ThaiPublica > เกาะกระแส > มูลนิธิสืบฯ แถลงการณ์ยืนยันคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ ชี้แนวทางยุติ กรมชลฯต้องถอดเรื่องจากสผ.

มูลนิธิสืบฯ แถลงการณ์ยืนยันคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ ชี้แนวทางยุติ กรมชลฯต้องถอดเรื่องจากสผ.

25 กันยายน 2015


มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ขอให้พิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมทั้งมอบเอกสารสำคัญของป่าแม่วงก์และแนวทางการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล้าต้นสัก และแผนที่ ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ ชี้เขื่อนแม่วงก์ไม่มีทางจบหากกรมชลประทานไม่ถอดเรื่องออกจาก สผ.

เขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการที่กรมชลประทานริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2525 ซึ่งในปี 2537 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรมีความเห็นให้กรมชลประทานศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ เพิ่มเติมบริเวณเขาชนกัน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเขาสบกก และการทำอีไอเอมีการแก้ไขถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งปี 2554 เกิดอุทกภัยในประเทศไทย ทำให้โครงการเขื่อนแม่วงก์ถูกเสนอเป็นประเด็นขึ้นอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ต่อมาปี 2555 จึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท เวลาก่อสร้าง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปี 2562 ซึ่งปัจจุบันอีไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ขยับขึ้นเป็นอีเอชไอเอหรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว

นายศศิน เฉลิมลาภ, นางรตยา จันทรเทียร, นายภาณุเดช เกิดมะลิ และ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง
นายศศิน เฉลิมลาภ, นางรตยา จันทรเทียร, นายภาณุเดช เกิดมะลิ และ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง

แต่ “การสร้างเขื่อน” เป็นแนวทางการบริหารจัดการที่มีกลุ่มคนและองค์กรจำนวนหนึ่ง นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ไม่เห็นด้วย และแสดงออกซึ่งการคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเดินเท้าจากจุดสร้างเขื่อนแม่วงก์มากรุงเทพฯ, แถลงการณ์เร่งปฏิรูประบบการพิจารณารายงาน EHIA และ EIA, การแสดงอารยะขัดขืนโดยปักหลักนั่งและนอนอยู่หน้าประตู 3 สผ. เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์และให้กำลังใจ คชก. ของนายศศิน ในการพิจารณาอีเอชไอ ตั้งแต่วันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2557 จนกระทั่งในวันที่ 19 พฤศจิกายนนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ ทส.0910.204/23269 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ลงชื่อนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความเห็นว่า “ไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ควรดำเนินการจัดทำแนวทางเลือกในการจัดการน้ำแนวทางอื่นที่ไม่ต้องสูญเสียพื้นที่ขนาดใหญ่ในพื้นที่อนุรักษ์และให้ความคุ้มค่าในการจัดการน้ำมากกว่า” ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเข้าใจว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะยุติลง

อย่างไรก็ตาม สผ. ยังคงพิจารณาอีเอชไอเอโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 25 กันยายน 2558 นี้ก็ได้นำอีเอชไอเอเข้าพิจารณาอีกครั้ง ในขณะที่มูลนิธิสืบฯ เดินทางมา สผ. เพื่อยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนและเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แถลงการณ์ยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พร้อมเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ใช้ประกอบพิจารณา ใจความว่า

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้มีการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชน โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ (EHIA) ต่อ สผ. ซึ่งเตรียมที่จะมีการจัดประชุม คชก. พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำอีกครั้ง ในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ท่ามกลางการทักท้วงของคนในสังคมเป็นจำนวนมาก ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และความเห็นของคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาข้อมูลวิชาการด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งประโยชน์และความคุ้มค่าที่จะได้รับจากการสร้างเขื่อนที่ต้องแลกมาด้วยผืนป่าแม่วงก์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ทั้งนี้ ผู้ศึกษาไม่สามารถแก้ไขและชี้แจงประเด็นดังกล่าวให้เป็นที่ยอมรับแก่ทุกภาคส่วนในสังคมได้

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอแสดงเจตนารมณ์ที่จะคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติ แม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และใคร่ขอเสนอให้มีการพิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ในกรณีของการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และกรณีของการใช้ทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ การไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะได้ปริมาณน้ำที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะได้ปริมาณน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ ส่วนการใช้ทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะได้ปริมาณน้ำ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ

2. งบประมาณในการจัดทำทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการถูกกว่างบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ถึงกว่า 6 เท่าตัว กล่าวคือ โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,000 ล้านบาท ขณะที่ทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ใช้งบประมาณในการจัดทำโครงการ 1,940 ล้านบาท โดยประมาณ

3. คุณค่าของป่าที่ราบต่ำริมน้ำแม่วงก์และผืนป่าตะวันตก ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ หากมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ และการกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ที่ได้ผ่านการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรจนประสบความสำเร็จมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอยืนยันเจตนารมณ์ที่จะคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และใคร่ขอนำเสนอ “ทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์” โดยขอวิงวอนให้ท่านรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ อย่างรอบด้าน และตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนความถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยินดีประสานความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แม่วงก์ต่อไป

รายชื่อองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ, มูลนิธิโลกสีเขียว, กลุ่มศิลปินรักผืนป่าตะวันตก, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย, กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์, กลุ่มสมาชิกนักกิจกรรมที่เคยทำงานกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบันและเพื่อน, สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน, กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง, มูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ป่าตะวันตก, สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, มูลนิธิคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก, มูลนิธิสถาบันปฏิปัณ, มูลนิธิสืบศักดิ์สินแผ่นดินสี่แคว, เครือข่ายป่าชุมชน จังหวัดนครสวรรค์, มูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร, เครือข่ายป่าชุมชนขอบป่าตะวันตก จังหวัดกำแพงเพชร, เครือข่ายชุมชนคนรักษ์ป่าเขาแม่กระทู้, กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม, กลุ่มใบไม้, มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าน้อย, กลุ่ม Big Tree”

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนางอินทนิล อินท์ชยะนันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม  สผ.
นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนางอินทนิล อินท์ชยะนันท์ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม สผ.

นอกจากนี้ นายภาณุเดชยังเป็นตัวแทนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มอบเอกสารทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมทั้งกล้าต้นสักและแผนที่แม่วงก์ให้กับนางอินทนิล อินท์ชยะนันท์ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม สผ. ด้วย

ทั้งนี้ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองเลขาธิการ สผ. และประธานในการประชุม คชก. ในวันนี้ ได้ลงมาทักทายและพูดคุยกับนายศศิน เฉลิมลาภ พร้อมทั้งเชิญเข้าร่วมประชุม คชก. เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา เพื่อความเป็นกลางเนื่องจากนายบุญชู พรหมมารักษ์ หรือกำนันโต ตัวแทนคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่วงก์ (สะแกกรัง) ซึ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์เข้าชี้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในที่ประชุม คชก. ด้วย

ด้านนายศศินกล่าวว่า การพิจารณาอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์นั้น เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 แล้ว แต่ที่หยุดพิจารณาไปช่วงหนึ่งเนื่องจากมี คชก. ไม่ครบด้านเพื่อการพิจารณาอีเอชไอเอ ส่วนหนังสือจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีความเห็นว่า “ไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ควรดำเนินการจัดทำแนวทางเลือกในการจัดการน้ำแนวทางอื่นที่ไม่ต้องสูญเสียพื้นที่ขนาดใหญ่ในพื้นที่อนุรักษ์และให้ความคุ้มค่าในการจัดการน้ำมากกว่า” นั่นยังเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณาอีเอชไออยู่ต่อไป เพียงแต่เรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่มีวันจบหากกรมชลประทานไม่ถอนเรื่องออกจาก สผ.