ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ปมเงินสร้างอุทยานราชภักดิ์

ปมเงินสร้างอุทยานราชภักดิ์

31 ธันวาคม 2015


บริบท

จากกรณีตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 แอบอ้างเบื้องสูงในหลายกรณี ส่วนหนึ่งคือการจัดทำเสื้อกิจกรรมสำคัญที่มีการเรียกรับเงินจากบริษัทเอกชนไปมากถึงกว่า 70 ล้านบาท และจากการสืบสวนพบว่าประเด็นดังกล่าวโยงใยไปถึงประเด็นการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

 

อุทยานราชภักดิ์ เป็นโครงการที่ผลักดันโดย พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร สมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. สร้างขึ้นบนที่ดินของ ทบ. ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก บริเวณฝั่งตรงข้ามสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ บนเนื้อที่ 222 ไร่เศษ มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ 3 ส่วน คือ 1. พระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ 2. ลานอเนกประสงค์ และ 3. อาคารพิพิธภัณฑ์

 

รูปหล่อองค์กษัตริย์ 7 พระองค์

 

โดยระยะเวลาในก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์และลานอเนกประสงค์ ใช้เวลา 10 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 – สิงหาคม 2558 ช่วงที่สอง ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นไป

 

ภายหลังมีกระแสข่าวการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานฯ ออกมา ผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามชี้แจงว่าเงินที่สำมาก่อสร้างนั้นมาจากการบริจาคและเรี่ยไร โดยมีมูลนิธิราชภักดิ์ ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 เป็นผู้ดูแลโครงการ และมี พล.อ. อุดมเดช เป็นประธาน

 

ทั้งนี้ เงินบริจาคทั้งหมดในช่วงแรกจะเป็นการรับตรงเข้าสู่ “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ธนาคารทหารไทย สาขา บก.ทบ. บัญชีกระแสรายวัน หมายเลขบัญชี 077-1-07474-7 ก่อนที่ต่อมา ทบ. จะลงนามใน MOU ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อีก 5 แห่ง และร้านสะดวกซื้อในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้แก่ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ให้เป็นอีกช่องทางในการรับบริจาค

 

วิเคราะห์ข้อมูล

ในขณะที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงที่มางบประมาณในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีการเปิดเผยถึงแหล่งเงินบริจาค โดยครงการดังกล่าวมียอดประมาณการต้องใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ซึ่งยอดบริจาคเบื้องต้นที่สามารถตรวจสอบได้มีอยู่เพียง 468 ล้านบาท ซึ่งการออกมาตอบข้อซักถามสื่อมวลชนของ พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยังไม่สามารถคลายปมข้อสงสัยประเด็นดังกล่าว และยังไม่มีผู้ได้สามารถแสดงความโปร่งใสให้สังคมเห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้แรงกดดันจากสังคมเพิ่มสูงขึ้น

 

พล.อ.ธีรชัย เปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รายงานว่า นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเบื้องต้น พบว่า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีส่วนหนึ่งมาจากงบกลางจำนวน 63.57 ล้านบาท

 

โดยผู้ที่รับผิดชอบในการสั่งจ่ายเงินในส่วนนี้ คือ แผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก สั่งจ่ายให้กรมยุทธโยธาทหารบก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ล่าสุดมีการเบิกจ่ายเงินจากงบกลางไปแล้ว 80% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร 63.57 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่รับบริจาคมาจากประชาชนทั่วไป ซึ่งตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ สตง. ให้ขยายผลการตรวจสอบต่อไปว่าการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้น ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบของทางราชการหรือไม่

 

และตามรายงานโครงการศึกษาวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต” ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ให้นิยามของคำว่า “งบกลาง” คือ “รายจ่ายที่ตั้งไว้ เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐนำไปใช้ได้นอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับปกติ รวมทั้งรายจ่ายที่ตั้งไว้เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่องที่มีการกำหนดไว้เป็นรายจ่ายงบกลาง” ซึ่งสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้

 

1. ค่าใช้จ่ายตามสิทธิของบุคคลภาครัฐตามกฎหมายที่ทุกหน่วยงานใช้จ่ายในรายการเดียวกัน เช่น เบี้ยหวัด เบี้ยบำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ

2. ค่าใช้จ่ายเฉพาะกรณีที่ยังไม่สามารถกำหนดเป้าหมายหรือวงเงินค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ เช่น ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ เป็นต้น

3. ค่าใช้จ่ายตามนโยบายและโครงการพิเศษของรัฐ เช่น เงินราชการลับ ค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่องตามนโยบายและความเหมาะสมที่เกิดขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติ กรณีส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมีความประสงค์ขออนุมัติใช้งบกลาง ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 กันยายน 2557 ระบุว่า “การอนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ส่วนราชการ รัฐวิสากิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว จึงเสนอนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการ หรือให้ความเห็นชอบเป็นรายกรณีไป กรณีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ หากวงเงินเกิน 100 ล้านบาท ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ”

 

นอกจากนี้ สำนักข่าวอออนไลน์ไทยพับลิก้ายังรายงานเพิ่มเติม ว่าเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (สงป.) เปิดเผยว่า ตนเป็นผู้ลงนามอนุมัติให้ใช้งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 63 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบกนำไปใช้โครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เฉพาะรายการที่เกี่ยวกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ ก่อสร้างประตูทางเข้า-ออก และงานปูพื้น เป็นต้น ส่วนการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์นั้น ไม่ได้ใช้งบกลาง ทราบว่าใช้เงินบริจาค ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนการเบิกจ่ายงบกลางก็เป็นไปตามระเบียบพัสดุของกรมบัญชีกลางถูกต้องทุกประการ

 

ขั้นตอนการรับบริจาคเงินก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

 

“แหล่งเงินที่นำมาใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์จึงมี 2 ส่วน คือ ใช้งบกลาง กับเงินบริจาค ซึ่งเป็นคนละรายการกัน แต่งานก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สงป. อนุมัติให้ใช้งบกลางดำเนินการก่อสร้างประตู ป้าย ปูพื้น เท่านั้น ไม่ได้อนุมัติงบกลางไปใช้ในการหล่อพระบรมราชานุสวาวรีย์ฯ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว” นายสมศักดิ์กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีสำนักงบฯ อนุมัติงบกลางให้สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบกนำเงินไปใช้ในโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์มีที่มาอย่างไร นายสมศักดิ์ชี้แจงว่า “เดิมทีทางสำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบกทำเรื่องขออนุมัติใช้งบกลางมา 65 ล้านบาท แต่ผมอนุมัติแค่ 63 ล้านบาท แต่ก่อนที่ผมจะอนุมัติ ผมต้องทำเรื่องไปขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีก่อน จึงลงนามอนุมัติให้ใช้งบกลางได้”

 

สรุป

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า งบประมาณที่นำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์นั้นไม่ได้มาจากเงินบริจาคจากภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเพียงเท่านั้น คำยืนยันของนายชัยสิทธิ์และนายสมศักดิ์ระบุชัดเจนว่า เงินที่ใช้ในโครงการจำนวน 63 ล้านบาท ใช้งบประมาณในส่วนของ “งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” แม้โครงการดังกล่าวจะไม่มีการวางงบประมาณไว้แต่แรก แต่การขออนุมัติงบกลาง ก็ถือเป็นหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณรองรับการดำเนินงานเช่นกัน

 

ดังนั้น คำกล่าวของ พล.อ. ธีรชัย ที่ว่า “ต้องเข้าใจว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการที่จะมีงบประมาณรองรับ เป็นเงินบริจาคทั้งสิ้น” นั้นอยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”

 

ป้ายคำ :