ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > โครงการจ่ายเงินชาวนา 1,000 บาท ปลัดเกษตรย้ำ ไม่มีการทุจริต

โครงการจ่ายเงินชาวนา 1,000 บาท ปลัดเกษตรย้ำ ไม่มีการทุจริต

7 ธันวาคม 2014


บริบท

โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ เป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โดยโครงการนี้ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฐานราก

 

ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างระมัดระวังให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด โดยเทียบรายได้ระหว่างชาวนากับแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ปีละ 108,000 บาท มาตรการในส่วนนี้จึงมุ่งช่วยเหลือชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน ใช้สภาพคล่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 40,000 ล้านบาท จากนั้นจะมีการตั้งงบประมาณชดเชยในปีหน้า

 

มาตรการนี้ จะเป็นการให้เงินช่วยเหลือชาวนาจำนวน 1,000 บาทต่อไร่ แต่สำหรับผู้ที่มีที่ดินเกินกว่า 15 ไร่ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีชาวนาที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ อยู่ 1.8 ล้านครัวเรือน ส่วนที่มีที่นาเกินกว่า 15 ไร่ มีอยู่ 1.6 ล้านครัวเรือน

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อว่า วงเงินส่วนนี้ ธ.ก.ส. ยินดีที่จะจ่าย งบประมาณที่ใช้นี้จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. และถือว่าดีกว่าการขาดทุนไปกับโครงการรับจำนำข้าวปีละ 2.5 แสนล้านบาท และก็เป็นการช่วยไปที่รายเล็กเป็นหลักด้วย

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าการจ่ายเงินในโครงการนี้จะไม่มีปัญหา เพราะเป็นการจ่ายให้แก่เกษตรกรที่มีการมาขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันเกือบทั้งหมดมีบัญชีอยู่กับ ธ.ก.ส. อยู่แล้ว และเชื่อว่า ธ.ก.ส. จะสามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีให้ชาวนาได้ทันทีไม่เกินวันที่ 20 ตุลาคม 2557

 

ในการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาในครั้งนี้มีเงื่อนไขว่า ผู้ที่จะสามารถรับเงินได้นั้นต้องเป็นผู้ที่ทำนาจริง โดยมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน หากเป็นผู้เช่าจะมีให้ระบุว่าเป็นผู้เช่า พร้อมทั้งต้องมีหลักฐานการเช่า อาทิ หมายเลขโฉนดที่ดิน มาเป็นหลักฐานในการขึ้นทะเบียน

 

อย่างไรก็ตาม จะมีคณะทำงานระดับหมู่บ้านในการตรวจสอบการทำนา ตรวจแปลงนาทุกแปลง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2557/2558 เป็นผู้ที่ทำนาจริง ทั้งนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอทำหน้าที่ยืนยันสิทธิ์ให้แก่ชาวบ้านอีกครั้ง ก่อนจะส่งข้อมูลให้กับทาง ธ.ก.ส. สำหรับอนุมัติจ่ายเงินให้แก่ชาวนา

 

จากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ จาก คู่มือการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยหลักแล้วมีดังนี้

 

  • เกษตรกรต้องเป็นผู้ที่ลงทุนในการปลูกข้าวในพื้นที่แปลงที่มาขอขึ้นทะเบียน
  • เกษตรกรต้องทำการเพาะปลูกข้าวตามที่แจ้งขอขึ้นทะเบียนในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
  • เกษตรกรจะต้องเดินทางมายืนยันหรือแจ้งขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง ณ สถานที่ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูกกำหนด
  • เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะต้องติดตามกำหนดการตรวจติดตามแปลงปลูกด้วยตนเอง
  • เกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ปลูก แปลงเช่าต้องมีสัญญาเช่าและทราบตัวตนของผู้ให้เช่า (เลขบัตรประชาชน)
  • ในที่สาธารณะ หรือที่ของราชการ ต้องมีหนังสืออนุญาตจากหน่วยงานนั้น หรือหนังสือรับรองจาก อบต.)

 

หลายฝ่ายยืนยันว่า การดำเนินการรับขึ้นทะเบียนไปจนถึงการจ่ายเงินให้แก่ชาวนามีการปรับปรุงขั้นตอน แบ่งแยกความรับผิดชอบ จากที่เคยอยู่ในมือกรมส่งเสริมการเกษตรเพียงหน่วยงานเดียว ก็ได้มอบให้กรมการปกครองเข้ามาช่วยตรจสอบเพิ่มเติม และขั้นตอนการจ่ายเงินทาง ธ.ก.ส. จะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ทำให้การทุจริตเป็นไปได้ยาก

 

คลิกดู การจ่ายเงินชาวนาเพิ่ม 

 

วิเคราะห์ข้อมูล

ภายหลังที่เริ่มดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ชาวนา ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 สำนักข่าวอิศรารายงานข้อมูลว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ออกมาเตือนรัฐบาลว่าโครงการดังกล่าวมีช่องว่าง

 

โดนนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สตง. ตรวจสอบพบว่า ฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็นฐานข้อมูลเดียวกันกับที่ใช้ในการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งส่วนหนึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน เกษตรกรแจ้งพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าที่เพาะปลูกจริง เกษตรกรไม่มีพื้นที่เพาะปลูกจริงแต่แจ้งว่ามีพื้นที่เพาะปลูก หรือเกษตรกรมีที่ดินทำกินจำนวนมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จึงแบ่งที่ดินของตนให้บุตรหรือญาติพี่น้องถือครองเพื่อให้จำนวนที่ดินอยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนด โดยที่บุตรหรือญาติพี่น้องมิได้มีอาชีพเกษตรกรตามนิยามที่กำหนด

 

ในกรณีนี้ สตง. เห็นว่าเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดการทุจริตในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการรับรองพื้นที่ โดยอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์แจ้งข้อมูลไม่ครบตามความเป็นจริง

 

จากการพูดคุยกับชาวนาบางส่วน พบว่ามีปัญหาในส่วนของการสวมสิทธิ์เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ที่เช่านา แหล่งข่าวที่ให้เช่านาเปิดเผยว่า ที่นาของตนในจังหวัดบุรีรัมย์ ตนเป็นผู้ไปขึ้นทะเบียนและสามารถรับเงินช่วยเหลือมาได้ 15,000 บาท อย่างไรก็ตามตนได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้เช่าแล้ว เนื่องจากผู้เช่าไม่สามารถทำการขึ้นทะเบียนได้ตนจึงดำเนินการแทน กรณีดังกล่าวทำให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบยังไม่ทั่วถึง เปิดโอกาสให้ผู้ไม่ได้ทำนาจริงเข้ามารับเงินได้

 

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้เปิดเผยว่า ในจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ทำการขึ้นทะเบียนเอาไว้เพื่อขอรับเงินตามโครงการดังกล่าว ได้มาขอถอนชื่อออกไปแล้วกว่า 100 ราย เนื่องจากกลัวความผิดฐานแจ้งความเท็จ ภายหลังเจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบเข้มงวดขึ้น

 

และเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า ในการจ่ายให้แก่ชาวนานั้นพบว่ามีการเอาเปรียบชาวนาเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ หากตรวจพบจะดำเนินคดีทันที 

 

สรุป

จากการแจ้งเตือนของ สตง. ว่าโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท มีความเสี่ยงต่อการทุจริต และเมื่อผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวนาและผู้เช่านา พบว่าการดำเนินการมีปัญหาในส่วนของผู้ขึ้นทะเบียนที่ไม่ได้ทำนาจริง แต่เป็นผู้ให้เช่าที่สามารถไปรับเงินได้ และไม่ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่กระทำความผิด จึงไม่มีกระบวนการที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่ส่อว่าจะกระทำความผิด เกิดการทุจริต

 

แม้ว่าในเวลาถัดมาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้มาถอดชื่อขึ้นทะเบียน เนื่องจากแจ้งข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง ขณะเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยอมรับว่ามีการ “เอาเปรียบชาวนา” เกิดขึ้น ทั้งนี้ คำกล่าวของนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ว่า “โครงการนี้ (จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท) จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดและไม่มีการทุจริตแน่นอน” จึงอยู่ในเกณฑ์  “ยังพิสูจน์ไม่ได้” 

ป้ายคำ :