ThaiPublica > คนในข่าว > วาทกรรม “ยิ่งลักษณ์” วาระกรรมรัฐบาล คำเตือน “วิษณุ” วันไร้เงา “เนติบริกร”

วาทกรรม “ยิ่งลักษณ์” วาระกรรมรัฐบาล คำเตือน “วิษณุ” วันไร้เงา “เนติบริกร”

10 กันยายน 2011


ดร. วิษณุุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เจ้าของสมญา "เนติบริกร" ของ 7 ผู้นำ 10 รัฐบาล
ดร. วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เจ้าของสมญา "เนติบริกร" ของ 7 ผู้นำ 10 รัฐบาล

“…เราตั้งที่ปรึกษา แปลว่าเราพึ่งปัญญาเขา แต่ในความเสียหาย รัฐบาลต้องเข้าใจเหมือนกันว่ารัฐบาลต้องคลีน คำว่าคลีนในที่นี้ไม่ได้แปลว่าไม่ทุจริต แต่หมายความว่าปลอดพ้นจากข้อครหาทั้งปวง…”

สิ้นคำประกาศ “แก้ไข ไม่แก้แค้น” ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ปรากฏภารกิจไล่-รื้อ-ล้างบางข้าราชการสายขั้วอำนาจเก่าเป็น “วาระแรก” ของรัฐบาล

“วาระร้อน” เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกโยนขึ้นกลางสภา เพื่อแหย่กระแสแย้งในสังคมในขณะที่ “วาระประชาชน” ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาปากท้อง ยังรอคอยการแก้ไข

เมื่อ “วาระหลัก” คล้ายถูกกำหนดจาก “นอกทำเนียบรัฐบาล-นอกประเทศไทย”

เมื่อคำมั่นสัญญา “นารี” กลายเป็นเพียง “วาทกรรม”

“วาระรัฐบาลโคลนนิ่ง” ซึ่งอยู่ได้ 4 ปีตามรัฐธรรมนูญ จึงถูกมองว่าไม่เสถียร

ความเห็นจาก “วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เจ้าของสมญา “เนติบริกร” ของ 7 ผู้นำ 10 รัฐบาล จึงเป็นเรื่องควรแก่การได้ยิน-ได้ฟัง-ได้ทำตาม

ไทยพับลิก้า : วาระต้องห้ามของรัฐบาล “โคลนนิ่ง” มีอะไรบ้าง ทั้งในมิติราชการ มิติกฎหมายและมิติการเมือง

สิ่งที่ครม. ทุกชุดต้องระวัง ไม่เฉพาะชุดนี้ แต่ใครนั่งอยู่ตรงนั้นต้องเจอหมด เรื่องแรกคือวาระจร แม้พยายามสกัดกั้น แต่จนแล้วจนรอดมันหนีไม่พ้น เพราะบางครั้งเป็นเรื่องด่วนจริงๆ บางครั้งเพิ่งนึกออกเช้าวันประชุมครม. แต่หลังๆ ผมเห็นว่ามีเหมือนกันที่ควรจะมาก่อน แต่อุบไว้ไม่ให้ใครดู เพราะถ้าเสนอมาล่วงหน้า จะถูกส่งไปขอความเห็นหน่วยงานต่างๆ เดี๋ยวคนนั้นท้วง คนนี้คัดค้าน เรื่องก็ตกไป สู้เก็บเอาไว้ไม่ได้ ถึงเวลานั่งประชุมไปได้สักชั่วโมง ก็เอามาให้นายกฯ เซ็น กลายเป็นที่มาของอภิมหาโปรเจคทั้งหลาย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งไม่ควรจรเพราะต้องตรวจสอบว่าคนที่มาใหม่มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ คนที่กำลังจะเอาออกไป จะถูกศาลปกครองฟ้องได้หรือไม่เพราะเวลาฟ้อง เขาฟ้องครม. ทั้งชุดยิ่งครม. ชุดนี้เข้ามาในเทศกาลแต่งตั้งโยกย้ายพอดี เป็นงานแรกที่ต้องทำ จึงขอเตือนไว้เพราะมีคดีตัวอย่างให้เห็นแล้ว

เรื่องที่ 2 คือ ขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อครม. และ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มันกลายเป็นมีกฎหมาย 2 ฉบับมาล็อคว่าเรื่องที่จะเข้าครม. ต้องมีการขอความเห็นหน่วยงานก่อน

เรื่องที่ 3 คือ ความชอบด้วยกฎหมายของมัน หลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 มีเรื่องให้ฟ้องร้องกันเยอะ หลายเรื่องฟ้องโดยมีมูลบางเรื่องไม่มีมูล บางเรื่องผมคิดว่าหาเรื่องเสียด้วยซ้ำ แต่แสดงให้เห็นว่าข้อกฎหมายในตอนโน้นมันไม่ชัดและไม่ได้ทำให้ชัด ดังนั้นรัฐบาลควรทำให้เกิดความชัดเจนในทุกเรื่อง ซึ่งการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาหรืออัยการหรือที่ปรึกษากฎหมายในทำเนียบฯ ที่จะตั้งขึ้นมามันทำให้มีหลังพิงฝา แต่ถ้าคุณคิดเองเออเองแล้วไม่ถูก ซวยแล้วทีนี้

ไทยพับลิก้า : ความซวยมักเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ

ถูก ทุกคนต้องรู้ว่าตัวเองอยู่ในข่ายที่จะโดน และมักโดนตอนพ้นจากอำนาจไปแล้วไม่ใช่โดนตอนเขาปฏิวัติกันนะ แค่เขาตั้งรัฐบาลใหม่ ถึงเวลานั้นจะไปขอเอกสารอะไรมาต่อสู้คดี มันยากชะมัดเลย ตอนมีคตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ผมทราบว่าหลายคนลำบากยากแค้นแสนเข็นที่ต้องหาเอกสารมายัน ดังนั้นทุกคนต้องสร้างหลักธรรมาภิบาลตัวเองเอาไว้ หากไม่มาประชุมก็ต้องทำหนังสือลา เพราะเวลานี้หลายคดีเป็นตัวอย่างแล้วว่าคนที่ไม่อยู่ในห้องประชุม ณ เวลานั้นน่ะปลอดภัย คนที่อยู่ต้องรับผิดชอบ

ในส่วนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สิ่งที่ไม่เคยทำ แต่ผมแนะให้ทำคือให้คนเข้าประชุมเซ็นชื่อ จากปัจจุบันใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่จดว่าใครมาใครไป แต่พอมีเรื่อง ไม่มีใครเขาเชื่อหรอก เพราะคุณจดเอง เขียนเอง คุณเติมให้ใครมา ตัดให้ใครขาดก็ได้ วันนี้คำว่า guilt by association มีมลทินเพราะซ่องเสพเสวนากัน หมายความว่าอยู่ในที่ประชุม คุณจะพูดหรือไม่พูดอะไร แต่คุณต้องรับผิดชอบด้วย ดังนั้นธรรมาภิบาลมันต้องสร้าง ตัวคนต้องสร้างเอง หากอะไรที่คนสร้างไม่ได้องค์กรต้องสร้าง

ดร. วิษณุ เครืองาม
ดร. วิษณุ เครืองาม

ไทยพับลิก้า : หากต้องจับรัฐมนตรีเซ็นชื่อจริงๆ จะเป็นธรรมเนียมใหม่ที่เคร่งครัดเกินไปหรือไม่ เพราะนักการเมืองอาจไม่คุ้นชินและครม. ชุดนี้ใหม่เกินครึ่ง

ทำได้ครับ แต่ก่อนที่เขาไม่ทำเพราะ 1. ไม่ว่าคุณจะมาหรือไม่มา อยู่หรือไม่อยู่ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน 2. แต่ก่อนอยู่ด้วยความเกรงใจนายกฯ จะไปก็ต้องลา จะมาก็ต้องไหว้ แต่หลังๆ ผมสังเกตดู ด้วยความที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯ จึงเหมือนฤๅษีเลี้ยงลิง ความเกรงอกเกรงใจก็ไม่มี ความจริงหลักในการประชุมอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ไปประชุมที่บริษัทอะไรก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ถ้าจะอ้างว่าไม่ชิน บัดนี้เมื่อมาเข้าสังคมก็ต้องชิน และการเริ่มกับครม. ใหม่ๆ มันดีนัก เพราะถ้าเริ่มกับพวกเคยเป็นมานาน จะรู้มาก ทำไมต้องมาตะบี้ตะบันทำตอนผมเข้ามารอบนี้ล่ะ แต่เหนืออื่นใดแต่ก่อนกฎบัตรกฎหมายไม่เคร่งครัด ไม่มีการพูดถึงธรรมาภิบาล แต่บัดนี้ใส่ลงไปในกฎหมายหมดแล้ว

ท่านจะคุ้นหรือไม่ ไม่เป็นไร แต่ท่านคุ้นธรรมเนียมสภาแน่ เวลาเข้าประชุมส.ส. คุณต้องเซ็นชื่อพอจะพูดต้องเสียบบัตรแสดงตน พอจะโหวตต้องเสียบบัตร ต้องระวังองค์ประชุม นี่แปลว่ามันเป็นธรรมาภิบาลของมัน ในเมื่อคุณมานั่งอยู่ในครม. จะคิดว่าที่นี่มั่วเละกว่าสภาได้อย่างไร ในครม. เสียอีกที่เป็นฝ่ายเดียวกันเวลาล้ม มันไปด้วยกันทั้งหมด แต่ในสภายังมีฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น ฝ่ายรัฐ ฝ่ายเป็นกลาง

ไทยพับลิก้า : การไม่มีรัฐมนตรีด้านกฎหมายนั่งอยู่ในครม. ถือเป็นความสุ่มเสี่ยงหรือไม่ โดยเฉพาะถ้ามีวาระร้อนจรเข้ามา

ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าไม่มี มันก็ไม่ได้เสียหาย หากเราสกัดกั้นวาระจร ทำอะไรให้มีธรรมาภิบาล ที่มันต้องมีคนอยู่ช่วยเวลาประชุมครม. เพราะมันมีวาระจร การถามความเห็นเลขาธิการคณะกฤษฎีกาที่นั่งอยู่ในห้อง มันพอช่วยได้ แต่แค่การปฐมพยาบาลเท่านั้นนะ เพราะในที่สุดแล้ว 1. ท่านไม่ได้พูดในเชิงนโยบาย แต่พูดเชิงความเห็น 2. ท่านจะใช้คำว่าควรจะ น่าจะ ซึ่งเป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่ได้ปรากฏความเห็นนี้ที่ไหน มันทำให้ครม. สบายใจในเวลานั้น แต่ถึงเวลาอีก 2 ปีปรากฏว่าผิด เขาก็ลืมไปหมดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเหตุอย่างนี้เกิดได้กับกรณีมีรัฐมนตรีที่เป็นนักกฎหมายนั่งอยู่ในครม. เหมือนกัน ท้วงอย่างไรมันก็เหมือนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นแหล่ะ แต่มันจะมีความหมายอยู่ตรงที่ 1. เขาขยับไปพูดถึงเรื่องในเชิงนโยบายได้ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่กล้า 2. เขามีศักดิ์ศรีพอที่จะบอกว่าเรื่องนี้ให้ชะลอไปก่อนให้ส่งกฤษฎีกาก่อน

สมัยก่อนคุณมีชัย(ฤชุพันธุ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย) ขนาดเป็นเซียนเหยียบเมฆ ท่านไม่เคยบอกเลยว่าตัดสินแบบนี้ แต่ท่านจะบอกว่าขอให้ส่งไปถามกฤษฎีกา ให้ตอบมาเป็นทางการและถ้าจะให้ชัวร์ก็ถามมัน 4-5 คณะ แต่ถ้าวาระจรไม่มีและมีกระบวนการตรวจสอบอย่างดี ผมคิดว่าปัญหาในครม. มันไม่ค่อยมีหรอก มันจะมีปัญหานอกครม. เวลามีใครเสนอเรื่องไปที่นายกฯ ซึ่งเรื่องนั้นไม่ต้องเข้าครม. โดยมากนายกฯ จะยกหูโทรศัพท์ถามรัฐมนตรีที่เป็นนักกฎหมาย ถามเลขาธิการนายกฯ แล้วก็ไปทำการบ้านมาให้ท่าน ดังนั้นมีที่พึ่งมันดีกว่าไม่มีแน่ เป็นการลดความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะบางทีเข้าตาจน คนเราก็นึกไม่ออกหรอก แค่คำว่าส่งกฤษฎีกาเนี่ยและมันยังมีเรื่องต้องเดินต่อ ส่งไปอย่างไร ไปเข้าคณะไหนถึงจะได้คำตอบที่พึงปรารถนา ไม่ได้ไปวิ่งนะ แต่ถ้าส่งตามยถากรรมมันก็ตอบมาตอบยถากรรม เพราะมันต้องมีการไปชี้แจง ต้องตั้งคำถามให้ถูก ไอ้คำถามประเภทเพราะฉะนั้นจึงอยากทราบว่าถูกหรือไม่เนี่ย พอตอบมา เสียคนไปเยอะแล้วคนทำ ถ้าถามว่าเห็นว่าจะต้องทำอย่างนี้ๆ จะได้หรือไม่ มันมีวิธีตั้งคำถาม

ไทยพับลิก้า : ต้องตั้งคำถามให้ตรงกับคำตอบที่อยากได้

(พยักหน้า) การตั้งคำถามให้ตรงกับคำตอบมันเป็นศิลปะ จนรีเควส (เรียกร้อง) ว่าจะไปเข้าคณะไหน มันมี 12 คณะๆ ละ 9 คนรวม 108 คน ถ้าหลับหูหลับตาส่ง คณะไหนว่าง เอาล่ะหว่าไปลงตรงนั้นคุณก็อาจจะไปเจอบางคนที่เขา…

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่แนวร่วมรัฐบาล

ไม่ใช่อย่างนั้น พูดไปเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าบางคณะเป็นแนวร่วมรัฐบาล แต่หมายความว่ามันก็ปุถุชนน่ะนะ บางคณะใครมาชี้แจง เขาไม่ให้มาเลยอ่านเอกสารให้หมด บางคณะก็ยอมให้มาชี้แจงแม้กระทั่งเอกชน

ไทยพับลิก้า : ส่วนใหญ่ใครเป็นคนตั้งประเด็นส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

มี 2 แบบถ้าถามไปก่อน ส่วนใหญ่กระทรวงเป็นคนทำไปเอง แต่ถ้าครม. เห็นว่าเรื่องนี้ยังมีปัญหาให้ถามกฤษฎีกาครม. ก็จะมอบเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือเลขาธิการครม. ให้ตั้งคำถาม

ไทยพับลิก้า : การที่รัฐบาลมีแนวคิดแต่งตั้งนักกฎหมายเป็นทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก จะช่วยอะไรได้บ้าง

(ตอบสวนทันควัน) ผมกลับไม่เห็นว่าเป็นนักกฎหมาย ผมเห็นนักอะไรไม่รู้สารพัดนัก ซึ่งไม่ผิดอะไรหรอกครับ ถูก ผมเห็นว่าเป็นความฉลาดที่จะมีทีมที่ปรึกษา บ้านพิษณุโลกก็ว่างๆ อยู่ ถ้าคุณไม่ใช้บ้านพิษณุโลก เดี๋ยวก็ไปใช้บ้านอื่นอยู่ดี ไม่สำคัญ ผมดีใจด้วยซ้ำที่รัฐบาลหัดจะมีคนไว้เป็นทีมหนึ่ง เพราะนั่นคือวิธีที่ทำให้รัฐบาล มีคนเอาไว้พูด แล้วตัวเองฟัง สื่อพูด นักวิชาการพูด รัฐบาลมีแนวโน้มไม่ฟังอยู่แล้ว แต่เมื่อคนกันเองพูด เขาจะมีความรู้สึกว่าจะฟัง เชื่อไม่เชื่อเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แล้วไอ้คนเหล่านี้เขาก็จะฟังต่อมาจากที่อื่นนั่นแหล่ะ ไม่ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองหรอก ก็ฟังมาจากสื่อ ชาวบ้าน ฐานเสียง เสื้อแดง ฟังมาจากไหนก็ช่าง มันเป็นผลดีกับรัฐบาลทั้งนั้น

ดร.วิษณุ เครืองาม
ดร. วิษณุ เครืองาม

ไทยพับลิก้า : แต่คนเหล่านี้มีปัญหาเรื่องสถานะทางกฎหมายในทางการเมือง

หลายคนน่ะมี แต่มันไม่เป็นอุปสรรคอะไร เพราะเขามีปัญญา เราตั้งที่ปรึกษาแปลว่าเราพึ่งปัญญาเขา แต่ในความเสียหายรัฐบาลต้องเข้าใจเหมือนกันว่ารัฐบาลต้องคลีน คำว่าคลีนในที่นี้ไม่ได้แปลว่าไม่ทุจริต แต่หมายความว่าปลอดพ้นจากข้อครหาทั้งปวง เอ่อ …คนที่ไม่ทุจริตก็ไม่อาจจะคลีนได้ เขาถึงมีคำว่าคบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล จึงอยากเตือนว่าถ้าใครมีสถานะผู้ต้องหาหนีคดีอยู่ ก็จัดการให้เขาไปมอบตัวแล้วว่ากันไป การตั้งเขาเป็น ไม่ได้ผิดอะไร ใครจะบอกว่าผิด ผมยืนยันว่าไม่ผิด เพียงแต่อย่ากลายเป็นว่าเป็นผู้ต้องหาหนีคดีแล้วยังไม่ได้มอบตัว แล้วมานั่งเป็นที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก เดินเข้าเดินออก ตำรวจก็ไม่กล้าจับ ไอ้อย่างนี้จะผิดตั้งแต่ตำรวจที่ไม่กล้าจับ จนกระทั่งรัฐบาลที่ไปตั้งแล้วก็ไม่จัดการในเมื่อรู้ว่าผิด ถึงรัฐบาลจะบอกว่าไม่ผิด กลั่นแกล้ง 2 มาตรฐาน อะไรสุดแท้แต่ แต่เมื่อมันเป็นข้อหาอาญาอยู่ คุณก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม จะไปโอบอุ้ม กางปีก คุ้มกันอยู่ไม่ได้

เหมือนกับรมว. ต่างประเทศ (นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล) ที่เจออยู่ทุกวันนี้ คุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) จะผิดหรือไม่ ไม่สำคัญ สำคัญว่ามันมีหมายศาลมีคำพิพากษา แล้วคนที่อยู่ในรัฐบาลจะไปโอบอุ้มอย่างนั้น ไม่ได้ คุณทำเงียบๆ ลับๆ อย่างไรก็ทำไป ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ แต่ถ้าเขามอบตัวสู้คดี เป็นเรื่องของเขาแล้ว ไม่ใช่มลทินที่รัฐบาลจะต้องไปทำอะไร เขาเป็นจำเลยก็ไม่เป็นไร ตั้งจำเลยเป็นรัฐมนตรียังได้เลยนั่งบริหารประเทศไป ที่ผมพูดเช่นนี้ ผมไม่ได้ติดใจว่าเขาเป็นเสื้ออะไรหรือสถานะอะไร แต่ติดใจว่าอย่าให้มัน 2 เด้ง

ข้อสำคัญที่ต้องคิดต่อคือ 1. บทบาทเป็นอย่างไร บทบาทมากไหม ซ่า ไปเที่ยวตั้งตนเป็นใหญ่เหมือนบ้านพิษณุโลกสมัยก่อนหรือเปล่า ไอ้อย่างนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะที่ต้องกำกับควบคุมให้ได้ ทางที่ดีถ้ามีกันมากอย่างนี้ แบ่งกันเป็นฝ่ายๆ โดยเร็วและมีหัวหน้าฝ่าย ถึงเวลาจะได้หาตัวผู้รับผิดชอบและไปตักเตือนกันได้และ 2. การตั้งคนตั้งมากมาย คุณเอาเงินอะไรมาจ่าย รัฐไม่มีสิทธิจะจ่ายให้ได้ตามกฎหมาย เพราะกลุ่มบ้านพิษณุโลกไม่อยู่ในโควตาตามกฎหมายใดๆ เลย

ไทยพับลิก้า : ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกยุครัฐบาลพล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนจ่าย

ไม่มี พรรคควักเงินส่วนตัว ไอ้อย่างนั้นไม่เป็นไร คุณจะจ่ายใครก็ได้ เพราะถ้าคุณควักเงินหลวงมาจ่าย รัฐจะผิดข้อหาใหม่ทันที ดังนั้นในเมื่อเขาไม่ได้ใช้เงินหลวง ไม่ได้ใช้ภาษีไปจ้างให้คนรู้สึกยอกอกยอกใจ ก็ไม่มีปัญหา

ไทยพับลิก้า : แต่การตั้งทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก จะยิ่งตอกย้ำภาพรัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจจากนอกครม. หรือเปล่า เผลอๆ ตัดสินใจจากนอกประเทศด้วยซ้ำ

อืม …ผมไม่คิดอะไรหรอก เพราะรัฐบาลไหน เวลาจะฟังก็ฟังมาหมดทั้งโลกนั่นแหล่ะ แต่พอฟังแล้วก็เอามา 1 จาก 10 หรือไม่เอามาอ้างเลย โลกวันนี้เราจะบอกว่าประชาธิปไตยต้องฟังก็ได้ โลกาภิวัฒน์ต้องดูโลกก็ได้ หลายเรื่องเราฟังสหรัฐฯ หลายเรื่องฟังจีน แต่ของเขาเวลาฟังเขาไม่เคยโพนทะนา แต่ไอ้เรา ใครพูดโพนทะนาหมด (หัวเราะ) ทั้งคนแนะและคนรับคำแนะมา เลยกลายมาเป็นแรงกดดัน การที่เราฟังมาจากไหนมันไม่เป็นแรงกดดัน แต่เมื่อไรที่เราฟังเพราะเป็นแรงกดดัน เมื่อนั้นเหมือนกับเราเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่เมื่อไรที่เราฟังแล้วเรามีสิทธิเลือกกลายเป็นว่าเราได้ภูมิปัญญาจากมิตร

วันนี้จะไปฟังมาจากต่างประเทศหรืออะไร ผมไม่เห็นว่ามันแปลก รัฐบาลจะบริหารประเทศก็ต้องเอาจากความคิดที่ดีที่สุด แต่เมื่อรับมาจากอะไรก็ต้องถือว่าเป็นความคิดคุณ ไอ้คนที่แนะมา เขาไม่ได้รับผิดชอบด้วย คุณทักษิณเองที่วันนี้เหมือนเป็นกุนซือรัฐบาล คอยแนะ ตัวแกเองก็ฟังมาจากคนอื่น แต่ก่อนบางเรื่องฟังจากคุณสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) บางเรื่องฟังจากบิลเกตต์ (ประธานบริษัทไมโครซอฟต์) บางเรื่องเอามาจากตู้ปณ. แดงหน้าทำเนียบฯ บางเรื่องฟังมาจากคนนั้นคนนี้ แล้วกลายเป็นคุณทักษิณ และคุณทักษิณไม่เคยอ้างว่าเอามาจากไหน เพราะต้องการให้คนทั้งโลกเข้าใจว่าเป็นความคิดแกเองอยู่แล้ว และวันนี้ไม่ว่าจะแนะอะไร แกต้องการให้คนทั้งโลกเข้าใจว่าแกแนะ

ดังนั้นการที่รัฐบาลจะรับเอามา ไม่แปลก จะเอาเสื้อแดง เอาทีมบ้านพิษณุโลกใหม่ นิวพิษฯ เนี่ยก็ไม่แปลกและไอ้ นิวพิษฯ จะฟังมาจากไหนก็ไม่แปลก ผมกลับเห็นว่านั่นเป็นการดีเสียอีก ที่มันเข้ามาตามช่องทางที่ถูก ผมจะอึดอัดถ้าคุณทักษิณสั่งตรงมา บัดนี้ถ้าคุณทักษิณผ่านคุณอะไรมา แล้วเอาไปเข้าบ้านพิษฯ กรองกันใหม่จาก 7 เหลือ 2 เอา 2 มาบอกคุณยิ่งลักษณ์ คุณยิ่งลักษณ์บอกเออดี ดิฉันเอาเหลือแค่ 1 ค่ะ

วันก่อนมีคนจากพรรคเพื่อไทยมาถามว่ามีอะไรจะแนะนำไหม ผมบอกว่านโยบายฟังคุณทักษิณเถอะ เพราะแกฉลาดกว่ารัฐบาลเยอะ แต่วิธีการ คุณอย่าไปเอาตามคุณทักษิณแม้แต่วิธีเดียว คุณใช้วีธีของคุณ พระพุทธทาสภิกขุท่านบอก อุดมการณ์ เราต้องแยกให้ออกจากวิถีทาง ดังนั้นวันนี้เราเลือกวิถี คุณทักษิณแกคิดแต่ละเรื่อง หากตัดเรื่องความไม่ชอบมาพากล เรื่องที่แม้แต่คุณทักษิณเองก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ทิ้งไป กรองแล้วมันจะเหลือเรื่องดีๆ ทั้งนั้นแหล่ะ ซึ่งทำไมคนอื่นยังคิดไม่เป็น ก็ไม่รู้ แต่อย่าไปใช้วิธีอย่างนั้น วิธีที่ว่าถ้าไม่ทำ 3 วันย้าย วิธีที่ว่าใครเป็นศัตรูอย่าเข้ามาทำ มันไม่ได้

ไทยพับลิก้า : เท่าที่ดูคิดว่ามีโอกาสที่คุณยิ่งลักษณ์จะใช้วิธีทุบโต๊ะหรือไม่

ผมได้ประชุม ก.ตร. (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) กับคุณยิ่งลักษณ์ ผมว่าเป็นคนนุ่มนวล ระมัดระวัง ใครจะไปเยาะเย้ยถากถางว่าก้มหน้าก้มตาอ่าน ความจริงแกไม่ได้ก้มหน้าก้มตาอ่านหมด แกอ่าน 2 บรรทัด แล้วก็เติมอีก 5 บรรทัด อ่าน 2 ประโยค แล้วพูดต่อเองอีก 3 ประโยค มันทำให้รอบคอบกว่าคนที่พูดแล้วไม่มีสคริปต์ จะสังเกตเห็นว่าคนไม่มีสคริปต์ หลุดง่ายมาก (เน้นเสียง) นั่นเห็นถึงความรอบรอบ ความนุ่มนวม และความเป็นผู้หญิงมันได้ไปอย่าง แค่นั่งเฉยๆ ยิ้มๆ ก็นุ่มนวลแล้ว พอพูดโดยน้ำเสียง โดยสายตา โดยวัยวุฒิ มันเลยทำให้ยังไม่ไปถึงขั้นที่เรียกว่าลำพอง ลักษณะอย่างเดียวกันนี้เป็นลักษณะคุณทักษิณเมื่อตอนเข้ามาใหม่ๆ น่ารักมากเลย แต่อยู่มาๆ ค่อยๆ ลดลง เพราะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และอาจจะมีใครไปยุอะไรแกมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : คุณยิ่งลักษณ์ควรบริหารความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจต่างๆ อย่างไร ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล กองทัพ คนเสื้อแดง สื่อ ฯลฯ

ยังไม่เห็นภาพ เพราะยังไม่ได้ลงมือทำอย่างนั้น แกจะขอทำก็ยังไม่มีโอกาสแต่ So far เรื่อยๆ มาเรียงๆ แกก็ทำได้ ไม่ทำให้รู้สึกเหม็นหน้ากันตั้งแต่แรก ถ้ารักษาขีดนี้ไว้ ไอ้บู้ๆ บุ๋นๆ คุณมีคนอื่น ก็ให้เขาทำไปเถอะ ป๋า (พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะอดีตนายกฯ) ก็อยู่ของป๋า ปล่อยคุณไตรรงค์ (สุวรรณคีรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ ในขณะนั้น) ว่าไป มันเป็นศิลปะในการทำงานอย่างหนึ่ง ปล่อยให้ทุกคนเล่นไปตามบุคลิกของตน แล้วคุณจะอยู่ได้

“ผูก” ไม่ให้ “พัน” เงื่อนแก้รธน. By “วิษณุ”

“เนติบริกร” เคยให้บริการความคิดเห็นนอกรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่ง ว่าหนึ่งใน “เงื่อนตาย” ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เกิดจากปมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้เป็น “นโยบายหาเสียงหลัก” ของ “พรรคเพื่อไทย (พท.) แต่ “วิษณุ เครืองาม” ยืนยันว่า มิอาจเหมารวมว่า 15.7 ล้านเสียงที่เทคะแนนเลือกพท. คือพลังสนับสนุนให้ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550

ทว่า “หัวหอกรัฐบาล” กลับประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในระหว่างแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม พร้อมโยนโมเดลสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 3 ขึ้นกลางสภา

ท่ามกลางความคลางแคลงใจของหลายฝ่ายว่าจะมีการซุกปมนิรโทษกรรมเอาไว้หรือไม่?

“ก็เขาบอกแล้วว่าเขาไม่นิรโทษกรรม แต่ถ้ากลอนพาไป ตอนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของเขาเรา เป็นเรื่องของส.ส.ร. แล้ว” วิษณุหัวเราะเล็กๆ เมื่อเปิดปากพูดถึง “เงื่อนงำ” ในการไล่รื้อ “กติกาสูงสุด” ที่ปิด(ไม่)มิด ก่อน “ตีความซ้ำ” เป็นหนที่ 2…

“ในความเห็นของผม ใครจะมองว่าเป็นเรื่องด่วน ผมว่าไม่ใช่ และในทางการเมืองไม่ใช่เรื่องฉลาดที่จะจับเรื่องนี้ขึ้นมาทำ คนจะทำเรื่องใหญ่อย่างนี้ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะปฏิวัติแล้วก็ทำ ก็ต้องมีเหตุการณ์ให้ทำ และเหตุการณ์นั้นก็คือประชาชนเห็นด้วย”

ขณะนี้รัฐบาลอาจนึกว่ามีเหตุการณ์ให้ทำ โดยอ้างเรื่อง “ความไม่เป็นธรรม”

และคิดว่าประชาชนเห็นด้วย โดยนับจากคะแนนโหวตเลือกพท. และพอดีพอร้ายอาจได้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มาร่วมด้วยช่วยโหวต หลังมีคดียุบพรรคจ่อคอหอย

“นั่นเป็นเรื่องที่คิดเอาเอง ประชาชนจำนวนหนึ่งที่อาจจะเฉยๆ อยู่ หรืออาจเต้นแร้งเต้นกาแล้วว่าไม่เห็นด้วย ในประวัติของการเมืองไทย กลุ่มเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาการเผชิญหน้ากันได้ทั้งสิ้น วันนี้อาจยังไม่มีการจุดชนวน หรือปลุกกระแส แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนลุกขึ้นมาปลุก มันปลุกได้ไม่ยาก แม้ใครจะบอกว่าไม่กลัว ซึ่งโดยมากมักอ้างว่าตัวมีกี่ล้านเสียงๆ อยู่ข้างหลัง ซึ่งมันใช้ได้เวลาจะนับคะแนนผู้แทนฯ แต่ใช้ไม่ได้เวลาไปทำอย่างอื่นหรอก ถ้าคุณต้องการใช้ทำอย่างอื่น คุณก็ไม่ต้องพูดเรื่องประชามติสิ เพราะคุณได้เสียงมากพอแล้วนี่ แต่ที่คุณต้องฟังประชามติ เพราะคุณรู้ว่าคะแนนเสียงมันคนละคราวกัน มันนับคนละที คนละประเด็น”

เขาย้ำว่า ในทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่ใช่เรื่องฉลาดที่จะทำ เพราะสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการสร้างคุณงามความดี ให้คนไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างผลงานให้คนเห็น สักพักจะเกิดการขานรับขึ้นมาเอง โดยวัดกระแสจากสื่อ นักวิชาการ ประชาชน ในระหว่างนี้ก็เดินสายลับๆ ปรึกษาผู้มีบารมีทั้งหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม แม่ทัพนายกอง นักการเมืองรุ่นเก่ามาช่วยกัน

หากเสียงจากทุกฝ่ายสอดประสานกัน นั่นหมายถึง สถานการณ์สุกงอมให้เดินหน้าคลายปมรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเกิดขึ้นโดยไม่มีการจัดตั้ง-วางฐาน ถึงทำได้ ก็เป็นอันตรายแก่ตัว

“ผู้มีบารมีในวงการกฎหมาย” กล่าวต่อว่า “บัดนี้สิ่งที่สังคมยังไม่ได้คำตอบ เพราะไม่ได้คิดอยากจะถามคือจะแก้อะไร รัฐบาลก็จะตอบว่าจะไปรู้เหรอ ผมจะตั้ง ส.ส.ร. มา 77 จังหวัด 77 คน นักวิชาการอีก 22 คน เขาจะทำอะไรก็ช่าง มันก็มาถึงปมที่ว่าแล้ว 77 จังหวัดมาจากไหน มาจากความรู้ความสามารถอย่างไร มันจะได้คำตอบอย่างหนึ่งว่ามาจากประชาชน แต่คุณคงคิดสรตะแล้วมั๊งว่าจังหวัดนั้นคุณชนะ จังหวะนี้คุณชนะเลือกตั้ง ต่อไปคุณก็ชนะ ส.ส.ร. ด้วย”

“มันต้องไล่ไปดูตั้งแต่ที่มา อำนาจหน้าที่ และตกลงกันเรื่องไกด์ไลน์ว่าจะแก้อะไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องผูกมัด แต่ต้องพูดเพื่อให้สังคมไว้ใจ ในเมื่อคุณคิดจะแก้ คุณต้องตอบให้ได้ว่าจะแก้ทำไม แสดงว่าคุณต้องมีอะไรในใจ ไม่พอใจอะไร ก็พูดออกมา แล้วเอาจุดที่คุณไม่พอใจเนี่ยมาขาย สุดท้ายคนก็จะขานรับว่าเออ ควรจะแก้ใหม่”

อย่างไรก็ตาม “วิษณุ” ติงว่าการแตะประเด็นที่เป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาล และพรรครัฐบาล ถือเป็นเรื่องอันตราย ดังนั้น “ผู้มีอำนาจ” จึงไม่ควรช่วงชิงความได้เปรียบจากเกมแก้รัฐธรรมนูญ

“ผมไม่สนใจเรื่องยุบพรรค เรื่องนิรโทษกรรม เพราะนี่คือการตอบคำถามว่าแก้ครั้งนี้ประชาชนได้อะไร การเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งแบบที่คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ) แก้ครั้งก่อน มันก็คาบลูกคาบดอก แต่มันยังพอตอบได้ว่าประชาชนได้ เพราะวิธีเลือกตั้งคือวิธีที่ประชาชนจะไปใช้ ความจริงมันก็ย้อนกลับมาว่าเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาล ดังนั้นต้องตอบว่าแก้แล้วใครได้ประโยชน์ เกิดแก้แล้ว มีนักวิชาการออกมาชี้ นี่รัฐบาลได้ประโยชน์ มันทุจริตเชิงนโยบายนะ เหมือนคุณเอาเรื่องเข้า ครม. มันเข้าตามตรอกออกตามประตู ผมไม่ได้สั่งเอง แต่พอเข้าไปแล้วใครได้ประโยชน์ ตรงนั้นอาจมองไม่เห็นในวันนั้น แต่พอถึงวันหนึ่ง มีคนชี้ประเด็น อย่างนั้นจะลำบาก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องคิด ไหนๆ จะแก้แล้ว ก็เติมอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์ใส่ลงไปด้วย”

ต้องทดลองตั้งประเด็นเพื่อแหย่-หยั่งกระแสความต้องการของประชาชน?

“ใช่ เราเริ่มอย่างนี้มาทุกครั้ง ผมมีส่วนในขบวนการทุกครั้ง เราเริ่มต้นด้วยการชูประเด็นปฏิรูปการเมือง และในแพคเกจนี้ก็จะเกิดการแก้รัฐธรรมนูญตามมา ทีนี้พอคุณพรวดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามว่าทำไม แก้รัฐธรรมนูญเพื่อคืนความเป็นธรรม คนก็จะถามความเป็นธรรมแก่ใคร แก่พรรค พรรคใคร บ้านเลขที่ 111 มันก็กลับไปแล้ว พอชี้ประเด็นปั๊บ คนก็จะรับยาก ทำอย่างไรจะให้มันพ้นจากตัวออกไปได้ หรือตัวได้ แต่คนอื่นได้ด้วย วันนี้เขาพยายามพูดว่าทำแบบนี้ประชาชนก็ได้ ผมว่าพูดไม่ขึ้นหรอก”

คือเคล็ด(ไม่)ลับในการผูกเงื่อนแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ให้เกิดบ่วงพัน “ยิ่งลักษณ์กับพวก” และกลายเป็นเงื่อนตายของรัฐบาลในที่สุด!!!