ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นโยบายหาเสียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุป่วน คนชรา 7.1 ล้านรายหน้าแห้ง เงินงวดต.ค.เบิกไม่ได้

นโยบายหาเสียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุป่วน คนชรา 7.1 ล้านรายหน้าแห้ง เงินงวดต.ค.เบิกไม่ได้

14 ตุลาคม 2011


ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/412/49412/images/million/29-06-11-061021.jpg
ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/412/49412/images/million/29-06-11-061021.jpg
ปกติวันที่ 10 ของทุกเดือน คนชราไปเบิกเงินค่าเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 500 บาทที่ตู้ ATM ของทุกธนาคาร บางรายก็ไปขอรับเงินที่ว่าการอำเภอ หรือองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) แต่ปรากฏว่าในงวดของเดือนตุลาคมนี้ ทางกรมบัญชีลางยังไม่ได้โอนเงินเข้ามาในบัญชีเงินฝากของคนชรา หรือบัญชีเงินฝากของอบต.

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องนี้กับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมในงวดเดือนตุลาคม คนชราถึงไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงเดือนละ 500 บาท

นายธีระชัย ตอบสั้นๆว่า “กำลังสั่งให้เจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางทำการตรวจสอบอยู่”

ด้านนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องการเบิกจ่ายเบี้ยคนชราล่าช้าเท่าที่ทราบ ทางสำนักงานประมาณเพิ่งจัดสรรงบฯไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่าอีกไม่กี่วันกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น คงจะทำเรื่องมาขอเบิกเงินกับกรมบัญชีกลางผ่านระบบ GFMIS คาดว่าไม่น่าเกินสิ้นเดือนนี้น่าจะมีการโอนเงินไปให้ผู้สูงอายุได้

ส่วนแหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงมหาดไทยเคยเรียกกรมบัญชีกลางไปหารือถึงแนวทางในการจ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แบบขั้นบันได กล่าวคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60-69 ปี ได้รับเงินค่าเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 600 บาท อายุ 70-79 ปี ได้รับเงินเดือนละ 700 บาท อายุ 80-89 ปี ได้รับเงินเดือนละ 800 บาท และอายุตั้งแต่ 90 ปี ขึ้นไปได้รับเงินเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง จึงอยากจะให้เริ่มดำเนินการโครงการนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป (ปีงบประมาณ 2555)

ที่มา : ไทยพับลิก้ารวบรวม
ที่มา : ไทยพับลิก้ารวบรวม

“แต่ปัญหาก็คือทางกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เลย จะให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินแบบขั้นบันไดได้อย่างไร และหลังจากที่ครม.อนุมัติแล้วก็ต้องนำเรื่อบรรจุอยู่ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2555 อีก ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา กว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินแบบขั้นบันไดได้ก็น่าจะประมาณเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะเดียวกันทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) ก็ยังไม่ออกคำสั่งเวียนไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้ทำเรื่องมาเบิกเงินค่าเบี้ยยังชีพคนชราในอัตราเดิมคนละ 500 บาทต่อเดือน เมื่อไม่มีคำสั่งจากสถ.ออกมาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ก็ไม่กล้าทำเรื่องมาขอเบิกเงินผ่านระบบ GFMIS ของกรมบัญชีกลาง

“ตอนนี้เรื่องเงินไม่ใช่ประเด็นปัญหา เพราะมีเงินคงคลังไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ปัญหาคือนโยบายรัฐบาลยังไม่ชัดเจนจะให้จ่ายแบบคงที่เดือนละ 500 บาท หรือจะให้จ่ายแบบขั้นบันได ส่วนสถ.ก็ยังไม่มีประกาศอะไรออกมา อบต.จึงไม่กล้าทำเรื่องมาเบิกเงิน” แหล่งข่าวกล่าว

นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) ชี้แจ้งว่า เนื่องจากงบประมาณปี 2555 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ขณะนี้ตนได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอยืมงบฯอุดหนุนมาใช้จ่ายไปพลางๆก่อนจนกว่างบฯปี 2555 จะผ่านสภาฯ ซึ่งสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบอุดหนุนมาให้แล้ว 17,000 ล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของงบอุดหนุนที่อปท.จะได้รับวงเงิน 52,000 ล้านบาท และภายใน 1-2 วันนี้ ทางกระทรวงการคลังจะโอนเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเหล้า บุหรี่ น้ำมันมาให้อีก 6,000 ล้านบาท ภายในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2554

จากนั้นสถ. จะโอนเงินไปให้อบต. กว่า 7,300 แห่งทั่วประเทศทันที เพื่อให้อบต.นำเงินไปจ่ายให้กับคนชราเดือนละ 500 บาท และค่าตอนแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อ.ส.ม.)เดือนละ 600 บาท ทั้งคนชราและอ.ส.ม.จะได้รับเงินเดือนไม่เกินสิ้นเดือนตุลาคมนี้

“ในเบื้องต้นจะให้อบต.จ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพคนชราตามระเบียบเดิมไปก่อน (500 บาท) จนกว่าโครงการจ่ายเบี้ยยังชีพ แบบขันบันไดจะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯในเดือนม.ค.ปีหน้า และน่าจะเริ่มเบิกจ่ายแบบขั้นบันไดได้ภายในเดือนก.พ.ปีหน้า”นายขวัญชัย กล่าว

นายขวัญชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนความคืบหน้าของโครงการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแบบขั้นบันได ทางสำนักงบประมาณจะต้องจัดสรรงบฯเพิ่มจากวงเงินเดิม(37,700 ล้านบาท) อีก 15,000 ล้านบาท ซึ่งทางสถ.ได้ทำหนังสือไปขอความเห็นกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)และคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอให้ที่ประชุมค.ร.ม.อนุมัติได้อย่างช้าภายในวันอังคารที่ 25 ต.ค.นี้

อนึ่งในปีงบประมาณ 2552 ทางกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศได้จ่ายเงินค่าเบี้ยยังชีพไปให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีไปแล้วทั้งสิ้น 5.9 ล้านคน ปีงบประมาณ 2553 มีผู้สูงอายุมาลงทะเบีนเพิ่ม และได้จ่ายให้กับผู้สูงอายุไปแล้ว 7.1 ล้านราย ขณะที่อ.ส.ม.ในปีงบประมาณ 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.34 แสนราย ปี 2553 มีจำนวน 9.76 แสนราย และปี 2554 มีจำนวน 1.14 ล้านราย โดยในแต่ละปีรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณไปให้กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปจ่ายเป็นเบียยังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท และอ.ส.ม.เดือนละ 600 บาท ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย