ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจเทคโนโลยีเพื่อน้ำสะอาด ทางเลือกผู้ประสบอุทกภัย

สำรวจเทคโนโลยีเพื่อน้ำสะอาด ทางเลือกผู้ประสบอุทกภัย

27 ตุลาคม 2011


ที่มา : http://thumbsup.in.th/wp-content/uploads/2011/10/น้ำท่วม.jpeg

มหาอุทกภัยกำลังคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยหลายสิบล้านคน โดยเฉพาะการเผชิญกับปัญหาการขาดน้ำสะอาดไว้เป็นน้ำดื่มน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน ท่ามกลางน้ำที่ยังท่วมขังอยู่

ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สถาบันการศึกษา กลุ่มรณรงค์และองค์การไม่แสวงหากำไรหลายแห่งพยายามนำเสนอทางเลือกในการทำสะอาดอย่างรวดเร็ว ประหยัดและเท่าที่หาได้ในยามฉุกเฉิน มีตั้งแต่ภูมิปัญหาดั้งเดิมของการนำสารส้มมาแกว่งในน้ำเพื่อให้สิ่งปนเปื้อนตกตะกอน ก่อนจะเติม “หยดทิพย์” หรือ ด่างทับทิม เพือฆ่าเชื้อโรค จนถึงการทำเครื่องกรองน้ำแบบง่ายจากถ่าน กรวดและทราย

ถือเป็นภาวะปกติของสภาพการณ์หลังเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหวหรืออุทกภัย นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่ความช่วยเหลือส่วนหนึ่งของนานาชาติซึ่งเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว อาทิ จากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสหรัฐจะเน้นหนักไปที่ปัจจัยสี่ ครอบคลุมตั้งแต่อาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค

ดังตัวอย่างของจีนซึ่งมีประสบการณ์สูง ทั้งในฐานะผู้บริจาคและผู้ประสบภัยจากอุทกภัยอยู่เป็นประจำ สิ่งของที่ลำเลียงมาทางอากาศด้วยเครื่องบินขนส่งของสายการบินไชน่า เซาท์เธอร์น แอร์ไลน์ จึงประกอบด้วย เรือยนต์ความเร็วสูงและเรืออื่นๆ หลายขนาด ตั้งแต่เรือบรรทุกผู้โดยสารขนาด 8-10 ที่นั่งและขนาด 12 ที่นั่ง จำนวนทั้งสิ้นกว่า 128 ลำ พร้อมทั้งเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ (water purification equipment) 60 เครื่องและถังบรรจุน้ำขนาดใหญ่ (water tank) จำนวน 120ถัง

เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่จัดส่งเต้นท์ เครื่องกรองน้ำและเครื่องผลิตไฟฟ้า

ก้าวข้ามอุทกภัยของประเทศไทยออกไปสำรวจปัญหาเรื่องน้ำและการแก้ไขปัญหา โดยโฟกัสไปที่เครื่องกรองน้ำและอุปกรณ์ทำน้ำสะอาดซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาท้าทาย

หนึ่งในองค์กรที่ทุ่มเทให้กับเรื่องนี้คือ สมาคมน้ำเพื่อมนุษยชาติดาวเซอร์สแห่งสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรน้ำภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ ระบบชลประทานน้ำฝนเพื่อการเพาะปลูก จนถึงโครงการพัฒนาเครื่องกรองน้ำต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธิภาพสูงและกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่มีปัญหาเรื่องน้ำ

เทคโนโลยีกรองน้ำต้นทุนต่ำของกองทุนฯ มี 2 แบบ ประกอบด้วยเครื่องกรองน้ำชีวภาพแบบช้า(Slow-sand bio-filter) ซึ่งใช้ทรายและกรวดเป็นวัสดุหลักในการกรองและเครื่องกรองน้ำเซรามิกเป็นการกรองน้ำผ่านหม้อหรือกระถางดินเผา(Ceramic water filter)

เครื่องกรองน้ำแบบช้าจะนำทรายคุณภาพดีและกรวดเม็ดเล็กๆ มาบรรจุอยู่ในถังกรอง มีช่องเติมน้ำจากด้านบน น้ำจะไหลผ่านทรายเพื่อกรองสิ่งปนเปื้อน ขณะที่เครื่องกรองน้ำเซรามิจะมีการเคลือบหม้อดินด้วยโลหะเงินด้วยเทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ (colloidal silver) ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกเหนือจากกรองสิ่งปนเปื้อนในน้ำ

ประเทศที่ได้รับการแจกจ่ายเครื่องกรองน้ำทั้งสองแบบ ได้แก่ อินเดีย กัมพูชาและประเทศในแอฟริกา ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฟิลิปปินส์ได้นำเทคโนโลยีเครื่องกรองเซรามิกไปพัฒนาเองเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาชุมชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดหรือมีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพต่ำ

แม้แต่ถุงชาก็สามารถเป็นเครื่องกรองน้ำที่ทรงประสิทธิภาพได้ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสเตลเลนบอสช์ ในแอฟริกาใต้ประสบความสำเร็จในการนำวัสดุที่ใช้ทำถุงชา มาพัฒนาตัวกรองน้ำบรรจุอยู่ในส่วนบนสุดของขวดหรือกระป๋องน้ำ โดยใช้ต้นทุนการผลิตเพียงครึ่งเซนต์ต่อการใช้ในแต่ละครั้ง

ที่มา : ดัดแปลงจากภาพใน http://singularityhub.com/wp-content/uploads/2010/09/water-purification-bags-used.jpg

ถุงชาดังกล่าวจะบรรจุถ่านบดละเอียดและนาโนไฟเบอร์ซึ่งมีคุณสมบัติที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาเป็นกรองน้ำสะอาดก่อนนำไปบริโภค แต่มีข้อเสียคือ ถุงชากรองน้ำเป็นประเภทใช้แล้วทิ้ง ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่

เครื่องกรองต้นทุนต่ำอีกแบบหนึ่ง คือ Tulip Siphon Water Filter พัฒนาโดยมูลนิธิความต้องการน้ำขั้นพื้นฐาน (Basic Water Needs Foundation) และมีการแจกจ่ายไปยังชุมชนที่มีปัญหาน้ำในเวียดนาม อินเดีย แทนซาเนีย โมแซมบิกและประเทศอื่นๆ ตัวกรองประกอบด้วยเครื่องกรองคุณภาพสูง มีกระเปาะใช้การดึงน้ำจากถังเก็บน้ำผ่านเครื่องกรองน้ำสะอาดมายังขวดหรือภาชนะอื่นๆ

กลุ่ม poured out เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาเครื่องกรองน้ำต้นทุนต่ำ เครื่องกรองน้ำที่องค์กรพัฒนาและแจกจ่ายไปยังพื้นที่ทีขาดแคลน มีตั้งแต่เครื่องกรองน้ำถังปูนซีเมนต์ระบบกรองน้ำด้วยทราย (Cement biosand filter) และอีกแบบหนึ่งคือ เครื่องกรองน้ำสะอาดด้วยยูวีและทำงานด้วยแผงโซลาร์แบบเคลื่อนที่ (Solar large UV purification unit)

จากเครื่องกรองน้ำต้นทุนต่ำขยับไปดูอุปกรณ์กรองน้ำที่มีราคาแพงขึ้นมาอีกนิด ส่วนใหญ่คิดค้นโดยบริษัทเอกชน บริษัทเวสเตอร์การ์ด แฟรนด์เซนได้พัฒนาอุปกรณ์กรองน้ำที่เรียกว่า LifeStraw มีลักษณะเป็นหลอดดูดนำ้ขนาดใหญ่ แจกจ่ายให้กับชาวเคนยาที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของประเทศ 4 ล้านอันโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

เพียงใช้ส่วนปลายของ LifeStraw จุ่มลงไปในแหล่งน้ำและดูดน้ำผ่านเครื่องกรองที่ติดตั้งอยู่ภายใน น้ำที่ไหลเข้าสู่ร่างกายจะปลอดอันตรายจากแบคทีเรีย ไวรัสและพยาธิ สร้างน้ำสะอาดที่สามารถดื่มได้ทันที LifeStraw แต่ละอันสามารถใช้กรองน้ำเฉลี่ย 18,000 ลิตร หรือประมาณ 3 ปีสำหรับการใช้งานของแต่ละครัวเรือน

แนวคิดในการพัฒนา LifeStraw คือ การให้ครัวเรือนเคนยาได้ใช้น้ำสะอาดในแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนการต้มน้ำที่ต้องใช้ไม้หรือถ่านมาเผาจนก่อก๊าซคาร์บอน ผลตอบแทนที่บริษัทเอกชนรายนี้จะได้คือ คาร์บอนเครดิต ที่คำนวณจากการต้มน้ำของแต่ละครัวเรือน ซึ่งเครดิตนี้จะแปรสภาพเป็นรายได้หรือผลกำไรให้กับบริษัทจากการนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ไปเรียกเก็บผู้ก่อมลภาวะอีกทอดหนึ่ง

ที่มา : http://peoplesdesignaward.cooperhewitt.org/2007/images/nominations/lifestraw1.jpg

ถุงน้ำ SolarBag พัฒนาโดยเพียราลิติกส์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวกระตุ้นการทำงานในการทำสะอาดภายในถุงสามารถขจัดสิ่งปนเปื้อน ฆ่าแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่นๆ สามารถทำน้ำสะอาดได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเพียงแค่นำถุง SolarBag ไปวางกลางแดด โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีหรือพลังงานภายนอกใดๆเข้าช่วย

อะควอแทบส์ เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบำบัดและทำน้ำสะอาดในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดภัยพิบัติ พัฒนาโดยบริษัทเมเดนเทค ซึ่งจริงๆ แล้วมีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายๆ กันนี้ภายใต้ยี่ห้ออื่นๆ อาทิ Portable Aqua จนถึง Aquapura Oasis และ Fresh Aqua

เหล่านี้คือ เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นเมื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด ซึ่งในอนาคต หากไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระดับวิกฤตเช่นนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่แน่ว่าผลิตภัณฑ์และเทคโนยีเหล่านี้อาจกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับมือในภาวะภัยพิบัติฉุกเฉินก็เป็นได้