ThaiPublica > คอลัมน์ > ซีซีทีวีและเรื่องส่วนตัว

ซีซีทีวีและเรื่องส่วนตัว

8 ตุลาคม 2011


โตมร ศุขปรีชา

กล้องซีซีทีวีในลอนดอน
กล้องซีซีทีวีในลอนดอน ที่มา: http://www.flickr.com/photos/stephenjjohnson/2899060572/

ข่าวเรื่องกล้องซีซีทีวีของกรุงเทพมหานครกลายเป็น ‘กล้องเดโม’ นั้น ก่อให้เกิดคำถามเรื่องการทุจริตขึ้นมาในสื่อมวลชนกระแสหลัก ทำนองว่ามีการใช้งบประมาณในเรื่องนี้อย่างไร ทำไมกล้องจึงไม่มีในที่ที่สมควรจะมีอยู่ แล้วอย่างนี้จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนได้อย่างไรกัน

คำชี้แจงของกรุงเทพมหานครก็คือ กล้องพวกนี้เป็น ‘กล้องเดโม’ ที่มีไว้ใช้ ‘หลอกๆ’ ซึ่งในต่างประเทศก็ทำกัน แต่ก็มีเสียงเรียกร้องว่า อย่าเดโมเลย ขอให้เป็นกล้องจริงๆเถิด ด้วยความเชื่อที่ว่า กล้องจริงจะสามารถช่วยป้องปรามหรือตามจับอาชญากรได้ง่ายขึ้น

เรื่องกล้องซีซีทีวีนี้ ใครจะถูกจะผิด จะมีการทุจริตอย่างเป็นกระบวนการหรือไม่ หรือจะเร่งรัดติดตั้งให้มีกล้องจริงแทนกล้องเดโมได้เมื่อไหร่อย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามตอนต่อไป แต่เรื่องนี้ทำให้นึกไปถึงกรุงลอนดอน มหานครที่ได้ชื่อว่ามีกล้องซีซีทีวีมากที่สุดในโลก

ถ้าใช้ตรรกะแบบคนกรุงเทพฯที่กำลังเรียกร้องกล้องซีซีทีวีให้สอดส่องได้ถี่ถ้วน การที่ลอนดอนเนอร์มีซีซีทีวีอยู่มากก็น่าจะเป็นเรื่องดี ไม่น่ามีใครออกมาบ่น แต่เอาเข้าจริง การที่ลอนดอนมีซีซีทีวีมากๆนั้น ก็มีหลายเสียงออกมาบ่นถึงประเด็น ‘ความเป็นส่วนตัว’ กันไม่น้อย

ประมาณกันว่า ในอังกฤษนั้น ตอนนี้มีกล้องซีซีทีวี (ของจริง-ไม่อิงเดโม!) อยู่มากถึง 4.2 ล้านตัว กล้องเหล่านี้จะทำหน้าที่คอยสังเกตการณ์ และบันทึกชีวิตของผู้คนเอาไว้ตลอดเวลา ศาสตราจารย์ไคลฟ์ นอร์ริส (Clive Norris) แห่งมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ซึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้บอกว่า กล้องซีซีทีวีในอังกฤษนั้นมีมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว จะเท่ากับกล้องหนึ่งตัวต่อประชากร 14 คน

แล้วไม่ดีหรือ?

กล้องซีซีทีวีนั้นเริ่มแพร่หลายในยุคเก้าศูนย์ โดยในตอนแรกติดตั้งตามอาคารที่ต้องมีการรักษาความปลอดภัยสูงก่อน ในตอนแรกๆเป็นของแปลกใหม่ ราคายังแพงอยู่ แต่เมื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ ราคาถูกลง ขนาดก็เล็กลงด้วย ทั้งเมื่อติดตั้งไว้แล้ว เจ้าของยังสามารถมอนิเตอร์ได้ตลอดเวลาจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก กล้องซีซีทีวีจึงแพร่หลายไปทั่ว ทั้งในส่วนของเอกชนและของรัฐบาลเอง เมื่อนับรวมกันกล้องซีซีทีวีจึงมีจำนวนมากมายมหาศาล

ในส่วนของรัฐบาล กล้องที่ว่าติดตั้งอยู่ตามถนนใหญ่ๆ ตรอกซอกซอย รวมไปถึงในสถานีรถไฟ ในสถานีรถใต้ดิน บนรถเมล์ ตามโครงการหมู่บ้านต่างๆ แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ ถึงขั้นติดเอาไว้หน้าบ้านของคนธรมดาๆทั่วๆไป ด้านหนึ่งคนก็มองว่าปลอดภัยดี แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคำถามถึงความเป็นส่วนตัวหรือ Privacy ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานดั้งเดิมอย่างหนึ่งของสังคมตะวันตก

ในส่วนของเอกชน มีการติดตั้งกล้องกันตามสำนักงาน ว่ากันว่างบประมาณในการป้องกันอาชญากรรมตามอาคารสำนักงานนั้น หนึ่งในสามคืองบสำหรับการติดตั้งกล้องซีซีทีวี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระบบซับซ้อนกว่ากล้องของรัฐบาล เช่น มีระบบตรวจจับใบหน้า และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและ ‘ฉลาด’ เพื่อระบุตัวบุคคลได้ด้วยว่าเป็นใคร

ประมาณกันว่า ในแต่ละวัน ลอนดอนเนอร์ไม่ต้องเก้อเขินอายไป เพราะพวกเขาแต่ละคนจะได้ปรากฏตัวเป็นดาราหน้ากล้องกันเฉลี่ยวันละ 300 ครั้ง ซึ่งถือว่าสูงมาก

นอกจากการติดตั้งกล้องไว้ตามที่ต่างๆเพื่อจับตาดูคนแต่ละคนแล้ว ยังมีการติดตั้งกล้องตามสี่แยกไฟแดงเพื่อตรวจจับคนที่กระทำความผิดทางจราจรอีกด้วย กล้องแบบนี้ในบ้านเราก็มี แต่ไม่มีข้อครหาว่าเป็นกล้องเดโม เนื่องจากถ่ายรถยนต์ได้ชัดแจ๋วเห็นทะลุทะลวงไปถึงป้ายทะเบียนและคนขับว่าหน้าตาเป็นอย่างไรกันเลยทีเดียว ประมาณว่าในอังกฤษมีกล้องสำหรับตรวจจับความเร็วมากว่า 6,000 กล้อง

แล้วทั้งหมดนี้ไม่ดีอย่างไรหรือ?

เรื่องนี้ ริชาร์ด โธมัส (Richard Thomas) ซึ่งพูดได้ว่าเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐ เพราะเป็นคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของอังกฤษ ได้ออกโรงมาเตือนว่า ถ้าปล่อยให้ประเทศมีลักษณะแบบนี้ต่อไป สังคมอังกฤษจะกลายเป็น Surveillance Society คือเป็นสังคมที่ถูกจับตามอง ถูกสอดส่องอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในยุคสมัยที่ระบบ GPS ใช้การได้ดี และจำนวนโทรศัพท์มือถือในอังกฤษมีมากเท่ากับจำนวนประชากรด้วยแล้ว เขาคิดว่าจะทำให้การติดตามสอดส่องนั้นเป็นไปได้ง่าย และความคุ้นชินกับเรื่องนี้ อาจทำให้ในอนาคตต้องมีการฝังชิพติดตามตัวลงไปเพื่อตามหาคน มีการติดตั้งกล้องที่ระบุใบหน้าคนได้ไว้ตามเสาไฟฟ้า หรือแม้แต่ส่งเครื่องบินที่ไม่มีคนขับขึ้นไปสอดส่องอยู่บนน่านฟ้าอังกฤษ แม้ฟังดูแล้วจะ ‘เวอร์’ ไปหน่อย แต่ก็สะท้อนความกังวลถึง ‘เหรียญอีกด้าน’ ของระบบสอดส่องเพื่อความปลอดภัยนี้

คำถามของริชาร์ด โธมัส ก็คือ เรายอมแลก ‘ความเป็นส่วนตัว’ กับ ‘ความปลอดภัย’ มากน้อยแค่ไหน?

เขาบอกว่า ยิ่งมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลมากแค่ไหน มีการนำไปแบ่งปันและใช้งานมากแค่ไหน ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้ ‘รัฐ’ สามารถ ‘รุก’ เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของเราได้มากเท่านั้น อันจะก่อให้เกิดการตัดสินใจบางอย่างในเชิงนโยบายที่มีผลต่อชีวิตของผู้คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีชีวิตไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคมส่วนใหญ่

ในอังกฤษ ไม่ใช่แค่กล้องซีซีทีวีเท่านั้นที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา แต่ยังมีการแลก ‘ความปลอดภัย’ กับ ‘ความเป็นส่วนตัว’ อีกหลายประเด็น อาทิเช่น ในปี 2003 กฎหมายใหม่อนุญาตให้ตำรวจสามารถเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยที่ถูกจำคุกได้ แม้ว่าการพิจารณาคดีจะยังไม่เสร็จสิ้นก็ตาม ที่สำคัญก็คือ ต่อให้หลังศาลตัดสินแล้ว ผู้ต้องสงสัยจะผิดหรือไม่ผิดตามข้อกล่าวหา ตำรวจก็ยังสามารถเก็บข้อมูลดีเอ็นเอเหล่านี้เอาไว้ได้ แต่ก่อนหน้ากฎหมายฉบับนี้จะออกมา ถ้าผู้ต้องสงสัยบริสุทธิ์ ตำรวจจะต้องทำลายตัวอย่างดีเอ็นเอนั้นทิ้งไป

หลังกฎหมายนี้ใช้บังคับได้ 3 ปี ปรากฏว่ามีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอมากถึง 3.6 ล้านตัวอย่าง ซึ่งในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้เป็นตัวแทนของ ‘รัฐ’ ซึ่งต้องควบคุมดูแลสวัสดิภาพของประชาชน โทนี แบลร์ จึงมีแนวคิดว่าควรจะ ‘ขยาย’ การเก็บดีเอ็นเอนี้ให้ครบถ้วนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

ปรากฏว่า สาธารณชนโดยทั่วไปบอกว่า ‘ไม่มีปัญหา’ ในเรื่องนี้ และยินดีมอบดีเอ็นเอของตนให้กับรัฐ เพื่อนำไปใช้ต่อสู้กับอาชญากรรม!

ผลลัพธ์ของเรื่องนี้คือการทำบัตรประชาชนแบบใหม่ที่เป็นยิ่งกว่าสมาร์ตการ์ด เพราะมีการเก็บ ‘ข้อมูลส่วนตัว’ บางอย่างเอาไว้ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางชีวภาพ เช่น ข้อมูลม่านตา (ที่มีลักษณะเฉพาะบุคคล) หรือข้อมูลดีเอ็นเอ ซึ่งจะทำให้เกิดฐานข้อมูลประชากรแบบใหม่ขึ้นมา โดยที่ประชาชนแต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำบัตรอย่างน้อยคนละ 93 ปอนด์ ซึ่งจะทำให้ ‘รัฐ’ สามารถควบคุมดูแลอาชญากรรมได้ดีขึ้น และประชาชนก็จะไม่ถูกหลอกให้ไปทำธุรกรรมต่างๆโดยใช้บัตรประชาชนหรือบัตรเอทีเอ็มแบบเดิมได้อีก

เรื่องนี้จึงเป็นที่ยอมรับ แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ทุกเรื่อง!

ถ้าเป็นเรื่องการสอดส่องที่ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สินประชาชนโดยตรง แต่เป็นความมั่นคงทางการเงินของรัฐเอง พบว่าประชาชนไม่ค่อยยอมเสียสละความเป็นส่วนตัวไปมากนัก ตัวอย่างที่เห็นชัดคือกฎหมายภาษีของอังกฤษที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เข้าไปสอดส่องดูได้ถึงภายในบ้านของประชาชน ไม่ใช่แค่เข้าไปดูๆในห้องนั่งเล่น หรือห้องรับแขกเท่านั้น แต่สามารถเข้าไปได้ทุกห้องหับลับลี้ในบ้าน แถมยังสามารถ ‘ถ่ายรูป’ ห้องเหล่านั้นกลับออกมาพิจารณาได้อีกด้วย ถ้าใครปฏิเสธไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ภาษีเข้าไปตรวจ จะต้องเสียค่าปรับถึง 1,000 ปอนด์กันเลยทีเดียว

แล้วเข้าไปตรวจเพื่ออะไร?

เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะเข้าไป ‘ประเมิน’ ดูว่า ผู้เสียภาษีรายนั้นๆ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ตรงกับภาษีที่เสียไปไหม ถ้าความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ย่อมแปลว่ามีรายได้มากขึ้น แต่ถ้าการเสียภาษีไม่มากตาม เจ้าหน้าที่ก็อาจประเมินได้ว่ามีการหลบเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ การประเมินยังรวมไปถึงว่าที่อยู่อาศัยนั้นอยู่ในพื้นที่ที่ต้องเสียภาษีมากกว่าพื้นที่อื่นหรือไม่ (เช่นอยู่ติดกับสวนสาธารณะ ฯลฯ) หรือมีการจอดรถในพื้นที่นอกบ้านอันเป็นพื้นที่สาธารณะหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้ ‘พื้นที่ส่วนกลาง’ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย

เรื่องนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่พอล แซนเดอร์สัน (Paul Sanderson) เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ภาษีบอกว่า แนวคิดเรื่อง ‘ความเป็นส่วนตัว’ นั้น เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เขายังบอกอีกด้วยว่า ทุกผู้ทุกนามควรจะ ‘โปร่งใส’ และแสดงทรัพย์สินของตัวเองออกมาทางออนไลน์ (ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น!)

ด้วยเหตุนี้ กล้องซีซีทีวีที่เราเห็นๆกัน จึงไม่ใช่แค่ ‘วัตถุ’ ที่ติดตั้งอยู่เพื่อ ‘ความปลอดภัย’ เพียงอย่างเดียว แต่มันคือรูปธรรมของ ‘แนวคิด’ ชุดหนึ่ง ซึ่งพ่วงมาเป็นแพ็กเกจกับวิถีทางสังคมแบบใหม่ ซึ่งเป็นสังคมที่ ‘ความเป็นส่วนตัว’ เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่ เรียกร้องให้แต่ละคนต้องเปิดเผยโปร่งใสเต็มที่ โดยเมื่อเราเรียกร้องให้คนอื่นต้องถูกสอดส่องตรวจสอบ เราเองก็ต้อง ‘พร้อม’ ที่จะถูกสอดส่องไปด้วย ต้องพร้อมที่จะเป็นดาราหน้ากล้องทุกวัน แต่ที่สำคัญยิ่งเหนืออื่นใด ก็คือต้อง ‘พร้อม’ รับการตรวจสอบในทุกแง่มุม อาทิเช่นเรื่องการตอบแทนกลับคืนสู่รัฐในรูปของภาษี

อย่างไรก็ตาม คงไม่ได้หมายความว่า รัฐแบบไหนก็ตามจะสามารถเรียก ‘ความยินยอมพร้อมใจ’ (Consent) จากประชาชนในการสอดส่องดูแลได้เหมือนอังกฤษเสมอไป ลองคิดถึงสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นหรือเกาหลีเหนือดูก็ได้ ว่าถ้าเป็นรัฐแบบที่มีการสอดส่องเพียงทิศทางเดียว (คือจากบนลงล่าง) เช่นนั้น ประชาชนจะยินยอมพร้อมใจให้ตรวจสอบ หรือสร้างเกราะขึ้นกำบังกั้นขวางความเป็นส่วนตัวของตัวเองมากกว่ากัน

ดังนั้น สังคมที่จะ ‘สอดส่อง’ กันได้อย่างชอบธรรมและยินยอมพร้อมใจ จึงต้องเป็นสังคมที่ระบบการตรวจสอบนั้นเป็นแบบ 360 องศา คือทุกคนสามารถตรวจสอบกันและกันได้อย่างเสมอภาคและเคารพซึ่งกัน ประชาชนอังกฤษสามารถตรวจสอบรายได้ ที่มา การจ่ายภาษีของนักการเมืองได้ทุกระดับ แม้กระทั่งค่าใช้จ่ายของราชวงศ์ ซึ่งคนอังกฤษเรียกว่า Civil List มีความหมายหมายถึง ‘พลเรือนที่อยู่ในรายชื่อที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายที่มาจากภาษีประชาชน’ นั่นแปลว่า ต่อให้เป็นพระราชินีอังกฤษ ก็ยังต้องอยู่ในการตรวจสอบของประชาชน ประชาชนก็อยู่ในตรวจสอบของรัฐ เช่นเดียวกับที่รัฐก็ตกอยู่ใต้การตรวจสอบของประชาชนอยู่เสมอด้วย และต่อให้เป็นผู้ต้องสงสัย ก็ต้องได้รับการปฏิบัติตอบอย่างเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของคนคนนั้นเสมอ ไม่ใช่แค่เห็นภาพจากกล้องซีซีทีวีว่าเป็นหมอนี่แน่ๆก็จะเข้าไปรุมประชาทัณฑ์กันได้ง่ายๆ

ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยที่เรียกร้องซีซีทีวี จึงยังเป็นสังคมที่เรียกร้อง ‘วัตถุ’ เพื่อการสอดส่องดูแลให้เกิดความปลอดภัย แต่ไม่ได้มี ‘ฐานคิด’ ทางประวัติศาสตร์เรื่องการแลกความปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัวใดๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความถึงความเป็นส่วนตัวในการจะอาบน้ำแปรงฟันหรือมีเพศสัมพันธ์กับใคร แต่หมายถึงการมอบความเป็นส่วนตัวของตัวเองออกมาให้ ‘ผู้อื่น’ ได้ ‘ตรวจสอบ’

ซีซีทีวีที่เราเรียกร้องกัน จึงยังมีความหมายแบบ 180 องศา คือออกจากทิศหนึ่งพุ่งไปยังอีกทิศหนึ่ง ไม่ได้รอบตัว แต่มุ่งหมายจะใช้ ‘จับ’ คนที่เป็น ‘คนผิด’ ซึ่งโดยมากก็คืออาชญากรที่ ‘เป็นอื่น’ ต่อสังคม (หรือบางคนก็ถึงขั้นเป็นอื่นจากความเป็นมนุษย์) บางคนติดตั้งกล้องซีซีทีวีไว้เพื่อตรวจตราขโมยขโจรที่จะเข้ามาลักทรัพย์ในสำนักงาน แต่ในเวลาเดียวกันก็หลบเลี่ยงภาษี ซึ่งถือเป็นการ ‘ขโมย’ ในรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่ไม่มีใคร ‘เห็น’ เท่านั้น เราเรียกร้องให้รัฐจัดความปลอดภัยให้เราผ่านกล้องซีซีทีวี เรียกร้องให้คนอื่นๆต้องถูกตรวจสอบ แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เราพร้อมหรือยังที่จะให้ใครต่อใครเข้ามาตรวจสอบเราได้ด้วยในแบบ 360 องศา

ในสังคมที่การตรวจสอบเป็นแบบครึ่งๆกลางๆ เราจึงไม่มี ‘ซีซีทีวี’ ที่เอาไว้คอยสอดส่องชนชั้นนำในบ้านเมืองที่แอบไปซื้อที่ดินผิดกฎหมายตามป่าเขา ไม่มี ‘ซีซีทีวี’ เอาไว้คอยตรวจสอบภาษีและการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ไม่มี ‘ซีซีทีวี’ เอาไว้ตรวจสอบว่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ (ชวนเชื่อ?) ใด เข้าข่ายหลอกลวงให้เราเชื่อว่าองค์กรนั้นโน้นนี้ดีเกินจริงแค่ไหนอย่างไร

และที่สำคัญที่สุด, เราไม่เคยคิดจะมี ‘ซีซีทีวี’ เพื่อเอาไว้ตรวจสอบตัวเองด้วย!