โตมร ศุขปรีชา
คำว่า ‘สภาประชาชน’ ทำให้ผมนึกถึงรายการโทรทัศน์ของอังกฤษ ประเทศที่ถือได้ว่าเป็น ‘ต้นแบบ’ ของประชาธิปไตย (โดยเฉพาะของไทย) รายการหนึ่ง
รายการนั้นมีชื่อว่า The People’s Parliament (มีคำว่า The ด้วยนะครับ)
ดูเผินๆ ด้วยรูปแบบแล้ว รายการนี้คล้ายๆ กับ ‘สภาโจ๊ก’ ของเมืองไทย เพราะเป็นการนำเอาคนมานั่งพูดคุยกัน โดยจำลองลักษณะรัฐสภาของอังกฤษ คือมีการออกแบบให้เหมือนคุยกันอยู่ในสภาจริงๆ แต่ที่ไม่เหมือนกับสภาโจ๊กก็คือ The People’s Parliament หรือสภาประชาชนที่ว่านี้ เขาไม่ได้ล้อเลียนเสียดสี หรือพูดเรื่องตลกๆ ประชดประชันการเมืองอย่างที่เราเห็นในเมืองไทย แต่นำคนมา ‘ถกเถียง’ กันอย่างจริงจังในประเด็นยากๆ หลายๆ เรื่อง
พอพูดแบบนี้ หลายคนก็อาจนึกถึงรายการประมาณ ‘เสียงประชาชน’ หรือ ‘ทางออกประเทศไทย’ ที่เห็นทางช่อง ThaiPBS ที่ชักชวนคนหลากมุมหลายความเห็นมาพูดคุยกัน แต่รายการ The People’s Parliament ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกนั่นแหละครับ
หลักการสำคัญ (ต้องเน้นย้ำว่า ‘สำคัญมาก’) ของ The People’s Parliament (หมายถึงรายการโทรทัศน์ที่ว่านี้) ก็คือการ ‘สุ่ม’ เลือก ‘ประชาชน’ มาราว 90-100 คน แล้วจากนั้นก็ให้มานั่งกันอยู่ในสภา (ที่บอกไว้แล้วว่าเลียนแบบ ‘สภาล่าง’ หรือสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ โดยการจำลองแบบให้คล้ายมากที่สุด) จากนั้นคนเหล่านี้ก็มาถกเถียงแล้วลงคะแนนเสียงกันในประเด็นต่างๆ
แต่ช้าก่อนครับ ‘วิธีการ’ ยังไม่หมดแค่นี้นะครับ เพราะคุณอาจจะสงสัยก็ได้ว่า ถ้าเรา ‘สุ่ม’ เลือก ‘ประชาชน’ มาคุยเรื่องยากๆ นั้น คนแต่ละคนจะมี ‘ความรู้’ พอที่จะวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้จริงหรือ สมมุติว่าเราจะถกกันในประเด็นว่าด้วยสิทธิของเด็ก แต่สุ่มไปสุ่มมาแล้วได้คนที่ไม่สนใจเรื่องเด็กเลย ไม่รู้เรื่องสิทธิเด็กเลย แล้วจะทำอย่างไรดี ทำไมถึงต้อง ‘สุ่ม’ ด้วย ทำไมไม่คัดเอาคนที่มีวิชาความรู้มานั่งถกกัน อย่างนั้นคนดูจะไม่ได้ประโยชน์มากกว่าหรือ
ก่อนจะบอกว่า รายการนี้มี ‘วิธีการ’ อะไรต่อ ขอเล่าก่อนนะครับว่าการ ‘สุ่ม’ เลือกคนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันแบบพล่อยๆ นะครับ แต่เป็นวิธีที่มีแนวคิดทางปรัชญาเก่าแก่โบราณมารองรับ นั่นคือแนวคิดของอริสโตเติล ที่บอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ไม่ควรต้อง ‘เลือกตั้ง’ แต่ควร ‘จับฉลาก’ เลือกคนมาเป็นตัวแทนได้เลย เพราะถ้าจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ต้องเริ่มต้นที่หลักความเสมอภาคก่อน แล้วถ้าคนเสมอภาคกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้อง ‘เลือก’ ไม่ว่าจะจากการ ‘เลือกตั้ง’ หรือ ‘แต่งตั้ง’ เพราะเลือกใครมาก็เหมือนกัน
แต่แน่นอน การ ‘จับฉลาก’ ในโลกยุคใหม่นั้นย่อมมีปัญหา เพราะนอกจากคนในโลกจะไม่ได้ ‘เสมอภาค’ อย่างที่อริสโตเติลว่าแล้ว คนแต่ละคนยังมี ‘ความสนใจ’ ที่แตกต่างกันไปอีกมากมาย คนนั้นสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คนนี้สนใจเรื่องสันทนาการ คนนู้นเชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์ คนโน้นเป็นคอการเมืองเข้มข้น ฯลฯ
แล้วอย่างนี้ ‘สภาประชาชน’ (ในรายการ) จะยัง ‘สุ่ม’ ไปเพื่ออะไรอีกเล่า?
ในรายการ The People’s Parliament นั้น จะเริ่มต้นด้วย ‘ประเด็นปัญหา’ เรื่องหนึ่งๆ (ที่มักจะเป็นเรื่องซับซ้อนชวนถกเถียง อย่างเช่น ‘อังกฤษควรสั่งห้ามการขายอาวุธสงครามให้กับประเทศที่ใช้อาวุธนั้นเพื่อการกดขี่ภายในประเทศไหม’ ‘ยานพาหนะที่ไม่จำเป็นควรถูกสั่งห้ามเข้าศูนย์กลางเมืองไหม’ หรือ ‘อังกฤษควรอนุญาตให้การใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่’) โดยคนที่ถูกสุ่มมา 90-100 คน นั้น ทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็น ‘ลูกขุน’ โดยจะมี ‘ผู้รู้’ ในประเด็นดังกล่าวมาเป็นผู้เสนอ และคนเหล่านี้นำพยานมาให้การต่อหน้าลูกขุนด้วย โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นตัวกลาง
คนที่ถูกสุ่มมานั้น จะเรียกว่าเป็น MPP (Members of the People’s Parliament) ซึ่งไม่ได้ทำแค่ ‘ฟัง’ เฉยๆ นะครับ แต่ MPP นั้นสามารถซักถามได้ ตรวจสอบพยานได้ ลุกขึ้นพูดได้ และยังสามารถตั้ง ‘คณะกรรมาธิการ’ ของตัวเองขึ้นมาได้ (เหมือนในสภาฯ จริงๆ ) โดยคณะกรรมาธิการนั้นคือ MPP เห็นว่ามีความรู้ในด้านนั้นๆ แล้วให้คณะกรรมาธิการไปทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อดูว่าข้อเท็จจริงต่างๆ คืออะไร
ที่สนุกและน่าสนใจมากที่สุดก็คือ ก่อนที่จะเริ่มการถกเถียงหาข้อเท็จจริงต่างๆ MPP จะต้อง ‘ลงคะแนนเสียง’ เสียก่อน ว่าตนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ต่อประเด็นนั้นๆ เสร็จแล้วหลังจากเกิดการถกเถียงกันแล้ว ก็ให้มีการลงคะแนนเสียงอีกเป็นครั้งที่สอง เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาว่า MPP มีความคิดเห็นอย่างไร การโต้เถียงนั้นได้ ‘เปลี่ยน’ มุมมองของ MPP แต่ละคนไปอย่างไรบ้างหรือเปล่า แล้วจากนั้นทางรายการก็จะมาสัมภาษณ์ว่าทำไม MPP ถึงเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนความคิดเห็นหลังได้ฟังการถกเถียงมาแล้ว
ปรากฏว่า รายการนี้ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี The Economist เคยรายงานไว้ว่า คนดูจำนวนมากเห็นว่าการโต้เถียงที่ปรากฏในรายการนั้นมีคุณภาพดีกว่าการถกเถียงในสภาผู้แทนฯ จริงๆ เสียอีก ทั้งนี้ก็เพราะสมาชิกของ MPP นั้นมีแนวโน้มที่จะ ‘รับฟัง’ ความเห็นของคนอื่นมากกว่าสมาชิกของสภาผู้แทนฯ จริงๆ ปรากฏว่า รายการ The People’s Parliament นั้นออกอากาศอยู่ถึงห้าซีซัน เพราะแม้ว่าจะเป็นรายการที่ ‘หนัก’ แต่ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย
ฟังเรื่อง The People’s Parliament แล้วคุณคิดอย่างไรบ้างครับ คุณคิดว่านี่เป็น ‘สภาประชาชน’ ที่มีความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ มากน้อยแค่ไหนในความเห็นของคุณ
ตอนที่เขียนต้นฉบับนี้ ผมไม่รู้แม้แต่พิมพ์เขียวของ ‘สภาประชาชน’ ของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ก็อยากรู้เหมือนกันครับ ว่ารายการ The People’s Parliament ของบีบีซีนั้น มีอะไรเหมือนหรือคล้ายกับ ‘สภาประชาชน’ ของคุณสุเทพบ้าง
ที่อยากรู้เช่นนั้นก็เพราะรายการ The People’s Parliament นั้น ไม่ได้ตั้งอยู่บนความสนุกสนาน สะใจ หรือเพื่อประชดประเทียด ‘สภาฯ’ จริงๆ แต่อย่างใด ทว่ารายการนี้วางอยู่บน ‘ฐาน’ ของการเห็นถึง ‘ปัญหา’ ของประชาธิปไตยในโลกตะวันตกหลายอย่าง
ผู้ที่คิดค้นรายการนี้ขึ้นมา คือโปรเฟสเซอร์เจมส์ เอส. ฟิชคิน (James S. Fishkin) ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขาเห็นว่าประชาธิปไตยแบบที่ใช้อยู่ในโลกนี้มีปัญหาบางอย่าง จึงใช้เวลานานถึง 15 ปี ในการวิจัยและคิดค้น ‘รูปแบบ’ ของประชาธิปไตยอย่างหนึ่งขึ้น
ประชาธิปไตยแบบที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า Deliberative Democracy ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทยว่า ‘ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ’
อันที่จริง ฟิชคินไม่ใช่คนแรกที่คิดประชาธิปไตยแบบนี้ขึ้นมาหรอกนะครับ ว่ากันว่า ศัพท์คำนี้น่าจะปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในหนังสือ A Theory of Justice ของจอห์น รอว์ลส์ (John Rawls) นักปรัชญาอเมริกันที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก และมี ‘นักคิด’ ที่พูดถึงประชาธิปไตยแบบนี้อีกหลายคน ที่อาจเป็นที่รู้จักดีหน่อยก็คือนักวิชาการเยอรมันอย่างเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) ซึ่ง อ.สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผู้ล่วงลับเคยพูดถึงอยู่บ่อยๆ
ถ้าเราย้อนกลับไปดูคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ที่มีรากอยู่ในกรีกโบราณ เราจะพบว่าประชาธิปไตยแบบที่พึงเป็นมากที่สุด ก็คือประชาธิปไตยทางตรง หรือ Direct Democracy นั่นคือ ‘ทุกคน’ มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน ‘เลือก’ สิ่งต่างๆ ที่พึงเป็นในสังคม แล้วจากนั้นก็ใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือในการตัดสินว่าสังคมจะ ‘เลือก’ อะไรอีกต่อหนึ่ง (แน่นอน ในสังคมกรีกยุคนั้นมีข้อกำหนดมากมายว่าคนที่มีสิทธิ ‘โหวต’ จะเป็นใครบ้าง เช่น ต้องเป็นผู้ชายที่ไม่เป็นทาส ซึ่งไม่เหมือนกับสภาพสังคมในปัจจุบัน แต่ในที่นี้เราพูดถึง ‘หลักการ’ ของประชาธิปไตยทางตรง ไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ทีนี้ ประชาธิปไตยทางตรงนั้นเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ อย่างสิ้นเชิงใน ‘รัฐยุคใหม่’ ทั้งนี้ก็เพราะสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น จำนวนผู้คนมากมายมหาศาลขนาดนั้น จะให้ทุกคนลุกขึ้นมาออกเสียงพร้อมกันได้อย่างไร
ดังนั้น จึงเกิดประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งขึ้น เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบตัวแทน’ (Representative Democracy) นั่นก็คือมีการเลือก ‘ตัวแทน’ ของเราเข้าไปนั่งอยู่ในสภาฯ เพื่อทำหน้าที่ ‘โหวต’ แทนเรา
ถ้าดูประเทศต่างๆ ในโลกที่ใช้ประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราจะเห็นว่าแต่ละประเทศก็รับเอาประชาธิปไตยแบบนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศตัวเองทั้งนั้น โดยเฉพาะในมิติการคานอำนาจ เช่น ในอังกฤษ ถึงจะเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน ก็ยังมีการออกแบบให้มีวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง (ของนายกรัฐมนตรี) มาคอยคานอำนาจ โดยสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากเป็นประเภทที่อยู่ในตำแหน่งตลอดชีพ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็น ‘ผู้รู้’ ในเรื่องอะไรบางอย่างที่อยู่ ‘เหนือ’ คนทั่วไป (Commoners) แน่ๆ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้จะเห็นว่าเป็นการปรับเอาปรัชญาของเพลโต (ผู้เหยียดหยันประชาธิปไตย-ว่าเป็นการปกครองของคนส่วนใหญ่ ดังนั้นนักปราชญ์และผู้รู้จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น) มาใช้ เพื่อให้คนที่เป็น ‘ปราชญ์’ ได้มาคานอำนาจกับคนทั่วไป เพียงแต่ว่า ‘ปราชญ์’ นั้นต้องไม่มีอำนาจมากนัก เสียงของคนทั่วไปจะต้อง ‘ดัง’ กว่าคำเตือนของปราชญ์เสมอ
ในอเมริกาก็มีระบบคานอำนาจด้วยการเกลี่ยการเลือกตั้งให้มีหลากหลาย เช่น เลือกตั้งประธานาธิบดี เลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. ซึ่ง ‘เหลื่อมเวลา’ กัน ทำให้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ความนิยมในตัวพรรคการเมืองหนึ่งๆ อาจพุ่งสูงหรือลดต่ำลงก็ได้ ผลก็คืออำนาจแต่ละฝ่ายอาจตกอยู่ในมือของต่างพรรคกัน ก่อให้เกิดสมดุลของอำนาจ ยิ่งมีการเลือกตั้งบ่อยเท่าไหร่ (อย่างน้อยก็ทุก 2 ปี หรือการกำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย) ก็จะยิ่งทำให้ผู้มีอำนาจไม่สามารถ ‘ครองอำนาจ’ อย่างเบ็ดเสร็จยาวนานได้ ผลก็คือมีการคานอำนาจที่ดีพอสมควร
แต่ต่อให้เป็นเสรีประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก็ยังมีปัญหาของมัน นักวิชาการอย่าง อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา เรียกว่าเป็น ‘ความเจ็บป่วยของประชาธิปไตย’ ซึ่งวิธีแก้ไขไม่ใช่ด้วยการยกเลิกประชาธิปไตย (เช่น การรัฐประหาร) แต่ต้องแก้ไขอาการป่วยนี้ด้วยการทำให้ประชาธิปไตย ‘เข้มข้น’ มากขึ้น ซึ่งความเข้มข้นนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการ ‘ปฏิรูป’ อยู่เสมอ แต่จะปฏิรูปได้ ก็ต้องมี ‘วิกฤติ’ บางอย่างเกิดขึ้นก่อน ไม่อย่างนั้นคนก็จะไม่เห็นว่ามีปัญหา เพราะวิกฤติจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือก็เกิดขึ้นมาแบบนั้นเหมือนกันครับ มันเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในหลายมิติ ในโลกตะวันตกนั้น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับข้อถกเถียงของประชาธิปไตยแบบชุมชนนิยมกับประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (ซึ่งจริงๆ ก็เกิดขึ้นในไทยเหมือนกัน) แต่ในอีกมิติหนึ่ง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งหลายคนเรียกว่าประชาธิปไตยสี่วินาที คือ พอ ‘ยกอำนาจ’ ให้กับตัวแทน (คือนักการเมือง) แล้ว ประชาชนก็ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรอีกต่อไป บางคนบอกว่า พอเลือกตั้งแล้ว นักการเมืองจะปู้ยี่ปู้ยำประเทศอย่างไรก็ได้ จะซื้อเสียงโกงกินอย่างไรก็ถือตัวว่ามี ‘เสียงข้างมาก’ มาสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยแบบตัวแทนและทำให้การเลือกตั้งเป็นเหมือนศีลศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายตนก็ต้องยอมรับนะครับว่าเป็นอย่างนั้นจริง
แต่ในเวลาเดียวกัน ประชาธิปไตยแบบทางตรงในโลกยุคใหม่ก็ใช้การไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่แค่เพราะคนในโลกนี้มีมากมายขึ้นจนไม่ใช่ว่าทุกคนจะสนใจการเมืองเท่านั้น แต่เพราะบางคนที่เห็นปัญหาของประชาธิปไตยแบบตัวแทน เลือกที่จะ ‘โต้กลับ’ ด้วยการใช้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (เป็นประชาธิปไตยกึ่งทางตรง) โดยการ ‘เลือก’ คนบางคนที่ฝ่ายตนเห็นว่าเป็น ‘คนดี’ (ซึ่งก็ต้องยอมรับอีกเช่นกัน ว่าความเป็น ‘คนดี’ นั้น เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันมาก) เข้าไปครองอำนาจตรวจสอบ ผลก็คือเกิดการ Clash (ปะทะ) กันระหว่างประชาธิปไตยแบบตัวแทนกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ทั้งที่สองเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องปะทะกันเลย เพราะไม่ใช่ The Clash of Civilizations เหมือนเรื่องเชื้อชาติศาสนา
มีคนคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเอาไว้มากมายครับ อย่างในเมืองไทย ก็มีการรับแนวคิดของเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส มา ซึ่งแนวคิดของฮาเบอร์มาสนั้น หลายเรื่องมีความเป็นปรัชญามาก เช่น ถ้าเรื่องไหนไม่ใช่เรื่องการเมืองที่เป็นเรื่องของส่วนรวม ก็ไม่ควรยกมา ‘ปรึกษาหารือ’ กัน ตัวอย่างเช่น เรื่องของศาสนา เรื่องที่ควรจะปรึกษาหารือกันได้ไม่ใช่เรื่องพื้นฐานอย่างความเสมอภาค (ที่ต้องมีอยู่แล้ว) หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ (ซึ่งก่อให้เกิดข้อโต้แย้งจากนักประชาธิปไตยสายเสรีนิยมที่เห็นว่าตลาดเป็นกลไกสำคัญ) แต่ให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนจะได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
แต่ฟิชคินมาทำให้ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นมีความเป็น ‘รูปธรรม’ ขึ้นมา (ก็ถึงขั้นผลิตเป็นรายการโทรทัศน์กันเลยละครับ!) ด้วยการใช้วิธี ‘สุ่ม’ เลือกคน (เป็นแนวคิดแบบอริสโตเติล) ซึ่งเป็นคนธรรมดาๆ เมื่อได้รับเลือกจากการสุ่มแล้ว ก็เทียบเท่ากับเป็นสมาชิกสภาฯ จากนั้น แทนที่จะให้คนเหล่านี้มีสิทธิในการออกเสียงอะไรต่อมิอะไรไปเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประชาธิปไตยแบบตัวแทน (โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ไม่มีการคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) ก็ให้คนเหล่านี้ต้องมา ‘ปรึกษาหารือ’ กันเสียก่อนในประเด็นต่างๆ โดยเชิญ ‘ผู้รู้’ (ซึ่งก็คือ ‘ปราชญ์’ ในแบบของเพลโต แต่เป็นปราชญ์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) มาถกเถียงกัน
เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ จึงอยู่ตรงกลางระหว่างประชาธิปไตยแบบตัวแทนกับประชาธิปไตยแบบทางตรง และทำให้การตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งผ่านการ ‘ใคร่ครวญ’ อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่โดย ‘ปราชญ์’ (ที่มักไม่ใช่ ‘เสียงส่วนใหญ่’ ในสังคม) ทว่าโดยคนทั่วไป (ที่อาจเปรียบได้ว่าเป็น Commoners ของอังกฤษ) ที่ได้ผ่านกระบวนการใคร่ครวญเพื่อตัดสินใจสักพักหนึ่งก่อนที่จะลงคะแนนเสียงอะไรไป
ทั้งนี้ การถกเถียงระหว่าง ‘ปราชญ์’ กับ ‘คนทั่วไป’ นั้น ต้องวางอยู่บนฐานของความเท่าเทียมกันด้วย ต้องไม่มีเรื่องชาติวุฒิ คุณวุฒิ วัยวุฒิ อะไรทั้งนั้น แต่ต้องถกเถียงกันได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ชี้หน้าใส่กันบอกว่า เอ็งไม่รู้ ไม่ต้องมาเถียง ฮาเบอร์มาสบอกว่า เวลา ‘ปรึกษาหารือ’ กันนั้น สิ่งสำคัญก็คือต้องไม่เกิดการให้เหตุผลแบบตายตัว (Instrumental Rationality) คือใช้เหตุผลเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการเอาชนะคะคานกัน (อย่างที่เราเห็นในเมืองไทยในระยะหลัง) แต่ต้องเป็นเหตุผลเพื่อการสื่อสาร (Communicative Rationality) มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้น่ากลัวไม่น้อยสำหรับสังคมไทยนะครับ เพราะพูดให้ลึกที่สุดแล้ว Rationality นั้นเป็นเรื่องเชิง ‘วัฒนธรรม’ โดยแท้ และเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่า วัฒนธรรมการใช้เหตุผลในสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร
ในโลกปัจจุบันที่ซับซ้อน และผู้คนต้องทำมาหากินสายตัวแทบขาด (เพราะถูกครอบงำด้วยระบบตลาด) นั้น จะเรียกร้องให้คนไปแสดงหรือรับฟังความคิดเห็นถือเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่ก็มีผู้เสนอว่า กระบวนการของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนั้นทำได้หลายทาง อาทิเช่น ใช้เวทีเสวนาแบบเปิด (ซึ่งเอาเข้าจริงถ้าใจไม่เปิด-ก็ไม่ค่อยได้ผล) หรือการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นในสื่อ (อันนี้ก็เห็นกันแล้วว่าใน ‘สื่อสังคม’ อย่างเฟซบุ๊กนั้นเป็นอย่างไร) หรือวิธีการของฟิชคิน ที่เรียกว่า การทำโพลแบบ Deliberative Polling ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับรายการ The People’s Parliament ที่ว่ามา
แต่จะเกิดประชาธิปไตยแบบ ‘ปรึกษาหารือ’ ขึ้นมาได้ เราก็คงต้องเริ่มต้นที่การ ‘ปรึกษาหารือ’ กันทุกฝ่ายเสียก่อน แต่หากต่างฝ่ายต่างเห็นกันเป็นศัตรูจนไม่สามารถเริ่มต้นที่ขั้นแรกได้
การก้าวเดินต่อไปก็เห็นจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
หมายเหตุ: บทความนี้รวมมาจากบทความสองชิ้นที่เคยตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ วันที่ 6 และ 13 ธันวาคม 2556