ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โมเดล”คนอยู่ร่วมกับป่า”เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ใช้ Smart Patrol ทวงคืนผืนป่า สร้างพื้นที่ร่วม-กติกาชุมชนกำกับ

โมเดล”คนอยู่ร่วมกับป่า”เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ใช้ Smart Patrol ทวงคืนผืนป่า สร้างพื้นที่ร่วม-กติกาชุมชนกำกับ

21 มีนาคม 2017


ภาพถ่ายทางอากาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น

ความสำเร็จในปฏิบัติการทวงคืนผื่นป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น โมเดลการจัดการชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยจัดทำแผนที่แนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินเปรียบเทียบกับกับภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อสะท้อนช่วงเวลาการบุกรุกป่า และทวงคืนป่ากลับมาฟื้นฟูได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง กรมอุทยานฯพร้อมนำโมเดลไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าทั่วประเทศ

หลังมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ของผืนป่าตะวันตก เพื่อให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าอยู่ได้ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2550 และขยายการทำงานมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สังเกตการณ์การบริหารจัดการชุมชนในพื้นที่ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2560

พื้นที่บุกรุกเพิ่มเติมหลังจากปี 2557

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่นมีพื้นที่ประมาณ 7.3 แสนไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำปิงซึ่งไหลลงเขื่อนภูมิพล หากมีการบุกรุกป่าขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้น้ำหายไปจากเขื่อนภูมิพลประมาณร้อยละ 10 พื้นที่นี้มีประชาชนใช้ประโยชน์ประมาณ 2.3 หมื่นไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.16 ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน คือ บ้านกิ่วสามล้อ บ้านห้วยหมาบ้า บ้านห้วยน้ำเย็น และบ้านห้วยดำ โดยบ้านกิ่วสามล้อใช้พื้นที่มากที่สุดประมาณ 1.5 หมื่นไร่ เพื่อใช้ทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแบบไร่หมุนเวียน เช่น ข้าวโพด ข้าวไร่ กะหล่ำปลี ฯลฯ จึงทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และไม่มีหนทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้เป็นรูปธรรม

จนกระทั่ง 14 มิถุนายน 2557 มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำลาย หรือการกระทำต่างๆ ที่ทำให้ป่าเสียหาย แต่เพื่อป้องกันผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ในวันที่ 17 มิถุนายน 2557 คสช. ได้มีคำสั่งที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยมีใจความสำคัญคือ การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนมีคำสั่งนี้ ส่วนผู้ที่บุกรุกใหม่ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด

จากคำสั่งดังกล่าว เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าแม่ตื่นได้นำมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการทวงคืนพื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยจัดทำแนวเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย SMART PATROL (Spatial Monitoring And Reporting Tools) เพื่อใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการเรียกคืนพื้นที่บุกรุกใหม่

SMART PATROL คือการเดินจับพิกัดบริเวณขอบพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมด สำหรับบ้านกิ่วสามล้อแบ่งการสำรวจเป็น 15 เขตย่อยแล้วแบ่งทีมเจ้าหน้าที่ในการเดินจับพิกัดร่วมกับชาวบ้านกิ่วสามล้อ หลังจากนั้นนำพิกัดที่ได้มาระบุตำแหน่งบนแผนที่ ทำให้รู้แนวเขตการบุกรุกในปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลาในการสำรวจประมาณ 4-5 วัน

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เดินตามแนวเขตการใช้ที่ดินเพื่อสำรวจพิกัด

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการยึดคืนพื้นที่ป่า โดยใช้แผนที่แนวเขตที่จัดทำขึ้นเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมปี 2557 ซึ่งตามกฎหมายสามารถแบ่งกรอบการยึดพื้นที่เป็น 3 ช่วง คือ 1. ชุมชนที่อยู่ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งสามารถอยู่ได้ดังเดิม 2. ชุมชนที่อยู่ภายหลังปี 2545 ที่ต้องพิสูจน์สิทธิ์ก่อนดำเนินการตามกฎหมาย ตามประกาศมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่องมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ และ 3. พื้นที่บุกรุกหลังประกาศ คสช. 64/2557 และ 66/2557 ยึดคืนพื้นที่ทุกกรณี และทำระเบียบข้อตกลงกับชุมชน ดังนี้

    1. พื้นที่ผ่อนปรนสามารถใช้ประโยชน์ได้เฉพาะราษฎรในชุมชนนั้นๆ เท่านั้น
    2. ห้ามมิให้มีการซื้อขายที่ดินทั้งในและนอกพื้นที่ผ่อนปรนโดยเด็ดขาด
    3. การใช้พื้นที่ในเขตพื้นที่ผ่อนปรน สามารถใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนมาก่อนนั้น
    4. ห้ามมิให้แผ้วถางป่านอกเขตพื้นที่ผ่อนปรนโดยเด็ดขาด
    5. ห้ามมิให้แผ้วถางป่าซึ่งเป็นป่าสมบูรณ์ (ป่าใหม่) ในเขตพื้นที่ผ่อนปรนโดยเด็ดขาด
    6. ห้ามล่าสัตว์ป่าโดยเด็ดขาด
    7. ห้ามจับปลาในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยเด็ดขาด
    8. การสร้างที่อยู่อาศัย ต้องขออนุญาตและผ่านการพิจารณาความเหมาะสมของคณะกรรมการหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ก่อน
    9. ชุมชนต้องร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในเขตชุมชนของตนเองและชุมชนอื่นๆ
    และ 10. หากมีผู้หนึ่งผู้ใดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อ 1-9 ให้คณะกรรมการหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ร่วมกันพิจารณาร่วมกันพิจารณาลงโทษตามเห็นสมควรหรือดำเนินการตามกฎหมาย

ผลการดำเนินการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถยึดพื้นที่บุกรุกได้ทั้งหมด 1,243.23 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บุกรุกหลังปี 2557 ได้จำนวน 29 แปลง พื้นที่ 660.52 ไร่ และยึดคืนพื้นที่บุกรุกหลังปี 2545 จำนวน 53 แปลง พื้นที่ 497.12 ไร่

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการส่วนจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “ปัญหาการบุกรุกป่าแก้ไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันว่า ตรงไหนเป็นพื้นที่เดิมของชุมชน ตรงไหนเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่ ทำให้ทุกครั้งที่จะเข้าไปยึดคืนพื้นที่จึงเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชนเสมอ เพราะการใช้กฎหมายบังคับชุมชนเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เวิร์ก สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ก็ไม่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะยึดพื้นที่คืนมาได้ แต่ SMART PATROL เป็นเครื่องทางวิทยาศาสตร์ที่มาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เพราะเป็นฐานข้อมูลที่แท้จริงจึงทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ”

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 และเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่าที่เรื้อรังมากว่า 10 ปี โดยมีเป้าหมายให้เกิดการบุกรุกเป็น 0 นับตั้งแต่ปีนี้ ซึ่งการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านหลายครั้ง เพราะต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าเจ้าหน้าที่จะขอพื้นที่คืนหากสำรวจแล้วพบว่าเป็นพื้นที่บุกรุกหลังปี 2557 แล้วให้หน่วยงานเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเข้ามาดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อนี้ประสบความสำเร็จได้เพราะชุมชนจำนนต่อหลักฐาน

“ส่วนชุมชนที่อยู่หลังการประกาศพื้นที่ป่า ให้ชุมชนจัดการกันเอง เจ้าหน้าที่อย่าไปยุ่ง มิฉะนั้นจะกลายเป็นจำเลยทันที เมื่อชุมชนพิสูจน์สิทธิ์ความยากจนกันเองโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับรองแล้ว เจ้าหน้าที่จะยกเว้นการยึดคืนพื้นที่ให้ ส่วนครอบครัวไหนที่มีพื้นที่มากเกินไปหรือไม่ยากจนก็จะขอพื้นที่บางส่วนคืน” นายสมปองกล่าว

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายหน่าง แซ่ย่าง ผู้ใหญ่บ้านขุนห้วยตาก ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่ทำการเกษตรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น กล่าวว่า ในพื้นที่นี้มีชุมชนประมาณ 250 ครัวเรือน ใช้ที่ดินนี้ปลูกข้าวโพดและกะหล่ำปลีเป็นหลัก ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินโครงการชาวบ้านได้คืนพื้นที่ด้วยความยินยอมไปจำนวน 27 แปลงเพราะไม่สามารถคัดค้านข้อมูลแผนที่ได้ ซึ่งการเรียกคืนนี้ชาวบ้านก็ลำบากใจเพราะที่ดินน้อยลงก็เกรงว่าจะไม่พอทำกิน รายได้ลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดการลักขโมยในชุมชนได้ เพราะทุกครอบครัวต่างมีหนี้

“ชาวบ้านรู้ข่าวว่าจะต้องถูกยึดพื้นที่คืนตั้งแต่ปี 2557 แล้ว เพราะต้องไปประชุมกับภาครัฐ และมาประชุมหมู่บ้านอยู่แล้วทุกเดือน ซึ่งในตอนนั้นเราก็คิดกันว่าไม่อยากคืน ขอให้รัฐผ่อนผันให้เราทำกินได้ทำที่ทำอยู่ได้ไหม แต่จะไม่บุกรุกเพิ่ม” นายหน่างกล่าว

นายตุ๊ แซ่ว่าง ชาวบ้านสามหมื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก กล่าวว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรมาก ครอบครัวมีสมาชิกประมาณ 20 คน พอเจ้าหน้าที่มาสำรวจก็ต้องคืนพื้นที่ไปประมาณ 20 ไร่ ทำให้กลัวว่ารายได้จะไม่พอเลี้ยงครอบครัว เพราะปกติมีรายได้ปีละ 80,000 บาท แต่ปีที่แล้วรายได้เหลือแค่ 50,000 บาทเท่านั้น เพราะไร่เป็นที่ดินเก่าแล้ว ดังนั้นจึงอยากขอกล้าไม้มาปลูกใหม่เพิ่มรายได้ เช่น ต้นเงาะ ต้นไผ่ หรือถ้ารัฐจะให้พืชอื่นๆ ก็ขอให้หาตลาดให้ด้วย เพราะทุกวันนี้ไปขายได้แค่ที่ตลาดใกล้ๆ เท่านั้น ซึ่งพืชอย่างอโวคาโดก็ขายไม่ค่อยได้ ต้องเททิ้งตลอด

ทั้งนี้ในวันที่ 5 มีนาคม 2560 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินทางมาหมู่บ้านกิ่วสามล้อ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น เพื่อดูสภาพพื้นที่ พูดคุยกับชุมชนและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน พร้อมมอบกล้าไม้พืชเศรษฐกิจจำนวน 20,000 ต้นให้กับชุมชน เช่น ไผ่ อโวคาโด แมคคาเดเมีย และกล่าวว่า ปัจจุบันเราทวงคืนป่าทั้งหมดที่บุกรุกหลังปี 2557 และจะไม่ให้มีการบุกรุกป่าอีกต่อไป โดยทำควบคู่กันแบบประชารัฐ เพื่อให้ประชาชามีความเป็นอยู่ที่ดี ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งจะลดการเผาไร่ข้าวโพดด้วย แล้วปรับทัศนคติชุมชนให้ปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชป่า โดยไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้เพราะรัฐจะช่วยประกันราคาแน่นอน และให้ประชาชนร่วมกันช่วยแก้ปัญหาด้วย

“รูปแบบการทำงานที่แม่ตื่นนี้ เป็นแนวปฏิบัติของกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ในการแก้ปัญหาที่จะกลายเป็นต้นแบบในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ด้วย รวมถึงต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนเพื่อควบคุมการบุกรุกป่าให้อยู่ เพราะอุปสรรคสำคัญในปัจจุบันคือการประชาสัมพันธ์เรื่อง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ถ้าทำสามอย่างนี้ไม่ครบก็ไม่มีประโยชน์ และอนาคตอยากให้เกิดการพัฒนาที่ชุมชนอยู่คู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน” นายธัญญากล่าว

ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ค่อนข้างเห็นด้วยกับโมเดลการทวงคืนผืนป่าของ คสช. ตามคำสั่ง 66/2557 เพราะมีเจตนาห้ามบุกรุกป่าหลังปี 2557 เป็นต้นไป ซึ่งในอดีตปัญหานี้แก้ไขได้เพราะไม่มีการทำแนวเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่หรือไม่ก็ทำไม่เสร็จ ทำให้เจ้าหน้าที่จับคนบุกรุกป่าไม่ได้หากไม่ใช่เหตุการณ์ซึ่งหน้า เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วชุมชนบางส่วนอยู่ก่อนการประกาศพื้นที่ป่าจริง แต่สิ่งที่ไม่รู้คือชุมชนเหล่านี้บุกรุกป่าไปเท่าไหร่

“เฉพาะพื้นที่แม่ตื่น นับแค่หลังปี 2557 ยังบุกรุกไปตั้ง 1,200 ไร่ แล้วพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้ทำแนวเขตพื้นที่จะบุกรุกรวมกันอีกมากเท่าไหร่ ซึ่งถ้าจัดทำแนวเขตเช่นแม่ตื่นนี้มีความเป็นไปได้ที่จะทำได้จริงทั่วประเทศ และถ้ามีแนวเขตแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะทวงคืนป่าได้ถูกคน และชาวบ้านก็จะช่วยรักษาป่าให้เราได้” นายศศินกล่าว

นอกจากนี้ นายศศินยังกล่าวว่า ขอเพียงให้แนวทางการทำงานชัด ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเห็นชอบและสั่งการ กรมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำโมเดลนี้ไปใช้ได้ เพราะโมเดลนี้ทำล้อตามกฎหมายทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเห็นด้วย และกลุ่มเอ็นจีโอไม่คัดค้านเพราะมีหลักฐานการบุกรุกป่าชัดเจน ฝ่ายปกครองต้องรวมกันเป็นคณะทำงานในเรื่องนี้และตั้งเป้าให้เกิดแนวเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม่เกิน 1 ปี โดยมีมูลนิธิสืบฯ เป็นคนกลางที่ถ่ายทอดให้สังคมเห็นว่าป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้