างดี ไม่ตำแหน่ง ไม่เงินทอง ก็อย่างน้อยคำขอบคุณ แต่พรรคประชาธิปัตย์ แม้แต่คำขอบคุณก็ไม่มี

ไทยพับลิก้า : เมื่อมองเห็นทั้งจุดแข็ง-จุดอ่อนของฝ่ายรัฐบาล ฝ่านค้านและกลุ่มต้านทั้งหมดแล้ว รัฐบาลควรปรับปรุงอย่างไรเพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองใหม่

รัฐบาลควรจะกำหนดวาระแห่งชาติให้ถูกต้องว่าอะไรควรทำก่อนหลัง เพราะวันนี้วาระต่างๆ เขาผิดไปหมด เช่นจำเป็นหรือไม่ที่ต้องรีบปลด พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จำเป็นไหมต้องรีบตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ จำเป็นไหมที่ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือทุกวันนี้คุณทักษิณ มีความเดือดร้อนหรือที่อยู่ในต่างประเทศ ถึงจะต้องรีบคืนพาสปอร์ต แม้เหตุผลของเขาจะบอกว่าเป็นการคืนความเป็นธรรม แต่ถามว่าจะต้องรีบคืนตอนนี้หรือต้องรีบทำเรื่องน้ำให้เรียบร้อยก่อน
เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เขาควรทำคือเขาต้องเรียงวาระให้ถูกว่าอะไรควรทำก่อนทำหลัง ข้อที่สอง เขาต้องปรับกระบอกเสียงทั้งกระบอกเสียงของรัฐบาลและกระบอกเสียงของพรรค เพราะคนที่เขาเลือกมามีนิสัยท้าตีท้าต่อยทั้งนั้น

“เวลานายกฯไม่พูด คุณเฉลิม ก็พูดแทนนายกฯ ถามว่าคุณเฉลิม มีลักษณะของการพูดนิ่มพูดนวลตรงไหน โฆษกรัฐบาลเป็นผู้หญิง ก็ยิ่งร้าย ลองไปถามคนที่เขาเป็นคอการเมืองที่นั่งฟังคุณฐิติมา ฉายแสง ที่เป็นโฆษกรัฐบาลดูก็ได้ ค่อนข้างจะชอบชวนทะเลาะเลยแหละ… บอกให้ก็ได้ว่าในฝ่ายรัฐบาลมี 3 คนที่น่ากลัว คือ 1.คุณเฉลิม 2.คุณฐิติมา และ 3.คุณพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ถ้าในสภาฯ ก็มีคุณจตุพร พรหมพันธุ์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ แกนนำคนเสื้อแดง) ซึ่งคนเหล่านี้เวลาพูดจะไม่มีลักษณะการออมชอมอะไรกับใครเลย ซึ่งมันจะทำให้คนที่เกลียดรัฐบาลก็ยังจะเกลียดต่อไป

ดังนั้น รัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่อง น้ำเสียง เนื้อหา และวิธีการนำเสนอของคนที่เป็นกระบอกเสียงรัฐบาลเสียใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะ ตำแหน่งใดก็ตามไม่ควรเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่มีทางเลยที่จะปรองดองอะไรกันได้

ไทยพับลิก้า : 1.ต้องจัดความสำคัญของวาระต่างๆให้ถูกต้อง 2.กระบอกเสียงมีปัญหาต้องแก้ไข แล้วยังมีอะไรอีก

สาม คือตัวคุณยิ่งลักษณ์เอง ที่ต้องปรับให้เป็นคนที่รู้อะไรดีกว่านี้ เพราะผิดพลาดบ่อย แสดงอาการว่าไม่รู้บ่อย เรียกหาโพยบ่อย

“เธอยังเป็นคนที่ไม่รอบรู้เพียงพอที่จะมาเป็นผู้นำประเทศ เธอต่างจากพี่ชายเธอลิบลับมาก ในแง่ความรู้ความสามารถ ตอนแรกเข้ามา เราก็ให้โอกาสคุณยิ่งลักษณ์ เพราะดูภูมิหลัง การศึกษา ทำงานอะไรมาก แต่วันนี้คนเริ่มปฏิเสธแล้วนะ ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีจะต้องเยอะกว่านี้ … เลิกโยนคือไม่ว่างานนั้นจะมอบหมายไปที่กระทรวงอะไรแล้วก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีจะหนีความรับผิดชอบไม่ได้ เรื่องใหญ่อย่างคืนพาสปอร์ต นายกรัฐมนตรีควรรู้ไหม เรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ ที่ให้คุณเฉลิมเป็นประธานการประชุม ครม.แทนเนี่ย…เรื่องใหญ่อย่างนี้ควรจะรู้ไหม จะอ้างอะไรก็อ้างได้ แต่ก่อนจะเข้าประชุมหรือหลังการประชุม ก็ต้องมีการรายงานให้นายกรับมนตรีทราบ จะบอกว่าฉันไม่ประชุม ฉันก็เลยไม่รู้….ไม่ได้

ส่วนประชาธิปัตย์ก็ต้องเปลี่ยน … รีแบรนด์ดิ้งตัวเอง เปลี่ยนวัฒนธรรมพรรคเสียใหม่ เข้าหาคนบ้าง หาแนวร่วมบ้าง ทราบซึ้งบุณคุณคนบ้าง … สมมติเราช่วยประชาธิปัตย์ไปวันนี้ ถึงเวลาเกิดอะไรขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ชนะมาวันนี้ก็จะมีแต่พวกเขาทั้งหมดแหละขึ้นมา เขาจะหันมามองคนที่เคยช่วยเขาไหม ในขณะที่เพื่อไทย ขนาดคนขับแท็กซี่ หรือการ์ดเขายังให้ตำแหน่งเลย เขาตอบแทนคนเป็น ถึงแม้เราจะไม่ชอบการตอบแทนของเขา แต่เราเห็นวัฒนธรรมของเขา และนี่เป็นวิธีการตอบแทนคนของเขา แต่ขณะที่ประชาธิปัตย์ เมื่อเสร็จสิ้นทุกอย่างอย่างแล้วก็จะเรียงตามวอร์เปเปอร์ ของเขาแหละ คนที่เคยทำอะไรให้เคยหันไปมองบ้างไหม ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะไม่ทำให้เขาชนะหรอก ยกเว้นเสียจะเปลี่ยนตัวเองใหม่

เบื้องหลัง “ขิงแก่” แพ้ “ทักษิณ” !

“ก็เขาไม่กล้าที่จะใช้อำนาจ … อ้างคำเดียวว่าทุกสิ่งทุกอย่างเซ็นต์สัญญาให้เอกชนไปหมดแล้ว…เราก็เลยบอกโอเค ลาออกมาดีกว่า”

คณะปฏิรูปในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้เหตุผลในการก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อโค่นล้ม “รัฐบาลพรรคไทยรักไทย” ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ว่า

1.การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

2.การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง

3. มีพฤติกรรมแทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ หรือแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติให้ลุล่วงไปได้

4. รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาส ยังหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นต่อพระบรมเดชานุภาพฯ ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชาวไทย

แม้การรัฐประหาร ในครั้งนั้นจะสามารถยุติอำนาจรัฐ ในมือ “ระบอบทักษิณ” ลงได้อย่างฉับพลันทันที

แต่ทว่าก็เป็นเพียงการหยุดเพียง “ชั่วคราว” เท่านั้น

เพราะ ต่อมามูลเหตุจากการรัฐประหาร ได้กลายเป็น เชื้อไฟ ในการปลุกมวลชน ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” และ “รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” ที่ถือเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของ “คปค.”

จนเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย

สุดท้าย “รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์” โดย “นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจแต่งตั้ง “คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติและประชาสัมพันธ์เชิงรุก” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่หาหนทางในการชี้แจงทำความเข้าใจเหตุผลของการรัฐประหารและตอบโต้ข้อมูลจากฝ่าย “ผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ”

และได้มีการดึงเอา “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักการตลาดชื่อดัง ที่มีความเชี่ยวชาญงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางด้านการเมือง เพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นถึง “ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์และรณรงค์หาเสียงของ “พรรคชาติไทย” เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ

“ตอนนั้นเราก็มีความหวังว่าผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านี้มีเป็นคนที่มีบารมี มีชื่อเสียงในสังคมจะช่วยแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติได้ เราจึงอยากเข้าไปช่วยงานรัฐบาล เพื่อหาแนวทางในการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจรายละเอียด 4 ข้อที่ คมช.ประกาศเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจครั้งนั้น” ดร.เสรี ย้อนเล่าถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมงานกับ คมช.และรัฐบาลขิงแก่ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จนทำให้ ชื่อของ “ดร.เสรี” ติดหนึ่งในบัญชี “ศัตรู” ของ มวลชนคนเสื้อแดง

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักการตลาดระดับต้นๆของประเทศไทย
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และนักการตลาดระดับต้นๆของประเทศไทย

“ตอนนั้นเราเชื่อว่าถ้าเราไม่ช่วย กระจายความตรงนี้ ทุกคนก็ยังจะถามว่า ทักษิณผิดอะไร หรือคมช.ชั่วร้ายที่ฉีกรัฐธรรมนูญ …

… จริงๆแล้วเราก็ไม่ได้ชอบการปฏิวัติรัฐประหารหรอก แต่บางครั้งบางสิ่งบางอย่างมันเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อกระบวนการประชาธิปไตยมันเริ่มไม่เวิร์คแล้ว มันเริ่มใช้การไม่ได้แล้ว และถ้าเรายังใช้ตัวเลขอย่างเดียวมันเริ่มอันตรายแล้ว เราก็เข้าไปแนะนำช่องทางกับเขา” ดร.เสรี ยืนยันถึงอุดมการณ์การเมืองส่วนตัวที่ไม่ได้นิยมชมชอบการรัฐประหาร

แต่แม้จะเป็นการทำงานร่วมกับรัฐบาล ที่มาจากการยึดอำนาจ และ “คมช.” ที่ถือ “อำนาจเต็ม” ในการบริหารจัดการประเทศหลังการรัฐประหาร ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น

เพราะในสายตาของดร.เสรีกลายเป็นว่า “คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติและประชาสัมพันธ์เชิงรุก” ที่เขาร่วมเป็น “กรรมการ” อยู่ด้วยนั้น ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

“บอกได้เลยว่าผิดหวัง และเมื่อเราผิดหวัง ก็ตัดสินใจลาออก !!!…

…ก็เขาไม่กล้าที่จะใช้อำนาจ (เสียงสูง) … ในเวลานั้นเรากำหนดช่องทางที่จะเผยแพร่เอาไว้หมดแล้ว ถามว่าเราควรพูดเรื่องอะไรบ้าง…เรารู้ เรื่องนี้เราควรจะให้ใครพูด…เราก็รู้ (เสียงสูงอีก) แต่เราหาที่ที่จะไปพูดเผยแพร่ไม่ได้ช่อง 11อย่างเดียวตอนนั้นถามว่าพอหรือ ช่อง 11 มีคนดูกี่คน ในเวลานั้นจริงๆ สื่อของรัฐที่มีอยู่ในมืออีก ก็ช่อง 5 กับช่อง 9 แต่เขาไม่ใช้…

…เราหาที่พูดไม่ได้ เขาอ้างคำเดียวว่าทุกสิ่งทุกอย่างเซ็นต์สัญญาให้เอกชนไปหมดแล้ว และนอกจากโทรทัศน์ เรามีวิทยุเป็นของตำรวจ ทหารและกรมประชาสัมพันธ์ เราแค่บอกว่าควรจะมีรายการอะไรในช่วง Rush Hour (ช่วงเวลาเร่งด่วน) ทั้งเช้า ทั้งเย็น เขาก็ยังไม่กล้าเลย !!!

…เราก็เลยบอกโอเค … ลาออกมาดีกว่า” ดร.เสรี สรุป “จุดจบ” ระหว่าง “เขา” กับ “รัฐบาลขิงแก่” และ “คมช.”

ซึ่งต้องยอมรับนั่นเป็นอีก “จุดหนึ่ง” ที่ชี้ให้เห็นว่า “คณะรัฐประหาร” นั้นต้องปราชัยต่อ “ระบอบทักษิณ” !