ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011

7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011

15 ธันวาคม 2011


แผนที่ผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011
แผนที่ผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011

องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International – TI) ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น (Corruption Perceptions Index – CPI) ประจำปี 2011 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 80 จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ผลการจัดอันดับประจำปีนี้ ประเทศส่วนใหญ่ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง มีเพียง 49 ประเทศเท่านั้นที่ได้คะแนนตั้งแต่ 5 คะแนนขึ้นไป โดยประเทศนิวซีแลนด์สามารถครองแชมป์อันดับหนึ่งในระดับโลก (9.5 คะแนน)และได้คะแนนมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ส่วนเดนมาร์กและฟินแลนด์แชมป์เก่าแม้จะได้คะแนนมากขึ้นแต่ก็เป็นอันดับสอง (9.4 คะแนน) ขณะที่อันดับสุดท้าย ได้แก่ ประเทศโซมาเลียและเกาหลีเหนือ (1.0 คะแนน) ส่วนในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์ยังครองอันดับหนึ่ง (9.2 คะแนน) และเมื่อพิจารณาตามกลุ่มประเทศและภูมิภาค พบว่า กลุ่มประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD และประเทศในภูมิภาคยุโรปส่วนใหญ่มีคะแนนค่อนข้างดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ ขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง และภูมิภาคอัฟริกา มีคะแนนค่อนข้างน้อย

หลังจากที่มีการเปิดเผยคะแนนดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นออกมาพบว่า ยังคงมีความไม่รู้และไม่เข้าใจเกี่ยวกับดรรชนีภาพลักษ์คอรัปชั่นอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งความเข้าใจผิดว่าดรรชนีเป็นตัวชี้วัดการคอรัปชั่นของทั้งภาครัฐและเอกชน หรือความเข้าใจผิดว่าดรรชนีเป็นตัวสะท้อนการทำงานของนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้สามารถนำผลต่างๆที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการรับมือแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นของประเทศไทยได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011 แบ่งระดับการคอรัปชั่น
ผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011 แบ่งระดับการคอรัปชั่น

ข้อควรรู้ข้อแรก ดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นคืออะไร

ดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น หรือ Corruption Perceptions Index – CPI เป็นดรรชนีที่แสดงถึงการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการคอรัปชั่นในภาครัฐ (Public Sector) ในประเทศนั้นๆ คำว่าภาครัฐในที่นี้มีความหมายรวมไปถึงหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจต่างๆ

กลุ่มตัวอย่างที่ว่านี้มีฐานข้อมูลมาจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักธุรกิจที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ทำการสำรวจ รวมไปถึงสถาบันหน่วยงานวิจัยและองค์กรอิสระที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยตัวเลขที่มากหมายถึงการมีภาพลักษณ์การคอรัปชั่นที่ต่ำ ส่วนตัวเลขที่ต่ำหมายถึงการมีภาพลักษณ์การคอรัปชั่นที่สูง

องค์กรความโปร่งใสสากล ได้ให้ความหมายของคำว่า “คอรัปชั่น” (Corruption) ไว้หมายถึง การใช้อำนาจที่ได้มาโดยหน้าที่ในการหาประโยชน์ส่วนตัว โดยองค์กรความโปร่งใสสากลได้ระบุถึงกรณีต่างๆที่จะสามารถเกิดขึ้นในการคอรัปชั่นของภาครัฐได้ ดังนี้

การคอรัปชั่นขนาดใหญ่ (Grand corruption) – เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเพื่อบิดเบือนนโยบายหรือใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของชาติ

การคอรัปชั่นขนาดเล็ก (Petty corruption) – เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับกลางและระดับล่างต่อประชาชนทั่วไป โดยการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายในทางมิชอบ

การติดสินบน (Bribery) – เป็นการเสนอ การให้ หรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ ทั้งในรูปของเงิน สิ่งของ และสิ่งตอบแทนต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี

การยักยอก (Embezzlement) – คือการที่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กร นำเงินหรือสิ่งของที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ในราชการ มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

การอุปถัมภ์ (Patronage) – เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยการคัดเลือกบุคคลจากสายสัมพันธ์ทางการเมืองหรือคอนเนกชั่น เพื่อเข้ามาทำงานหรือเพื่อให้รับผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม

การเลือกที่รักมักที่ชัง (Nepotism) – เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นพรรคเล่นพวก โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจที่มี ในการให้ผลประโยชน์หรือให้หน้าที่การงานแก่เพื่อน ครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม

ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) – คือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวม

ข้อควรรู้ข้อสอง องค์กรความโปร่งใสสากลคืออะไร

องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International – TI)
องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International – TI)

องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International – TI) ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 มีสถานะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ในการต่อสู้กับการทุจริตและคอรัปชั่นทุกรูปแบบเพื่อให้การทุจริตคอร์รัปชั่นหมดไป ด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เคลื่อนไหวและสร้างความตระหนักรู้ถึงผลเสียของการคอรัปชั่น

องค์กรความโปร่งใสสากลมีเครือข่ายอยู่ในประเทศต่างๆกว่า 90 ประเทศทั่วโลก เพื่อเผยแพร่และให้ข้อมูลในการต่อต้านการคอรัปชั่นแก่ประชาชนในประเทศนั้นๆ โดยมีการเคลื่อนไหวทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งที่เป็นธรรม การบริหารจัดการและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่โปร่งใส โดยมีเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการต่อสู่กับคอรัปชั่นที่มาจากระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับสากล

ปัจจุบันองค์กรความโปร่งใสสากลมีเครื่องมือ หรือดรรชนีที่สำคัญในการชี้วัดการคอรัปชั่นในระดับโลก 5 ตัวด้วยกันคือ ดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น (Corruption Perceptions Index – CPI), เครื่องชี้วัดการคอรัปชั่นทั่วโลก (Global Corruption Barometer – GCB), ดัชนีการติดสินบน (Bribe Payers Index – BPI)ผลสำรวจการคอรัปชั่นของโลก (Global Corruption Report – GCR ), ผลสำรวจความโปร่งใสทางการเงิน (Promoting Revenue Transparency Project) และผลสำรวจการต่อต้านคอรัปชั่น (Transparency in Reporting on Anti-Corruption – TRAC)

ข้อควรรู้ข้อสาม ดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011 คิดอย่างไร

ดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น คำนวนโดยใช้ข้อมูลครอบคลุมแหล่งข้อมูล 17 แห่ง ที่จัดโดยสถาบันที่มีชื่อเสียง 13 สถาบัน ข้อมูลทั้งหมดเป็นการประเมินภาพรวมของการคอรัปชั่น ประกอบด้วยความถี่และจำนวนเงินที่ใช้ในการคอรัปชั่นในภาครัฐ ซึ่งดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011 นั้นเป็นการนำข้อมูลและผลสำรวจที่มีการเผยแพร่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาคือ ตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2009 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2011 มาประเมิน

ผลสำรวจของแหล่งข้อมูลดังกล่าวรวมตั้งแต่ การรู้เห็นเรื่องการคอรัปชั่นของผู้ที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ ไปจนถึงการรับรู้ของผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ภายนอกประเทศ โดยมีแหล่งที่มาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ เป็นข้อมูลที่มาจากผลสำรวจของภาคธุรกิจและข้อมูลที่มาจากนักวิเคราะห์ความเสี่ยงหรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นผู้ประเมินผลข้อมูล จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาแปลงเป็นค่ามาตรฐานที่มีสเกลเท่ากันคือ 10 คะแนน แล้วจึงนำมาจัดอันดับ

ข้อควรรู้ข้อสี่ แหล่งข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ในการประเมินดรรชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น

แหล่งข้อมูลที่มาจากนักวิเคราห์ความเสี่ยงหรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์การระหว่างประเทศมี 13 แห่งประกอบด้วย

1.การจัดอันดับธรรมาภิบาลของธนาคารพัฒนาแอฟริกา : African Development Bank Governance Ratings 2010 (AFDB)

2.การประเมินผลงานรายประเทศของธนาคารพัฒนาเอเชีย :Asian Development Bank Country Performance Assessment 2010 (ADB)

3.ดัชนีธรรมาภิบาลด้านความยั่งยืนของมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ : Bertelsmann Foundation Sustainable Governance Indicators (BF_SGI)

4.ดัชนีการปฏิรูปของมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ : Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF_TI)

5.การประเมินความเสี่ยงรายประเทศของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต : Economist Intelligence Unit Country Risk Assessment (EIU_CRR)

6. รายงานการปฏิรูปรายประเทศของฟรีดอม เฮ้าส์ : Freedom House Nations in Transit (FH_NIT)

7.การจัดอันดับความเสี่ยงรายประเทศของโกลบอล อินไซต์ : Global Insight Country Risk Ratings (GI_CRR)

8.รายงานความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมืองประจำปี 2010 ของเอเชียน อินเทลลิเจนซ์ : Political and Economic Risk Consultancy Asian Intelligence 2010 (PERC2010)

9. รายงานความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมืองประจำปี 2011 ของเอเชียน อินเทลลิเจนซ์ : Political and Economic Risk Consultancy Asian Intelligence 2011 (PERC2011)

10. รายงานทิศทางความเสี่ยงรายประเทศของโพลิติคัล ริสค์ เซอร์วิสเซส : Political Risk Services International Country Risk Guide (PRS_ICRG)

11. ผลการจัดอันดับสินบนขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล :Transparency International Bribe Payers Survey (TI_BPI)

12.การประเมินผลงานรายประเทศและศักยภาพของสถาบัน : World Bank – Country Performance and Institutional Assessment (WB_CPIA)

13.ดัชนีเปรียบเทียบหลักนิติรัฐของเวิลด์ จัสติส โปรเจ็กต์ : World Justice Project Rule of Law Index (WJP_ROL)

แหล่งข้อมูลที่เป็นผลสำรวจจากภาคธุรกิจมี 4 แห่งประกอบด้วย

1. IMD World Competitiveness Year Book 2010 (IMD2010)

2. IMD World Competitiveness Yearbook 2011 (IMD2011)

3. World Economic Forum Executive Opinion Survey (EOS) 2010 (WEF2010)

4. World Economic Forum Executive Opinion Survey (EOS) 2011 (WEF2011)

โดยการเข้าประเมินของกลุ่มตัวอย่างในแต่องค์กรจะครอบคลุมเฉพาะประเทศที่อยู่ในข่ายความรับผิดชอบและความถนัดขององค์กร เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) จะประเมินเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นในแต่ละประเทศจะมีจำนวนข้อมูลอ้างอิงที่ได้จากการประเมินไม่เท่ากัน ส่วนคำถามและการให้คะแนนนั้นก็มีความแตกต่างกันตามลักษณะขององค์กรที่เข้าไปสำรวจ เช่น องค์กรประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit Country Risk Assessment) จะมีคำถามเกี่ยวข้องกับความโปร่งใสของภาครัฐในการใช้จ่ายงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือความสามารถในการตรวจสอบนักการเมืองระดับสูงของประเทศนั้นๆ โดยให้คะแนนตามความถี่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือดรรชนีการติดสินบน (Transparency International Bribe Payers Survey) จะมีคำถามต่อกลุ่มตัวอย่างว่า “ในความเห็นของคุณเป็นเรื่องปกติแค่ไหนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเรียกหรือรับสินบน” และมีการให้คะแนน ตามความถี่ที่พบ

ข้อควรรู้ข้อห้า ดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของประเทศไทยในปี 2011 เป็นอย่างไร

ผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของประเทศไทยในปี 2011 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 80 จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับประเทศอื่นๆอีก 4 ประเทศคือ โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์ กรีซ โมรอคโคและเปรู ในส่วนของภูมิภาคเอเชียไทยอยู่อันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศ

ผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011 ของประเทศไทย
ผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น 2011 ของประเทศไทย

เมื่อพิจารณาจากแหล่งข้อมูล พบว่าองค์กรที่ให้คะแนนประเทศไทยต่ำสุดจากแหล่งข้อมูลทั้งหมด 11 แห่ง คือ Political Risk Services International Country Risk Guide – PRS_ICRG ให้ประเทศไทย 2.6 คะแนน โดยการสำรวจของ PRS_ICRG มุ่งเน้นไปที่ การคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในระบบการเมือง การเรียกหรือรับสินบนและการเล่นพรรคเล่นพวกที่เกิดขึ้นในระบบอุปถัมภ์ ส่วนแหล่งข้อมูลที่ให้คะแนนประเทศไทยสูงสุด คือ IMD World Competitiveness Year Book 2010 – IMD2010 ให้ประเทศไทย 4.1 คะแนน โดยผลการสำรวจของ IMD2010 เกิดจากการไปถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นภาคธุรกิจ และมีการถามเพียงคำถามเดียวคือ “มีการติดสินบนและการคอรัปชั่นจริงหรือไม่”

ข้อควรรู้ข้อหก อดีตที่ผ่านมาประเทศไทยมีดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นเป็นอย่างไร

ดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นเริ่มต้นการจัดอันดับครั้งแรกในปี 1998 ประเทศไทยได้ถูกรวมเข้าในการจัดอันดับตั้งแต่ครั้งแรกด้วย

ผลคะแนนดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของประเทศไทย ปี 1998 – 2011
ผลคะแนนดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของประเทศไทย ปี 1998 – 2011
ผลคะแนนดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของประเทศไทย ปี 1998 – 2011
ผลคะแนนดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของประเทศไทย ปี 1998 – 2011

คะแนนต่ำสุด – สูงสุด เป็นช่วงคะแนนที่เกิดจากการให้คะแนนของแหล่งข้อมูลที่ให้ก่อนจะนำค่าทั้งหมดมาประมวลผลเป็นดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นค่าเดียว

ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน – เป็นการวัดการกระจายทางสถิติที่เป็นปกติทั่วไป ใช้สำหรับเปรียบเทียบว่าค่าต่างๆ ในเซตข้อมูลกระจายตัวออกไปมากน้อยเท่าใด หากข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยมาก ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานก็จะมีค่าน้อย ในทางกลับกัน ถ้าข้อมูลแต่ละจุดอยู่ห่างไกลจากค่าเฉลี่ยเป็นส่วนมาก ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานก็จะมีค่ามาก และเมื่อข้อมูลทุกตัวมีค่าเท่ากันหมด ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจะมีค่าเท่ากับศูนย์

ข้อควรรู้ข้อเจ็ด จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นเพิ่มขึ้น

การศึกษากรณีตัวอย่างของประเทศที่มีคะแนนดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นสูงเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยให้มีดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นเพิ่มขึ้น โดยพบว่าประเทศที่มีดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นสูงสุด 3 อันดับแรกคือ นิวซีแลนด์ เดนมาร์กและฟินแลนด์ ทั้ง 3 ประเทศล้วนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและมีการวางรากฐานต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่นมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างในปี 1766 ขณะที่หลายประเทศยังไม่รู้ว่าความโปร่งใสคืออะไร แต่สวีเดนกลับเป็นประเทศแรกที่มีการออกกฎหมายให้สาธารณะชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือเอกสารสำคัญทางราชการได้ ตั้งแต่ตอนนั้น

อีกด้านหนึ่ง จากการศึกษาขององค์กรความโปร่งใสสากลได้พบว่าทั้ง 3 ประเทศนี้ เป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยและมีสื่อมมวลชนที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสูง โดยพบว่าความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เพิ่มขึ้น มีความสัมพันธ์กับปัญหาคอรัปชั่นที่ลดลง นอกจากนั้นทั้ง 3 ประเทศยังมีจีดีพีต่อหัวของประชากรสูง มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่ำ มีอัตรารู้หนังสือเกือบ 100 % มีการให้ความสำคัญกับประเด็นทางสิทธิมนุษยชน เช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศและเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกในการสร้างความโปร่งใสของภาครัฐ การมีภาคประชาสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วม ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างให้เกิดความโปร่งใส ดังตัวอย่างของประเทศสวีเดน ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบการจ่ายใช้จ่ายเงินของรัฐบาลได้ หรือประเทศเดนมาร์กที่บังคับให้รัฐมนตรีทุกคนต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายรายเดือนทุกอย่าง รวมไปถึงค่าเดินทางและค่าของขวัญที่ซื้อให้ผู้อื่น

ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการทำให้ประเทศเหล่านี้จัดการรับมือกับปัญหาคอรัปชั่นได้ดีคือในประเทศต้องมีของภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการจับตาสอดส่องการทำงานของภาครัฐและมีหน่วยงานของรัฐที่มีความโปร่งใสสามารถเปิดเผยข้อมูลให้องค์กรอื่นๆตรวจสอบได้นั่นเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม – ผลการจัดอันดับดรรชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น ประจำปี 2011 โดยองค์กรความโปร่งใสสากล